
เสียงกระซิบจากดวงดาว (อุปถัมภ์ กองแก้ว)
ประหยัด: 52.50 บาท ( 35.00% )
เนื้อหาบางส่วน
๑
“เธอชื่ออะไรจ๊ะ?”
เสียงคุณครูอ่อนโยน จ๊ะจ๋าน่าฟัง
แต่เสียงตอบนั้นห้วนสั้น
“ไอ้ป๊อก”
คุณครูเอนหลังฟังพนักเก้าอี้ทันที เหลือบตามองเด็กชายที่ยืนกางขาอยู่ ตรงหน้านิดหนึ่ง ไม่พูดต่อว่ากระไร แต่ก็ยังไม่ลงมือเขียนชื่อลงในสมุดประวัติที่ต้องจัดทำขึ้นสำหรับเป็นหลักฐานของโรงเรียน นอกเหนือไปจากใบมอบตัวนักเรียน ตามระเบียบ สมุดเล่มนี้จะบอกรายละเอียดที่ไม่ปรากฏเปิดเผยต่อเพื่อนนักเรียนคนอื่นๆ
กิริยาของครูและนักเรียนใหม่ทำให้ ‘ผู้ปกครอง’ ของไอ้ป๊อกอึดอัดใจรีบ กล่าวแจ้งแถลงไขทันที
“เขาชื่อเล่นว่าป๊อกค่ะ คุณครู ที่บ้านเรียกกันยังงั้น แต่ชื่อจริงชื่อชาลีร์นะคะ
ชื่อมันเพราะกว่าใคร ๆ ในละแวกนั้นแหละ”
“คุณเป็นอะไรกับชาลีคะ?” คุณครูหันมาถาม
“น้าค่ะ ฉันเป็นน้ามัน เลี้ยงมันมาแต่เล็กๆ แม่มันมาทิ้งไว้ตั้งแต่ แบเบาะแน่ะค่ะ” คุณน้าตอบคล่องแคล่ว น้ำเสียงออกจะโอ้อวด ซึ่งผู้ฟังมอง ดูและฟังแล้วก็ต้องระบายลมหายใจยืดยาว อดพิจารณาการแต่งกายอันรับกัน เหมาะเจาะกับคำเจรจานั้น มิได้ กางเกงขาลีบสีนํ้าเงินสด เสื้อขาวลายตรง สีเดียวกับกางเกง รองเท้าแตะฟองน้ำ และถือกระเป๋าสตางค์ใบเท่าฝ่ามือ กระฉับกระเฉงอย่างคนว่องไวต่อชีวิตและ ความเป็นอยู่ ...ก็เห็นจะเป็นอย่างนั้นแหละ...
คุณครูคิดในใจอย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะประวัติของนักเรียนโรงเรียนนี้ เต็มไปด้วยปัญหาอย่างนี้นี่เล่า จึงต้องมีสมุดปกเขียวที่เธอจดของทุกคนลงไว้
เด็กชายชาลีในสายตาของเธอแต่งกายด้วยชุดนักเรียนใหม่เอี่ยมตั้งแต่เสื้อเชิ้ตจดรองเท้า...ใหม่ไปทั้งตัว นอกจากหน้าตาที่จำลองมาจากตุ๊กตานิโกรตัวน้อย!
ดวงตาและฟันของเขาดูขาวเด่นเป็นพิเศษ แม้ว่าผิวกายจะไม่ถึงกับดำสนิท แต่ก็เผือดคลํ้ากว่า ผิดคนไทยมากอยู่ ได้กำไรตรงที่เนื้อเนียนละเอียด ผมหยิก รีมฝีปากหนาแต่งามได้รูป ลูกครึ่งไทย - นิโกร น่ากลัวว่าจะต้องถูกล้อเลียน จากพวกเพื่อนแก่นๆ พอสมควร เป็นภาระหนักของครูประจำชั้นตามเคย
ไอ้ป๊อก...ในชีวิตจะมีนิยายอยู่เสมอ เรื่องราวของเด็กชายคนนี้ก็เป็น นิยายเก่า ที่เคยได้ยินมาแล้ว ผู้หญิงไทยกับการเลือกทางเดินเข้าไปรองรับตัณหา ของผู้ชายต่างชาติ หรือบางคนได้แต่งงานตามที่สังคมกำหนด แต่ผลิตผลก็จะ เป็นอย่างนี้ ปัญหามีตั้งแต่รูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ และความเป็นไป
เพียงแต่เด็กคนนี้มีแววตาที่แจ่มใสแวววาว และรอยยิ้มอันบริสุทธิ์ ต่างจากเด็กบางคนที่มีปัญหาอย่างเดียวกัน เด็กคนนี้สามารถเรียกตัวเองว่าไอ้ป๊อกได้โดยไม่สะดุ้งสะเทือน ไม่เป็นของประหลาดสำหรับเขา
“มีสูติบัตรไหมคะ คุณน้า?”
