สะพานเบี่ยงรัก (ผกายฟ้า ประกาศิต)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: สะพานเบี่ยงรัก
ของหมด (ต้องการสินค้า)
ราคา: 100.00 บาท 25.00 บาท
ประหยัด: 75.00 บาท ( 75.00% )

เนื้อหาบางส่วน

สะพานเบี่ยงรัก

ผกายฟ้า  ประกาศิต

.

 

วลาใกล้เที่ยง  ชายหนุ่มร่างเล็ก ผิวค่อนข้างคล้ำ อายุประมาณ  ๒๕ ปี  เดินหอบเฟรมภาพวาดพะรุงพะรัง  ผ่านสวนผลไม้  มังคุด เงาะ และทุเรียน ของคุณยายวัย ๗๐ ปี คหบดีผู้ใจบุญแห่งบ้านตลาดเก่าตะกั่วป่า  เพื่อจะเข้าไปยังกระท่อมที่ปลูกอยู่ในสวนลึกเข้าไป   กระทั่งเดินมาหยุดอยู่หน้ากระท่อมหลังนั้น

            เขามองเข้าไปในเพิงข้างกระท่อมซึ่งเป็นกระท่อมไม้ไผ่ฝาขัดแตะ  แลเห็นกระป๋องสี  แผ่นไม้อัด  แผ่นป้ายโฆษณาที่เขียนเสร็จและที่ยังเขียนค้างอยู่ เขาไม่เห็นเจ้าของผลงาน  แต่รถมอเตอร์ไซค์คันใหญ่ ขนาด ๑๕๐ ซีซี สองท่อไอเสียที่จอดอยู่ใต้ร่มทุเรียน บ่งบอกว่า ผู้เป็นเจ้าของกระท่อมและเจ้าของงานแผ่นป้าย ยังอยู่ในบ้าน  ซึ่งก็พอดีกับมีเสียงทักออกมาจากข้างใน

            “เฮ้ ! นายพงศ์  นายนี่ตายยากแท้  เรากำลังพูดถึงนาย  นายก็มาพอดี…” 

ผู้ทักทายเป็นชายหนุ่มอายุมากกว่าชายหนุ่มผู้เป็นแขกราว ๒-๓ ปี  ร่างสูงโปร่ง ผิวขาว  เดินเข้ามาตบไหล่หนุ่มร่างเล็ก  ก่อนจะยื่นมือมารับเอามัดเฟรมผ้าใบขึงกรอบเอาไปหอบและถือไว้แทน

“นายหอบเฟรมรูปอะไรมาเยอะแยะวะนี่  กะจะเอาไปขายที่ไหนหรือเปล่า?”  

“เปล่า  ไม่ได้คิดจะเอามาขาย  รูปวิวบนเกาะ… เราอยู่ว่าง ๆ ก็เลยเขียนเล่น พอดีเรารู้ว่า  เดือนหน้าจะได้ย้ายจากเกาะขึ้นฝั่งเสียที  ก็เลยถือโอกาสขนมาเที่ยวหนึ่งก่อน  ที่เหลืออยู่บนเกาะยังมีอีกเยอะแยะ  รอคำสั่งย้ายออกเมื่อไหร่จะไปขนมาอีกรอบ”   หนุ่มร่างเล็กตัวเตี้ยตอบ

"นายรู้หรือเปล่า  ว่าจะได้ย้ายมาอยู่โรงเรียนไหน?"

"วัดควน"

"อ๋อ  อยู่เลยตลาด…ไปไม่ไกล  ทางไปบ้านปากถัก  อยู่ห่างจากที่นี่ไปราว ๖ กิโล"

ขณะที่ทั้งสองหนุ่มยืนพูดกัน หญิงสาวผิวขาวร่างท้วม  หน้าตาไม่สวยแต่พอดูได้ เดินออกมาสมทบ  เธอทักทายเพื่อนของสามีอย่างสนิทสนม  เพราะเพื่อนของสามี  เคยมาพักที่กระท่อม  ก่อนจะหายไปเกือบปี

“โรงเรียนคุณพงศ์ปิดภาคปลายแล้วหรือคะ?”   

 “ครับ”   ชายหนุ่มตอบและยิ้มให้ภรรยาของเพื่อนซึ่งเป็นเจ้าของกระท่อม

“นายพงศ์หิวมาแน่ ๆ เลย  รีบไปจัดโต๊ะกินข้าวเถอะรัตน์” 

เพื่อนผู้เป็นเจ้าของกระท่อมพูดกับภรรยา  และหันมาถามเพื่อนว่า  

“อย่าเพิ่งคุยอะไรกันเลย  รีบไปกินข้าวกันก่อนดีกว่า”

แล้วหนุ่มผิวขาวเจ้าของกระท่อม  ก็เดินนำหน้าเพื่อนรักเข้าไปข้างในกระท่อม  ซึ่งภรรยาของตนได้เข้าไปเตรียมจัดโต๊ะอาหารไว้แล้ว



