ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก (ประชาคม) (EBOOK)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: -
ของหมด (ต้องการสินค้า)
ราคา: 175.00 บาท 43.75 บาท
ประหยัด: 131.25 บาท ( 75.00% )

เนื้อหาบางส่วน

๑. แบ่งปันกันอ่าน

 

จักรยานสีขาวและสาวผมยาววัยยี่สิบห้าหยุดลงที่แผงขายหนังสือพิมพ์เล็ก ๆ หน้าตลาดสด  ตากลมโตสุกใสจับจ้องหนังสือที่แขวนห้อยอยู่เหนือแผง  รูปพระเอกนางเอกละครยอดฮิตเอียงหัวชนกันอยู่บนปกสี่สี  ใต้ลงไปบนแผงไม้กระดาน  หนังสือพิมพ์รายวันเหลืออยู่เพียงไม่กี่ฉบับ  ผมยาวบนหัวสะบัดส่าย  แต่ตาซุกซนยังกวาดมองเหมือนคาดหวังว่าจะเสาะพบอะไรมากไปกว่านี้

         เธอมองเข้าไปข้างในตึกแถวซึ่งส่วนหนึ่งขายของชำ  เจ้าของเดินออกมาพอดี  หญิงวัยราวห้าสิบปีส่งยิ้มมาแต่ไกล   ขยับเดินมาหยุดอยู่ข้างแผงพลางร้องถามว่า

         “รับอะไรดีคะคุณ”

         “น้ามีหนังสืออีกหรือเปล่าคะ” 

         “ก็มีเท่าที่เห็นนี่แหละค่า  เขามาส่งให้แค่นี้  หนังสือพิมพ์ใหม่ ๆ ต้องรอพรุ่งนี้เช้า”

         “ว้า...แย่จัง” 

         “หาหนังสืออะไรอยู่ล่ะ”

         หญิงสาวก้มหน้ายิ้ม  พลางหมุนจักรยานหันหัวไปอีกทาง  ก่อนจะจากไปเธอหันกลับมาถามเจ้าของร้าน      

         “น้าคะ   อำเภอนี้มีร้านขายหนังสือกี่ร้าน”

         “มีอยู่สามร้าน  หน้าตลาดทางโน้นร้านหนึ่ง  ส่วนอีกร้าน  อยู่ใกล้ ๆ ขนส่ง”

         “เอ่อ...ร้านไหนขายหนังสือเป็นเล่มบ้าง”

      เจ้าของร้านหันไปมองหนังที่ห้อยแขวนไว้เหนือแผง  แล้ววกกลับมาขมวดคิ้วกับหญิงสาว

         “หนังสือเล่มยังไงกัน  ไอ้ที่แขวนไว้นี่ก็เป็นเล่มไม่ใช่หรือคุณ”

      หญิงสาวยิ้มขบขัน “ไม่เหมือนกัน  ที่หนูพูดถึงเล่มเล็กกว่านี้  เอ่อ...ที่เป็นเล่มแบบหนังสือนิยายน่ะ  น้าเคยเห็นไหม  อำเภอนี้มีร้านขายหนังสือแบบนั้นหรือเปล่า”

         สาวใหญ่เจ้าของร้านโคลงหัวไปมาช้า ๆ “ไม่มีหรอกหนู  นี่มันอำเภอเล็ก  ร้านขายหนังสืออย่างที่หนูว่า  ต้องขับรถเข้าไปซื้อที่ตัวจังหวัดโน่น”

         “ว้า...แย่จัง  หนูถีบได้แค่จักรยาน”

      “หนูมาจากไหน  มาทำอะไรที่นี่”

      “มาอยู่กับพี่ชาย   เหงา...เลยอยากหาหนังสืออ่าน”

         “พี่ชายหนูมาทำงานที่นี่เหรอ”

      “เป็นครูใหญ่  น้าคงไม่รู้จักเขาหรอก  เขาไม่ใช่คนที่นี่”

      “อ้อ...น้าคงไม่รู้จักจริง ๆ นั่นแหละ”

         “แต่เขาแต่งงานกับคนอำเภอนี้  หนูมาอาศัยบ้านเขาสักปีหนึ่ง  หรือถ้าทนไม่ไหวก็สองอาทิตย์”

         “หนูอยากได้หนังสืออะไรบ้างล่ะ  น้าพอจะฝากคนอื่นช่วยซื้อให้ได้”

         “จริงหรือน้า  งั้นหนูฝากตังค์ไว้กะน้า  พรุ่งนี้เช้าหนูมารับหนังสือได้เลยใช่ไหมคะ”

         “หนูบอกชื่อหนังสือมาก่อน  ดูว่าเขาจะมีขายหรือเปล่า”

         “หนูเอานิยายรักเกาหลีสิบเล่ม  เรื่องอะไรก็ได้  หนูฝากตังค์ไว้กับน้าสองพันไปเลยดีกว่า”

         หญิงสาวควักกระเป๋าตังค์ออกมา  หยิบแบงก์พันสองใบยื่นให้เจ้าของร้าน   สาวใหญ่ยิ้มแล้วโคลงหัวไปมา

         “เก็บไว้ก่อนเถอะหนู   พรุ่งนี้ยังไม่ได้หนังสือหรอกนะ   ต้องอีกสามสี่วัน  น้าจะฝากเขาซื้อให้  แต่ว่าหนูชื่อะไรล่ะ”

         “หนูชื่อแก้ม  แล้วน้าล่ะ”

      “คนเขาแถวนี้เรียกฉันป้านุ้ย  หนูอยู่บ้านพักครูหรือเปล่า”

         “เปล่า  อยู่บ้านพี่ชายกับพี่สะใภ้  แต่ว่าสามสี่วันนี่นานจังน้า  หนูอยากอ่านหนังสือวันนี้เลยนะน้า  มาอยู่ที่นี่เหงาจัง”