“แหม...เรียกชั้นซะแก่ไปเลย” เจ้าหล่อนค้อนให้
“ฉันหมายถึงว่า คุณน้าของป๊อกน่ะค่ะ ขอโทษที”
“ไอ้สูติบงสูติบัตรอะไรนั่น ไม่มีหรอกค่ะ ก็มันไปเกิดที่บ้านนอกในป่า ร้อยเอ็ดโน่นแน่ะ บ้านพ่อของฉัน ตาของมันนั่นแหละค่ะ”
“เอ...แล้วยังไง ไหนว่าเคยเรียนกับครูที่เขามาเดินสอนให้ถึงหมู่บ้าน เขาไม่ช่วยจัดการให้หรือคะ?”
“อ๋อ พวกนักเรียนมหาวิทยาลัยที่เขามาสอนอ่านเขียนวาดรูปน่ะหรือคะทีแรกก็ไม่ได้พูดกันถึงเรื่องใบเกิดอะไรนี่หรอกค่ะ แต่พอมาจัดแจงหาบ้านเป็น ที่สอนแน่นอน ชื่อโรงเรียนแสงเทียนไงคะ ถึงได้มาพูดกันขึ้น พอจะทำอะไร ให้ถูกระเบียบ กระทรวงเขาก็ให้มีนั่นมีนี่ พวกเด็ก ๆ ที่ไม่มีใบเกิด เขาก็กำลัง จะช่วยจัดการกันอยู่ละทั้ง แต่ไอ้ป๊อก...เอ๊ย...ชาลีร์มันย้ายมาอยู่กับฉันเสียก่อน แล้วแม่มันก็เพิ่งจะส่งเงินก้อนมาให้ สั่งให้เข้าโรงเรียนนี้ เขาเคยรู้จักครูใหญ่ค่ะ”
“งั้นหรือคะ?”
ครูใหญ่และเจ้าของเป็นคนคนเดียวกัน ได้ชื่อว่าเป็นหญิงหม้ายที่ร่ำรวย คนหนึ่ง ไม่มีบุตรสำหรับช่วยใช้เงินเพิ่มรายจ่าย ท่านจึงตั้งโรงเรียนขึ้น เป็นโรงเรียนราษฎร์ที่ไม่มุ่งหวังการเรียนสูงเด่นของนักเรียนเท่าใดนัก ไม่เกี่ยงงอน เรื่องฐานะความเป็นอยู่ของนักเรียน แต่ก็มีทุนการศึกษาให้นักเรียนที่มีความ สามารถสูงได้เรียนต่อ และก็มีทุนค่าอาหารสำหรับเด็กขัดสนจริง ๆ เช่นกัน
เมื่อผู้ปกครองออกปากว่ารู้จักครูใหญ่...ครูน้อยจึงระลึกถึงอุดมการณ์ ของท่านเจ้าของโรงเรียนและรีบปฏิบัติให้เป็นไปตามความประสงค์
ชื่อและประวัติโดยละเอียดของเด็กชายชาลีจึงถูกบันทึกลงในสมุดปกเขียว ด้วยลายมืออ่านง่ายชัดเจน และเมื่อคุณครูเลื่อนสมุดให้ผู้ปกครองเซ็นรับทราบ สมุดก็ถูกเลื่อนต่อมายังเจ้าตัว แล้วไอ้ป๊อกก็ก้มลงเซ็นตัวโต ‘เท่าหม้อแกง’ ...ชาลีร์ โยเซฟ...
คุณครูขมวดคิ้ว
“เขียนชื่อผิดหรือเปล่าจ๊ะ ทำไมต้องมีตัว ร.เรือการันต์ด้วยล่ะ?”
“ครูแหละเขียนผิด” ไอ้ป๊อกยืนยัน ยิ้มใส ๆ ระบายเต็มหน้า
“ไหนคะ...” คุณน้าผู้ปกครองยื่นหน้าเข้ามาดู แล้วลากสมุดออกไปอ่าน รับรองว่า “ใช่แล้วค่ะ ชื่อมันต้องมี ร.เรือการันต์ตอนท้าย”
“ชาลีเฉยๆ แปลว่าตาข่าย ก็เพราะดีแล้วนะคะ เด็กมีสัญชาติเชื้อชาติไทย ด้วยนะคุณ”
“แต่แม่มันตั้งให้ตั้งแต่เกิดแล้วนะคะ” คุณน้าเสียงแข็ง
“มีเหตุผลไหมคะ...ฉันหมายถึงว่า พ่อเขาสั่งหรือยังไง” คุณครูพยายาม อธิบายคำถามให้ชัดเจนขึ้น คุณน้าสะบัดหน้าพรืด
“มันจะมีเวลามาสั่งเสิ่งอะไร้...แม่มันละสิคะ...รักไอ้นิโกรนั่น อยากตั้งชื่อให้คล้องกับพ่อ พ่อมันชาล-ล-นี่คะ มันว่าอยากให้มี ร.การันต์ยังงี้แหละ จะได้ดูเป็นฝรั่งหน่อย”
นี่คือเหตุผลของคุณน้าอุสา ทำให้คุณครูอดขันไม่ได้ แม้จะพยายามรักษาคุณค่าของมโนธรรมสักเพียงไร เธอก็ต้องปล่อยเสียงหัวเราะออกมา เบา ๆ
พอสิ้นเสียงหัวเราะของตัวเอง เธอก็ไม่สบายใจนัก มองดูแววตาชื่อและใสแจ๋วของเด็กชายแล้วก็นึกเอ็นดูสงสาร ยิ้มของเขาสดใสไร้เดียงสาเหมือน เด็กเล็ก ไม่มีความขุ่นเคืองเมื่อตกเป็นตัวตลกสักนิด เธอเอื้อมมือไปแตะแก้มเขาเบา ๆ
“เธอยิ้มสวย ชาลีร์”
แววตาของชาลีร์เปล่งประกายแจ่มจรัสขึ้นไปอีก แต่เขาไม่ตอบคุณครูก้มลงเติม ร.การันต์ท้ายชื่อของเขาทุกแห่ง แล้วให้ผู้ปกครองเซ็น รับรองประวัติ
