บันทึกแห่งรัก (ตณิตยา)

บันทึกแห่งรัก (ตณิตยา)

2 รีวิว  2 รีวิว    
รหัสสินค้า: 9786160007264
มีสินค้าในสต็อค
ราคา: 310.00 บาท 77.50 บาท
ประหยัด: 232.50 บาท ( 75.00% )

เนื้อหาบางส่วน

นวิยาวิ่งลงมาจากบันไดบ้านสังวาลด้วยกิริยาเริงร่า ราวกับมัจฉา

น้อยๆ ได้น้ำใหม่ เครื่องแบบนักเรียนไฮสกูลใหม่เอี่ยมเสริมให้เจ้าตัวดูสาว

เกินวัย เมื่อมาถึงโต๊ะอาหารซึ่งบุพการีทั้งสองกำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์

รออยู่ เด็กสาวก็ชูไอแพดขึ้นพลางร้องอย่างดีใจ

“แม่ซื้อไอแพดรุ่นใหม่ให้สองด้วย ตอนแกะออกจากกล่องเมื่อเช้า

ดีใจ๊ดีใจ แทบกรี๊ดสลบ ขอบคุณมากนะคะ เพื่อนๆ ต้องอิจฉาแน่ ยอดไป

เลย คราวนี้สองจะได้มีอะไรให้เพื่อนๆ เป็นฝ่ายกรี๊ดบ้าง เปิดเทอมมาสาม

อาทิตย์ สองฟังแต่ข่าวดีของเพื่อนๆ จนแทบอ้วกแตกอยู่แล้ว เดี๋ยวคนนี้

ไปเรียนซัมเมอร์ที่สวิตเซอร์แลนด์ คนนั้นได้รถโฟล์กป้ายแดงเป็นของขวัญ

ขึ้นเกรดสิบ คนโน้นก็ไปชอปปิงที่เมืองนอก”

เด็กสาวพูดแล้วย่นจมูกอย่างไม่ชอบใจนัก แต่ด้วยวัยและหน้าตา

จิ้มลิ้มพริ้มเพรา โดยเฉพาะในสายตาของคนเป็นบิดามารดาแล้ว ยิ่งมอง

ว่าเป็นกิริยาที่น่ารักน่าเอ็นดูที่สุด

“แน่นอนลูก ใครๆ ต้องอิจฉาลูกของแม่แน่ เพราะไอแพดรุ่นนี้

ยังไม่วางขายในเมืองไทย แม่ต้องสั่งให้เพื่อนที่อเมริกาซื้อมาให้” คนเป็น

มารดาเสริมอย่างภาคภูมิใจแล้วส่งยิ้มหวานให้ รอยยิ้มนั้นเผื่อแผ่ไปถึง

เด็กสาวร่างบอบบางที่เพิ่งซอยเท้าถี่ๆ ตามหลังนวิยาลงมา มารดามอง

อย่างประหลาดใจ เมื่อเห็นลูกสาวคนโตสวมเครื่องแบบเช่นกัน

“อ้าว...หนึ่ง วันนี้ไปเรียนด้วยเหรอ แม่คิดว่าจะหยุดพักอยู่บ้านเสีย

อีก เห็นส้มบอกว่าลูกปวดหัว ครั่นเนื้อครั่นตัว”

“ไม่ได้หยุดค่ะ กินยาแล้วคงไม่เป็นไร หนึ่งไม่อยากหยุด เพราะเพิ่ง

เปิดเรียนใหม่ เดี๋ยวเรียนตามเพื่อนไม่ทัน” นวินดาบอกเหตุผลแล้วนั่งลง

ข้างบิดา ซึ่งฝ่ายนั้นพับหนังสือพิมพ์พลางเงยหน้าถาม

“ถึงว่า...ดูหงอยๆ เพราะไม่สบายนี่เอง” คนเป็นบิดาเปรยพลางยื่น

มือไปอังหน้าผากบุตรสาว

เขาสังเกตกิริยาของลูกสาวเงียบๆ เช้านี้นวินดาดูเงียบขรึมผิดกับ

ทุกวัน แต่จะคิดอย่างนั้นก็คงไม่ถูกต้องนัก เขาจึงรีบแก้ความคิดใหม่...