         “อำเภอนี่มันเล็ก  ไม่ค่อยมีที่เที่ยว   อ้อ...น้าลืมไป  เลยคุ้มวัดกลางด้านโน้นไป  มีคนเขาขายหนังสือเก่า  หนูลองแวะไปดูสิ   เผื่อจะมีนิยายรักเกาหลี”

         หญิงสาวตาโตขึ้นมาทันที  “จริงหรือน้า  งั้นดีเลย   หนูต้องไปแล้ว แต่ว่า...หนูยังไปไม่ได้ถ้าไม่ได้เบอร์โทร.น้า”

      เจ้าของร้านยิ้มกว้าง  หยิบปากกาและกระดาษก้มลงจดเบอร์โทรศัพท์แล้วยื่นส่งให้หญิงสาว  ขณะจักรยานแล่นลิ่วห่างออกไป  แกยังยืนเท้าสะเอวมองตาม  พยายามวาดภาพปกหนังสือนิยายรักเกาหลีในใจ 

         ยกมือกุมหัว  แล้วหลุดปากถามตัวเอง  “มันเป็นหนังสือแบบไหนกันวะ”      

 

 

แม่น้ำใหญ่ปลายฤดูแล้งน้ำลดระดับลงจนเห็นพื้นทรายโผล่ขึ้นเป็นบริเวณกว้าง  กระซังเลี้ยงปลาพลอยลดต่ำลงห่างตลิ่ง  ถนนเลียบแม่น้ำยามบ่ายคล้อยว่างโล่ง   ร้านอาหารทางเท้าติดกับแม่น้ำเริ่มทยอยออกมาตั้งโต๊ะ  แดดส่องสาดมาพร้อมไอร้อน  แต่อีกด้านหนึ่งของขอบฟ้า  คล้ายกับว่าเมฆฝนกำลังแต่งตัวรับฤดูกาลใหม่

         จักรยานสีขาวแล่นลิ่วไปตามถนน  ช้าลงเมื่อถึงหน้าวัด  ตากลมโตสุกใสกวาดมอง  นลิดารู้ว่าลำพังตัวเธอเองคงหาร้านหรือที่ขายหนังสือเก่านั้นไม่เจอ   ต้องถามคนพื้นถิ่นแถวนี้  คิดได้แล้วเท้าข้างหนึ่งก็ทำตามคำสั่งสมอง  หย่อนลงทาบพื้น  หยุดจักรยานไว้ที่ใต้ร่มไม้  

         ยังไม่ทันได้เอ่ยปากถามคนที่ผ่านไปมา   สายตาเธอก็เหลือบไปเห็นป้ายตัวอักษรสีเขียวพร้อมลูกศร

         ...ร้านหนังสือแบ่งปันกันอ่าน

         “ฮั่นแน่...”  นลิดาร้องบอกตัวเองในใจ  “มันต้องร้านนี้แน่นอน”

         ลูกศรสีแดงนำเธอไปพบป้ายชี้ทางถัดมาในอีกสามช่วงเสาไฟฟ้า  เธอบังคับจักรยานเลี้ยวเข้าซอยเล็ก ๆ  ทะลุถึงถนนใหญ่อีกสายหนึ่ง  ป้ายลูกศรตามมาบอกทางให้เธอเลี้ยวเข้าซอยข้างหน้า      

         “ทำไมซับซ้อนขนาดนี้”  นลิดาบ่นพึมพำ

         ทะลุไปถึงถนนสายรอง  ป้ายลูกศรเปลี่ยนมาติดอยู่ที่ต้นยางใหญ่  ชี้ออกไปนอกเมือง  นลิดาเกือบจะถอดใจหยุดเจ้าสองล้อแล้วถีบกลับทางเก่า   แต่ความกระหายอ่านนิยายรักเกาหลีทำให้เธอต้องฝืนใจลงทุนปั่นจักรยานคู่ชีพไปต่อ

         จนกระทั่งป้ายลูกศรนำเธอมาถึงสนามหญ้าโล่ง    มอเตอร์ไซค์วิบากชรายืนฝุ่นเกาะเดียวดายอยู่ตามลำพัง   บ้านครึ่งอิฐครึ่งไม้สองชั้นประตูเปิดกว้าง  เหนือปากประตูทางเข้า  ป้ายที่เขียนด้วยข้อความ “ร้านหนังสือแบ่งปันกันอ่าน”  ตัวอักษรประดิษฐ์สีม่วงเข้มดูดีมีศิลปะ   นลิดามองแล้วเข้าใจว่า  หากเจ้าของร้านเป็นคนเขียนเอง  น่าจะมีความสามารถทางวาดเขียนพอสมควรทีเดียว

         นลิดาจอดจักรยาน   เดินไปเท้าสะเอวมองป้ายชื่อร้าน   สอดสายตาจ้องเข้าไปข้างใน  เธอเห็นหนังสือหลากหลายวางอยู่บนชั้น  เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่แพ้ร้านหนังสือใหญ่ ๆ  ความเป็นนักอ่านที่หลงตัวเองมานานว่าอยู่ในระดับหนอนหนังสือขั้นเทพ  วิเคราะห์ด้วยหัวสมองของนิสิตปริญญาโทศิลปะศาสตร์ที่ยังไม่รู้อนาคตของตัวเองว่าจะกลับไปเรียนต่อหรือปล่อยทิ้งไป  นลิดาบอกตัวเองในนาทีนั้นว่า  เธอมาถูกที่แล้ว  มีร้านนี้แล้วไม่ต้องพึ่งพาบริการของน้านุ้ย  แต่ช้าก่อน...เลือกหนังสือให้ได้เหมาะใจแล้วค่อยโทร.ไปบอกยกเลิกการฝากซื้อ