“ชาลีร์อายุสิบสี่ อ่านเขียนพอได้ คิดว่าทดลองอีกสักอาทิตย์หนึ่งอาจจะได้บรรจุให้เรียนชั้นประถมสามหรือสี่ ถ้าเขาเรียนเลขได้นะคะ” คุณครูบอกผู้ปกครองด้วยเสียงสุภาพ
“แหม ดีซิคะ เลื่อนชั้นไวดียังงี้ แม่มันคงดีใจมาก ขอบคุณคุณครูนะคะ ฝากไอ้ป๊อกด้วยแล้วกันค่ะ”
“อย่าห่วงเลยค่ะ โรงเรียนเลิกบ่ายสามโมงตรงนะคะ ขอให้มารับได้
ตามนี้”
“โอ๊ย ไม่ต้องรับหรอกค่ะ ไอ้ป๊อกมันเก่ง มันกลับบ้านเองได้”
“แหม จะดีหรือคะ พ้นโรงเรียนไปแล้ว เรารับผิดชอบอะไรไม่ได้นะคะ เผื่อจะโชคร้ายพบรถแล่นเร็ว ๆ เข้าละก้อ”
“ไม่เป็นไรค่ะ ไม่เป็นไร ไอ้ป๊อกมันเกาะรถเล็กเข้าถึงบ้านได้ มันรู้จักกันดี”
คุณครูถอนใจ ปัญหาเกิดขึ้นตรงที่ว่า ความเป็นอยู่หรือการเดินทาง ของชาลีร์นี่ช่างขัดกันเหลือเกินกับระบบรับผิดชอบความปลอดภัยที่โรงเรียนจะพึงให้แก่นักเรียน แต่นั่นแหละ โรงเรียนนี้พร้อมจะรับเด็กประเภทนี้โดยไม่มีข้อแม้ ขอเพียงให้ครูทุกคนทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดก็แล้วกัน
เพราะไม่มีหลักฐานใด ๆ มาก่อนเลย ชาลีร์จึงถูกนำตัวไปพบครูประจำชั้นประถมปีที่หนึ่ง แน่นอน รูปร่างหน้าตาของเขาไม่เหมือนใคร แม้จะพูด ภาษาเดียวกับเพื่อนร่วมชั้นทุกคนก็ตาม สำเนียงของเขาเป็นชาวกรุงเต็มที่ ถึงแม้ภาวะชีวิตจะไม่แตกต่างกันมากนัก ชาร์ลีก็มีจุดเด่นสะดุดตา เขาโตกว่า นักเรียนเก่าทุกคน รอยยิ้ม ของเขาชวนให้ทุกคนพลอยยิ้มตามไปโดยไม่ทันรู้ตัว
แต่ก็ยังมีเสียงหลุดออกมาว่า “ไอ้ดำ”
ครูประจำชั้นมองเขม็งหาที่มาของเสียงในทันที
“ใครเรียกเพื่อนใหม่ของเรายังงั้น?”
มีเสียงพึมพำฮือฮาขึ้นมาราวกับ ‘หมีกินผึ้ง’
แล้วสายตาของบางคนก็พุ่งไปทางเจ้าของเสียงเรียกนั้น
“นายบัญชรอีกละซี”
“ครับ...ผมมันปากไวไปหน่อย” นายบัญชรลุกขึ้นยืน หน้ายังระรื่น อย่างไม่หวั่น ปากไว...เป็นคำที่ครูเคยให้สมญาไว้ คราวนี้เขาก็ยกเอาคำครู มาตอบอย่างกวนอารมณ์เต็มรัก
“ปากไวเคยทำให้ถูกทำโทษมาแล้วไม่ใช่หรือ? ปากไวแล้วคนอื่นเสียหาย ครูเคยห้าม ทำไมไม่พึง ไม่ระวังแก้ไขตัวเอง เหลวไหล ขอโทษเพื่อนซะนะ” ครูสั่ง
“ขอโทษก็ได้ ดำ ขอโทษนะ”
“เขาชื่อชาลีร์ เรียกใหม่”
“ไม่เป็นไรฮะ เคยมีคนเรียกผมยังงั้นเหมือนกัน” เป็นเสียงบอกเล่าจากชาลีร์ ไม่รู้สึกเดือดร้อนอันใดกับชื่อเสียงที่เปลี่ยนแปลงไปตามใจคนเรียก นักเรียนหัวเราะกันครืนใหญ่ คงจะชอบเจ้าดำตลกคนใหม่นี้อยู่มาก ครูเองก็อดยิ้มไม่ได้ แล้วรีบหุบปากโดยเร็ว
“แต่เมื่ออยู่ในห้องเรียนเราควรจะมีระเบียบวินัย เรียกเพื่อนตามชื่อจริงที่ถูกต้องของเขา ครูขอร้องนะทุกคน เอ้า...แนะนำตัวเร็วเข้า ทีละคน นี่คือเด็กชายชาลีร์ โยเซฟ เพื่อนใหม่ของเรา”
นักเรียนลุกขึ้นยืนบอกชื่อทีละคนอย่างเต็มอกเต็มใจยิ่ง ซึ่งชาลีร์เองก็รู้สึกพอใจ เขาแสดงความสามารถในเชิงการเรียนได้เด่น อ่านและเขียนคำยาก ๆ ได้หลายคำ เกินหน้าเพื่อนทุกคน
ครูทึ่งและเบาใจ เด็กเก่าทุกคนทำตาปริบๆ รู้แล้วว่าไอ้ดำคนนี้ต้องมา เป็นลูกพี่ ไม่มีใครกล้าล้อเลียนเขาอีกเลย จนกระทั่งถึงเวลาพักกินข้าวกลางวัน ทุกคนกรูกันไป ที่โรงอาหาร
ชาลีร์ยังยืนงงอยู่หน้าห้อง บัญชรก็เข้ามาเหนี่ยวเสื้อเขาให้เดินตามกอด
คอจนหัวติดกัน แล้วถามว่า
“ข้าจะเรียกเอ็งว่าไอ้ดำ ได้ไหมวะ?”
