กิ่งไผ่ (สีฟ้า)

กิ่งไผ่ (สีฟ้า)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: 9786115000180
ของหมด (ต้องการสินค้า)
ราคา: 260.00 บาท 65.00 บาท
ประหยัด: 195.00 บาท ( 75.00% )

เนื้อหาบางส่วน

พ.ศ. ๒๔๗๓

“อุ๊ย นั่นนายจวงไปเอาลูกเจ๊กมาจากไหน ยังไว้เปียอยู่เลย”

เจ้าหล่อนผู้ทัก ยืนรวมกลุ่มกันอยู่ที่ท่าน้ำ สามนางด้วยกัน เมื่อทักแล้วก็ หัวเราะคิกคัก ผู้เป็นต้นเหตุแห่งการหัวเราะ เหลือบดวงตาดำรูปยาวรีขึ้นมองดู อย่างไม่เข้าใจนัก เพราะอายุของเขาดูเหมือนจะไม่เกินหกถึงเจ็ดขวบ รูปร่างแบบบาง ผิวขาวเหลือง ศีรษะนั้นโกนเกลี้ยง เหลือเหนือท้ายทอยไว้หย่อมหนึ่ง ยาวประมาณ สิบนิ้ว ถักเป็นเปียผูกด้ายสีแดงไว้ปลายเปียนั้น ดวงตาแม้จะมืรูปค่อนข้างสวย คือดำยาว แต่หนังตาเป็นชั้นเดียว มีที่แปลกกว่าเด็กลูกจีนอื่นๆ ที่เห็นอยู่ทั่วไป ก็คือ จมูกมีสันสูง และกะโหลกศีรษะเบื้องหลังไม่แบนนัก แม้กระนั้น เพียงมอง ดูปราดเดียวก็รู้ว่าเป็นลูกจีนโดยแท้

ผู้ที่ถูกเรียกว่า ‘นายจวง’ เป็นสตรีวัยประมาณเกือบห้าสิบ ผิวขาว หน้าแป้น รูปร่างค่อนข้างท้วม แทนที่จะตอบคำถามของเจ้าหล่อนเหล่านั้น นางกลับเอ็ด เอาว่า

“พวกหล่อนละ พอลับตาหม่อมเข้าก็หน้าบานแปดกลีบสิบสองกลีบไป ตามๆ กันเทียว พอเข้าใกล้ละก็ กลายเป็นนางยี่หุบไปหมด”

นางหนึ่งดูกิริยาท่าทีจะ ‘ล้น’ กว่าเพี่อน เพราะยังสาว อายุไม่เกินสิบหกปีหัวเราะคิกคัก แล้วลอยหน้าถามโดยไม่สนใจในคำค่อนขอดนั้น

“ไปเอาพระมณีพิชัยไว้หางเปียมาจากไหนคะ นายจวง”

คราวนี้ ‘นายจวง’ ตอบรำคาญว่า

“หลานของฉันเอง” นางเว้นจังหวะนิดหน่อยจึงกล่าวต่อไปว่า “จะว่าเป็น หลานของหม่อมด้วยก็ได้ เพิ่งจะมาจากเมืองจีน หล่อนอย่าถามอะไรมากเลย ไม่ใช่เรื่องของพวกหล่อน หม่อมอยู่ที่ไหนล่ะตอนนี้ ท่านประทับอยู่หรือเปล่า”

“ท่านเสด็จฝั่งโน้นค่ะ หม่อมท่านก็อยู่หน้าตำหนักตามเคยละซีคะ” เจ้า หล่อนตอบแล้วก็หัวเราะคิก ย้อนถามว่า “นี่น่ะหรือคะ หลานของหม่อมท่าน”

‘นายจวง’ ไม่ตอบเสียงแสดงความขบขันของหล่อน แต่ชำเลืองค้อนแล้ว ก็จูงมือเด็กชายไว้เปียออกเดินไปตามถนนเล็ก ๆ ปูด้วยอิฐสีแดง สองข้างปลูกบัวฝรั่งสีต่างๆ กำลังมีดอกสะพรั่ง ถนนนั้นอ้อมสุมทุมพุ่มไม้ทอดไปยังเรือน หรือ ‘ตำหนัก’ หลังใหญ่ ที่มองเห็นเด่นสูงพ้นยอดไม้เตี้ยๆ ขึ้นมา

“ไปถึงละก็ กราบเสียนะ กราบอย่างที่ป้าสอนไว้ เห็นป้าไหว้ใครก็กราบ

คนนั้น”

