โรงเรียนในคุก 1 ตอนคำสารภาพของนักโทษชาย (เพชรลดา)

โรงเรียนในคุก 1 ตอนคำสารภาพของนักโทษชาย (เพชรลดา)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: โรงเรียนในคุก1
ของหมด (ต้องการสินค้า)
ราคา: 150.00 บาท 97.50 บาท
ประหยัด: 52.50 บาท ( 35.00% )

เนื้อหาบางส่วน

ความตั้งใจของ...ครูคุก

            ก่อนหน้าที่ดิฉันจะได้เข้าไปสอนหนังสือในคุกคลองเปรมนั้น ดิฉันได้เข้าไปทำข่าวเชิงสารคดีในนั้นก่อนและจากการได้เข้าไปทำข่าวในนั้นทำให้ได้รู้เห็นชีวิตนักโทษที่หลากหลายและตั้งใจอยากสานฝันของทางผู้บัญชาการเรือนจำที่มีนโยบายในการคืนคนดีสู่สังคม ดิฉันจึงตัดสินใจที่จะเข้าไปสอนวรรณกรรมในคุก แม้ในตอนแรกตั้งใจจะสอนกฎหมายเบื้องต้น พื้น ๆ แบบว่านักโทษที่ใกล้จะพบอิสรภาพ เราก็อยากสอนให้เขาไปใช้ชีวิตในแบบที่รู้กฎหมายบ้าง จะได้ไม่ไปทำละเมิดทั้งต่อทรัพย์สินและชีวิตผู้อื่น โดยอยากให้เขารู้กฎหมายเบื้องต้นในวันแรกที่พบอิสรภาพเขาควรรู้อะไร และกฎหมายก็ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา คนที่อยู่ในคุกนาน ๆ อาจจะไม่รู้ ออกไปแล้วก็กลับเข้ามาอีกก็มีมาก แต่ไป ๆ มา ๆ ก็พบว่า ตัวเองนั้นถึงจะเรียนกฎหมายมาแต่ก็ไม่เก่งและไม่ถนัดในด้านนี้เท่าไหร่ หลังจากคิดและปรึกษาผู้ใหญ่หลายท่านก็ได้ข้อสรุปว่าเราควรสอนนักโทษให้เป็นนักเขียนดีกว่า และในวันนี้ดิฉันก็ได้มาเป็นครูคุกอยู่ในเรือนจำกลางคลองเปรมนี่แหละค่ะ

            วันแรกของการเริ่มต้นก็บอกญาติพี่น้องว่า จะไปสอนหนังสือในคุกแล้วนะ อวยพรกันหน่อย ปรากฏว่าไม่มีคำอวยพรเลยค่ะมีแต่อาการตกใจ เป็นห่วง และโมโหที่ดิฉันหาญกล้าไปทำแบบนั้นในคุก แม้จะบอกว่าที่ไปนั้นเป็นสถานที่ที่เขาเรียกว่าแดนการศึกษานะคะ มีครูท่านอื่น ๆ ไปสอนกันเยอะพระคุณเจ้ายังเข้าไปสอนศีลธรรมเลยเจ้าค่ะแต่ก็นั่นแหละค่ะ ทุกคนเหมาเอาไปแล้วว่า นั่นคือคุก จะแดนไหนก็คุกทั้งนั้นแหละ ขึ้นชื่อว่าคุกไม่มีอะไรดีเลยสักอย่าง แต่ดิฉันมุ่งมั่นค่ะ ต้องไปให้ได้ ฝันให้ไกลไปให้ถึงคุกให้จงได้ ในที่สุดก็ได้ไปสอนสมใจโดยการเปิดโครงการ

            “ค้นคว้าหาดาวประดับวงการวรรณกรรม รุ่น 1 “

            นอกจากท่านผู้บัญชาการเรือนจำจะให้ความร่วมมือในการอำนวยการต่าง ๆ แล้วเจ้าหน้าหลายคนในแดนการศึกษาให้ความร่วมมือในการเปิดรับสมัครด้วยการปิดประกาศไปตามแดนต่าง ๆ หานักโทษที่สนใจในงานเขียน อยากเป็นนักเขียนก็ให้ขอใบสมัครที่ผู้บังคับแดนต่าง ๆ   และหลังจากคัดกรองมาจากหลาย ๆ คนแล้วเราก็ได้นักโทษที่พอจะเรียนวรรณกรรมได้ยี่สิบสี่คนในรุ่นแรกของโครงการ