ปกติลูกสาวคนโตก็เงียบขรึมเป็นนิตย์อยู่แล้ว แต่เช้านี้ดูขรึมกว่าทุกวันเท่านั้นเอง

เขาชินกับความเคร่งขรึมของลูกสาวคนโตมาหลายปีแล้ว โดยไม่ทัน

สังเกตว่านวินดาเปลี่ยนจากเด็กร่าเริงเป็นสาวเคร่งขรึมติดจะเก็บตัวตั้งแต่

เมื่อไร รู้ตัวอีกทีเขาก็คุ้นเคยกับบุคลิกนั้นเรียบร้อยแล้ว วันไหนนวินดา

ร่าเริงแบบนวิยาคงผิดปกติและแปลกตามาก ลูกสาวคนเล็กนั้นยิ่งโตยิ่ง

ร่าเริงสดใส ราวกับดอกไม้ได้น้ำค้างตลอดเวลา

บางทีเขาอาจห่างเหินกับลูกสาวทั้งสองคนมากเกินไป...โดยเฉพาะ

ลูกสาวคนโต จึงไม่รู้ว่าทำไมหรือเมื่อไรที่นวินดาเริ่มเปลี่ยนไปชนิดที่เรียก

ว่า ‘กลับหน้ามือเป็นหลังมือ’ เพราะจำได้ว่าวัยเด็กนวินดาเป็นหนูน้อยที่

ร่าเริงสดใสมาก ดูจะเป็นคนอารมณ์ดีเมื่อยามโตด้วยซ้ำ บางทีเขาอาจไม่ได้

สังเกตความเป็นไปของลูกสาวคนนี้นานเกินไปจริงๆ นั่นแหละ...

ลึกๆ เขารู้สึกผิดที่ทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้แก่บริษัทซึ่งกำลังไปได้สวย

จึงอาจหลงลืมและละเลยความเป็นอยู่ของลูกสาว ปล่อยให้หน้าที่เลี้ยงดู

ลูกๆ เป็นของภรรยาเพียงคนเดียว

นวินดาเรียนอยู่ในโรงเรียนนานาชาติซึ่งเป็นที่เดียวกับน้องสาว อยู่

เกรดสิบสอง อายุสิบเจ็ดปี เด็กสาวมีใบหน้าสวยคม ใครเห็นเป็นต้อง

คิดถึงตุ๊กตาในแถบลาตินอเมริกา ต่างกันเพียงแค่เธอมีผิวขาวเนียนอม

ชมพู ยิ่งโตยิ่งฉายความงามสไตล์ลูกครึ่ง ด้วยจมูกโด่ง ตาคมปนหวานสี

อัลมอนด์ รับกับเรียวปากอิ่มได้รูปสวย ขณะที่นวิยามีใบหน้าน่ารักพริ้ม

เพราแบบไทยๆ เธอเรียนอยู่เกรดสิบ อายุสิบห้าปี เป็นเด็กสาวซุกซน

ร่าเริงสดใสราวกับน้ำค้างกลางหาว

หากเปรียบเด็กสาวทั้งสองเป็นดอกไม้ นวินดาคงเป็นดอกกระบอง-

เพชรที่ขึ้นตามทะเลทราย เพราะดูจะยืนหยัดได้แม้ในสภาวะอากาศไม่เอื้อ

อำนวย ส่วนนวิยาเป็นดอกกุหลาบกลีบบาง ซึ่งต้องการน้ำหล่อเลี้ยงอยู่

ตลอดเวลา

คนเป็นบิดาคิดอะไรเรื่อยเปื่อย ขณะรอคำตอบจากบุตรสาว

นวินดาก้มหน้าพลางตอบว่า “คงเป็นเพราะอากาศเปลี่ยน ไม่มีอะไร

หรอกค่ะ”

“นั่นสิ...ยายหนึ่งแข็งแรงออก ร้อยวันพันปีไม่เคยเป็นอะไร คงไม่มี

อะไรน่าเป็นห่วง” คนเป็นมารดาพูดแล้วหันไปบอกคนรับใช้ “ตักโจ๊กให้

คุณหนูเถอะส้ม เดี๋ยวไปเรียนกันไม่ทัน” เมื่อมารดาพยักพเยิดให้คนรับใช้

แล้วก็หันไปกล่าวกับลูกสาวคนโตว่า “เดือนหน้าวันเกิดลูกใช่ไหม ปีนี้

แม่ว่าจะพาไปพักตากอากาศที่เชียงใหม่ ถือว่าพักสมอง เผื่อจะเรียนเก่ง

เหมือนน้องบ้าง ดีไหมลูก”

