
อันดามันวิปโยค (พันธุ์ ชุมพร)
ประหยัด: 70.00 บาท ( 35.00% )
เนื้อหาบางส่วน
อันดามันวิปโยค
พันธุ์ ชุมพร
๑
นกชราหลุดจากกรง
ตั้งแต่เออร์ลี่รีไทร์ออกมาจากราชการครู สิ่งที่อดีตครูพงศ์พันธุ์ ไพจิตร ตั้งใจอยากทำก่อนจะไม่มีโอกาสจะได้ทำ คือ ขับรถเที่ยวไปตามอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ ด้วยเหตุว่า 30 กว่าปี ที่ผ่านมาเขารู้สึกเหมือนนกที่ถูกขังอยู่ในกรง และเกือบตลอดชีวิตการเป็นครู ครูพงศ์พันธุ์มีรายได้แค่เงินเดือนครู พอได้กินได้ใช้ไปแบบเดือนชนเดือน แม้ว่าก่อนจะมาเป็นครู นายพงศ์พันธุ์เรียนจบมาทางศิลปะการวาดรูป
เขาวาดรูปเหมือนหากินอยู่ในอำเภอตะกั่วป่า มีรายได้พอค่าเช่าร้านไม่เดือดร้อน บางช่วงก็ได้มาก แต่อีกใจหนึ่งเขาอยากลองรับราชการ เขามองว่าอาชีพครูมีเกียรติ มีคนยกย่องนับถือและมีเวลาว่างให้เขาทำงานวาดรูปควบคู่ไปด้วยกันได้ ซึ่งแรก ๆ มันก็เป็นไปได้ดังฝัน ยิ่งวันหนึ่งเขาลองวาดต้นฉบับนิยายการ์ตูน ส่งขายให้สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตอนนั้นเขาสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดควรนิยม อำเภอตะกั่วป่า
การเป็นครูเปิดโอกาสให้คนมีวุฒิวาดเขียนเอก สามารถลาไปศึกษาต่อปริญญาตรี ในสาขาหรือวิชาเอกศิลปะที่ มศว.ประสานมิตรได้ ทำให้เขาเรียนจบปริญญาตรีได้เกียรตินิยม แต่พอกลับมาอยู่โรงเรียน เขาถูกเจ้านายในจังหวัดเรียกตัว ไปช่วยราชการทำงานเกี่ยวกับช่างศิลป์และออกวารสารของจังหวัด งานเขียนต้นฉบับนิยายการ์ตูนของเขาก็จบลง เพราะขาดการส่งต้นฉบับนานถึง 5 ปี เขารักงานเขียนนิยายการ์ตูน เพราะได้สนุกกับจินตนาการ และสามารถเขียนเพื่อหาเงินได้ตลอด เดือนละสองสามเท่าของเงินเดือน แต่พอไปทำงานที่จังหวัด ช่วงใดที่ไม่มีงานวาดรูปหรือเขียนป้ายมาให้ทำ เขาก็กลายเป็นพนักงานพิมพ์ดีด กลายเป็นเด็กนำสารไปส่งให้เจ้านายลงชื่อ...
เขาเริ่มมองว่า งานเยี่ยงนี้ไม่เหมาะกับเขา เขาอยากกลับมาเขียนนิยายการ์ตูน พงศ์พันธุ์จึงทำเรื่องขอเลือกกลับลงมาสู่โรงเรียน แต่ย้ายจากอำเภอเมืองพังงามาอยู่บ้านภรรยาในเขตอำเภอปะทิวจังหวัดชุมพร ทว่า เมื่อลงมือเขียนการ์ตูนอีกครั้ง สำนักพิมพ์ปฏิเสธไม่รับงานเขา ทำให้พงศ์พันธุ์ต้องอยู่อย่างประหยัดกินประหยัดใช้ และต้องส่งลูก ๆ 3 คนเรียนศิลปะวาดรูปตามอย่างเขา เพราะเหตุที่ลูก ๆ ชอบ และเขาก็ไม่ได้บังคับ แต่เป็นการชอบไปตามสายเลือด กระทั่งลูก ๆ 3 คนจบปริญญาตรี และต่างยึดอาชีพ “นักวาดรูป” ของแต่ละคนไปโดยไม่มีใครรับราชการ
ช่วงปี พ.ศ.2539 ปารียาลูกสาวคนโต แต่งงานกับวันเฉลิม หนุ่มจังหวัดอุบล ที่เรียนศิลปะและเป็นศิลปินวาดรูปด้วยกัน 2-3 ปีแรกที่เรียนจบใหม่ ๆ ทั้งสองต่างทำงานเป็นลูกจ้างบริษัท อยู่ในกรุงเทพมหานครฯ พอมาช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจากวิกฤต IMF ปี พ.ศ.2540 ปารียาพาสามีกลับมาชุมพรและทดลองไปเปิดร้าน “บ้านศิลป์ปริญญา” รับจ้างวาดรูปและสอนวาดรูปอยู่ในตัวเมืองชุมพร ปรากฏว่าทั้งสองประสบความสำเร็จในอาชีพที่เรียนมา จนสามารถซื้อตึกในเมืองอยู่เป็นของตัวเองในเวลาถัดมาอีกเพียง 2 ปี
ด้านน้องชาย คือนพพร แรก ๆ ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปะ ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ อยู่ในกรุงเทพฯ ต่อมาก็ย้ายมารวมตัว อยู่กันที่ร้านวาดรูปที่ชายหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ตกับเพื่อน 5-6 คน ทว่าต่อมานพพรเกิดหลงใหลการเขียนบทกวี เรื่องสั้นและนิยาย นอกเหนือจากการวาดรูป ทำให้นพพรกลายเป็นนักเขียน ที่เริ่มจะมีคนรู้จักในวงการวรรณกรรม