เด็กชายไม่ตอบ ดวงตาสีดำสนิทรูปยาวรีของเขามีแววตื่นเต้นระคนอยู่ กับความกังวลอย่างไม่น่าที่จะปรากฏในเด็กอายุเจ็ดขวบ ริมฝีปากบางปิดสนิท ‘นายจวง’ กล่าวเชิงสั่งสอนต่อไป

“มาอยู่เมืองไทยแล้ว ต้องทำตัวให้เป็นคนไทย หม่อมที่นี่เป็นญาติของเรา น่ะ ท่านไม่ใช่คนจีนแล้ว ท่านแต่งงานกับเจ้ากับนาย ก็กลายเป็นคนไทยเต็มตัว ยิ่งคุณเตี่ยของท่านเสียไปแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะบอกว่าท่านเป็นคนจีน ฉันพาแก มานี่ ยังไม่รู้เลยว่าท่านจะว่าอย่างไร”

‘นายจวง’ จูงมือเด็กชายเดินมาถึงหน้าเรือนหลังใหญ่ สร้างด้วยไม้สัก สูงถึงสามชั้น เป็นเรือนตามที่นิยมกัน คือสร้างอย่างประณีต ตามชายคามีรวงผึ้ง ช่องลมเป็นไม้ลายฉลุสวยงาม ลูกกรงก็เป็นไม้กลึง เรือนนั้นทาสีเขียวอมเหลือง ชั้นล่างสุดนั้นมีระเบียงกว้าง คลุมด้วยหลังคากระเบื้อง ดูคล้ายกับแยกออกมา จากตัวเรือน เมื่อขึ้นบันไดสี่ชั้นขึ้นไปก็ถึงพื้นระเบียง มียกพื้นกว้างสูงประมาณ ศอกคืบอีกชั้นหนึ่ง ตามระเบียงนั้นประดับประดาด้วยไม้กระถางสวยงาม ทั้งไม้ดัดและไม้ดอก โดยมากเป็นกระถางลายคราม

สตรีในวัยห้าสิบกว่านอนพังพาบอยู่บนพื้นนั้น รอบ ๆ กายมีเครื่องใช้ จำเป็นหลายอย่าง เช่น เชี่ยนหมากเงิน กระโถนนากใบน้อย กระโถนเงินใบย่อม ขันนากบรรจุน้ำดี่มวางบนพานรองพร้อมทั้งจอกนากใบนิดเดียวเข้าชุดกันหมอน­อิง หมอนรองคอ กระติกน้ำแข็ง กาน้ำร้อน ฯลฯ ดูจะมีแทบทุกอย่าง แต่สิ่งเหล่า นี้จัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ ตรงปลายเท้ามีเด็กหญิงในวัยสิบกว่าขวบสองคน นั่งเรียงกันอยู่ คนหนึ่งโบกพัดขนนก อีกคนหนึ่งหมอบอ่านหนังสือเสียงแจ๋ว ๆ เมื่อ ‘นายจวง’ พาเด็กชายขึ้นบันไดมา เด็กหญิงผู้มีหน้าที่อ่านหนังสือก็ยังไม่หยุด อ่าน คงก้มหน้าก้มตาอ่านเรื่อยไป จนกระทั่ง ‘นายจวง’ ก้มลงกราบ และเด็กชายกราบตาม หม่อมจึงหันไปแหวเอาว่า

“หยุดอ่านเสียทีชีวะ นังแป้น อะไร้ หลับหูหลับตาอ่าน ไม่มีเงยหน้าขึ้นดู บ้างเลยว่า ใครเขาจะมากันบ้าง”

แล้วก็เงยหน้าขึ้นเพ่งมาทาง ‘นายจวง’ ดวงตาหลังแว่นนั้นทั้งคมทั้งดุ

“อ้อ กลับมาแล้วรึ จวง นั้นพาเด็กที่ไหนมาล่ะ ท่าทางเหมือนเจ๊กไหว้เจ้า” หม่อมทำเสียงค่อน พินิจดูเด็กอย่างละเอียดถี่ถ้วน

“ลูกใครล่ะ นี่จะขนเอาญาติพี่น้องมาอยู่ในวังนี้หมดงั้นรึ’’