นวินดาเม้มริมฝีปาก เธอตักเครื่องปรุงใส่โจ๊กโดยไม่พูดไม่จา ส่วน

คนเป็นบิดาทนฟังไม่ได้

“ทำไมไม่ไปเมืองนอก ปีที่แล้วยังพาลูกสองไปฉลองที่เยอรมัน”

“นั่นมันปีก่อน ปีนี้เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะฉะนั้นอย่าไปเมืองนอก

เมืองนาเลย เมืองไทยก็มีที่เที่ยวน่าสนใจเยอะแยะ ยุคนี้ต้องประหยัดเข้าไว้

เงินทองหาไม่ได้ง่ายๆ”

“ว้า...พูดแบบนี้แสดงว่าปีหน้าสองจะไม่ได้ไปเรียนที่อเมริกาอย่างนั้น

เหรอ สองไม่ยอมนะคะ แม่รับปากแล้วว่าถ้าสองสอบติดเอเอฟเอสจะยอม

ให้ไปเรียน”

นวิยาทำท่ากระฟัดกระเฟียด ใบหน้าที่เคยน่ารักอ่อนหวาน บัดนี้

งอง้ำเป็นจวัก ทว่าคนเป็นมารดาก็ยังมองว่าน่ารักน่าเอ็นดูอยู่นั่นเอง

“ไม่หรอกลูก นี่เพื่อการศึกษา ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย ยังไงแม่ก็ต้องส่ง

ลูกของแม่ไปอยู่แล้ว ว่าแต่สองจะสอบได้เหรอลูก คนสมัครสอบไม่ใช่

น้อยๆ นะ” มารดาเปลี่ยนท่าทีทันควัน

“สอบได้อยู่แล้ว ขนาดพี่หนึ่งที่ขี้เกียจตัวเป็นขนยังสอบติด สอง

ขยันแถมสมองดีกว่าพี่หนึ่งตั้งเยอะ ทำไมจะสอบไม่ได้” นวิยาโต้ด้วยเสียง

ขึ้นจมูกอย่างหมิ่นๆ

คนฟังทั้งสามมีสีหน้าต่างกัน คนหนึ่งหน้าเสีย อีกคนทำหน้ากลืน

ไม่เข้าคายไม่ออก ขณะที่ผู้ถูกพาดพิงกลับสงบนิ่งราวกับทะเลที่ปราศจาก

คลื่นลม มีเพียงดวงตาที่ฉายแววหวั่นไหววูบหนึ่งก่อนจางหาย...เร็วเกิน

กว่าใครจะสังเกตเห็น

ไม่มีใครรู้ว่าเธอรู้สึกอย่างไร แต่ถึงรู้ใครจะมาแยแส...นวินดาคิด

อย่างเหยียดๆ

เหตุการณ์เมื่อปีก่อนเป็นประสบการณ์ที่เธอลืมไม่ลง และคงเป็น

แผลในใจไปอีกนาน...

ตอนอยู่เกรดสิบเอ็ดเธอสอบชิงทุนเอเอฟเอสไปเรียนที่ประเทศ

บราซิลได้ แต่มารดากลับไม่ให้ไป ด้วยเหตุผลว่า...

‘บราซิลอยู่ไกล แถมเต็มไปด้วยขโมยขโจรชุม ถ้าลูกไปเรียน แม่

ต้องกินไม่ได้นอนไม่หลับด้วยความเป็นห่วงแน่ เปลี่ยนใจเถอะลูก อย่าไป

เรียนเลยนะ’ ครั้งแรกมารดาให้เหตุผลแบบนั้น

‘แต่หนึ่งสอบติดแล้ว หนึ่งเสียดายโอกาส’

‘อย่าไปเสียดงเสียดายโอกาสอะไรนั่นเลย ไม่เป็นไรหรอก สละสิทธิ์

ไปเถอะ ถึงลูกสละก็มีตัวสำรองไปแทน ถือว่าเราทดลองสอบเพื่อหา

ประสบการณ์ก็แล้วกัน’

‘แต่แม่คะ...แม่สัญญากับหนึ่งแล้วว่าถ้าสอบติด แม่จะให้หนึ่งไป’