ขณะที่บังอร น้องสาวของนพพร ลูกสาวคนเล็กของครูพงศ์พันธุ์ ก็ใช้ความรู้ทางวาดรูปที่เรียนมา ทำมาหากินเลี้ยงตัวเองได้เช่นกัน แต่เป็นการทำงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ งานออกแบบดีไซน์ ตามแต่ลูกค้าจะสั่งอยู่กับบ้าน แล้วนำภาพสินค้าไปโพสต์ขายผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้บังอรสามารถยืนอยู่ด้วยขาของตนเองได้เช่นกัน
หากจะถามว่า นพพรลูกชายคนเดียวของนายพงศ์พันธุ์ แหวกทางจากงานวาดรูปมาสู่วงการนักเขียนได้อย่างไร ก็จะต้องตอบว่ามาจากที่นายพงศ์พันธุ์ ไพจิตร เคยวาดและเขียนต้นฉบับนิยายการ์ตูน เล่มละ 1 บาท ขายให้สำนักพิมพ์นั่นเอง เป็นจุดทำให้ลูกชายรักการเขียนหนังสือและวาดรูป
พงศ์พันธุ์ มีภรรยาเป็นชาวอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เมื่อผิดหวังจากการเขียนนิยายการ์ตูน พงศ์พันธุ์อาศัยที่ดิน 4-5 ไร่ ที่พ่อตายกให้ ปลูกผลไม้ มังคุด เงาะ และทุเรียน แต่สวนก็พลันดับสลายหายไปกับการเกิดพายุไต้ฝุ่น “เกย์” ในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2532 พงศ์พันธุ์เลิกทำสวน หันมาตั้งหน้าตั้งตาเอาดีทางราชการ
ความเป็นครูมีฝีมือทางศิลปะ เปิดโอกาสให้พงศ์พันธุ์ ใช้ฝีมือศิลปะผลิตสื่อประเภทหนังสือภาพ ส่งเสริมการอ่านให้เด็ก ๆ ทำให้เด็ก ๆ รักการอ่าน และรักการวาดรูป เด็ก ๆ อ่านคล่องเขียนคล่อง วาดรูปเป็น พงศ์พันธุ์คัดเลือกผลงานเด็ก ส่งประกวดในส่วนกลาง เด็ก ๆ ได้รางวัลมาทุกปี มีผู้แนะนำให้พงศ์พันธุ์เสนอผลงานต่อสำนักงาน กค. ขอเป็นครูชำนาญการ ทำให้ในปี พ.ศ.2540 พงศ์พันธุ์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น อาจารย์ 3 ระดับ 8 มีเงินประจำตำแหน่งเดือนละอีกครึ่งของระดับเงินเดือน เปลี่ยนฐานะทางการเงินของพงศ์พันธุ์ให้สูงขึ้น ประกอบกับที่ลูก ๆ เรียนจบปริญญา พงศ์พันธุ์ไม่ต้องส่งเงินให้ลูกๆ อีก เขาจึงซื้อรถยนต์คันแรกในชีวิตมาใช้ แต่เป็นรถเก๋งราคาถูกๆ เพียงแค่ห้าแสนกว่าบาท ทำให้ถูกเหยียดหยาม และถูกค้อนแคะอีกว่า “ใช้รถไม่มีเกรด”
ทว่า พงศ์พันธุ์ใช้รถยนต์คันนี้ ขับออกท่องเที่ยวไปตลอดเหนือจดใต้หลายจังหวัด ทำให้โลกทรรศน์ของเขากว้างไกล จึงพอมีโอกาสช่วงใดว่าง เขาก็จะขับรถออกไปท่องเที่ยวตามอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ หลายครั้งเขาขับรถไปคนเดียว นานเป็นสิบ ๆ วัน โดยไปพักตามโรงแรม กระทั่งบ้านเพื่อนที่เคยคบหา แต่การที่เขามักขับรถไปเองคนเดียว ไม่มีใครอื่นนั่งไปด้วย เพื่อนหลายคนแย้งว่า
‘มันเสี่ยงอันตรายมากนะ อายุก็มากแล้ว เกิดขับไปแล้วไปเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างทางใครจะช่วยเหลือ...’
พงศ์พันธุ์ก็แย้งกลับว่า “ก็ในเมื่อฉันชวนทุก ๆ คนแล้ว เมียก็บอกไม่ว่าง ลูกก็บอกติดงาน เพื่อนก็ไม่มีใครยอมไป ถ้าฉันมัวแต่รอให้คนพวกนี้พร้อม ชีวิตของฉันที่เหลืออยู่อีกไม่มาก อีกไม่นานฉันก็จะกลายเป็นคนแก่นั่งเฝ้าบ้านนั่ง “ยิกไก่” อยู่นะซี แล้วต่อจากนั้นฉันก็ตาย แล้วก็คงจะไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนเลยกันพอดี ตลอดชีวิต”
“ยิกไก่” เป็นภาษาใต้หมายถึงคนแก่ที่หมดสภาพ อยู่เพื่อรอวันตาย ลูกหลานจับให้ไปนั่งใต้ถุนเรือน คอยไล่ไก่ไม่ให้ขึ้นไปขี้บนบ้าน