นายจวงไม่เอาใจใส่ต่อเสียงแสดงความระอาของหม่อม เพราะรู้อยู่ว่า หม่อมนั้นเหนียวแน่น แต่ก็มักจะเสียไม่ได้อยู่เสมอ บริวารผู้พึ่งใบบุญของหม่อม จักต้องทนต่อเสียงด่า ลำเลิกบุญคุณทุกค่ำเช้า ทว่าก็กินอิ่มนอนหลับกันดี นายจวงจึงตอบอย่างอ่อนน้อมว่า

“เขาเพิ่งมาจากเมืองจีนค่ะ หม่อม อาของเขาส่งมาเมื่อเดือนที่แล้ว พ่อ แม่ตายหมด ทางโน้นก็ไม่รู้ คิดว่าเจ้าสัวยังอยู่ มาค้างอยู่กับหลงจู๊ฃองเจ้าสัวเสีย นาน พอดีอิฉันไปพบหลงจู๊ เลยรับเอาตัวมา”

‘เจ้าสัว’ ที่นายจวงเอ่ยถึง ก็คือบิดาของหม่อม ส่วนหลงจู๊นั้นเป็นผู้จัดการ เก่า เมื่อเจ้าสัวสิ้นชีวิต กิจการต่างๆ ค่อยๆ เลิกล้มไป ‘ตึกเหลือง’ อันเคยเป็น เคหาสน์ของเจ้าสัวถูกรื้อขายที่ดินไป หลงจู๊ผู้อยู่กับเจ้าสัวจนกระทั่งมีฐานะเป็น ปึกแผ่นก็ประกอบกิจการค้าส่วนตัวอยู่แถว ๆ นิวาสสถานเดิมนั้นเอง

“ก็มันเรื่องอะไรถึงได้ส่งมาให้คุณเตี่ย” หม่อมถามเสียงค่อนข้างสูง

นายจวงตอบทันทีว่า “เขาแซ่เดียวกับเราค่ะ ทวดของเด็กคนนี้เป็น น้องชายของคุณก๋ง แต่ไม่ใช่น้องแท้ๆ”

‘คุณก๋ง’ ที่นายจวงพูดถึง ก็คือปูของหม่อมและนายจวง ความจริงหม่อม กับนายจวงนั้น หม่อมเป็นลูกผู้พี่ และนายจวงเป็นลูกผู้น้อง เมื่อหม่อมได้สมรส กับเจ้านาย นายจวงก็มาอยู่ในวังในฐานะกึ่งญาติกึ่งบ่าว เพราะสมัยที่หม่อมยังเป็นสาวอยู่ที่ตึกเหลือง นายจวงก็อยู่ในฐานะเช่นกล่าวนี้อยู่แล้ว

ดวงตาของหม่อมมีแววไม่สู้พอใจนัก นิ่งอึ้งไปเป็นครู่ จึงถามว่า

“พูดไทยเป็นหรือยัง”

คำถามของหม่อมเป็นคำกลางๆไม่เจาะจงว่าถามนายจวงหรือถามเด็กชาย นายจวงหันไปบอกกับเด็กชายว่า

“ตอบท่านซี”

เด็กชายมีสีหน้าอาย ๆ ริมฝีปากบางแดงขยับเล็กน้อยแล้วก็กลับหุบสนิท หม่อมจึงจ้องหน้าถามตรง ๆ ว่า

“พูดภาษาไทยได้หรือยัง ฮึ”

“ ไล่คัก”

ขาดคำตอบของเด็กชาย ก็มีเสียงหัวเราะคิกๆ จากเด็กหญิงรับใช้สามนาง นั้น หม่อมหันไปเอ็ดแหวว่า

“เอ...อีพวกนี้ หน้าเป็นใหญ่แล้ว ประเดี๋ยวได้โดนหวายเดี๋ยวนี้นิ่่”

เสียงคิกคักสงบลงทันที แต่เจ้าหล่อนนั้นก็ยังอมยิ้มอยู่ หม่อมท่านติดปากมาแต่สมัยยังมีทาส คำหนึ่งก็ลงหวาย เอาจริงเอาจังเข้าอย่างมากก็แค่ เรียวไผ่ แต่ก็น้อยนักเพราะท่านผู้สวามีไม่โปรดให้ลงโทษโบยตีผู้ใด

ดวงตาของหม่อมไม่สู้จะพอใจนัก เมื่อหันกลับมาพินิจดูเด็กชายใหม่ อย่างละเอียด แล้วจึงกล่าวว่า