‘นั่นเป็นก่อนที่น้องจะรบเร้าอยากไปเรียนเมืองนอกนี่ลูก สองบอก

ว่าจะสอบเอเอฟเอสปีหน้า ถ้าติดขึ้นมา แม่ต้องหาเงินส่งลูกสองคน ค่าใช้

จ่ายไม่ใช่น้อยๆ แม่สู้ไม่ไหวหรอก ถ้าไปเรียนที่บราซิล รู้ไหมว่าลูกต้องใช้

เงินเท่าไหร่ สามแสน๑ แน่ะ ส่วนยายสอง สามแสนเก้า เงินไม่ใช่น้อยๆ นะ’

‘แต่นั่นปีหน้า ไม่ใช่ปีนี้ ถึงตอนนั้นหนึ่งก็คงกลับมาเมืองไทยแล้ว

อีกอย่างเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสองจะสอบติดไหม เผลอๆ สองอาจสอบไม่ติด

ก็ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นไม่เท่ากับหนึ่งพลาดโอกาสหรือคะ’

‘พูดเป็นเล่นไปได้ อย่างสองหรือจะสอบไม่ติด สองเรียนเก่งกว่าลูก

ตั้งเยอะ ถ้าตั้งใจก็ทำได้อยู่แล้ว ฉะนั้นสละโอกาสให้น้องเถอะนะ เราเป็นพี่

ต้องรู้จักเสียสละ’

‘แต่แม่คะ มันไม่ยุติธรรมนะคะ ทำไมหนึ่งต้องเป็นฝ่ายเสียสละทุก

ครั้ง ทำไมไม่เป็นน้องบ้าง ที่ผ่านมาอะไรๆ ก็ต้องสองก่อน แม่บอกให้สอง

เสียสละบ้างสิคะ เรื่องเอเอฟเอสหนึ่งขอแม่ก่อนนะ’

‘เอ๊ะ...ยายหนึ่งนี่ยังไง พูดเอาแต่ได้ เป็นพี่ประสาอะไร ทำไมไม่รู้จัก

เสียสละให้น้องบ้าง’

‘แต่หนึ่งเสียสละทุกเรื่องแล้ว เรื่องนี้หนึ่งขอได้ไหม นะคะแม่...หนึ่ง

ขอสักเรื่องนะคะ’

‘ไม่ได้ ยังไงแม่ก็ยืนยันว่าไม่ได้ แม่ต้องเตรียมเงินไว้ให้น้อง’

‘ไม่ยุติธรรมสักนิด’

‘ว่าแม่ว่าเชื้อ ระวังจะตกนรก ทำไมถึงอยากไปเมืองนอกนักฮึยาย

หนึ่ง เมืองไทยเป็นยังไงถึงเรียนไม่ได้ โรงเรียนอินเตอร์ที่เราเรียนอยู่ก็เป็น

โรงเรียนดีราคาแพงที่สุด มีแต่ลูกหลานคนรวยเรียน บอกแม่ซิว่าโรงเรียน

ในเมืองไทยไม่ดียังไง ถึงต้องดิ้นรนไปเรียนเมืองนอก’

‘หนึ่งไม่ได้ดิ้นรนนะคะ เพราะไปเรียนแค่ปีเดียว แล้วก็ไม่ใช่ว่า

เมืองไทยดีหรือไม่ดี หนึ่งแค่อยากไปหาประสบการณ์ ไปเรียนรู้โลกกว้าง

ในต่างประเทศบ้าง ที่ผ่านมาเวลาพ่อกับแม่ไปต่างประเทศแถบยุโรปหรือ

อเมริกาก็พาแต่สองไป ไม่เคยพาหนึ่งไป หนึ่งอยากไปประเทศไกลๆ บ้าง

ไม่ใช่แค่ลาว พม่า มาเลเซีย และสิงคโปร์’

‘ยังมาเถียงแม่อีก เรานี่ยังไง จะหาว่าแม่ลำเอียง รักลูกไม่เท่ากัน

อย่างนั้นละสิ’

‘เปล่านะคะ หนึ่งไม่ได้เถียงแม่ ไม่ได้หมายความแบบนั้น แค่อยาก

บอกแม่ว่าหนึ่งอยากไปเรียนที่บราซิล’

‘แม่ก็ให้เหตุผลไปแล้วว่าทำไมถึงไม่ได้ เรานี่พูดไม่รู้เรื่องหรือยังไง’

‘แต่หนึ่งไม่เข้าใจเหตุผลแม่ ถ้าแม่กลัวเปลืองค่าใช้จ่าย เราก็

ประหยัดทางอื่นแทน ถ้าตัดพวกเรียนพิเศษไร้สาระของสอง เราก็มีเงิน

เหลือเฟือ’