หันมาที่การทำงานในโรงเรียน จากที่นายพงศ์พันธุ์ เคยมีแค่รถจักรยานยนต์เก่า ๆ โทรม ๆ ขับมาโรงเรียนเปลี่ยนมาเป็นมีรถยนต์ขับ รวมทั้งการได้มาของตำแหน่งครูซี 8 แทนที่จะได้รับการยอมรับ ชื่นชมจากเพื่อนร่วมงาน พงศ์พันธุ์กลับได้รับการกลั่นแกล้ง จากผู้บริหารโรงเรียนระดับ 6 เพราะการที่เขาเป็นผู้สอนแต่มีระดับสูงถึงซี 8 สูงกว่าครูใหญ่ซี 6 เขาจึงถูกมอบหมายให้ทำงานธุรการและงานเอกสารจิปาถะ งานใดไม่หนักเท่างานการเงินและพัสดุ ที่เมียครูใหญ่ขอเบิกเงินแล้วไม่ส่งใบเสร็จการซื้อ-จ้างมาให้ตามกำหนดเวลา ทำให้งานบัญชีคั่งค้าง เสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบของสตง. จนต้องเอาบัญชีแต่ละเล่มมาคัดลอกเขียนใหม่ ย้อนหลังเป็นปี ๆ
เท่านั้นยังไม่พอ พงศ์พันธุ์ยังต้องอยู่เวรยามเฝ้าโรงเรียน ในตอนกลางคืน ผลัดกันกับภารโรงปีละ 182.5 วัน เพราะครูในโรงเรียนเป็นผู้หญิงเสีย 8 คน ครูผู้ชาย 2 คน ภารโรง 1 คน ครูผู้ชายคือพงศ์พันธุ์กับครูใหญ่ ครูผู้หญิงไม่ต้องอยู่เวรยาม ครูใหญ่มีหน้าที่มาลงชื่อตรวจเวรยาม ตอนสายๆ ในวันที่มาทำงาน หรือบางวันก็ไม่มาเลย แต่ลงชื่อในบัญชีลงเวลาว่า “มา” พงศ์พันธุ์รู้สึกขัดเคืองการอยู่เวรยาม ที่ทำให้เขาไม่สามารถุจะขับรถออกไปค้างแรมที่ไหน แม้กระทั่งตอนปิดภาคเรียน พงศ์พันธุ์จึงตัดสินใจขอเออร์ลี่รีไทร์ ทั้ง ๆ ที่ได้ตำแหน่งอาจารย์ 3 ระดับ 8
หลังการลาออก จากที่เคยมีเงินเดือนเดือนละสามหมื่นบาทเศษ กลายเป็นว่าพงศ์พันธุ์ได้รับเงินบำนาญรายเดือนเดือนละ 15,000 บาท แต่ทว่า การได้ตำแหน่งครูซี 8 ของเขาก็ไม่สูญเปล่า เมื่อมีครูในจังหวัดชุมพรและจังหวัดใกล้เคียง พากันมาหาเขา เพื่อให้ชี้แนะการทำผลงาน ขอเลื่อนตำแหน่งปีละ 40-50 คน ซึ่งเขาได้อาศัยลูก ๆ ช่วยวาดรูป ทำให้ลูกแต่ละคนพลอยมีรายได้ จากการวาดรูปประกอบหนังสือส่งเสริมการอ่าน ตกเดือนละ 30,000 ถึง 40,000 บาท
ส่วนครูพงศ์พันธุ์ ยามใดที่พอมีเวลาว่าง หรือมีเงินเต็มกระเป๋า เขาก็จะหาโอกาสขับรถยนต์ออกเที่ยวทันที และเมื่อเขาอยากออกไปเที่ยวที่ไหน ถ้าชวนลูก ภรรยา เพื่อน ญาติ... แล้วไม่มีใครไป พงศ์พันธุ์จะขับรถออกไปคนเดียวโดยไม่ง้อผู้ใด แต่ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่นางเพ็ญพิลาศ ภรรยายอมไปกับเขาด้วย
วันนั้นอยู่ในเดือนเมษายน พ.ศ.2545 เวลา 17 นาฬีกา นายพงศ์พันธ์ ไพจิตร ขับรถเก๋งโซลูน่า ราคา 500.000 กว่าบาท เป็นรถยนต์คันที่ 2 ต่อจากรถยนต์คันแรก คือรถกระบะที่เขาขายให้ญาติห่าง ๆ คนหนึ่ง ก่อนจะซื้อรถเก๋งคันนี้ขับมาที่บ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เพราะเพิ่งได้ข่าวว่า เกาะคอเขาอันเป็นตำบลแรก ที่พงศ์พันธุ์เคยมาใช้ชีวิตการเป็นครูอยู่ที่นี่ เมื่อ ปี พ.ศ.2509 ก่อนจะย้ายจากเกาะคอเขา ขึ้นฝั่งคุระบุรี ใน ปี พ.ศ.2512
ที่พงศ์พันธุ์ขับรถมาที่นี่ในวันนี้ เพราะได้ทราบข่าวจากเพื่อนบางคนเล่าว่า “เกาะคอเขามีแพขนานยนต์ สำหรับบรรทุกรถยนต์ข้ามไปมา ระหว่างเกาะกับฝั่งบ้านน้ำเค็ม และคนบนเกาะเปลี่ยนวิถีชีวิต เลิกใช้เรือมาเป็นขับรถเครื่องและรถยนต์ขึ้นจากเกาะกันแล้ว” พงศ์พันธุ์รู้สึกยินดี และนึกอยากจะลงไปเที่ยวบนเกาะคอเขาขึ้นมา เพราะช่วงตลอด 4 ปีที่เขาอยู่บนเกาะคอเขา การไปมาระหว่างเกาะกับตลาดตะกั่วป่า ต้องนั่งเรือยนต์จากท่าเรือย่านยาว ลัดเลาะไปตามลำคลองใหญ่น้อย ผ่านป่าโกงกางและแก่งเกาะ หลายลัดหลายเลี้ยว กว่าจะไปออกทะเลที่หน้าเกาะคอเขา ใช้เวลานานราว 2 ชั่วโมง แล้วจากหน้าเกาะคอเขา ยังต้องเลาะเลียบป่าชายเลน จนไปเข้าคลองแหลมยางที่อยู่บนเกาะอันเป็นท่าเรือจอด ใช้เวลาอีกเป็นชั่วโมง หรือเวลาจะขึ้นจากเกาะมาสู่ตลาดย่านยาวตะกั่วป่าก็เช่นเดียวกัน