“สอนให้มันพูดภาษาไทยให้ชัด ฉันไม่อยากให้บ่าวไพร่มันหัวเราะเยาะ บอกให้มันรู้เรี่องว่าคุณเตี่ยของฉันได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนาง มันจะมาทำเป็นเจ๊กขากถุยที่นี่ไม่ได้นะ ชื่ออะไรล่ะ”

“จู๋ย์จื้อค่ะ”

มีเสียงกลั้นหัวเราะคิก ๆ มาจากแม่สาวเล็ก ๆ อีก หม่อมขมวดคิ้วย่น

นายจวงผู้ชำนาญในภาษาจีนยิ่งกว่าหม่อม จึง ‘เรียน’ อธิบายว่า

“ปู่ของเขาเป็นคนเรียนหนังสือค่ะ ชอบทางกวี เขาบอกว่าแกเป็นคนตั้งชื่อ ให้ เป็นภาษากลาง แปลว่า กิ่งไผ่ แต่อิฉันว่าน่าจะมีชื่อไทยอีกสักชื่อ”

“ให้มันชื่อจุลจิตต์ก็แล้วกัน อยู่กับจวงนะยะ สอนให้มันรู้อะไรตามที่ควร จะรู้ ไปเถอะ ไปหลังบ้าน อ้อ ไอ้เปียนั่นน่ะ เกล้าจุกก็ไม่ได้ มันไปอยู่เสียคนละที่ โกนมันเสียให้หมดเรื่องหมดราว”

“ค่ะ”

นายจวงรับคำอย่างยินดีดี สะกิดเด็กชายเปียผู้เพิ่งจะได้รับนามใหม่ว่า ‘จุลจิตต์’ ให้ก้มลงกราบหม่อมอีกครั้งหนึ่งแล้วก็จูงมีอเดินลงไปจากระเบียงตาม ทางที่ขึ้นมาเมื่อครู่ก่อน

คราวนี้นายจวงจูงมือเด็กชายเดินผ่านถนนปูอิฐสีแดงอ้อมรอบตำหนัก ใหญ่ไปทางข้างหลัง ห่างจากตำหนักใหญ่ประมาณสักร้อยเมตร เป็นเรือนใหญ่ ด้านหนึ่งโล่งโถง เห็นได้ว่าเป็นครัวไฟ เพราะมีเตาใหญ่เตาน้อยก่ออิฐ มีกระทะ ใบบัวแขวนอยู่ พร้อมสรรพทั้งเครื่องประกอบอาหารชนิดอื่น เป็นต้นว่า ครก หม้อ ไห ฯลฯ วางเรียงอยู่อย่างเป็นระเบียบ อีกด้านหนึ่งปลูกคล้ายห้องแถว ติดต่อกันเป็นกลุ่มหลายต่อหลายห้อง มีผู้คนบ่าวไพร่ทั้งชายหญิงนั่งอยู่บน ระเบียงห้องแถวนั้นหลายคน นายจวงเดินจูงเด็กชายผ่านคนเหล่านั้นตรงไปยัง เรือนชั้นเดียวที่ปลูกเดี่ยว ลักษณะดูเหนือกว่าบรรดาห้องแถวเหล่านั้นมาก “แน่ะ นายจวงมาแล้ว พาลูกเจ๊กที่ไหนมาก็ไม่รู้ หน้าตาน่าเอ็นดูแฮะ’’

“เอามาเลี้ยงละมั้ง นายจวงแกใจบุญออกจะตาย”

คำปรารภแรกจากปากของชายชราผู้หนึ่ง ส่วนคำตอบเป็นของภริยาแก เมื่อตอบแล้ว ผู้เป็นภริยาก็ร้องถามดังๆ ออกไปว่า “นายจวงพาใครมาค้า”

“หลานฉันเอง แกบอกลูกสาวให้มาช่วยฉันหน่อย วันนี้ไม่ใช่เวรบน ตำหนักไม่ใช่รึ”

“ค่ะ นายจวง...นังแม้นเอ๊ย...นังแม้น เอ็งไปรับใช้นายจวงหน่อย ดู...จน เห็นอยู่แล้ว ไม่ยอมกระดิก นังคนนี้”

นางร้องเรียกไปทางกลุ่มแม่สาว ๆ สองสามคน นางสาวคนหนึ่งลุกแล่นลงบันไดไปที่เรือนของนายจวง เมื่อถึงเรือนก็คลานเข้าไปอย่างกระฉับกระเฉง

“นายจวงจะให้ทำอะไรคะ นั่นนายจวงไปเอาลูกเจ๊กที่ไหนมาคะ ไว้เปีย หน้าตาพิกล”