‘ไหนบอกมาซิว่าอะไรที่เราคิดว่าไร้สาระยายหนึ่ง’ มารดาพูดด้วย

น้ำเสียงเคร่งเครียด

‘ก็...การเรียนวาดรูปค่ะ’

‘ไร้สาระตรงไหน วาดรูปช่วยฝึกสมาธิ ทำให้สองจำได้แม่น เรียนก็

เก่งขึ้น’

‘เรียนเปียโนล่ะคะ’

‘ยิ่งไม่ได้ใหญ่ เดี๋ยวนี้ลูกหลานไฮโซเขาเรียนเปียโนกันทั้งนั้น ถ้ายาย

สองเล่นไม่เป็น คงอายเขาตาย’

‘หนึ่งก็เล่นไม่เป็น ไม่เห็นอาย’

มารดาเธออึ้งไปชั่วครู่ก่อนตอบว่า ‘ก็...เอาเถอะ เราจะเล่นเปียโน

เป็นหรือไม่เป็นก็ช่าง แต่ยังไงก็ตัดการเรียนพิเศษรายการนี้ของยายสองไม่ได้’

‘ถ้าอย่างนั้นก็ตัดเรียนขี่ม้า’

‘ไม่ได้...ขี่ม้าจะทำให้ยายสองได้สมาคมกับเพื่อนฝูงอีกระดับ พวก

ไฮโซอยู่แถวสนามขี่ม้ากันทั้งนั้น’

‘แล้วยิงปืนล่ะคะ’

‘ยิ่งไม่ได้ใหญ่ เด็กสมัยนี้ต้องรู้จักวิธีป้องกันตัว’

‘ถ้าอย่างนั้นหนึ่งไปเรียนบ้าง’

‘ไม่ได้ แค่ยายสองคนเดียว ค่าใช้จ่ายก็เยอะแล้ว’

‘ตัดกอล์ฟก็ได้’

‘ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ลูกหลานผู้ดีเขาตีกอล์ฟเป็นทั้งนั้น วันหน้าเมื่อแม่พา

ยายสองเข้าสังคม ตีกอล์ฟไม่เป็นจะอายเพื่อนฝูง’

‘โธ่...แม่คะ อะไรๆ ก็ไม่ได้ แล้วเราจะเซฟค่าใช้จ่ายได้ยังไงคะ’

ความจริงนวินดาเคยประหลาดใจแกมทึ่งว่า ทำไมคนเราช่างสรรหา

กิจกรรมมาทำได้มากมายก่ายกองขนาดนี้ ทั้งที่มีเวลาแค่วันละยี่สิบสี่

ชั่วโมงเท่ากัน

ทว่ามารดาเธอทำได้...มารดาสามารถจัดสรรเวลาให้น้องสาวเธอทำ

กิจกรรมหรือเล่นกีฬาเหล่านั้นได้ภายในหนึ่งเดือน ตารางชีวิตของนวิยา

แน่นเอี้ยด แทบปลีกตัวไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนฝูงตามประสาเด็กวัยเดียวกัน

ไม่ได้เลย ต่างกับเธอที่มีเวลาว่างมากมาย ส่วนใหญ่จึงเข้าห้องสมุดหรือ

ร้านหนังสือ แต่เธอไม่ได้ตั้งใจเรียนจริงจัง หรือไม่ลึกๆ อาจเป็นการต่อต้าน

เนื่องจากมารดามักย้ำเสมอว่าน้องสาวหัวดีกว่า เธอจึงยิ่งไม่อ่านหนังสือ

ผลการเรียนจึงแย่กว่า

‘ได้ แม่กำลังบอกอยู่นี่ไง หนึ่งเป็นพี่ต้องช่วยแม่ประหยัด ด้วยการ

เสียสละไม่ไปเรียนที่บราซิล’

‘แต่บราซิล ใช้เงินแค่สามแสน’

‘ตั้งสามแสน’ มารดาเธอโต้ทันควัน

‘ถ้าอย่างนั้นหนึ่งจะเก็บเงินค่าขนมไปเอง ขาดเหลือสักแสนสองแสน

ก็ให้แม่ช่วยออก เผลอๆ อาจน้อยกว่าพ็อกเกตมันนีที่แม่ให้สองไปชอปปิง

ที่ฮ่องกงด้วยซ้ำ’