มันเป็นเวลานาน 31 ปีแล้ว ที่เขาจากเกาะนี้ไป เขาจึงอยากจะมาดูให้เห็นกับตา แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งใจ ว่าจะลงไปในเกาะ นอกจากอยากจะมาดูแพขนานยนต์ ว่าลำใหญ่ ลำเล็ก สะดวกปลอดภัยแค่ไหนหรือไม่ประการใด ทว่าพอเลี้ยวรถเข้าไปจอดบริเวณท่าเทียบเรือบ้านน้ำเค็ม ชายแต่งกายแบบชาวเรือ ซึ่งประจำอยู่ที่แพขนานยนต์ก็เดินเข้ามาถามว่า “คุณจะนำรถยนต์ข้ามไปฝั่งโน้นไหมครับ”
เพ็ญพิลาศภรรยาของเขาก็ตอบทันทีว่า “ค่ะ เราจะพารถข้ามไปฝั่งโน้น”
“งั้น เชิญเอารถลงแพได้เลยครับ” ชายคนนั้นรีบอำนวยความสะดวก
พงศ์พันธุ์ไม่อยากขัดใจภรรยา และคิดว่าไหน ๆ เธอก็อุตส่าห์มากับเขาทั้งที จึงยอมเอออวยยอมขับรถลงไปจอดในแพ และพอลงมาในแพแล้วนั่นแหละจึงรู้ว่า
“ต้องไปค้างแรมบนเกาะนะครับ พรุ่งนี้จึงจะกลับได้ เพราะแพเที่ยวนี้เป็นแพเที่ยวสุดท้าย”
“ค่ะ เราตั้งใจที่จะไปค้างบ้านเพื่อนที่บนเกาะอยู่แล้ว” ภรรยาของเขาตอบ เธอตอบราวกับว่า 30 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นเหมือน 2-3 สัปดาห์ ทำให้พงศ์พันธุ์นึกหวาด ๆ แต่ตอนนั้นรถยนต์นั่งที่เขาขับ ได้ลงไปจอดต่อท้ายรถสิบล้อ ซึ่งลงไปจอดอยู่ก่อนคันหนึ่งแล้วในแพ และรถของเขาเป็นรถยนต์คันที่สอง แล้วแพก็เคลื่อนออกจากฝั่ง
เที่ยวนี้ครูพงศ์พันธุ์มาดหมายขับรถล่องใต้ เพื่อเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงและคนรู้จัก ที่ไม่ได้พบกันมานาน บางคนนานกว่า 30 ปี ขณะที่เพ็ญพิลาสภรรยาของเขา ก็อยากไปเยี่ยม เพื่อนรัก ของเธอคนหนึ่งซึ่งอยู่บนเกาะคอเขา เพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันนาน 20 - 30 ปี หากได้พบปะกันอีกครั้ง คงจะมีเรื่องให้ได้พูดคุยย้อนระลึกความหลังกันอย่างมีความสุข การเดินทางมาเที่ยวนี้ ครูพงศ์พันธุ์ได้แวะเยี่ยมเพื่อนฝูงหลายจุด จุดแรกที่อำเภอคุระบุรี แวะเยี่ยมอดีรต ผอ.ปัญจพลเพื่อนรุ่นพี่ที่เกษียณอายุราชการ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่หาบ้านไม่ถูกจึงขับรถเข้าไปถามครูในโรงเรียนคุระบุรี ครูผู้หญิงบอกให้ไปหา...
“เป็นบ้านหลังเดียวในตลาดคุระบุรีที่มีรั้วอัลลอยด์”
คนเปิดประตูรั้วเป็นลูกสาวหัวปีของอดีต ผอ.ปัญจพล ซึ่งตอนที่พงศ์พันธุ์กับเพ็ญพิลาศมาเช่าบ้าน ทำร้านขายสมุดดินสอ และขนมกินเล่นต่าง ๆ อยู่ในซอยหน้าโรงเรียนคุระบุรี เธอยังเรียนชั้น ป.2 มาวันนี้กลายเป็นครูสาวอายุ 30 ปี แต่งงานมีครอบครัวมีลูก ส่วนคุณวีณาภรรยาของอดีต ผอ.ปัญจพล สังขารร่วงโรย หน้าตาแก่เกินวัย ผมหงอกขาวเต็มศีรษะ ทั้ง ๆ ที่อายุอ่อนกว่าพงศ์พันธุ์ 6 ปี เมื่อสอบถามจึงรู้ว่า อดีต ผอ.ปัญจพลเพิ่งจะได้ภรรยาใหม่ เป็นนักร้องห้องอาหาร แยกบ้านไปอยู่ในสวนยาง หลังวัดป่าส้าน พงศ์พันธุ์ขับรถบุกป่าสวนยางไปจนพบ แต่ไม่พบอดีต ผอ.ปัญจพล พบแต่ภรรยาสาวรุ่นลูกที่ออกมายืนมองบอกว่า
“พี่ปัญจ์ไปสวน อยู่ในซอยข้างโรงเรียนคุระบุรี (แต่ต้องขับรถลึกเข้าไปมาก แถมต้องเดินบุกป่า) จะกลับมาก็ตอนเย็น ๆ ถ้าไม่รีบไปเชิญมาพักที่นี่ก่อนเถอะค่ะ”
พงศ์พันธุ์บอกชื่อ นามสกุล และความสัมพันธ์ของตนกับสามีของเธอก่อนจะปฏิเสธว่า
“ไม่เป็นไร ขอขอบคุณ พอดีผมมีนัดกับเพื่อนคนอื่นอีกหลายคน จะต้องรีบไปให้ทันเวลา ไว้เที่ยวกลับผมจะแวะมาใหม่” จากนั้นเขาก็ขับรถมา 5 โมงเย็นที่บ้านน้ำเค็ม
แพที่ใช้บรรทุกรถยนต์ข้ามทะเล ช่องแคบบ้านปากเกาะ-บ้านน้ำเค็ม เป็นแพที่คนไทยพื้นถิ่นคิดต่อทำขึ้น แบบไม่ต้องพึ่งหัวคิดฝรั่ง โดยใช้เหล็กแผ่นมาม้วนห่อเป็นท่อนกลม เชื่อมปิดหัวท้ายเป็นรูปกรวยทั้งสองด้าน กลายเป็นทุ่นเหล็กคู่เส้นผ่าศูนย์กลางเกินเมตร วางลงตามแนวนอนก่อนวางโครงเหล็กทับ แล้วปูพื้นด้วยเหล็กอีกชั้น เป็นผลพลอยได้ที่เหลือมาจากการทำแพดูดแร่ในทะเล เมื่อปี พ.ศ.2515-2520