         จากนี้ไป  ตลอดหนึ่งปีของสัญญาครูอัตราจ้างของเธอคงไม่เปลี่ยวเหงา  อย่างน้อยก็มีหนังสือนิยายรักเกาหลีให้อ่านทุกวันอย่างเต็มอิ่ม  ครบสัญญาว่าจ้าง   ชะตากรรมของวิทยานิพนธ์ปริญญาโทจะเป็นอย่างไรต่อไปค่อยมาพิจารณากันใหม่   เช่นเดียวกับโทษทัณฑ์ของตัวเธอเองที่ถูกพ่อเนรเทศมาอยู่ชายแดนก็จะได้จบสิ้นลงเสียที   ทันทีที่ได้รับอิสรภาพกลับคืน  เธอก็จะแล่นลิ่วปลิวลมกลับกรุงเทพฯ

         เธอก้าวผ่านปากประตู   ข้างในเงียบเชียบ   เงาคนขายยังไม่ปรากฏ  นลิดาไม่รู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนก    เพราะขึ้นชื่อว่าร้านหนังสือย่อมเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพ  ผู้เป็นเจ้าของลงทุนทำป้ายลูกศรติดเอาไว้ตามเสาไฟฟ้าหนักโขอยู่น้อยซะเมื่อไหร่  เมื่ออุตสาห์ลงแรงไปขนาดนี้แล้วคงไม่หลอกใครต่อใครมาฆาตกรรมเยี่ยงฆาตกรโรคจิตเป็นแน่

         ชั้นไม้และพลาสติกวางชิดผนัง   ป้ายที่ติดไว้บนสุดบอกราคา

         20 บาททุกเล่ม

         “ถูกจัง”  นลิดาเผลอพูดขึ้นเบา ๆ  “อย่างนี้ต้องอุดหนุนสักร้อยเล่ม  พรุ่งนี้จะให้พี่สะใภ้ช่วยเอารถมาขน”

      หยิบหนังสือแปลเล่มแรกติดมือขึ้นมา  ยังไม่ทันพลิกอ่านข้างในต้องรีบวางลง  หนังสือหนักสมองแบบนี้นลิดาไม่อ่าน  หยิบเล่มสองและสามแล้ววางลงด้วยอาการแบบเดิม  ขยับไปยังอีกชั้น  หยิบอีกห้าหกเล่ม  แล้วก็วางไว้ที่เก่า

         “มีแต่หนังสือไม่ได้เรื่อง” เธอว่า  “สงสัยเจ้าของร้านอายุแปดสิบ”

         ขยับไปสำรวจอีกชั้น   คราวนี้ค้นพบนิยายของนักเขียนไทยที่เธอพอจะจำชื่อได้บ้าง  ค่อยยังชั่วร้ายน้อยหน่อย  ใกล้เกาหลีเข้าไปพอสมควร  แต่แล้วความหวังของเธอก็เกือบจะวูบหายเมื่อพบว่า  เป็นผลงานของนักเขียนรุ่นลายครามทั้งสิ้น  ไม่ว่าโบตั๋น  กฤษณา  อโศกสิน  ศรีฟ้า ละดาวัลย์   ก.สุรางคนางค์  และรพีพร 

         “น่าจะมีกิ่งฉัตรกับดวงตะวัน”  นลิดารำพึงไปค้นหาไป  จากก้ม ๆ เงย ๆ เธอลากเก้าอี้มานั่งแล้วลงมือรื้อกองหนังสือตรงชั้นล่างสุด

         “มีแต่นักเขียนอาวุโสสูง ๆ ทั้งนั้น  สงสัยเจ้าของร้านต้องอายุเกินเก้าสิบ  หรือไม่ก็น้องๆ  ปู่เย็น เพชรบุรี”

      เรื่องรักเกาหลีไม่มีวี่แววปรากฏ   บ่นไปรื้อไป  ครั้นเงยหน้าขึ้นอีกครั้ง  ดวงตาคู่หนึ่งจ้องเธออยู่ที่ประตูทางออกหลังบ้าน

         ลำแสงจ้าที่สาดย้อน  เธอมองเห็นหน้าเขาไม่ถนัด  จนกระทั่งเขาขยับมาข้างหน้าสองสามก้าว 

         “หวัดดีครับ”

         “ค่ะ...หวัดดี”

         “หาหนังสืออะไรหรือครับ  ผมจะได้ช่วย”

         ชายหนุ่มอายุไม่น่าจะเกินสามสิบห้า  นุ่งกางเกงขาสั้น  สวมเสื้อยืดสีขาว  สูงโปร่ง  ผมยุ่ง  หนวดบางหรอมแหรม   ผิวขาวซีด  ค่อนข้างผอม  เสียงเนิบช้านุ่มทุ้ม  เขาจ้องนลิดาด้วยสายตาที่ชวนขนลุก

         ผมบนหัวยาวถึงไหล่   พันกันยุ่งเหมือนไม่เคยพบหวีมาตั้งแต่ชาติปางก่อน  สีหน้าเหลืองซีดราวกับต้นหญ้าที่ถูกครอบไว้   ห่างเหินจากสายลมและแสงแดดมานานปี   ที่ชวนขนลุกคือดวงตาที่ยะเยือกเฉยราวกับน้ำแข็ง

         นลิดานั่งนิ่งเป็นรูปปั้น  หลบสายตาคู่นั้นแล้วแต่ความเย็นยะเยือกยังเหมือนแผ่ลามไปทั่วไขสันหลัง   ตั้งแต่เกิดมา   เธอไม่เคยเห็นตาของใครเฉยเมยชวนเย็นยะเยือกถึงเพียงนี้