“ได้ซี บอกแล้วไงว่ามีคนเรียกฉันยังงั้นเหมือนกัน”
“ไอ้ดำ อย่าเรียกตัวเองยังงั้นซีวะ ชั้น - เชิ้นผู้หญิงเขาพูดกัน” บัญชรตบหัวเขาเบา ๆ ทั้งที่ต้องเขย่งนิดหน่อย
“งั้นพูดมึงกูได้มั้ยล่ะ...แถวบ้านกูเขาพูดกันยังงั้น” ไอ้ดำก้าวพรวดข้ามชั้นไปโน่นเลย เปิดเผยตัวเองไปสู่อีกมุมหนึ่ง
“ได้ แต่ต้องนอกห้อง นอกโรงเรียน แล้วต้องไม่ให้ครูได้ยินด้วย” บัญชร กระซิบ ต้องเขย่งตามเคย เขาสูงที่สุดในห้อง บัดนี้กลายเป็นรองจากชาลีร์ไปแล้ว แต่เขาก็ชอบเพื่อนใหม่คนนี้เสียจริงๆ “มาเหอะ ไปกินข้าวกับข้า”
“กินยังไงล่ะ?” ชาลีร์ลูบกระเป๋ากางเกงอันว่างเปล่าของเขา
“ถ้าเอ็งมีตังค์ก็ซื้อ ขอเขากินก็ได้ แต่มันแย่หน่อย ไม่ค่อยอร่อย ไม่มี หมูมีไก่”
“แล้วเอ็งล่ะ?”
“ของข้าเอาข้าวมาจากบ้านว่ะ ถึงจะเป็นนํ้าพริกปลาทู ปลาของข้าก็ตัว ใหญ่บะเห้งเลย เอางี้...เอ็งไปขอเขามาจานนึง แล้วมานั่งกินกับข้า” บัญชรแนะนำด้วยนํ้าใจเอื้ออารี น้องใหม่ชาลีร์ทำตามคำแนะนำ เขาได้ข้าวราดผัดผักรวมมาหนึ่งจาน มีหมูติดมาสองชิ้น แล้วมานั่งรวมกลุ่มกับบัญชร บุญส่ง และแก้ว
“ที่นี่ดีนะ มีข้าวให้กินเปล่าๆ ด้วย”
“เขาเรียกกินฟรีเว้ย” บัญชรตักปลาทูให้เพื่อน
บุญส่งมีไข่ดาว เขาบอกว่า
“ข้าซื้อกินเอง แม่ให้มาทุกวัน วันละห้าบาท”
“ข้ากินฟรี แต่ข้าช่วยเขาล้างจาน” แก้วอวดบ้าง
“ถ้ากินฟรีได้ ทำไมพวกเอ็งไม่กินฟรีให้หมดทุกคน แล้วเก็บตังค์ไว้ซื้อของเล่นล่ะ?” ชาลีร์ตั้งข้อสงสัย ตามวิธีการที่เขาเคยเห็นมา ชุมชนละแวกบ้านของเขาพอใจกับของแถมของแจกทุกชนิด เพราะมันหมายถึงการได้...และ ได้ ทำให้ตนเองและครอบครัวเป็นสุขสบายขึ้น จะเป็นของมาจากไหน ใคร ให้ก็ไม่สำคัญ!