พงศ์พันธุ์ นึกย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2510 ตรงจุดที่เขานำรถยนต์ลงเรือ เคยแค่มีร้านกาแฟอยู่ 1 หลัง เจ้าของร้านชื่อแป๊ะโจย แต่ตอนนี้แกคงตายไปแล้ว ร้านกาแฟแป๊ะโจยเขาก็มองหาแล้วไม่พบ แล้วยังกระท่อมชาวเลอีก 3-4 หลัง ตอนบ้านน้ำเค็มยังเป็นหาดโล่ง ๆ มีเรือประมงลำเล็ก ๆ มาจอด ขายปลาตอนเช้า ๆ มีชาวบ้านนำรางไม้สี่เหลี่ยมมาวางริมหาด โกยทรายริมหาดใส่ราง แล้ววิดน้ำทะเลสาดล้างทรายในรางออก สิ่งที่เหลือในลำราง คือแร่ดีบุกสีน้ำตาลปนดำ วันหนึ่งถ้าได้สักกิโลกรัม วันนั้นก็พอกินใช้สำหรับครอบครัวเล็ก ๆ
ทุกชายฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่เกาะคอเขายันเกาะภูเก็ต ในช่วงปี 2509 มาจนถึง ปี พ.ศ.2520 สินแร่ดีบุกที่ปะปนอยู่ในทรายที่คลื่นซัดขึ้นมา ทางราชการอนุญาตให้ชาวบ้าน กวาดร่อนเอาไปขายได้โดยถูกกฎหมาย ทำให้มีคนหัวใสใช้ใบพัดเรือหางยาว ปั่นลงไปบนพื้นทรายใต้น้ำริมหาด เมื่อน้ำหมุนวนจนเป็นหลุม สินแร่ที่ปะปนอยู่กับทรายใต้น้ำ ก็จะตกตะกอนนอนอยู่ในหลุม พอตักขึ้นมาได้สินแร่ในปริมาณมาก มากกว่าที่เคยกวาดทรายตามชายหาด มาล้างเอาแร่เป็นร้อยเท่า ทำให้ชาวบ้านขายแร่ร่ำรวย มีรถยนต์ขับไปในพริบตา
ความรวยของชาวบ้าน ถูกโจษขานไปทั่วประเทศ ผู้คนจากทุกภูมิภาค เดินทางมาที่บ้านน้ำเค็ม มาลงทุนทำตามอย่าง กระทั่งพัฒนามาเป็นใช้เครื่องดูดทราย จากใต้ทะเลขึ้นมาล้างบนแพไม้ไผ่ กระทั่งแพโฟม บ้านน้ำเค็มพลันแปรสภาพเป็นชุมชนแออัด ลามขึ้นไปจนถึงพื้นดินบนเกาะคอเขาที่เคยเป็นป่ารกร้าง มีชาวเกาะอาศัยอยู่ไม่ถึง 200 ครัวเรือน กลายเป็นเกาะที่มีผู้คนแปลกหน้า ขึ้นไปอยู่อาศัยเต็มเกาะ มีคนนำรถจักรยานยนต์ขึ้นไปใช้ ทำให้เกิดมีถนนทรายตัดผ่านกลางเกาะขึ้นแต่เพลานั้น...
ทว่า หลังปี พ.ศ.2520 ฝั่งท่าบ้านน้ำเค็ม ลดความคึกคักคับคั่งของผู้คนลง เมื่อแร่ในทะเลหมด แต่พอปี พ.ศ.2540 กลับมีแพขนานยนต์บรรทุกรถยนต์ ข้ามไปข้ามมา ระหว่างเกาะคอเขากับบ้านน้ำเค็ม ดูท่าว่าเกาะคอเขา ที่เคยเป็นเกาะกันดารไร้ค่าเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
พงศ์พันธุ์มารู้เอาตอนอยู่ในแพแล้ว ว่าค่าข้ามแพสำหรับรถยนต์ของเขาไป-กลับ 800 บาทส่วนสิบล้อซึ่งบรรทุกวัตถุใส่กระสอบมาเต็มคัน ต้องเสียค่าข้ามไป-กลับ 2,000 บาท เพราะเขาคิดค่าข้ามฟากตามจำนวนล้อรถ เป็นความผิดของเขา ที่ไม่ถามก่อนจะขับรถลงแพ
“ไปบ้านนอกนา ไปหาใครครับ”
ชายอายุประมาณห้าสิบ ที่มากับหญิงวัยไล่เลี่ยกัน อาศัยมาในแพเที่ยวเดียวกันถามครูพงศ์พันธุ์
“กะจะไปหาหลายคนครับ คือเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ผมเคยเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านนอกนา คนบนเกาะนี้รู้จักผมทุกคน ลูกศิษย์ลูกหาที่ผมเคยสอน ตอนนี้ก็คงจะอายุสี่ห้าสิบ ผมสอนอยู่ที่เกาะนี้สี่ปีครึ่ง”
“งั้น กำนันวิสุทธิ์เจ้าของแพ ก็คงจะเป็นลูกศิษย์ของครู” ชายคนนั้นพูด
“วิสุทธิ์? ถ้าบอกนามสกุลผมจะบอกได้ ว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะผมจะจำนามสกุลเด็ก ที่เคยสอนได้ทุกคน ส่วนชื่ออาจจะพ้องกันหรือเหมือนกันได้” ครูพงศ์พันธุ์พูด
ชายบนแพบอกนามสกุล พงศ์พันธุ์พลันนึกถึงเด็กชายตัวผอม ขี้โรค ที่ร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน พี่ ๆ ต้องบังคับจับพานั่งท้ายรถจักรยานถีบไปส่งไปรับทุกวัน บางวันเด็กชายวิสุทธิ์อึราดกางเกง เพ็ญพิลาศภรรยาเขาต้องพาไปอาบน้ำ นำเสื้อผ้าใหม่มาเปลี่ยนให้ชั่วคราว และซักเสื้อผ้ากางเกงให้ เขารู้สึกดีใจ คิดว่าแพที่กำลังข้ามอยู่ เป็นของลูกศิษย์จะได้ไม่ต้องจ่ายแปดร้อยบาท แต่ทว่า...