         เธอพูดตะกุกตะกัก “เจ้าของร้านหรือคะเนี่ย”

         เขายืนตระหง่านอยู่ที่เดิม   กลางแสงที่สาดย้อน   มองคล้ายหุ่นฟางในท้องทุ่ง   น้ำเสียงสม่ำเสมอชวนสยองใจเพิ่มขึ้นอีก

         “ไม่ถือว่าเป็นร้านครับ  ไม่ถือว่าเป็นการซื้อขายด้วย  ยี่สิบบาทนี่แบ่งปันกันอ่าน”

         ถอยคำสุภาพเรียบร้อยพอจะคานภาพน่ากลัวลงไปได้บ้าง   นลิดากล้าพอจะแย้งว่า  “แบ่งปันกันอ่านแล้วขาย  นี่หมายความว่ายังไงคะ” 

         เหมือนถูกรุกด้วยคำถามที่ไม่คาดคิด  หนุ่มเจ้าของร้านเงียบไปครู่หนึ่ง  ก่อนพยายามชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจ  “คือยังงี้ครับ   ผมมีหนังสือเยอะ  เมื่อเห็นว่าอำเภอนี้ไม่มีร้านพ็อกเก๊ตบุ๊กส์  ผมเลยเอามาแบ่งกันอ่าน  ถ้าให้ฟรีเดี๋ยวคนมาหอบไปชั่งกิโลขาย  เลยตั้งราคาไว้ยี่สิบบาทอย่างที่เห็น”

      “อ้อ...”   

      นลิดาทำท่าเหมือนจะเข้าใจเหตุผลเจ้าของร้าน  มือซึ่งหยุดรื้อกองหนังสือไปชั่วครู่เริ่มขยับอีกครั้ง  หันมองชั้นสุดท้าย   ยังไม่ขยับลุกขึ้น  เธอเหนื่อยจะค้นหาด้วยตัวเอง  เจ้าของร้านหรือมือแบ่งปันยืนอยู่ตรงนี้ ไม่ต้องพึ่งลายแทงหรือแรงของตัวเองอีกต่อไป  อยากได้อะไรก็บอกให้เขาหาให้

         “แล้วมีกำไรหรือคะ”  เธอถาม

         “กำไรอยู่ที่ความสุขของคนอ่านครับ”  เขาตอบ

         “สร้างภาพหรืออุดมคติจริง ๆ คะนี่”

         “เป็นความรู้สึกส่วนตัวครับ”

         “เปิดมานานเท่าไหร่แล้วคะ”

         “สักเกือบ ๆ เดือนเห็นจะได้ครับ”

      “ขายได้มากเท่าไหร่แล้ว”

         “เกือบ ๆ ร้อยบาท”

      “แล้วไม่เจ๊ง...เอ๊ย...ขาดทุนหรือคะ”

         เขายืนอยู่ที่เดิม  คล้ายเปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกหนังสือได้เต็มที่  ได้ยินคำว่าเจ๊งเต็มหู  แต่ไม่มีท่าทีโกรธเคือง   นลิดาไม่กล้าจ้องหน้าเขาตรง ๆ  แววตาที่เห็นไม่รู้จะเปรียบกับอะไรดี  ระหว่างผีดิบและนักฆ่าเลือดเย็น

         “ร้านผมไม่มีวันเจ๊งหรอกครับ  ขายหนังสือที่มีอยู่หมดเมื่อไหร่  คนในอำเภอนี้ก็ได้อ่านหนังสือเป็นหมื่นเล่ม”

         “มีนิยายรักไหมคะ”  นลิดาขยับลุกขึ้นยืน

         “มีเยอะครับ  คุณไปดูตรงมุมโน้นสิครับ  นิยายรักทั้งนั้น  ผมแยกไว้เป็นหมวดหมู่”

        

 

นลิดาเคลื่อนกายมายังหน้าชั้นหนังสือหมวดนิยายรัก  ไล่สายตาไปตามตัวอักษรบนสันปก  ดูชื่อเรื่อง  และนามคนเขียน  แขนสองข้างห้อยขนานลำตัว  มือไม่ได้เอื้อมหยิบ  เธอจำนิยายบางเล่มได้จากที่เคยถูกครูบังคับให้อ่าน  แต่นั่นนานกาเลมาแล้ว  และเธอก็ไม่รู้สึกได้ประทับใจพอจะหยิบเล่มนี้ขึ้นมาอ่านซ้ำ

      “เขาชื่อกานต์นี่  ถือเป็นนิยายรักด้วยหรือคะ”  เธอถามขณะยังไล่สายตาไปตามสันปกหนังสือบนชั้น

         “ครับ”  เจ้าของร้านตอบสั้น ๆ

         “มาดามโบวารีนี่  หนังสือสมัยไหนคะ”

       “ถ้าผมจำไม่ผิด  พิมพ์ครั้งแรกเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว  แปลเป็นภาษาไทยก็ราว ๆ ก่อนปีสองพันหน้าร้อยยี่สิบ”

         “ใครไปเกิดทันเล่านี่  โอ้...มีแต่ของเก่า ๆ”

         “หนังสือดีไม่มีวันเก่าครับ  หนังสือเลวที่พิมพ์ออกมาใหม่ต่างหากเก่าเร็ว  และจะตายไปก่อน”

      “เทสส์  แห่งเดอร์เบอร์วิลส์  เรื่องนี้สนุกไหมคะ”

         “เป็นหนังสือดีเล่มหนึ่ง  เอากลับบ้านไปอ่านสิครับ  ชอบนิยายรักรับรองไม่ผิดหวัง  เมื่อหลายปีก่อนมีคนเอาไปสร้างเป็นหนัง”

      “เมื่อหลายปีก่อน...”