            “น้อยไปหรือเปล่าอาจารย์...” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งถามครู ครูก็บอกว่า

            “ดีแล้ว สอนวรรณกรรมไม่เหมือนการสอนวิชาอื่น ๆ ต้องใกล้ชิด ต้องใส่ใจเพราะคนที่จะเรียนตรงนี้หากไม่สนใจไม่ตั้งใจเรียน จะไม่ได้อะไรเลย หัวบานไปเปล่า ๆ “

            ก็ตกลงว่าได้นักเรียนตามใจที่ครูต้องการ ยี่สิบสี่คน

            วันแรกครูแต่งกายอย่างรัดกุมที่สุดแม้จะเป็นแดนการศึกษาแต่ก็ต้องทำตัวให้ทะมัดทะแมงเพราะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกคนเขาแต่งแบบนั้นเนื่องจากสถานที่ที่เราเข้าไปสอนนั้นไม่ใช่มหาวิทยาลัย แต่เป็น คุก นั่นเอง ในคุกจะแต่งตัวสวยงามมากนักไม่ได้

            แดนการศึกษานั้น กว่าจะเข้าไปได้ก็ต้องมีการตรวจตรา แม้จะได้ชื่อว่าเป็นแดนที่ดีที่สุดในนั้น ปลอดภัยที่สุดเนื่องจากเป็นสถานที่ของทางเรือนจำที่ให้ความรู้แก่นักโทษที่สนใจมาเรียนวิชาต่าง ๆ จากหลาย ๆ สถาบัน ซึ่งหัวใจหลัก ๆ ของเรือนจำก็คือ         มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

             ที่ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาหลายร้อยคนที่สมัครเรียนและทยอยจบไปอย่างมีเกียรติ

            ครูเองนั้นเมื่อจะเข้าไปสอนก็ต้องเตรียมตัวมาก่อนทั้งแฟ้มและตารางการสอน บางวันก็ต้องมีหนังสือตัวอย่างมาให้นักเรียนดูด้วยและครูก็เหมือนเจ้าหน้าที่ของทางเรือนจำที่ต้องผ่านด่านการตรวจค้นและต้องผ่านประตูใหญ่ถึง 4 ประตูทีเดียว

            “สวัสดีครับอาจารย์...” นักเรียนนักโทษยี่สิบกว่าคนที่นั่งรออยู่ในห้องเรียนขนาดใหญ่ลุกขึ้นพร้อมกันทันทีที่ผู้คุมของเรือนจำเดินนำหน้าเข้ามาในห้อง

            “สวัสดีจ้าทุกคน นั่งลงนะดีใจที่ได้พบหน้าทุก ๆ คนเลย “ ดิฉันมองหน้าทุกคนพร้อมยิ้มให้จำได้ว่าบางคนก็เคยเห็นมาก่อนเมื่อตอนเข้าไปทำสารคดีในแดนต่าง ๆ

            “เดี๋ยวครูจะเรียกชื่อนะทีละคน วันแรกนี่เราจะมารู้จักกันก่อนนะ และครูจะเรียกทุกคนว่านักเรียนนะ ไม่เรียกลูกศิษย์ พวกเราก็ต้องเรียกครูว่าครูนะ ไม่ต้องเรียกอาจารย์ ฟังดีกว่ากันตั้งมากมายใช่ไหม ระหว่างครูกับอาจารย์นี่ “

            “ครับผม คุณครู “

            “ไม่ต้องคุณครูด้วย เรียกว่าครูเพชรคำเดียว เพราะครูชื่อเพชรนะจ๊ะ เอาละนะ เราจะมาคุยแนะนำตัวกันว่าใครเป็นใครมาจากไหน คดีอะไรด้วยได้หรือเปล่า...” ถามแล้วก็รอคำตอบทุกคนโอ เค บอกถามได้เลย เพราะทุกคนตรงนี้ เป็นนักโทษเด็ดขาดหมดแล้วไม่มีคนไหนที่เป็นผู้ต้องขังที่คดีอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาคดี

            “ผมไม่ผิดครับครู....”