๒
เวลาเลิกเรียน นักเรียนชั้นประถมส่วนใหญ่จะมีผู้ปกครองมารอรับ แต่บางคนก็เดินกลับบ้านได้เอง ชาลีร์ก็อยู่ในจำพวกหลังนี้ เขาออกไป ยืนรอริมถนนใหญ่หน้าโรงเรียน มีสายตาของบัญชรมองดูร่างสูงเด่นของเขา อย่างพออกพอใจ
รถสองแถวแบบวิ่งเข้าในหมู่บ้านจอดส่งผู้โดยสาร มีเด็กและผู้ปกครอง จำนวนหนึ่งขึ้นไปแทนที่ ชาลีร์วิ่งไปหาคนขับพลางยกมือไหว้
“พี่”
“อ้าว ไอ้ป๊อก วะ แต่งอุดนักเรียนโก้เชียวนะ มึง”
“ผมมาเรียนหนังสือตรงนี้ รับผมด้วยซี ไปบ้านคนนึง”
“เออ ก็ขึ้นมาซีวะ ทำไมต้องขอ ยังกะไม่เคยเป็นกระเป๋ารถกูแน่ะ”
“คนเยอะดีนี่ ไม่ขึ้นฟรีกันมั่งหรอกเรอะพี่”
“ก็คงมีแหละ ทำไงได้ล่ะ ช่างเหอะ คนไม่มีมันก็ไม่ให้ นึก ๆ ว่าช่วย ๆ กันไป” พี่ชัดเจ้าของรถตอบอย่างปลงตก
“หาเด็กกระเป๋าซักคนซีพี่”
“ก็หา ๆ มอง ๆ อยู่ แต่มันยังไม่ได้ ก็มึงนี่น้า ช่วยงานกูก็ดีอยู่แล้ว ดัดจริตมาเรียนหนังสือ โตจนเขายกให้เป็นปู่เลยมั่ง”
“ไม่เรียนไม่ได้หรอกพี่ แม่เค้าอุตส่าห์ส่งเงินมาให้ แล้วยายก็ร้องไห้ด้วย”
“เออ มึงน่ะจะรอดตัวก็เพราะรักยายนี่แหละ ไปไป๊ ขึ้นรถ คันหลัง มันบีบแตรไล่กูแล้ว” พี่ชัดโบกมือไล่
ชาลีร์ทำตามคำสั่ง ขึ้นมาห้อยโหนอยู่ท้ายรถ อ้าปากส่งเสียงดัง
“ปายเล้ย...ลูกพี่ เรียบโร้ยย...ไปเล้ยย...”
เมื่อสวมวิญญาณเด็กกระเป๋าท้ายรถ ผู้โดยสารก็อดยิ้มไม่ได้ แต่แล้วก็ ทำหน้าหงิกงอ เมื่อรถขยับอย่างกระชั้นกระชากจนทุกคนหัวสั่นหัวคลอน ชายวัยกลางคนหน้าตาดุดัน เป็นประชาชนชาวรถสองแถวเต็มขั้นร้องบอกชาลีร์ ด้วยเสียงกร้าว
“เฮ้ย บอกลูกพี่เอ็งให้นึกถึงพ่อแก้วแม่แก้วที่คอยอยู่บ้านไว้มั่งซีวะ ไอ้ดำจะออกรถทียังกะช้างไล่เตะยังงี้ จะเจอเสียบ รู้ไหม?”
นัยน์ตาโตของชาลีร์ยิ่งเหลือกพองหนักขึ้น แต่ปิดปากเงียบ
“นํ้าเชี่ยวอย่าขวางเรือ”
ยายเคยสอนไว้อย่างนั้น แปลว่ากระไรไม่ใส่ใจจำ รู้อย่างเดียวว่า เรือ มันล่มได้ และถ้าเรือล่ม ตัวเองต้องเปียก มันจะดีอะไรเล่า
คนทั้งรถเงียบกริบ เด็ก ๆ เบียดตัวเองเข้ากับอ้อมแขนผู้ใหญ่ ยายยัง เคยบอกไว้ว่า ถนนหนทางทุกวันนี้มันน่ากลัวนัก ชาลีร์อยู่กับถนนสายนี้ทุกวันไม่เคยใส่ใจกับคำยาย มาวันนี้แหละที่เขาออกจะเห็นจริง ทำไมมันดุกัน นักวะ
นั่งหลับตาเสียดีกว่า...ยายเคยสอนว่า เอ็งตัวเท้าลูกหมายังงี้อย่าอาจหาญไปทะเลาะวิวาทกับใครเขา จะตายเสียเปล่าๆ ไม่ตายก็เจ็บตัว...