นายจวงถอนใจอย่างเบื่อหน่าย เพราะตั้งแต่ย่างเข้ามาในวัง ดูทุกคนตั้ง หน้าแต่จะถามประโยคอันซ้ำ ๆ กันนี้อยู่ตลอดเวลา นายจวงจึงตอบห้วนๆ ว่า

“เอามาจากไหนก็ช่างเถอะ แต่อย่าไปเรียกเขาว่าลูกเจ๊กอีก เขาเป็นหลาน ฉันเอง ชื่อจุลจิตต์”

“อุแม่เจ้า ชื่อเพราะจัง” เจ้าหล่อนหัวเราะคิก กล่าวต่อไปว่า “หน้าตายังกะ ผู้หญิงแน่ะ อายุเท่าไหร่แล้วคะ พ่อจิตต์”

เด็กชายมีสีหน้ากระดากนิดๆ ตามเคย ไม่ยอมตอบว่ากระไร เพราะยัง จำได้ว่าตนถูกหัวเราะเมื่อสักครู่นี้เพราะสำเนียงอันพูดไม่ชัด

“แกอย่ายุ่งนักเลย  แม้น...ช่วยฉันเลือกเอาของแอบหน่อย จะให้พ่อจิตต์ ไปนอนด้านโน้น เสร็จเรียบร้อยแล้ว แกช่วยเอาไปอาบน้ำให้ด้วย”

แม่นางสาวแม้นคลานเข้าไปปฏิบัติตามคำสั่งของนายจวง เด็กชายจุลจิตต์นั่งแอบอยู่ข้างประตูภายนอกห้อง ดวงตาสีดำสนิทปลายชี้ขึ้นเล็กน้อยนั้น มองเข้าไปในห้องอย่างอยากรู้อยากเห็นห้องของนายจวงมีของมากมายเหลือเกิน จนดูทึบไปหมด มีเตียงไม้กว้างประมาณหนึ่งเมตร มีโต๊ะเครื่องแป้งสูง ตู้ทึบ ตู้กระจก กำปั่นเหล็กสองใบ แล้วยังของกระจุกกระจิกอีกหลายอย่าง ทั้งกระทุงตะกร้า นายจวงกับแม้นช่วยกันแอบข้าวของวางซ้อนๆ กันทางหนึ่ง เหลือที่ว่างด้านตรงข้ามกับเตียงพอสมควร แล้วนายจวงก็หยิบฟูกเล็กบนหลังตู้ทึบ เปิดตู้ทึบหยิบ มุ้ง หมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่มออกมาให้แม้นกองเอาไว้ที่ตรงนั้น ต่อจากนั้น นาย จวงก็บอกให้แม้นจูงเด็กชายจุลจิตต์เดินลงระเบียงไปยังโอ่งน้ำข้าง ๆ ครัวที่ตั้ง เรียงกันอยู่นับสิบๆ ใบ แม้นจับเด็กชายให้ยืนบนไม้กระดานข้างโอ่ง แล้วก็จัดแจงถอดเสื้อออก พอถึงกางเกง เด็กชายวัยเจ็ดขวบก็ทำท่าอิดเอื้อน ผิวหน้า อันขาวแดงกํ่าจนถึงใบหู นางสาวแม้นหัวเราะคิก เอ็ดเบาๆ ว่า

“ตัวเท่าเมี่ยงเท่านี้ ทำเป็นอายไปได้ แก้ผ้าเร็วๆ จะได้อาบน้ำให้”

เด็กชายจำใจเปลื้องกางเกงออก และปล่อยให้แม้นตักน้ำจากโอ่งราดให้ หน้าของเขาก้มงุด

นี่เป็นครั้งแรกตั้งแต่จำความได้ที่เขาถูกผู้หญิงอาบนํ้าให้ โดยที่ผู้หญิง คนนั้นไม่ใช่แม่และไม่ใช่ญาติ มือของหล่อนเต็มไปด้วยฟองสบู่ลูบไล้อย่างแรง และเร็วไปทั่วร่างของเขา

ความรู้สึกอย่างหนึ่งใกล้กับความอบอุ่นเกิดขึ้นในใจของเขา เด็กชายลอบ มองดูใบหน้าของหญิงผู้กำลังอาบน้ำให้เขา หล่อนเป็นคนผิวคลํ้าแต่สะอาด ใบหน้า แบน ปากค่อนข้างหนา ดวงตามีแววสนุกและใจดี อายุคงจะประมาณสักสิบเจ็ดปี