            “ผมก็ไม่ผิดครับครู  ผมไม่รู้เรื่อง...ผมแพะรับบาป “ หลายเสียงพูดแบบนั้น และเมื่อดิฉันรับฟังพลันก็คิดถึงเมื่อตอนที่เข้าไปทำสารคดีในแดนต่าง ๆ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หลายคนบอกว่านักโทษหลายคนไม่ยอมรับว่าที่ผ่านมานั้นตนเองผิด แม้ศาลจะสั่งจนคดีเด็ดขาดแล้วก็ตามและมีผู้คุมบางคนบอกดิฉันว่า ในคุกนั้นมีแพะอยู่ค่อนข้างมาก บางคนก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่จำนนด้วยหลักฐานที่นึกไม่ถึงและตำรวจก็สรุปสำนวนคดีเร็วเกินไปประมาณนั้นตอนนั้นดิฉันยังนึกว่าที่นี่มันคุกหรือฟาร์มแพะกันแน่นะ

            “คิดว่าเป็นกรรมเก่าก็แล้วกันนะพวกเธอ ครูเองก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร เข้าใจนะ อยากบอกให้ทำใจเถอะ อยู่กันมาจนวันนี้ ครูอยากให้ใจพวกเธอเหมือนบัวพ้นน้ำ เบิกบานอยู่เป็นนิจ เห็นอะไรก็ดีไปหมด ช่างไปหมด แบบช่างมันเถอะ เอาชีวิตเราให้รอดไปวัน ๆ นะ “

            “บางครั้งผมท้อ ผมสิ้นหวังครับครู...” นักโทษคนหนึ่งพูดเสียงเครือ

            “สิ้นหวังก็ยังดีกว่าสิ้นคิดนะ คือแบบนี้นักเรียน สิ้นหวังนี่ยังมีโอกาสได้คิด แต่สิ้นคิดไม่มีโอกาสให้หวัง  สิ้นหวังไปสักพักก็หวังได้ใหม่ นะจ๊ะ อย่างวันนี้ไง เราหวังว่าจะได้มาเรียนวรรณกรรม เราหวังว่าเผื่องานเขียนเราโอ เค เราก็มีชื่อเสียง มีเงินบ้างแม้จะไม่มากมายแต่ก็ยังมีหวังใช่ไหม...” ครูพยายามให้กำลังใจเต็มที่ พูดจนทุกคนในที่นั้นสบายใจ วันแรก ๆ ก็ไม่ค่อยได้สอนเท่าไหร่หรอกเพราะต้องทำความรู้จักกันก่อนนั่นเอง ว่าใครเป็นใครมาจากไหน

            นักเรียนของดิฉันนั้นส่วนมากจบปริญญาตรีทั้งนั้น ต่ำสุดก็ประถมศึกษาปีที่ 6 และอายุนั้นก็มีตั้งแต่ 30 ปี ถึง 70 ปี เลยทีเดียว ส่วนคดีนั้นก็มีทั้ง ฆ่า ปล้น ฉ้อโกง และคดียาเสพติด

            เห็นคดีแล้วก็สะท้านใจเหมือนกัน โธ่ก็ครูนั้นเป็นศิลปินนี่นา ใจคอก็เหมือนชาวบ้านเขาเสียที่ไหน ขนาดอ่านนิยายหรือดูละครทีวีบทหรือฉากเศร้า ๆ น้ำตายังไหลพราก ๆ เล้ย แน่ะ ยิ่งพอมองหน้าสบตากับบรรดาลูกศิษย์นักโทษแต่ละคนแล้วนึกถึงคดีของเขาในใจของครูคุกก็เต้นยังกับกลองเพลเลยทีเดียว เหงื่อก็ออกเต็มฝ่ามืออีกต่างหาก แต่อาการแบบนั้นเป็นเดี๋ยวเดียวก็หายค่ะเพราะใจคอเด็ดเดี่ยวมาก  ไม่งั้นไม่เข้ามาเป็นครูคุกหรอกจะบอกให้