      “ครับ”

         นลิดาหมุนตัวช้า ๆ  จากที่ได้พูดคุยตอบโต้   เจ้าของร้านไม่ได้น่ากลัวเหมือนแววตาแห้งแล้งของเขา   อย่างน้อยก็ไม่น่าจะใช่ผีดิบหรือนักฆ่า   น้ำเสียงแม้ดูไร้อารมณ์ความรู้สึก   แต่คำพูดของเขาสุภาพ   ท่าทีอ่อนโยนไม่แข็งกระด้างเหมือนแววตา

         เมื่อหันหน้ามองเจ้าของร้านอีกครั้ง  พบว่าเขานั่งลงบนเก้าอี้เล็ก ๆ ใบหน้าของเขาขาวซีดเหมือนคนอยู่ในร่มมานาน  ดวงตาเบิกกว้าง   อาจไม่ใช่น้ำแข็งที่เย็นยะเยือกอย่างที่ประเมินในตอนแรก   นลิดาคล้ายพบเห็นแววเหงาซ่อนอยู่   เขาผินหน้ามองผ่านประตูออกไป

         “มีหนังสือใหม่ ๆ บ้างไหมคะ”   นลิดาถามขึ้น

         “มีครับ”  เขาชักสายตากลับ  “ใหม่ล่าสุดพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว  ให้ผมแนะนำไหมครับ”

         “เอานิยายรัก”

         “งานแปลหรือของนักเขียนไทย”

         “เกาหลี  ฉันชอบนิยายรักเกาหลี”

         เขาทำท่าจะขยับลุกขึ้น  แต่แล้วนั่งติดเก้าอี้อยู่เหมือนเดิม

         “ไม่มีนิยายรักเกาหลีครับ”

      “ว้า...แย่จัง  ร้านคุณไม่ทันสมัยเอาเสียเลย”

         หมดหวังจะได้หนังสือกลับบ้านไปอ่าน   นลิดากวาดตามองชั้นหนังสือและผนังว่างโล่ง  แม้ดูสะอาดสะอ้าน  แต่ก็ว่างเปล่าเกินไปในความรู้สึกของเธอ  ใช่...ว่างเปล่า  แม้มีหนังสือเป็นพัน ๆ เล่ม  แต่ไม่ได้มีหนังสือสำหรับเธอแม้แต่เล่มเดียว

         เธอมองผ่านประตูออกไปยังจักรยานสีขาวที่จอดอยู่  นึกถึงความเหงา  และชีวิตอันไร้หวังในอำเภอชายแดน  อีกนานกว่าจะเปิดเทอม  บางทีเธอจะขอพี่ชายกลับไปอยู่กรุงเทพฯสักสองสัปดาห์   พี่ชายคงไม่ว่าอะไร   เขาให้อิสระเธอเต็มที่   แต่พ่อที่ต้องการดัดสันดานเธอให้หนักคงไม่ยอม

         “ฝากซื้อหนังสือได้ไหม”  นลิดาตัดสินยื่นไม้ตายสุดท้าย

         “นิยายรักเกาหลี”  เขาขยับลุกขึ้น

         “ค่ะ”

         “ผมไม่ค่อยได้เดินทาง  แต่ฝากพี่สาวซื้อให้ได้”

         “พรุ่งนี้ได้ไหมคะ”

         เขายืนเท้าสะเอว  โคลงหัวไปมา  “ไม่เร็วขนาดนั้น  สักเดือนหนึ่ง”

         “ว้า...”  นลิดาร้องเสียงดัง  “ลงแดงตายกันพอดี”

         “ขอโทษเถิดครับ” เขาขยับไปทางชั้นหนังสือ  หันมาจ้องหน้านลิดา  “ขอโทษที่ผมต้องถามตรง ๆ   ทำไมต้องเป็นเรื่องรักเกาหลีเท่านั้น”

      กระแสความเยือกเย็นแล่นลามไปประทบไขสันหลังอีกครั้ง   นลิดาถอยกรูด   ทำไมต้องเป็นนิยายรักเกาหลี   เพราะเธอชอบไง  

         ตั้งสติได้มั่นคงแล้ว   นลิดายืนปักหลัก   นึกสนุกที่ได้โต้เถียง  หลอกล่อให้อีกฝ่ายหนึ่งฉุนโกรธ   แต่เธอจะต้องเอาชนะแววตาเยือกน้ำแข็งให้ได้เสียก่อน  

         เธอยืนจ้องเขาตรง ๆ   คราวนี้เขาเป็นฝ่ายหลบ  นลิดาตอบ “เพราะมันสนุกไง  ถ้าเรื่องมีเรื่องรักไทยสนุก ๆ ก็พอจะชดเชยกันได้   แล้วมีไหมละคะ”

      ชายหนุ่มขบฟันเบา ๆ “ผมมีอยู่เล่มหนึ่ง  แต่น่าเสียดาย  มันเปียกน้ำ  เอามาให้คุณอ่านตอนนี้ไม่ได้  เป็นเรื่องอ่านสนุก”

      “ตากแดดได้นี่คะ”

         “กระดาษหลุดออกจากกันจนไม่เป็นเล่ม  ตัวหนังสือบางหน้าก็อ่านยาก  ผมจะรวบรวมให้”

         “คะ”

         “นิยายเรื่องนี้  อาจช่วยให้คุณลืมเรื่องรักเกาหลีทั้งหมด”

      “ถึงขนาดนั้น”

      “ผมหวังเช่นนั้น”

         “พรุ่งนี้ฉันมารับตอนเช้า”

         “ผมพิมพ์ไม่ทัน”  เขาใช้มือดันสันปกหนังสือบนชั้นกลับเข้าที่ “วันนี้วันเสาร์  คุณมารับวันเสาร์หน้าผมคิดเงินคุณตอนละสองบาท”