หล่อนอาบน้ำให้เขาพลางก็ถามไปพลางว่า

“มาจากเมืองจีนรึ สนุกไหมล่ะ เมืองจีนนะ เห็นลิ้นจี่ดอง ลูกท้อ ส่งมาจากเมืองจีนเป็นไห ๆ แล้วอยากไปเมืองจีนมั่ง จะกินให้สมอยากเทียว แล้วมานี่ เสียทำไมล่ะ”

เด็กชายฟังหล่อนถามแล้วก็ไม่รู้ว่าจะตอบว่าอย่างไร เขาพอจะฟังคำพูด ของหล่อนเข้าใจทุกคำ แต่คิดไม่ออกว่าหล่อนอยากจะไปเมืองจีนทำไมอีก นอกจาก จะไปกินลิ้นจี่ดองและลูกท้อ เมืองจีนที่เขาจากมา โดยเฉพาะในเมืองและตำบลที่เขาอยู่นั้น เขายังจำได้ว่ามีแต่ความแห้งแล้ง ถึงฤดูหนาวก็หนาวจัดจนกระทั่งมีคนจนๆ ตายไปหลายคน ถึงฤดูแล้งก็แล้งจนกระทั่งมีคนตายอีก เมื่อปู่ของเขาตาย อาของเขาจึงพาเขาอพยพไปอยู่ฮ่องกง และโดยเหตุที่แกมีรายได้น้อย มิหนำซ้ำยังจะต้องเป็นห่วงเขาอีก แกจึงตัดสินใจฝากเขามากับเรือ เพราะแกรู้ว่ามีคนแซ่เดียวกับเขาและแกมามีหลักฐานเป็นปีกแผ่นอยู่ในเมืองไทย

เด็กชายนึกอยากจะเล่าให้นางสาวผู้นี้ฟังถึงเรื่องราวต่าง ๆ แต่เขาไม่รู้ ภาษาไทยพอที่จะเล่าได้ถูกต้อง และข้อสำคัญ เขาอายที่จะพูด จึงได้แต่ปิดปากสนิทอยู่ ดังนั้น จนกระทั่งแม้นตักน้ำราดเป็นขันสุดท้าย และตะโกนถามนายจวงออกไปว่า

“จะให้ลงขมิ้นด้วยไหมค้า นายจวง”

นายจวงตอบมาว่า “ไม่ต้อง พาขึ้นมาเถอะ แม้นมาแต่งตัวให้ด้วย วานเป็นพี่เลี้ยงให้หน่อยนะ หกเจ็ดขวบ มันยังเด็กนัก แล้วก็เพิ่งมา อะไรๆ ก็ยังไม่คุ้น”

เด็กชายจุลจิตต์หรือจู๋ย์จื้อ จำได้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาว่า บุคคลแรกผู้เป็น ที่ ‘อาศัย’ ของเขานั้น มิใช่หลงจู๊เก่าของเจ้าสัว มิใช่นายจวง มิใช่แม้แต่หม่อมแต่เป็น...ติดตามต่อในเล่ม....

 

 

รายละเอียด

จอห์น ลี...หนุ่มเชื้อชาติจีน สัญชาติอเมริกัน ผู้ไม่เคยหลงทระนงตนว่ายิ่งใหญ่ เขากลับมาผืนแผ่นดินไทยเพื่อตอบแทนพระคุณผู้ที่เคยอุ้มชูเขาในวัยเด็ก ทว่าด้วยเหตุบางประการจึงทำให้เขาต้องปกปิดอดีตของตนไว้ คุณเฟื่อง หม่อมราชวงศ์หญิงที่ดูหมิ่นแคลนเขามาแต่เยาว์วัย ต่อมาเมื่อรู้ความจริงว่าเขาคือใคร เธอกลับมิได้รังเกียจเขา แต่ก็ไม่สามารถแสดงตนว่ารัก เขาได้เช่นกัน เพราะเขารัก ศนิ...น้องสาวต่างบิดาที่คุณหญิง ไม่เคยยอมรับ เสียแล้ว และที่สำคัญ...คุณฟุ้ง...พี่ชายที่เธอไม่เคยนับเป็นสายโลหิตเดียวกัน แต่เขากลับรักและเทิดทูนเสียยิ่งกว่าเธอและศนิด้วยซ้ำ เธอจะทำเช่นไรดี ?


รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (95 รายการ)

www.batorastore.com © 2024