ไม่อยากเจ็บ เพราะเดี๋ยวจะต้องหยุดเรียน ไม่ได้ห่วงเรียนสักเท่าใดหรอกชักชอบเพื่อน ชอบครู ชอบอะไร ๆ ในบริเวณโรงเรียนมากกว่า เดี๋ยวจะเล่า ให้ยายฟัง
นั่งโคลงเคลงมาสักสิบนาทีก็ถึงปากซอยสลัมที่อาศัย
โดดลงจากรถแล้ววิ่งไปไหว้โชเฟอร์ทีหนึ่ง
“ขอบใจนะ พี่ชัด”
“เออ พรุ่งนี้เช้าออกมารอนะ กูจะแวะรับ”
“ขอบใจพี่”
วิ่งจี๋เข้าบ้าน...ที่น่าจะเรียกว่าเพิงหรือโกดังมากกว่า โกดังขนาดเล็กที่อัดแอยังดีที่น้าเจียดเงินที่ได้จากแม่คราวนี้ไปซื้อพัดลมมาให้หนึ่งตัว พออาศัย ว่าจะไม่ต้องนอนเหงื่อตกอีกละ
ผู้หญิงแก่ นุ่งผ้าสีตุ่นๆ คร่ำคร่า เสื้อลายๆ ขาวแดงออกมายืนรอรับที่หน้าประตู แกกางแขนออก ยิ้มทั้งใบหน้าเหี่ยวย่น
แต่นั่นเป็นใบหน้าเดียวที่ชาลีร์คุ้นตาคุ้นใจมาตลอดชีวิต
เขาวิ่งเข้ากอดให้ยายจูบอย่างชื่นอกชื่นใจ ตัวเองเพียงลูบแก้มเหี่ยวแรงๆ เท่าที่ใจคิดถึง สองปีที่ผ่านมานี้เขารู้สึกสงสารยายเป็นพิเศษ ยายเขย่งแล้วก็ยังจูบเขาได้เพียงต้นคอเท่านั่น ต้องออกแรงเหนี่ยวเขาให้โน้มลงจึงจะสามารถ จูบแก้มเขาได้
ยายไม่เคยเรียกเขาว่าไอ้ดำ ด้วยความรัก ยายไม่เคยเห็นสีผิวที่แตกต่าง และมันพลอยทำให้เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากผู้อื่นไปด้วย
“เอ็งไปเรียนวันเดียว ข้าคิดถึงแทบแย่ ป๊อกเอ๋ย” ยายรำพัน
“คิดถึงทำไม” ชาลีร์หัวเราะ “แล้วผมก็กลับมา ถึงทุกวันผมก็ไปทำงาน ไปเป็นท้ายรถให้พี่ชัดเขา กลับบ้านจนค่ำ”
“เออ มันไม่เหมือนกัน ติดท้ายรถมันเป็นธรรมดาไปซะแล้ว แต่นี้เอ็ง ไปโรงเรียน ยายรู้ว่าเอ็งเข้าโรงเรียนช้าไป เอ็งจะเจออะไรมั่ง เพื่อนๆ ล้อ ไหมลูก?” ยายถามด้วยความห่วงใย
“มีมั่ง แต่ครูเขาห้ามไว้ ป๊อกตัวโตกว่าใคร อยู่หัวแถว แต่ครูบอกว่า ป๊อกอ่านหนังสือเก่งกว่าคนอื่น”
“เออดี” ยายยิ้มแก้มแทบปริ ยายนี้แหละสอนเขาให้รู้หนังสือเป็นคนแรก “เอา ยายจะให้รางวัล มีขนมตาลสองห่อ”
ป๊อกหัวเราะชอบใจ รับขนมตาลสองห่อมาแกะกินอย่างเอร็ดอร่อย ยายไม่เคยรับรู้เลยว่า ตัวเขาขนาดนี้ เขาได้ ‘ฟาด’ อะไรเข้าไปบ้าง พี่ชัดเลี้ยงเขา อิ่มหนำกว่าที่น้าเลี้ยงมากมาย
ยายถอดเสื้อให้เขาเปลี่ยนนุ่งกางเกงตัวเก่าแล้วเอาไปแขวนผึ่งลมไว้ หยิบผ้าขนหนูเก่า ๆ ครึ่งผืนมาชุบน้ำให้เช็ดตัวนี่เป็นกิจกรรมใหม่ที่ทำให้ชาลีร์มองหน้า
“ข้าเคยเห็นคนบ้านใหญ่ ๆ เขาเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ลูกหลานตอนกลับจาก โรงเรียน” ยายรีบอธิบายที่มาของกิจกรรมนี้ “ยายก็ว่าคงจะดีเหมือนกันนะ เอ็งคงสบายตัวขึ้น”
“ก็ได้”
ชาลีร์ไม่ดื้อ เขาเต็มใจเสมอสำหรับการทำตามความต้องการของยายแต่เสียงไม้กรีดฝาสังกะสีในที่ไม่ห่างนักทำให้เขาหันไปมอง
เด็กหญิงอายุแปดขวบอยู่ที่นั่น เด็กคนนี้ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนเหมือนเขา และเจ้าหล่อนผิวขาวกว่าเขา ฟันหลอ แต่นัยน์ตาคมดำขลับ ตาของหล่อน มักมีแวววิงวอนเขาเสมอ
“นังนิด เอ็งไม่ต้องไปออดอ้อน ยายหลานเขาจะโอ๋กัน ธุระอะไรของเอ็งด้วยวะ” นั่นเป็นเสียงแทรกออกมาจากม่านผ้าดอกที่มุมหนึ่งของเพิง “อย่า ทำอะไรให้ข้าหมั่นไส้นักเล้ย”
“อีสา นั่นเองด่าลูกเอ็งหรือกระทบแม่เอ็งกันแน่วะ” ยายหันไปโต้ทั้งๆ ที่ ไม่เห็นตัว
“อ้าว ฉันก็ด่าลูกฉันน่ะซี กงการอะไรของแม่ต้องมาออกรับด้วยล่ะ” เสียง แปร๋แปร้นไม่ลดละตอบกลับมา “อีนิด มานี่เดี๋ยวนี้นะ หาเรื่องมา'ให้กูดีนัก” เด็กหญิงนิดร้องกรี๊ด วิ่งเข้ามาหาอ้อมกอดของยายที่กางออกรับ
“นิ่งเสีย นิ่ง อย่าร้องไห้ นิดเอ๊ย ยายไม่ได้ว่าอะไรเอ็ง”
นิดร้องไห้สะอึกสะอื้น จนยายพลอยนํ้าตาคลอไปด้วย
“เอ้า สำออยเข้า อีนิด สำออยเข้ามากๆ เผื่อยายเอ็งเค้าจะรักทูนหัว ทูนเกล้าอย่างไอ้ดำมันมั่ง” คราวนี้เจ้าของเสียงกราดเกรี้ยว ก้าวออกมาจาก ม่านกั้นในชุดแสนสบายปกติ นั่นคือโสร่งดอกโตกระโจมอก น้าอุสาของชาลีร์ ออกมายืนเท้าเอวส่งสายตาหมั่นไส้มายังกลุ่มยายหลานโดยไม่ปิดบัง
“พูดแบบนี้มันหาเรื่องกันนี่หว่า นังสา ไม่ต้องอิจฉาไอ้ป๊อกมันนักหรอก ข้าไม่มีปัญญาทำให้มันวิเศษขึ้นกว่านี้หรอก เอ็งก็น่าจะรู้ ไง ๆ ข้าก็รักมันเท่ากัน นังนิดมัน ก็หลานข้าเหมือนกัน”
“อย่าพูดเล้ย แม่ ไอ้ที่เคี่ยวเข็ญให้ฉันพาไอ้ป๊อกไปฝากเรียนนี่ล่ะไม่ใช่ เพราะกลัวหลานรักจะเป็นควายรึ?”