         นลิดากลั้นหัวเราะ   คิดจะยั่วให้เขาโกรธอีกครั้ง   แต่ยังหาวิธีการและคำพูดไม่ได้   เธอยิ้มอย่างไม่เคยรู้สึกขำขนาดนี้มาก่อนในชีวิต

       “งั้นไม่ขอพึ่งบริการคุณแล้วค่ะ  เพราะร้านที่ตลาดเขาฝากซื้อให้ฉันได้”

         “ครับ  แต่ถ้าคุณเปลี่ยนใจ  นิยายรักที่ดีที่สุดรอคุณอยู่ที่นี่  ในวันเสาร์หน้า”

 

 

เขายืนอยู่หน้าปากปากประตู   มองตามจักรยานสีขาวที่แล่นห่างออกไป  ในม่านแดดอ่อนจางที่สาดล้อป่าหญ้าริมทาง   นลิดาเอี้ยวคอมองไปข้างหลัง  ดวงตาเหงา ๆ เหมือนลอยตามเธอมา  เขายืนมองอยู่ตรงนั้น  คล้ายกับว่าจะไม่ขยับกายจนกว่าเธอจะย้อนกลับมาที่นี่อีกครั้งในวันเสาร์หน้า

         นลิดาปั่นจักรยานห่างออกไป  มีคำถามบางอย่างเกิดขึ้นในใจ  หากได้หนังสือจากน้านุ้ยอย่างที่ต้องการแล้ว   เธอจะกลับมาที่ร้านแบ่งปันกันอ่านอีกหรือไม่  เพราะที่นี่ไม่มีหนังสือสำหรับเธอ  ถึงแม้เจ้าของร้านจะคุยโอ่ว่ามีหนังสือเล่มหนึ่งที่จะทำให้เธอลืมเรื่องรักเกาหลีไปทั้งหมด  แต่นั่นแค่คำคุยโตที่หาราคาค่างวดอะไรไม่ได้    บางทีอาจเหมือนร้านค้าที่แขวนหัวแพะแต่ขายเนื้อหมา  โฆษณาเลิศลอย   แต่คุณภาพจริง ๆ ต่ำติดดิน    คำพูดที่เขาอวดอ้างหาสาระอะไรไม่ได้

         “ไม่ชอบคนขี้โม้...”  เธอสะบัดหน้า  และย้ำกับตัวเองว่า  คงไม่มีวันจะกลับเยือนร้านหนังสือจอมคุยโตนั่นอีก       

รายละเอียด

คนรักหนังสือผู้สร้างนิยายรัก (คำนำ)

 

เขานั่งอยู่บนเก้าอี้หวายหน้าห้องแถวคูหาเดียว  แววตาแหงา ๆ จับจ้องรางรถไฟที่ทอดยาวผ่านบ้านไม้เก่าโทรมและป่าหญ้าสูง  ใบหน้ารกหนวดนิ่งงันอยู่เช่นนั้นเป็นนาน   ประตูร้านหนังสือทางด้านหลังเปิดกว้าง   แต่ดูเหมือนลูกค้าเป็นอะไรสักอย่างที่หาได้ยาก

         วันแรกที่ผมแวะเข้าในร้านได้เอ่ยถามเขาว่า  “ขายได้วันละกี่เล่ม”

         เขาปาดเหงื่อบนใบหน้า  แสยะยิ้มเนือย ๆ “บางวันขายไม่ได้แม้แต่เล่มเดียว”

         เป็นเรื่องที่น่าเศร้า  และชวนแปลกใจที่ตลอดสิบกว่าชั่วโมง   ร้านหนังสือไม่มีลูกค้า  และขายไม่ได้แม้แต่เล่มเดียว

         “แล้วร้านอยู่ได้หรือครับ”  ผมถาม

         “ต้องดูนาน ๆ เพิ่งเปิดมาได้เดือนเศษ  คนอาจยังไม่รู้” เขาตอบ

         หนังสือเก่าที่ผ่านมือคนอ่านมาแล้ววางอยู่ตามชั้นไม้ที่สูงระดับหน้าอก   มีทั้งวรรณกรรมไทย  และเรื่องแปลชั้นยอดจากต่างประเทศ   นาทีแรกที่ก้าวเข้ามาพบหนังสือเหล่านี้   ผมถึงกับยืนนิ่งด้วยความตกตะลึง  ไม่น่าเชื่อว่า  เมืองเล็ก ๆ ชายฝั่งทะเลจะมีร้านหนังสือแบบนี้   ในความรู้สึกของผม  ร้านหนังสือแห่งนี้สามารถเรียกได้ว่าสวรรค์ของการอ่านได้ทีเดียว

         เขาแยกผลงานนักเขียนไทยไว้เป็นหมวดหมู่   เขียนข้อความติดกำกับไว้เพื่อให้ลูกค้าค้นหาหนังสือที่ตัวเองสนใจได้ง่าย    ช่องนี้เป็นพื้นที่ของศรีบูรพา   ถัดไปเป็นของสด กูรมะโรหิต  ใต้ลงไปเป็นของรมย์ รติวัน  ควบกับนิมิตร  ภูมิถาวร  และคำพูน บุญทวี

         อีกแถวเป็นของนักเขียนร่วมสมัยในยุคนั้น  ทั้งวัฒน์  วรรยางกูร  นิเวศน์ กันไทยราษฎร์  มาลา คำจันทร์  มานพ  ถนอมศรี  กรณ์ ไกรลาศ  ชาติ  กอบจิตติ   ศรีดาวเรือง