“แพของกำนันวิสุทธิ์ใหญ่กว่านี้ บรรทุกรถยนต์ได้เที่ยวละเป็นสิบคัน แต่ตอนนี้ฝรั่งสร้างหนังที่มาถ่ายหนัง เรื่องเดอะบี๊ช ซื้อไปบรรทุกต้นปาล์มและต้นมะพร้าว ไปปลูกทำฉากถ่ายหนัง ที่บนเกาะมาหยา กระบี่ ฝรั่งขอซื้อ 15 ล้านกำนันแกขายทันที แพลำนี้เป็นของคนอื่นเพิ่งมาต่อขึ้นใหม่” พงศ์พันธุ์เกิดอาการใจหายตามเดิม
“รู้จักผู้หญิงชื่อประไพไหมคะ ร่างสูง ๆ ผิวขาว ๆ” เพ็ญพิลาสภรรยาของเขาเปลี่ยนเรื่อง
ชายหญิงสองคนทำท่าตรึกตรองอยู่สักครู่ ผู้ชายก็พูดว่า “ประไพที่สามีชื่อเหลี่ยมใช่ไหมครับ?”
“ใช่ ค่ะ ก่อนที่ดิฉันจะย้ายไปเธอแต่งงานกับคุณเหลี่ยม”
“คุณประไพตายไปห้าหกปีแล้วครับ คุณเหลี่ยมก็ตายแต่ตายไปก่อนเกือบปี” ชายคนเดิมกล่าว
“ประไพเป็นอะไรตาย” เพ็ญพิลาสทำท่าตกใจ
“เขาว่าเป็นมะเร็ง แต่บางคนว่าเป็น... แกติดเชื้อจากสามี คุณเหลี่ยมไปติดเชื้อมาจากนักร้องในบาร์ที่ตลาด”
“ครูการันต์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านนอกนาละครับ ยังอยู่หรือเปล่า?” พงศ์พันธุ์ถาม
“ครูการันต์ ก็ตายไปห้าหกปีแล้วครับ แกไปเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำที่ราชบุรี...”
พงศ์พันธุ์ถามถึงใคร ๆ อีกหลายคน คำตอบก็คือตายและขายที่ไปอยู่ที่อื่น พงศ์พันธุ์มองหน้าเพ็ญพิลาสเป็นเชิงปรึกษา
‘ตกลงคืนนี้เราจะไปนอนที่ไหน’
เพราะจะหันกลับไปนอนบนฝั่งก็กลับไม่ได้ จนกว่าจะถึงวันพรุ่งนี้
จากท่าจอดแพถนนเป็นคอนกรีตกว้างรถวิ่งสวนกันได้ แต่พอหมดถนนคอนกรีต เป็นถนนลาดยางกว้างทันสมัย มาตรฐานเดียวกับถนนใหญ่ทั่วๆ ไป ทำให้พงศ์พันธุ์ดีใจ ในความเปลี่ยนไปของเกาะที่เขาเคยอยู่
ความมืดโรยตัวลงคลุมเกาะอย่างรวดเร็ว จนต้องเปิดไฟรถ ถนนลาดยางกว้างเรียบ ผ่ากลางเกาะแบ่งป่าออกเป็นสองฟาก มุ่งไปทางทิศเหนือหรือบ้านนอกนา สองฟากทางมืดและเปลี่ยว ไม่มีบ้านคน เหมือนมาขับรถอยู่ในแดนสนธยา ไม่มีรถใดแล่นตามหลังหรือสวนมา แม้แต่สักคันเดียว
ขับมาราว 3-4 กิโลฯ พบบ้านคนอยู่ริมถนนเพียง 2 หลัง มีแสงไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนส่องสว่าง บ้านหลังแรกปิดประตูเขาจึงขับผ่าน หลังที่สองประตูและหน้าต่างยังเปิดอยู่ เขาจึงจอดรถ แสงไฟฟ้ามาจากเครื่องปั่นไฟ เพราะเสียงเครื่องปั่นไฟดังหึ่ง ๆ พงศ์พันธ์เดินเข้าไปหวังว่าเขาจะรู้จัก แต่ทว่านอกจากเขาจะไม่เคยไม่รู้จัก ทั้งพงศพันธุ์และเพ็ญพิลาสแล้ว เจ้าของบ้านยังไม่รู้จักชื่อใครสักคนบนเกาะ ที่ทั้งสองถามถึง
พงศ์พันธุ์ขับต่อไปตามถนนมืดต่อไป สิ่งต่อมาที่ทั้งสองนึกกลัวคือ ถ้าถูกปล้นถูกจี้ ทั้งสองคงถูกฆ่าทิ้งอยู่บนเกาะ เพราะไม่มีใครมารู้มาเห็น พงศ์พันธุ์ขับรถไปคิดไปอย่างหวั่นใจ อยู่ ๆ ถนนดำก็สิ้นสุดลงอย่างกะทันหัน เขาต้องเหยียบเบรกชะลอรถ รถถลาแล่นกระดอนไปบนถนนขรุขระ ประมาณ 20 เมตรกว่าจะหยุดได้ แล้วค่อย ๆ บังคับให้คลานไปช้า ๆ ด้านซ้ายมือมองเห็นป้าย ‘โรงเรียนบ้านนอกนา’
พงศ์พันธุ์จำบ้านพักหลังแรกของเขาได้ เพราะมันอยู่หัวแถว แต่โรงเรียนและบ้านพักครูทุกหลังอยู่ในความมืดและเงียบ ถนนมาสิ้นสุดที่ข้างรั้วโรงเรียน ด้านขวามือ
ตอนแรกเขายังมองไม่เห็นอะไร นอกจากศาลาหลังใหญ่ กว้าง หลังคามุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ พื้นเทคอนกรีตเสมอดิน ที่กำนันจวนกำนันคนเก่า เกณฑ์ชาวบ้านมาสร้างไว้ไล่ ๆ กับที่อาคารเรียนหลังใหม่และบ้านพักครูหลังแรกสร้างเสร็จ สมัยที่เขายังอยู่ที่นี่ สำหรับใช้เป็นที่พักของพระสงฆ์ ที่อาจจะเดินทางมาโปรดผู้คนบนเกาะได้อาศัยเป็นที่พัก และยังใช้เป็นโรงพิธี สำหรับเวลาที่มีงานบุญต่าง ๆ โดยต้องไปนิมนต์พระมาจากวัดที่บนฝั่ง เพราะทั้งเกาะไม่มีวัด
แต่พอมองโดยละอียดอีกที ติดกับศาลามีร้านขายกาแฟและเหล้าเบียร์ ร้านหนึ่งตั้งอยู่
“เอ๊ะ! ทำไมตอนแรกมองไม่เห็นวะ?”