“เอ๊ะ นังสา ก็แม่มันส่งเงินมาให้ลูกมันเรียนนี่นา เอ็งต้องเสียเวลาพา ไปหน่อย นี่ก็ได้ค่าป่วยการไม่น้อยไม่ใช่รึ?” ยายเถียงเสียงสั่น
“ไปให้ฟรีๆ ก็ได้ ถ้ายายมันยุติธรรมสักหน่อย นังนิดมันก็ได้เวลาจะเรียน เหมือนกัน คำเดียวแม่ก็ไม่สนับสนุน”
“เอ็งไม่ใช่เด็กแล้ว พูดให้มันเหมาะหน่อยนะ นังสา ป๊อกมันมีเงินซื้อเสื้อผ้าเพราะแม่มันส่งให้ ถ้าเอ็งอยากให้นังนิดมันเรียน เอ็งก็ต้องบอกให้ผัวเอ็งหาเงินมาซี่ ทุกอย่างมันไม่ได้สำคัญที่ข้านะโว้ย อย่าให้กระทบกระเทือนข้านัก
เอ็งจะบาปหนัก แค่นี้ก็ยากแค้นอยู่แล้ว”
“แม่ไม่ต้องมาแช่งฉัน หุงหาให้กินอยู่ทุกวันนี้ยังไม่มีดีกว่าอีคนเป็นเมียเช่าเล้ย” อุสาหัวเราะเยาะเสียงแหลม
“ใช่ เอ็งออกแรงหุงหาเผื่อแม่ แต่อีเมียเช่ามันส่งเงินมาให้ไม่ใช่หรือ...กี่ ครั้ง กี่หนแล้วที่ลูกมันไม่ได้เรียน อย่านึกว่าข้าไม่รู้นะ”
“เอ้ย หนวกหูเว้ย หยุดที หยุดที พ่นกันอยู่ได้”
พร้อมเสียงตวาด ก็มีไม้สั้นๆ ท่อนหนึ่งถูกเหวี่ยงออกมาจากหลังม่าน ดีที่ ไม่ถูกใคร นิดหยุดร้องไห้เป็นปลิดทิ้ง อุสารีบกลับเข้าไปสู่ที่ที่หล่อนออกมา ส่วน ชาลีร์กันเอายายกับนิดหลบไปทางหลังเพิง ซึ่งจัดเป็นที่อยู่ของเขากับยาย
“ยาย หนูกลัว” นิดยังตัวสั่นสะท้าน
“เอาน่ะ ไม่ต้องกลัว เป็นยังงี้บ่อยไป กลัวทำไมล่ะ?” ชาลีร์ปลอบ แกมโมโห จับตัวเด็กหญิงเขย่าแรงๆ เขาก็สงสารหล่อนอยู่หรอก แต่ไม่ชอบ อาการหวาดกลัว ตัวสั่นเทาแบบนี้เลย
ใช่ เหตุการณ์ประจำเด็กหญิงนิดอกสั่นขวัญแขวนทุกครั้ง และชาลีร์ เองก็เกิดโทสะทุกทีเหมือนกัน!
“อย่าดุมันเลย ป๊อกเอ๋ย เวทนามันเถอะ” ยายห้าม กอดหลานสาวไว้ แน่น “นิ่งเสีย นิด อย่าร้องไห้ อย่าตกใจ พ่อกับแม่เขาไม่ทำอะไรเอ็งหรอก เขาเงียบไปแล้ว เห็นไหม?”