‘เหมือนกันที่ไหน นั่นเป็นรางวัลที่น้องสอบได้ที่หนึ่ง เราทำได้อย่าง

น้องไหมล่ะ อย่างดีก็แค่สามหรือสี่’

เมื่อถูกย้อนนวินดาก็ได้แต่เม้มริมฝีปาก จำได้ว่าสุดปัญญาจะเถียง

เธอจึงหันไปกล่าวกับบิดาทั้งน้ำตา ด้วยคิดว่าบิดาฟังมาตลอด แต่อีกฝ่าย

กลับไม่พูดไม่จา

‘พ่อคะ พ่อก็เห็นด้วยกับแม่หรือคะ หนึ่งควรเสียสละด้วยการไม่ไป

เรียนที่บราซิลอย่างที่แม่ว่าใช่ไหมคะ’

บิดาทำท่าอึดอัด ก่อนจะหันไปพูดกับภรรยา ‘คุณ...ให้ลูกไปเรียน

เถอะ’

‘ไปเรียนที่บราซิล ใช้เงินไม่ใช่บาทสองบาทนะคะ ช่วงนี้เราต้อง

ประหยัด เพื่อเตรียมเงินสำหรับค่าเทอมปีหน้าของพวกแกทั้งคู่’

บิดาหันมามองเธอด้วยสีหน้าเจี๋ยมเจี้ยมก่อนพูดว่า ‘ทำตามที่แม่ว่า

เถอะนะ ยังไงแม่ก็คงตัดสินใจรอบคอบแล้ว’

นับตั้งแต่นั้นมา เธอก็มีช่องว่าง หรืออีกนัยหนึ่งคือมีระยะห่างกับ

ครอบครัวมากขึ้น และระยะห่างที่ว่านั้นก็ห่างออกไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเธอ

ค้นพบความจริงว่ายากเกินกว่าจะสมานได้เหมือนเดิม เป็นวันเดียวกับที่

เธอค้นพบความจริงอีกประการ...เธอไม่เป็นที่ต้องการของบ้านหลังนี้ ด้วย

เหตุผลว่า...

                              (ติดตามอ่านต่อได้ในฉบับเต็ม)

รายละเอียด

กุสตาโบ เนียโต โรอา ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวลาตินอเมริกา มาพักร้อนที่ภูเก็ต เขารักนวินดาที่มาเที่ยวกับเพื่อนๆ เธอรับคำท้าพนันของเพื่อนในกลุ่มว่า หากใครเต้นอะโกโกและล่าทิปจากแขกที่มาเที่ยวผับได้มากกว่าเป็นฝ่ายชนะ กุสตาโบถูกดึงดูดให้ตกอยู่ในห้วงเสน่ห์ทันทีที่เห็นท่าเต้นยั่วยวนของนวินดา เขาจ่ายค่าบริการให้เธอเพราะเข้าใจว่าเป็นสาวอะโกโกที่สามารถหิ้วไปนอนได้ นวินดาได้เป็นภรรยาเขาและไปใช้ชีวิตในบราซิล แต่การใช้ชีวิตในต่างแดนไม่ง่าย เมื่อใช้ชีวิตคู่ได้เพียงปีกว่า เธอก็หนีกลับเมืองไทยในสภาพที่ไม่ต่างกับนกปีกหัก เธอแท้งลูกและต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตในเวลาต่อมา เธอเจ็บปวด และสาปส่งความรักนับแต่นั้น กุสตาโบไม่ยอมเลิกราง่ายๆ ภายหลังเขาค้นพบไดอะรีเล่มที่เธอเขียนถึงเขา การที่เธอหนีกลับเมืองไทยโดยไม่บอกไม่ใช่เพราะเธอไม่รักเขา แต่เป็นเพราะเขาไม่มีเวลาให้เธอ เขาให้ความสำคัญแก่เพื่อนที่เป็นผู้หญิงมากกว่าเธอ กุสตาโบตามมาเมืองไทยและสร้างภาพยนตร์จากไดอะรีที่นวินดาเขียน เพื่อง้อและสารภาพรัก แต่ท้ายที่สุดเขากลับเป็นคนเจ็บเอง เมื่อการใช้ความรักอย่างเดียวไม่ง่ายเลย


รีวิว (2)