พงศ์พันธุ์สงสัยและเพ็ญพิลาสก็เห็นอย่างนั้นเหมือนกัน คือตอนแรกไม่มี ทว่ามีดีกว่าไม่มี
ที่โต๊ะใหญ่ใต้เพิงหลังคามีคนนั่งอยู่ 4 คน เป็นชายหนุ่ม 3 คน อีกคนเป็นชายชราร่างอ้วน ไม่สวมเสื้อ นุ่งแต่โสร่งลายตาหมากรุก ศีรษะล้าน มีผมหงอกข้าง ๆ หูอยู่ประปราย ในร้านมีโทรทัศน์ขาว-ดำเปิดอยู่
ทุกคนที่นั่งอยู่กำลังคุยกันสนุก แต่เงียบลงทันทีเมื่อเห็นนพพรลงจากรถเดินเข้าไปหา ทุกคนมองมาที่พงศ์พันธุ์กับเพ็ญพิลาศอย่างสนใจ แต่พงศ์พันธุ์ไม่รู้จักใครสักคนเดียว เขาเข้าไปยกมือไหว้ทุก ๆ คน และถามถึงที่พักบนเกาะ
"ที่นี่มีโรงแรมหรือรีสอร์ทบ้างไหมครับ?” ทุกคนส่ายหน้า
ชายร่างอ้วนศีรษะล้านตอบว่า “ไม่มี”
พงศ์พันธุ์ถามชื่อคนโน้นคนนี้ ที่ตั้งใจมาหา “น้าหีด น้าตี๋ ลุงน้อย”... ทุกคนตอบเช่นเดียวกับหญิงชาย ที่เขาพบบนแพขนานยนต์ คือ “ตายไปนานแล้ว”
"บ้านพักครูมีครูอยู่ไหมครับ ผมมาผิดเวลา อยากไปขออาศัยสักคืน”
“บ้านพักครูทั้งสามหลังไม่มีครูอยู่ ครูมาสอนเช้าแล้วเย็นกลับ” ชายชราร่างอ้วนศีรษะล้านตอบ และคงมองเห็นความทุกข์กังวล บนใบหน้าของครูพงศ์พันธุ์ จึงแนะนำตัว
“ครูจำผมไม่ได้หรือครับ ผมวิชัยไงลูกกำนันจวน ครูจากไปนาน 30 ปี ไม่คิดว่าจะกลับมาเยี่ยมเราอีก” พงศ์พันธุ์ยิ้มออกทันที
วิชัยเชื้อเชิญให้ทั้งสองพักในร้านค้าของเขา พงศ์พันธุ์จำวิชัยไม่ได้ แต่วิชัยกลับจำเขาและเพ็ญพิลาสได้ดี วิชัยพูดว่า “ครูยังมีรูปร่างและหน้าตาที่ไม่เปลี่ยนไปจากเดิม”
หลังจากพูดคุยกันได้สักพัก ชายหนุ่ม 3 คนในร้าน พากันลุกแยกย้ายกันกลับบ้าน วิชัยจัดการปูเสื่อหมอนให้พงศ์พันธุ์กับเพ็ญพิลาสนอนในร้าน
พงศ์พันธุ์เคยอาศัยพักพิงในบ้านของกำนันจวน พ่อของวิชัย ในตอนก่อนที่จะมีบ้านพักครู ช่วงปี พ.ศ.2509-2510 ที่พงศ์พันธุ์ยังรักษาการเป็นครูใหญ่สอนอยู่ที่นี่ พงศ์พันธุ์อาศัยห้องเล็ก ๆ บนบ้านของกำนันจวน เป็นที่หลับนอน และกินอยู่กับกำนันเจ้าของบ้าน
ปี พ.ศ.2509 โรงเรียนบ้านนอกนายังอยู่ที่กลางทุ่ง ข้างหมู่บ้านนอกนา พงศ์พันธุ์กับกำนันจวนร่วมมือกัน มองหาที่ว่างเพื่อตั้งอาคารโรงเรียนใหม่แทนอาคารกลางทุ่ง ที่มีน้ำท่วมขังในฤดูฝนทุกปี จนขาโต๊ะ เก้าอี้ผุพัง และพอมาได้ที่ใหม่ตรงนี้ ซึ่งเป็นเนินสูงขึ้นมาจากทุ่งด้านล่าง แถมมีเนื้อที่ราว 40 ไร่ แทนที่เก่าซึ่งมีเนื้อที่ 2-3 ไร่ บ้านพักครูหลังแรกก็ถูกสร้างขึ้นพร้อมอาคาร และพงศ์พันธุ์ก็ไปรับภรรยา คือเพ็ญพิลาสที่อาศัยอยู่กับพี่ชาย ที่ข้างโรงเรียนเทศบาลตะกั่วป่า ลงมาอยู่ด้วยกันบนเกาะ 2 ปีครึ่ง ก่อนจะย้ายไปสอนโรงเรียนในเขตกิ่งอำเภอคุระบุรี และไปเช่าบ้านทำร้านค้าขายอยู่ในซอยหน้าโรงเรียนคุระบุรี ในปี พ.ศ.2512
วิชัยเล่าเรื่องที่ทำให้บนเกาะมีถนนเกิดขึ้นว่า เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2515 ที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูด้วยแร่ แต่ไม่ทันได้ลาดยาง เมื่อสินแร่ริมฝั่งที่ทางราชการอนุญาต ให้ชาวบ้านทำแร่ได้โดยเสรีหมดลง ฝั่งบ้านน้ำเค็มและฝั่งเกาะคอเขา ก็กลับมาเป็นหมู่บ้านไร้ค่าแบบเดิม ๆ แต่พอปี พ.ศ.2525 ปีต่อมา มีการกระพือข่าวเรื่องความร่ำรวยจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ คนพวกใหม่พากันลงมาบนเกาะ เพื่อหาที่เลี้ยงกุ้ง ผลลัพธ์ก็เช่นเดียวกับตอนที่มีคนมาทำแพดูดแร่ คือ มีทั้งผู้ที่ร่ำรวยและฉิบหายกลับไป บ่อกุ้งที่ยังอยู่ได้ก็อยู่ไปเรื่อย ๆ นักลงทุนรายใหม่ ๆ ก็ยังมีเข้ามาที่เกาะคอเขาไม่ขาดสาย อย่างเช่นที่พงศ์พันธุ์เห็นรถบรรทุก ที่ลงมาในแพเที่ยวเดียวกัน คือรถบรรทุกปูนขาว ที่นำมาใช้ปรับสภาพน้ำในบ่อกุ้ง