         แนวรบด้านวรรณกรรมแปล   แยกเป็นหมวดใหญ่ตามสัญชาติของนักเขียน  ทั้งอเมริกา  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  เยอรมัน  จีน อินเดีย  ญี่ปุ่น  แล้วแยกย่อยกำกับชื่อนักเขียนเอาไว้  เพื่อให้คนอ่านตามหาได้ง่ายอีกเช่นเคย

     วันแรกที่พลัดหลงเข้ามา  ผมมีเงินติดกระเป๋าอยู่หกร้อยบาท   เลือกซื้อหนังสือไปเกือบยี่สามสิบเล่ม   คิดราคารวมแล้วเกือบแปดร้อย   เขาใจดีลดให้   แถมบอกผมเลือกหนังสือที่อยากอ่านได้อีกสองเล่มเป็นของแถม

         ผมขอบคุณเขา  วันคืนในทะเลตลอดเที่ยวเรือนั้นผ่านไปด้วยความรื่นรมย์   ผมมีหนังสือเป็นเพื่อน  กลับขึ้นฝั่งแวะร้านของเขาก่อนจะไปต่อที่อื่น

         เขานั่งอยู่ที่เก่า   ยิ้มต้อนรับผมด้วยท่าทีเดิม ๆ

         ผมถาม  “ขายดีขึ้นไหม”

         เขาตอบ  “เหมือนเดิม”

         “วันนี้ขายได้กี่เล่ม”

      เขายิ้ม  “ยังไม่มีคนเข้าร้าน”

      เรื่องเศร้าเกิดขึ้นได้ทุกมุมโลก   และทุกช่วงชีวิตของใครบางคน  แต่กับร้านหนังสือแห่งนี้  เป็นไปได้หรือที่เรื่องเศร้าจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

         “วันอื่น ๆ ล่ะครับ”  ผมถาม  “มีลูกค้าเข้ามาซื้อหนังสือบ้างไหม”

         ลูกทะเลเรืออวนลาก   มีเวลาอยู่ฝั่งเดือนละไม่เกินสามวัน   จากแผ่นดินของคนอื่นไปแล้ว  ก็ไม่มีโอกาสรู้ว่า  มีเรื่องราวใดเกิดขึ้นบ้าง

         “มีเข้ามาห้าหกคน”  เขาตอบ

         ผมยิ้มอย่างมีความหวัง   ใต้เรียวหนวดดกดำที่ไม่เคยถูกจัดระเบียบ   เขาแสยะยิ้มอวดฟันขาวอย่างมีความหวังเช่นเดียวกัน

         “เดือนหน้าคงมากกว่านี้”  ผมว่า

         “ใช่”  เขาผงกหัว  “สองสามเดือนข้างหน้า   คนอ่านหนังสือในเมืองนี้จะต้องเพิ่มขึ้น”          

         ผมคิดต่อ  ปีหน้า  ปีต่อไป  และอีกสามสี่ปีข้างหน้า   ร้านหนังสือในชั้นล่างบ้านไม้เก่า ๆ แห่งนี้คงเปลี่ยนโฉมไปจากเดิม  ใหญ่โตขึ้น  สะอาดงามตามากขึ้น  ทันสมัยขึ้น  และมีหนังสือทุกประเภทไว้ให้นักอ่านเลือกซื้อ

         แน่นอน...เจ้าของก็ต้องรวย   หรือไม่ก็จนน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่

 

ชายหนุ่มในวัยสามสิบกลาง ๆ ไว้ผมยาว  หนวดยาว   เครายาว  สวมกางเกงยีนเก่า ๆ ชอบเก็บข้าวของไว้ในย่ามมอมแมมเหมือนไม่เคยซักมาเลยตั้งแต่ซื้อมา  รองเท้าแตะยางไม่รู้ว่าเท้าทั้งคู่ของเขาพาลากมากี่กิโลเมตร   ร่องรอยการใช้งานฟ้องให้เห็นทุกส่วน   เขาเล่าความหลังให้ผมฟังว่า  เคยเข้าป่าร่วมกับเพื่อน ๆ ร่วมอุดมการณ์   รู้จักสหายชื่อดังหลายคน  แต่เมื่อออกจากป่ามามอบตัวกับทางการ   เขายินดีโดดเดี่ยวตัวเองจากทุกสิ่ง   ยกเว้นหนังสือ

         ผมหยิบหนังสือแปลสองเล่มจบ   หนังสือหนาทีเดียว   งานแปลของปรานี วงษ์เทศ  ซึ่งถอดความมาจากเรื่องรูทส์  ของอเล็กซ์  ฮาลี่   ตอนนั้นผมไม่รู้ว่า  เรื่องนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ซีรีส์  ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง   ตัวละครอยางคุนต้า  คินเต้  กลายเป็นฉายาล้อเลียนคนผิวดำ

         เมื่อเห็นหนังสือในมือผม   ดวงตาคนขายเป็นประกายขึ้นมาทันที

         “เป็นงานจากความรัก”  เขาว่า

         “ดูเหมือนเป็นเรื่องเกี่ยวกับทาสผิวดำในอำเมริกา”  ผมแย้งจากข้อมูลการชิม

         “ถูก”  เขาผงกหัว  “แต่กว่าคนเขียนจะได้หนังสือสองเล่มนี้   ค้นหาข้อมูลหลายปี  ถ้าไม่รักงานที่ทำจริง  ไม่มีทางสำเร็จ”

      ผมหยิบเอื้อมหยิบหนังสืออีกเล่มจากชั้นวาง   ...ศึกสเปน

         “นี่ก็เป็นงานแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่”