เขียนรีวิว

สกาวรัตน์ | 2 รีวิว
30/08/2013

บันทึกแห่งรัก หรือหนังสือนิยายที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The Book of Love เป็นบทประพันธ์จากปลายปากกาของนักเขียนมากฝีมือว่า คณิตยา ที่ได้รับให้ประดับเป็นดาวดวงใหม่อีกหนึ่งเล่มในโครงการ New Star “นักเขียนดาวดวงใหม่” ของสำนักพิมพ์ พิมพ์คำ บันทึกแหงรักเป็นนิยายที่เสมือนไดอารี่เล่มสำคัญของหัวใจสำหรับความรัก เป็นเรื่องราวของเด็กสาวที่ชื่อว่า นวินดา สาวน้อยที่ยังอยู่ในช่วงวัยรุ่นได้ไม่นานพอก็ต้องเปลี่ยนวิถีตนเองไปใช้ชีวิตคู่เมื่อเธอเกิดไปเข้าตาต้องใจ กุสตาโบ เนียโต โรอา เจ้าของบริษัทและสิ่งพิมพ์ที่มีเครือข่ายมากมายทั่วลาตินอเมริกาและในอเมริกา ด้วยเหตุที่นวินดาและเพื่อนท้าแข่งกันเต้นอะโกโกเพื่อล่าทิปแข่งกัน และความรู้สึกปรารถนาที่เกินจะหยุดยั้งได้ทำให้กุสตาโบ ตั้งใจแน่วแน่ว่าต้องได้ตัวเธอมาครองในคืนนั้นให้ได้ รสสัมผัสแสนหวานเจือความเร่าร้อนแปลกใหม่ทำให้นวินดาตัดสินใจตามความรู้สึกที่บอกว่ารักชายหนุ่ม ตามเขากลับไปอยู่ที่ประเทศของเขาด้วยวัยเพียง 18 ปีเท่านั้น กุสตาโบเองทั้งที่ไม่แน่ใจและไม่รู้ใจตัวเองก็ตัดสินใจเลือกนวินดาให้เป็นเจ้าสาวของตน ทั้งที่ผู้เป็นพ่อค้านหัวชนฝา และด้วยฤทธิ์ที่อยากต่อต้านการคลุมถุงชนที่บิดาจัดไว้ให้นวินดาจึงกลายเป็นสะใภ้ของครอบครัวที่เหมือนไม่อยากต้อนรับเธอเอาเสียเลย การเดินทางมาอยู่ด้วยกัน ใช้ชีวิตในครอบครัวต่างแดนทำให้นวินดาเหงาไม่น้อยทีเดียว แต่เพราะความรักที่มีให้ต่อสามีต่างเผ่าพันธุ์คนนี้ทำให้นวินดายอมสู้ทนต่ออุปสรรคทั้งหลาย ไม่ว่าจะเกิดจากก้นบึ้งความรู้สึกหรือจากคนรอบข้างก็ตาม แต่ในที่สุดเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ความอดทนก็ขาดสะบั้นเมื่อกุสตาโบทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง และนวินดาแท้งลูกแฝดไปอย่างน่าสงสาร งานเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งนักสำหรับผู้ชายอย่างกุสตาโบ หากให้เลือกระหว่างเมียและงาน นวินดาตอบแทนได้ทันทีว่าสามีเธอคงเลือกงานเป็นอย่างแรก...ความอัดอั้นตันใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความรู้สึกมากมายถ่าโถมจนเด็กสาวเกินจะรับและทนได้อีกต่อไป นวินดาตัดสินใจหนีกลับเมืองไทยเพราะคิดว่าความรักที่มีให้กุสตาโบไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการอีกแล้ว การจากไปของนวินดาทำให้กุสตาโบได้คิดทบทวน ได้เรียนรู้ว่านวินดาสำคัญต่อหัวใจเขามากเพียงใด กุสตาโบได้อ่านไดอารี่ที่นวินดาเขียนและเขาตอบกลับทุกคำที่นวินดาได้เขียนเอาไว้ ได้เข้าใจความรู้สึกที่นวินดาต้องพบเจอ ชายหนุ่มตัดสินใจกลับไปตามหาหัวใจตนเอง แต่ก็ไม่ง่ายเลยเมื่อรอยร้าวที่ฝังลึกเป็นเสมือนบาดแผลที่ยากจะเยียวยาให้หายได้อีกแล้ว กุสตาโบจึงต้องใช้กลวิธีมากมาย ใช้ทุกความรู้สึกเพื่อดึงครอบครัวของตนให้กลับคืนมาให้ได้ ขอบอกว่าหนังสือเล่มนี้ภาษาสวยมาก...หนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดเรื่องราวความรักและการใช้ชีวิตคู่ที่น่าสนใจมากค่ะ ไม่ใช่อะไรที่หวือหวาตื่นตาตื่นใจ แต่เป็นเรื่องราวการสร้างครอบครัวที่น่าศึกษาเพื่อใช้เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต ดีก็นำไปใช้เป็นแบบอย่าง ไม่ดีก็นำไปคอยบอกคอยย้ำตัวเองว่าแบบนี้ไม่ควรทำห้ามนำปฏิบัติ เป็นหนังสือที่ทำให้ความคิดที่เคยเลือนรางไปกระจ่างชัดขึ้นมาได้อีกครั้ง “ความรักก่อเกิดจากคนสองคน แต่เมื่อมีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ความรักก็อาจพังทลายได้หากใจของคนทั้งสองไม่มั่นคงในรักนั้นเพียงพอ” อยากให้คนที่มีความรักและคนที่คิดสร้างครอบครัวทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ค่ะ
ศรัญญา | 2 รีวิว
27/08/2013