            “รู้จักกันแล้วเรามาเรียนกันดีกว่า...” ในการเข้ามาสอนในคุกนั้น เขามีเวลาให้ครูสามชั่วโมงเต็ม สองชั่วโมงผ่านไปแล้ว รู้จักกันแล้วเราก็หันหน้ามาคุยเรื่องเรียน ในการสอนนั้นทางเจ้าหน้าที่เขาจัดห้องเรียนให้เหมือนห้องประชุมเลย ครูนั่งหัวโต๊ะ นักเรียนนั่งสองฝั่งซ้ายขวา มีแอร์เย็นฉ่ำ ท่าทางนักเรียนนักโทษดูมีความสุขมากทีเดียวที่ได้เข้ามาเรียนในห้องแอร์แบบนี้

            “การเป็นนักเขียน อันดับแรกเลยต้องใจรักก่อน รักในที่นี้หมายถึงรักในการอ่าน ผูกพันกับงานวรรณกรรมทุกด้าน ไม่ว่าจะงานเรื่องสั้นเรื่องยาว สารคดี บันเทิง หรือแม้แต่งานข่าวการอ่านหนังสือพิมพ์จนติดเป็นนิสัย คนที่อยากเป็นนักเขียนต้องมีตรงนี้ก่อน..”

            “ผมไม่ชอบอ่านหนังสือเท่าไหร่ แต่ผมชอบเขียน “

             นั่น บางคนบอกครูหน้าตาเฉยเลย

            ”ผมว่าผมเขียนได้แม้จะไม่ต้องอ่านมาก เพียงแต่ผมไม่รู้ว่าจะเริ่มเขียนตรงไหนก่อนเท่านั้นเองครับครู “

            “ก็ไม่อ่านมาก ๆ นี่นาก็เลยไม่รู้ว่าจะเริ่มเขียนจากตรงไหน หากเราอ่านมากทั้งสารคดี บทความ เรื่องสั้นเรื่องยาว อ่านมากเราก็รู้มากเพราะหนังสือทุกชนิดคือครูเราดี ๆ นี่เองจ้ะ อย่างเราอยากเขียนเรื่องไหนล่ะ เรื่องสั้นใช่ไหม เราก็ต้องมีพล๊อตในใจเราแล้ว เราอยากเขียนเรื่องของเราเองใช่ไหม ทีนี้หากเราอ่านเรื่องสั้นมาหลายเรื่อง หลายเล่ม เราก็จำเขามาซิจ๊ะว่าจะเขียนแบบไหนดี ขึ้นต้นแบบไหน ลงท้ายยังไง  หากเราไม่อ่านเราก็เขียนไม่ได้ นอกจากอ่านมากแล้ว เราต้องดูให้มากด้วย ดูในที่นี้ก็ดูหนังดูละครดูข่าว บางคนครูเห็นพอข่าวมาก็ดูจนจบ แต่พอละครมาหันหน้าหนีเลย บอกเกลียดละครมีแต่ชิงรักหักสวาทไม่ก็ฆ่ากันเลือดแดงทะลุจอ ครูจะบอกให้นะ ดูหนังดูละครนี่ดีมากเลย เป็นวัตถุดิบได้ดี เราได้รู้ว่าคนเลวเขาใช้คำพูดกันแบบไหน คนดีเขาใช้ยังไง บ้านเศรษฐีเขามีอะไรบ้างห้องกี่ห้อง ต้นไม้สวนหย่อม รถเขามีกันกี่คัน แบบไหน ยี่ห้ออะไร คนจนล่ะ เขาอยู่กันยังไง พูดจาประสาไหน ใช้รถอะไร นี่ เห็นไหมได้ประโยชน์เยอะ คนเป็นนักเขียนเขาดู เขาฟัง เขาอ่านมาก ทักษะเขากว้างนะรู้ไหม เราอย่าไปรังเกียจหนังสือพิมพ์บางฉบับ อย่าไปไม่ชอบนิตยสารบางเล่ม อ่านให้หมด ครูไปพม่ามาไปลาวมาครูยังซื้อหนังสือบ้านเมืองเขามารวมทั้งพจนานุกรมเขามาด้วย ยิ่งอ่านยิ่งได้ความรู้ ไม่มีหนังสือเล่มไหนที่ไม่ให้ความรู้ อย่างน้อย บางเล่ม เราก็รู้ว่ามันไม่ดี บางเล่มดีน่าอ่าน เห็นไหม หรืออย่างดูทีวี นักเรียนเชื่อไหม ละครก็คือโลกทั้งใบนี่แหละ มีครบทุกรส เราศึกษามันให้ดีนะ..”