      คราวนี้ผมไม่แย้งเขา  ยิ้มเนือย ๆ ให้กับหนังสือ  ขณะทำตัวสงบเสงี่ยมรอฟังเขาพูด

         “เป็นแรงงานแห่งความรัก   และเป็นอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ของคนเขียน  ที่หวังว่างานของเขาจะส่งพลังไปถึงคนอ่าน   เพื่อให้ก่อเกิดความเสมอภาค  ความรัก  ความเข้าใจ   และก้าวข้ามบาดแผลแห่งความผิดพลาดของอดีต”                 

         อีกสองสามหนที่ผมได้มีโอกาสนั่งคุย   หนังสือหลายเล่มที่เขากล่าวถึง   ล้วนเป็นแง่งามของความรัก   ความเสียสละ  และการอุทิศตนของคนเขียน

         เขาอ่านหนังสือทุกวัน  และยากจะประเมินว่าอ่านมาแล้วกี่ร้อยเล่ม   เมื่อมาอยู่กับหนังสือที่จะต้องขายออกไป   เขาบอกว่านี่เป็นความรักอีกอย่างหนึ่ง

         “ผมรักหนังสือ   อาจมีคำถามว่าไม่เสียดายบ้างหรือ   เมื่อขายสิ่งที่ผมรักออกไป  ผมว่า  พ่อค้าแม่ค้าทุกคน  ไม่ควรขายในสิ่งที่ตัวเองชิงชัง  หรือในสิ่งที่ตัวเองมองไม่เห็นคุณค่า”

 

ร้านหนังสือแห่งนี้ดำรงอยู่เพียงไม่กี่เดือน   ปลายฤดูร้อนปี 2529  ผมเข้าฝั่งมาพบว่าประตูไม้ของบ้านปิดตาย   เดินวนเวียนอยู่หลายรอบจนเจ้าของบ้านส่งคนมาสอบถาม  ว่าหาใคร   ต้องการอะไร

         ผมถามหาร้านหนังสือของชายหนุ่มผมยาวคนนั้น

         หญิงชราที่อ้างว่าเป็นเจ้าของบ้านยืนอยู่ข้างเด็กหนุ่ม  แกให้ความกระจ่างว่า  “เขามาขอเช่าบ้านทำเป็นร้านหนังสือ   ทีแรกฉันไม่อยากให้  เพราะดูท่าทางไม่ค่อยจะเต็มบาทสักเท่าไหร่   แต่เขายอมจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าถึงสี่เดือน  ฉันถึงยอม”

         เด็กหนุ่มซึ่งมาสอบถามผมในตอนแรกเสริมขึ้น  “น้าคนนั้นขายหนังสืออะไรไม่รู้  อ่านไม่รู้เรื่อง”

         “เขาขายหนังสือได้ไม่พอค่าเช่าบ้านหรอก”  หญิงชราพูด  “วันหนึ่งมีคนเข้าร้านแค่สองสามคน   และก็ไม่ซื้อ   ฉันสงสารจึงบอกให้เขาเลิก   เพราะคนแถวนี้ไม่อ่านหนังสือที่เขาขาย  แต่เขาดื้อไม่ฟัง  บอกว่าอีกหน่อยก็จะมีคนเข้ามาซื้อมาอ่านมากขึ้นเอง”

      “แกบ้านั่นแหละ”  เด็กหนุ่มพูด

         “เขาคงสู้จนแน่ใจแล้ว   ว่าหนังสือที่เขาขายไปไม่ไหวจริง ๆ จึงคืนบ้านให้ฉัน”  หญิงชราพูดพลางหันมองไปที่ประตูไม้

         หญิงขายกล้วยปิ้งซึ่งตั้งแผงอยู่ไม่ไกลเดินมา “ไอ้ผมยาวไปได้สิบกว่าวันแล้วมั้ง   มันขายหนังสืออะไรไม่รู้  ฉันเคยแวะเข้าไปดู   หยิบ ๆ ขึ้นมาอ่านสองสามบรรทัด  ซื้อไปฝากลูกสาว  นังหนูของฉันบอกว่าเป็นหนังสือคอมมิวนิสต์   ฉันว่า...ไอ้นั่นคงไม่เต็มสักเท่าไหร่”           

 

ผมไม่เคยได้พบชายผมยาวผู้นั้นอีกเลย   ได้แต่คิดว่า  เขาคงเช่าห้องแถวที่ไหนสักแห่ง  ขายในสิ่งที่เขารัก   และเชื่อว่าเป็นแสงสว่างส่องทางชีวิตแก่ผู้ที่รับช่วงเป็นเจ้าของ

         คำพูดของเขาเกี่ยวกับแรงงานความรัก   และมอบในสิ่งที่เรารักให้กับผู้อื่น  ฝังอยู่ในความทรงจำของผมมาเท่านาน

         จากคนพเนจรกลายมามีอาชีพเขียนหนังสือ   ทุกเล่มเป็นแรงงานความรัก   ทุกตัวอักษรล้วนถักทอขึ้นด้วยความรัก   ไม่ว่าหนังสือเล่มนั้นจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไรในด้านการตลาด

         ทุกเล่มที่นำเสนอออกไป   คนเขียนเชื่อมั่นเสมอว่า  ได้มอบสิ่งที่ตัวเองคิดว่ามีคุณค่าให้กับคนอ่าน   มิได้ยัดเยียดสิ่งที่ตัวเองชิงชัง  และเหยียดหมิ่นดูแคลนไปสู่มือคนอื่นเหมือนสลัดทิ้ง

         เชื่อมั่นจนกระทั่งว่า   แม้วันหนึ่งผู้เขียนหมดลมหายใจไปแล้ว   หนังสือที่ฝากไว้บนโลกยังคงเดินทาง  เพื่อผลิช่อดอกแห่งรักบานขึ้นในหัวใจผู้คน

 

ด้วยความเคารพ

ประชาคม ลุนาชัย

มีนาคม 2553


รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (84 รายการ)

www.batorastore.com © 2024