บันทึกแห่งรัก นิยายเรื่องนี้ตอนแรกที่เห็นชือ คิดว่าต้องเป็นเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวจากกันไปตั้งแต่เด็กๆ แล้วมาเจอกันตอนโต อะไรประมาณนั้นแต่พอได้อ่าน ไม่ใช่เลย เป็นเรื่องของกุสตาโบ เนียโต โรอา ผู้กำกับชาวต่างชาติ มาพักร้อนที่ภูเก็ต และได้พบกันวิดาที่มาเที่ยวกับเพื่อนแล้วพนันกันว่าใครเต้นยั่วแขกแล้วได้ติ๊บเยอะกว่ากันคนนั้นชนะ นวิดาเลือกที่จะยั่วกุสตาโบ เนียโต ทำให้ผู้กำกับหนุ่มแอบพอใจในตัวเธอและทำให้ทั้งสองเกิดความรู้สึกดีๆ ให้กัน จนนวินดาได้เป็นภรรยาเขาและไปใช้ชีวิตในบราซิล แต่การใช้ชีวิตในต่างแดนไม่ง่าย เมื่อใช้ชีวิตคู่ได้เพียงปีกว่า เธอก็หนีกลับเมืองไทยในสภาพที่ไม่ต่างกับนกปีกหัก เธอแท้งลูกและต้องเข้ารับการบำบัดทางจิตในเวลาต่อมา เธอเจ็บปวดกับรักอย่างหนัก ช่วงที่เธอใช้ชีวิตอยู่ในบราซิวสามีของเธอทำแต่งาน ชีวิตเขามีแต่งาน งาน และงาน แม้แต่วันหยุดเขายังเลือกที่จะทำงานมากกว่าอยู่กับภรรยาอย่างเธอ ตลอดเวลาที่นวินดาอยู่ที่บราซิว เธอเหมือนอยู่ลำพังต่างบ้านต่างเมือง สิ่งเดียวที่ทำได้เพื่อบรรเทาความเศร้าคือการเขียนบันทึกความรู้สึกของเธอในไดอารี่ ในนี้บันทึกความรู้สึกความน้อยใจและวันหนึ่งที่นวินดาหนีกลับมาสามีของเธอก็เพิ่งรู้สึกว่าขาดเธอแล้วชีวิตเขาเองก็ไม่มีความสุข เขารับรู้เรื่องราวที่เธอเขียนในไดอารี่และตอบมันได้อย่างเศร้าสุดๆ ภาษาที่เขียนในไดอารี่สวยมากค่ะ อ่านแล้วเรารู้สึกได้ว่าเป็นอย่างนั้น เช่น "ไม่มีคุณ ผมรู้สึกเหงา เคว้งคว้างราวกับชีวิตส่วนหนึ่งขาดหายไป เดาว่ามันคงโบยบินไปกับคุณ" อารมณ์เหงาตามตัวละครจริงๆ พล๊อตเรื่องแปลกดีอาจจะสะท้อนมุมมองของสังคมด้วย การใช้ชีวิตคู่ที่ต่างเชื้อชาติ ภาษา การปรับตัวอยู่ด้วยกัน เรื่องนี้อ่านแล้วได้อารมณ์เศร้าๆ เหงาๆ ค่ะ

สินค้าที่ใกล้เคียง (96 รายการ)

www.batorastore.com © 2024