            “นอกจากนั้น อยากเป็นนักเขียนที่ดีมีความรู้มากมายในสมอง เราต้องเป็นนักฟังที่ดีด้วย ใครเขามาบอกมาเล่ามาพูดอะไรก็ฟังเขา อย่าไปรำคาญ เรื่องราวของคนเรานี่ซับซ้อนนัก หลายคนก็หลายชีวิตนะ คนในเรือนจำนี่ก็เกือบ ๆ หมื่น นักเรียนลองพิจารณาดูซิว่าที่ครูพูดจริงไหมอาแค่นั่งในห้องนี่ มีนักเรียนกี่คน สิบกว่าคน แล้วยี่สิบกว่าคนนี่มีที่มาเหมือนกันไหม ไม่เหมือนหรอก ต่างคนต่างมา ร้อยคนร้อยชีวิต และนักเรียนรู้ไหมว่าทุกชีวิตนี่น่าสนใจทั้งนั้น เขียนเรื่องราวของชีวิตได้มากมายเลย..”

            นักเรียนนักโทษของครูคุกนั่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจบางคนก็จดตามอย่างรวดเร็วลงในสมุดที่ทางแดนการศึกษาแจกให้ไว้เรียนคนละเล่ม ซึ่งเป็นสมุดปกแข็งขนาดใหญ่อย่างดี

            “ผมไม่รู้ว่าจะเริ่มเขียนตรงไหนก่อน อย่างเรื่องสั้น ผมพยายามแล้วไป ๆ มา ๆ ก็กลายเป็นเรียงความหรือไม่ก็จดหมายไปเลยครับครู “บางคนทำท่าอ่อนใจไปกับตนเอง

            “เทคนิคการเขียนเรื่องสั้นไม่มีอะไรยากหรอกจ้ะ  หากเราตั้งใจจริง และอยากเขียนเรื่องสั้นให้ได้ดีก็ต้อง เขียนเรื่องใกล้ตัวก่อนนะ อย่าไปเขียนเรื่องไกลตัวเกินไปเพราะเราไม่รู้จริง เอาเรื่องที่เรารู้จริงก็คือเรื่องของเรา คนใกล้ตัว พ่อแม่พี่น้อง เพื่อนอะไรแบบนี้ ยิ่งเราอ่านมามาก ฟังมามาก ดูมาก็มาก เรายิ่งได้เปรียบนะ และเรื่องว่าเขียนแล้วจะไปลงที่ไหน อันนั้นอย่าเพิ่งไปนึกถึง นักเขียนที่ดีเขาต้องดูตัวเขาก่อน เขียนออกมาแล้วพอใจไหม ดีเพียงไร ใครจะอ่านของเราไหม  เราต้องตีตรงนี้ให้แตกก่อน บางคนเขียนแล้วไม่อยากให้ใครอ่าน เก็บไว้ กองเต็มโต๊ะ ไม่ดีค่ะ เอาให้ใครอ่านก็ได้ใกล้ตัวเรา เพื่อนเรา ก็ได้ ในนี้มีเพื่อน ก็ให้เพื่อนอ่าน แล้วฟังเพื่อนวิจารณ์ตอนนี้มีครูนะ เขียนมาให้ครูอ่าน สนามลงเรื่องมาทีหลัง เอาให้เข้าที่ก่อน ครูจะหาสนามให้เองแบบนี้พอไหวนะ  พอไหวหรือเปล่า....”

            “ไหวครับ ดีครับ  ขอบคุณมากครับครู” 

            การสอนนักโทษนั้นไม่เหมือนการสอนนักเรียนนักศึกษาแน่นอน เพราะวุฒิภาวะต่างกัน ความเป็นอยู่ต่างกันมาก ต้องสอนแบบก้าวกระโดด สอนไปพิจารณาไป  บางอย่างก็ต้องผ่านเลยไปครูคุกอย่างดิฉันนั้นมีความรู้สึกในวันแรกของการสอนว่า ไม่ว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร จะต้องเคี่ยวเข็ญให้นักเรียนนักโทษรุ่นแรกนี้ เป็นนักเขียนชื่อดัง เป็นดวงดาวประดับวงการวรรณกรรมให้ได้..คอยดูก็แล้วกัน

รายละเอียด

โรงเรียนในคุก

ตอน คำสารภาพของนักโทษชาย เล่ม 1

โดย....ครูคุก(เพชรลดา เฟื่องอักษร)

ตัวโปรยปกหน้า งานเขียนจากชีวิตจริงของนักโทษเด็ดขาดชายเรือนจำคลองเปรม

หลายเรื่องท่านอาจจะนึกไม่ถึง แต่...เป็นเรื่องจริง

งานเขียนที่ไม่มีการเรียบเรียงใหม่ ขายดีที่สุดในประเทศ!!!!!