เมื่อถามถึงอีกหลาย ๆ คน เช่น กำนันจวน พ่อของเจ้าวิชัย พี่น้องของเจ้าวิชัย รวมทั้งพวกลูกศิษย์ลูกหาของเขา ปรากฏว่าขายที่ให้คนที่เข้ามาเลี้ยงกุ้ง แล้วก็ย้ายขึ้นไปอยู่บนฝั่งแถว ๆ คุระบุรี ตั้งแต่ที่ถนนบนเกาะยังไม่ได้ลาดยาง แต่เจ้าวิชัยไม่ย้ายและลองเลี้ยงกุ้ง ตามอย่างคนที่มาจากข้างบน ที่สวนนับร้อยไร่จึงถูกขายชำระหนี้ ที่บางแปลงก็โดนธนาคารยึด แต่เคราะห์ยังดีที่เหลือที่ดินหน้าโรงเรียนอยู่ 2 ไร่ ทำให้สามารถมาเปิดร้านขายของชำ ขายเหล้า ขายเบียร์ และของกินใช้ให้กับคนที่มาอยู่เลี้ยงกุ้ง จึงทำให้อยู่ต่อมาได้
ตอนนี้บนเกาะมีรถยนต์สองแถวแล่นรับส่งคนโดยสาร จากหัวเกาะไปช่องแคบปากเกาะ อยู่ 2-3 คัน นอกนั้นเป็นรถกระบะของคนที่มาเลี้ยงกุ้ง รถเครื่องกลายเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีทุกบ้าน การไปมาระหว่างเกาะกับตะกั่วป่า ไม่มีใครใช้เรืออีก ที่ติดทะเลรอบ ๆ เกาะเต็มไปด้วยบ่อกุ้ง บนเกาะไม่มีใครทำนา สวนไร่ มีแต่ต่างหันเข้าหาวงพนัน มีคนจากบนฝั่งลงมาเปิดบ่อนไพ่ การพนัน ที่ดินบนเกาะเป็นของคนจากข้างบนไปเกือบหมดแล้ว
หลายบ้านมีเครื่องปั่นไฟฟ้า เพื่อปั่นไฟให้บ่อเลี้ยงกุ้ง แพบรรทุกรถยนต์เกิดขึ้น ตอนทำถนนลาดยาง เพื่อขนเอารถแทรกเตอร์ รถบรรทุกสิบล้อขนหิน ดินลูกรังจากบนฝั่งมาปรับถมถนน โรงเรียนมีนักเรียนอยู่ไม่ถึง 30 คน มีครู 5-6 คน ครูขับจักรยานยนต์มาสอนนักเรียนแบบมาเช้าเย็นกลับ ไม่มีใครอยู่บ้านพักครู
คืนนั้นครูพงศ์พันธุ์กับภรรยาคิดว่าตนเองโชคดี ที่บนเกาะคอเขายังมีวิชัย ที่เคยกินอยู่ด้วยกันในครอบครัวของกำนัน หากไม่เป็นเพราะว่า เช้าวันรุ่งขึ้นทั้งสองตื่นขึ้นมา พบว่าตนเองนอนอยู่ในบ้านร้าง พวกข้าวของต่าง ๆ ในร้านที่เห็นวางขายเมื่อคืน พอมาเช้าวันนี้เหลือแต่ชั้นวาง ไม่มีอะไรเลยสักอย่าง
และหลังจากขับรถออกมาจากร้านเจ้าวิชัย (เจ้า-ภาษาถิ่น ใช้เรียกคนเคยบวชพระ) พงศ์พันธุ์ถามชาวบ้านคนหนึ่งที่ขี่จักรยานมาทำธุระแถว ๆ นั้น ว่า
“บ้านที่อยู่หน้าโรงเรียน เจ้าของบ้านไปไหนครับ?”
เขาตอบว่า “อ๋อ บ้านเจ้าชัยหรือครับ เจ้าชัยตายไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว แกเครียดที่ทำบ่อกุ้งแล้วขาดทุน
ป่นปี้”
ยังดีที่การมาเกาะคอเขาเที่ยวนี้ นายพงศ์พันธุ์มีนางเพ็ญพิลาศภรรยามาเที่ยวด้วย นั่นถ้าครั้งนั้นเป็นการมาคนเดียว และมาเจอบททดสอบสยองขวัญที่โหดกว่านี้ เขาอาจเอาชีวิตไม่รอด และบทเรียนครั้งนี้สอนเขาว่า อย่าได้มั่นใจกับการขับรถคนเดียว เที่ยวไปในถิ่นที่ตนเองไม่คุ้นเคยอีก แต่จงหาใครมาร่วมทางด้วยสักคนหรือสองคนน่าจะดีกว่า
ทำให้หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น นายพงศ์พันธุ์ไม่กล้าขับรถคนเดียว เที่ยวไปในถิ่นที่ตนไม่คุ้นเคยอีกเป็นเวลานับว่านานทีเดียว