“หนูกลัว หนูกลัว”
“กลัวก็ต้องเงียบ เขาจะได้ไม่โกรธ ไม่ออกมาตีเอา เขาเกลียดเสียงร้องไห้ เอ็งต้องรู้ ต้องฉลาดเอาตัวรอดไว้ก่อนซี่ เงียบไว้”
นิดพยายามกลั้นสะอื้น ความรู้สึกแน่นอึดอัดค่อยคลี่คลายลง แต่นัยน์ตาก็ยังตื่นกลัวไร้สติอยู่ดังเดิม
“ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องตกใจ เอ้า ยายยังมีขนมเหลืออยู่อีกสองห่อ เอ็งเอาไปกินซะ” ยายหยิบขนมส่งให้ ซึ่งหลานสาวก็รับไปแกะกินทันที หายสะอื้นเป็นปลิดทิ้ง
มองตามแขนขาหลานสาวแล้ว ยายก็ถอนใจด้วยความเวทนา หันไปบอกหลานชายเสียงเบา
“ยายว่าจะเก็บไว้ให้เอ็งกินตอนค่ำ เวลากินข้าวเย็นแล้ว ก็เลยต้องอด
ให้น้องมันเถอะนะป๊อกนะ”
“ดีแล้ว ไม่เป็นไร ยายไม่ต้องห่วงป๊อกหรอก ไม่มีก็ไม่ต้องกิน ป๊อกจะกินข้าวให้เยอะหน่อยแล้วกัน” ชาลีร์เอื้ออารีต่อน้องสาวเช่นที่เคยเป็นมา ยายเห็นและรู้เช่นนี้ตลอดมา
“ยังกะมีข้าวให้เอ็งกินเยอะนักนี่ วันนี้นังสาให้ค่าขนมกลางวันหรือเปล่า
ล่ะ?”
“เปล่า ไม่เป็นไรหรอก ยาย โรงเรียนเขาให้กินฟรีๆ”
“เออ เจ้าของเขาใจบุญ แต่จะมีเลี้ยงไปอีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้”
“คงนานเหมือนกันแหละ ยาย เพราะเขาเลี้ยงเฉพาะคนจนจริง ๆ เท่านั้น บางคนก็มีตังค์ซื้อ บางคนก็เอามากินเอง นี่พรุ่งนี้ป๊อกกินของเขาแล้ว ก็ว่าจะไปช่วยเขาล้างถ้วยชามเก็บเข้าที่เหมือนกัน”
“เออดีแล้วป๊อกเอ๊ย เอาแรงเข้าแลกข้าวของเขา อย่าให้ติดเป็นบุญคุณ กันมากนัก จะเป็นภาระของเขามากเกินไป เอาเปรียบเขาไม่ดี”
“เจ้าของเขาแก่เท่ายายได้ไหมน่ะ?”
“ไม่รู้ซี ข้าก็ไม่เคยเห็นเขาเหมือนกัน รู้แต่ว่าเขาไม่มีลูก อยู่คนเดียวกับแม่บ้าน แม่ครัว คนขับรถ”
“นั่นมันตั้งสี่คนแล้วนะยาย”
“เออ เออ”
ยายหลานหัวเราะพร้อมกัน
“เอ็งมันโตขึ้นจนเถียงข้าได้แล้วนะ ไอ้ป๊อก นี่ปีหน้าเอ็งมีกลายเป็นคนสอนข้าไปซะละเรอะ หือ?”
ป๊อกเข้ามากอดยายไว้แน่น
“ป๊อกคงสอนยายไม่ได้หรอก ยังไง ๆ ยายต้องเก่งกว่าป๊อกตลอดแหละ ตะกี้นี้ก็ไม่ได้เถียง แต่อยากบอกว่า ยายลืมบวกเลขไปนิดเดียว ป๊อกเตือน ตะหาก”
“เออ เออ มันก็ครือ ๆ กันแหละวะ ไอ้ป๊อก”
“ยาย ตอนเย็นๆ เลิกเรียนแล้ว ป๊อกจะออกไปเป็นกระเป๋ารถให้พี่ชัด เขาอีก ได้ไหม เขายังหาเด็กไม่ได้เลย”
“ฮึ...จะดีรึ”
“ดีซี่ยาย เผื่อยังไงจะได้ค่าจ้างมาให้ยายไว้ซื้ออะไรกินมั่ง แต่มันคงจะน้อยนิดเดียว”
“ตามใจเอ็งเถอะ ถึงจะน้อย แต่ถ้าได้มาเก็บไว้มั่งก็ยังดี เผื่อขาดเหลือ เรื่องการเรียนของเอ็ง จะได้มีหยิบฉวย”
“ตกลงตามนี้นะ แต่ขอเวลาแป๊บนึง ทำการบ้านก่อนนะ ยาย”
“เออ หน็อย มีการบ้งการบ้านกะเค้าด้วยเรอะ ว่าแต่เลิกจากงาน กระเป๋าแล้วรีบกลับมานะ วันนี้วันเดือนดับ ยายจะชวนเอ็งไปนอนที่หอดูดาว กัน”
“หอดูดาวอะไร ที่ไหน หนูไปด้วยนะ ยาย” เด็กหญิงนิดเหนี่ยวแขนวิงวอน
“ไม่ได้หรอก นิดเอ๊ย ถึงไปเอ็งก็ไม่รู้เรื่อง แล้วอีกอย่างยายขี้เกียจ ทะเลาะกับแม่เอ็ง เค้าคงไม่ให้เอ็งไปกะข้าหรอก ยายมันไม่มีความหมาย เหอะ แล้วพรุ่งนี้ยาย จะซื้อขนมไว้ให้อีก”