 

 

ตัวโปรยปกหลัง..... การเข้าไปเป็นครูของนักโทษนั้นจะต้องเข้มแข็ง และจะต้องไม่หวั่นไหวไปกับสีหน้าแววตาและเรื่องราวของลูกศิษย์ตรงหน้า จะอ่อนแอไม่ได้                     

คำจากใจของครูเพชร.....

          การได้มาสอนนักโทษที่เรือนจำกลางคลองเปรมนั้น ดิฉันมีความรู้สึกภาคภูมิใจมากแม้จะมีอุปสรรคหลายอย่างในการทำงาน แต่ดิฉันก็ฟันฝ่ามาจนสำเร็จและได้นักเรียนในโครงการวรรณกรรมรุ่น 1 หลายคนที่สานฝันของครูเพชรจนมีความรู้สึกที่กล่าวไว้แต่แรกว่าภูมิใจมากใครจะคิดว่า สอนนักโทษให้เป็นนักเขียนนั้นมันยากเย็นเพียงไหน อุปสรรคคืออะไร ที่จริงการมาทำงานในเรือนจำกลางคลองเปรมนั้นสะดวกสบายมาก คนในคลองเปรมต้อนรับดีจนรู้สึกตัวเองมีค่ามาก ตั้งแต่จอดรถเดินเข้ามาที่ประตูหนึ่ง เจ้าหน้าที่ทำความเคารพ ยิ้มแย้มให้ช่วยถือของเปิดประตู อาหารการทานสะดวกสบายเจ้าหน้าที่ทุกระดับตั้งแต่ชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นปกติ ให้ความสำคัญทุกเรื่อง ไม่มีอะไรบกพร่องทั้งสิ้น อันนั้นทางกายค่ะ อุปสรรคใหญ่หลวงของดิฉันนั้น ทางใจค่ะท่านผู้อ่าน อุปสรรคทางใจของดิฉันเกิดขึ้นทุกวัน สาเหตุมาจากดิฉันเป็นศิลปินนั่นแหละค่ะ ศิลปินที่มีอารมณ์อ่อนไหวไม่เหมือนชาวบ้านเขา ยามเป็นนักข่าวก็เข้มแข็งหน่อย แต่พอมาเป็นนักเขียน อ่อนแอเลย แค่เห็นแววตาของบรรดาลูกศิษย์ก็คิดแล้ว พวกเขาน่าสงสาร พวกเขาไม่มีอิสรภาพ ดิฉันรู้ว่าพวกเขาดีใจที่ได้ออกจากแดน (นักเรียนในโครงการมาจากต่าง ๆ แดนค่ะ ) มาที่แดนการศึกษา มาพบครูของพวกเขา ดิฉันให้พวกเขาเรียกครูเพชร แทนอาจารย์เพชรค่ะเพราะดูสนิทมากกว่าอาจารย์ที่ดูออกจะห่างไกล ในตลอดเวลาการเรียนการสอนนั้น ดิฉันจะได้ยินเสียงพวกเขาเรียกดิฉันเกือบตลอดเวลา “ครูครับ ครูครับ ครูครับ.....” พอเราจ๋า เขาก็ถาม  ถาม ถาม บางคำถามเราก็สงสาร ตอบไม่ได้ เพราะนอกการเรียนการสอน แต่ก็แนะนำ การสอนวรรณกรรมนั้นดีตรงที่เราสามารถสอดแทรกศีลธรรมและอื่น ๆ ที่ทำให้พวกเขามีความสุขได้เยอะมาก บางวันดิฉันก็จะร้องเพลงให้พวกเขาฟัง แล้วให้พวกเขาเอาเนื้อหาของเพลงที่ร้องนั้นไปทำเป็นเรื่องสั้น  ซึ่งพวกเขาก็ทำได้ค่ะ แม้จะไม่ดีนักแต่ก็น่าอ่านมาก ในบางวันดิฉันจะให้พวกเขาร้องเพลงให้ครูฟัง บางคนถนัดร้องเพลงเก่า บางคนร้องลิเก บางคนก็อ่านกลอนให้ฟัง บางวันสอนไปร้องไห้ไป (โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าครูแอบเช็ดน้ำตา) คือการสอนหนังสือนักโทษนี่ไม่เหมือนสอนคนปกติอื่น ๆ ที่เคยสอนมา เคยทั้งสอนและอบรมนักเรียนนักศึกษามาหลายครั้งหลายรุ่น แต่ไม่เคยสะเทือนใจเท่ากับสอนพวกนักเรียนนักโทษ ที่จริงดิฉันไม่อยากเรียกพวกเขาว่านักโทษเลย อยากเรียกเขาว่านักเรียนคำเดียวมากกว่าหรือไม่ก็เรียกเขาว่า ผู้ต้องขัง แต่ในความจริงก็คือความจริง พวกเขาคือนักโทษนั่นแหละค่ะ แต่ไม่ว่าจะผิดมาด้วยคดีอะไร เขาก็คือนักเรียนนักโทษของครูเพชรที่ครูเพชรจะมองเห็นแววการเป็นนักเขียนของพวกเขาได้จากการได้รู้จักตัวตนของพวกเขาอย่างใกล้ชิด การสอนพวกเขานั้น ดิฉันได้ใกล้ชิดพวกเขามาก ไม่ได้กั้นกระจกเหมือนตอนเยี่ยมญาติปกติ ทุกคนที่มาเรียนก็คัดแล้วว่ารักและชอบในงานวรรณกรรมจริง ๆ  ทุกคนดูจะรักการอ่านหนังสือมาก ดิฉันดีใจที่พวกเขารักการอ่านก็พยายามที่จะหาหนังสือไปให้พวกเขาและเมื่อพวกเขาเรียนจบหลักสูตรเรื่องสั้น ก็ให้เขาหัดเขียนมาส่งคนละเรื่อง

          ซึ่งก็ได้มาอยู่เบื้องหน้าท่านผู้อ่านนี่แหละค่ะ

          ดิฉันในฐานะครูเพชรของพวกเขาขอเรียนท่านผู้อ่านว่า งานแรกของพวกเขานั้น บริสุทธิ์มาก ดิฉันนั้นไม่ได้รีไรท์เรื่องราวของพวกเขาเลย คำสารภาพทั้งหมดที่เรียงร้อยมาให้เห็นนี้เป็นเรื่องราวของพวกเขา และเขาเขียนด้วยมือ สมอง ของพวกเขาเองจากผู้ต้องขังที่ไม่มีความรู้เรื่องการเขียนเลย พวกเขาสามารถเขียนงานออกมาได้แบบนี้ ครูอย่างดิฉันก็ภูมิใจมากแล้วคือก่อนที่จะให้พวกเขาเขียน คำสารภาพฯ ออกมา ดิฉันก็ให้พวกเขาเขียนถึงครูเพชร ของพวกเขาก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มให้หัดเขียนเรื่องจากเรื่องใกล้ตัว และในที่สุดดิฉันก็ได้คำสารภาพจากนักโทษชายมาจากพวกเขาคนละเรื่องนี่แหละค่ะ

          งานเขียนนี้เป็นงานเขียนดิบ ๆ เลย ไม่มีการเขียนให้ใหม่ เอาความเป็นจริงจากชีวิตพวกเขามาเขียน หลายคนก็หลายชีวิต ท่านผู้อ่านอ่านแล้ว มีความคิดเห็นอย่างไรเขียนจดหมายไปหาดิฉันได้เลยนะคะ จะติชมหรือให้แก้ไขอย่างไรยินดีน้อมรับเสมอตลอดเวลาดิฉันอยากได้จดหมายมากกว่าอย่างอื่น เพราะในฐานะที่เป็นนักกฎหมายก็อยากจะมีหลักฐานเอาไว้ชื่นชมและปฏิบัติตามนั่นเองค่ะ...... 

                                                                             ครูเพชร


รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (84 รายการ)

www.batorastore.com © 2025