กลีบดอกและเกสรสีขาวอมเหลืองของต้นทุเรียน  ร่วงลงมาพรู ๆ  ส่วนหนึ่งหล่นลงบนแคร่  อีกส่วนหล่นลงไปทับถมอยู่บนพื้นดินสีคล้ำหม่น  ส่งกลิ่นหอมเอียน ๆ  หนุ่มร่างผอมสูงกับเพื่อนร่างเล็กเสร็จจากอาหารก็มานั่งคุยกันบนแคร่หน้ากระท่อมใต้ร่มเงาของต้นทุเรียน  

สายตาของเพื่อนร่างสูง  กำลังมองภาพเขียนที่นำไปพิงเรียงแถวไว้ที่ฝาด้านนอกของกระท่อม  แล้วมานั่งมองในระยะห่าง  ทุกภาพเป็นทิวทัศน์  มีเรือแพ  สะพานปลา หาดทราย หมู่บ้านชาวประมง  มีฉากหลังเป็นภูเขา โขดหินและน้ำทะเลสีครามตัดกับท้องฟ้า

“ฝีมือนายก้าวไปไกลมากจนเราไล่ตามไม่ทัน  นายน่าจะนำภาพพวกนี้ไปฝากขายตามร้านหรือแกลเลอรี่  ดีไม่ดีอาจจะได้เงินใช้สำหรับฤดูร้อนนี้หลายพัน"

"บ้านป่าเมืองเถื่อนอย่างนี้  จะมีคนซื้อภาพวาดแบบพร่า ๆ เบลอ ๆ อย่างนี้หรือวะ  ในเมื่อที่นี่ชาวบ้านเขาดูเป็นกันแต่ภาพแบบโปสเตอร์หนังของนายเท่านั้น  ภาพแบบที่เราวาดเขาดูกันไม่รู้หรอก ว่ามันสวยมันดียังไง"  เพื่อนร่างเตี้ยพูดเหมือนดูถูกคนในท้องถิ่น

"ก็ไม่แน่…นายอย่าเพิ่งดูถูก ก็ไม่ใช่เพราะบ้านป่าแต่มีทั้งเหมืองแร่ สวนยาง  และมีแต่คนรวย ๆ แบบนี้หรอกเรอะ  ที่ทำให้เรากับนาย ต้องซัดเซพเนจรมาหากินกันที่นี่"  เพื่อนร่างสูงแย้ง 

เพื่อนร่างเตี้ยได้แต่ยิ้มและว่า

"พวกภาพเหมือนนะอาจจะได้  เพราะเขาวาดเอาไปสักการบูชา ในฐานะที่เป็นภาพบรรพบุรุษ  แต่พวกภาพวิวทิวทัศน์  แถมเขียนในลักษณะอิมเพรสชั่นนิสต์  ไม่ใช่ภาพวาดแบบโปสเตอร์หนังของนาย แล้วจะมีคนดูรู้เรื่อง ดูแล้วเข้าใจเรอะ"

"ก็ไม่แน่อีกแหละ  นายอย่าลืมซีว่า  พวกคนรวย ๆ ที่นี่  ส่วนใหญ่ไม่ได้ไปเรียนจบปริญญาหรือไฮสกูล มาจากกรุงเทพเท่านั้น  แต่ไปเรียนจบมาจากต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ปีนัง ฝรั่งเศส อเมริกา ออสเตรเลีย  ทำไมเขาจะดูงานศิลปะของนายไม่ออกล่ะ"

"เอ่อ…"  เพื่อนร่างเตี้ยไม่ทันได้พูดต่อ  เพื่อนร่างสูงก็พูดเกี่ยวกับตนเองเสียต่อไปว่า 

"เป็นเวลาสามปี  นับตั้งแต่ที่เราพบและรู้จักกัน  ขนาดว่านายลงไปเป็นครูในเกาะคอเขา  วัน ๆ ไม่ได้ขึ้นมาเห็นแสงสี  แต่นายกลับมีผลงานและวุฒิการศึกษาก้าวหน้าไปไกลลิบ  ส่วนเรายังย่ำอยู่กับที่ไม่ได้อะไร  เพราะ  วัน ๆ มั่วอยู่แต่กับภาพคัตเอาท์หนัง  ฝีมือเลยไม่ได้พัฒนาไปไหน"

"โอ๊ะ! อะไรกัน แค่ที่เราวาดภาพพวกนี้มาให้นายดูนี่นะ  ที่นายว่าเราก้าวหน้าไปไกล?"  เพื่อนร่างเตี้ยยังไม่ค่อยเข้าใจ

"มันยังมีมากกว่านั้น นายยังไม่เข้าใจที่เราพูด งั้นเอางี้…"  เพื่อนร่างสูงเตรียมอธิบาย และจ้องหน้าเพื่อนร่างเตี้ยและว่า  "ปีแรกที่เราพบและรู้จักกัน  นายบอกว่านายสอบได้วาดเขียนโท  แต่มาตอนนี้นายสอบได้วาดเขียนเอก  หรือหลักสูตรใหม่ที่เรียกว่า วาดเขียนเอก  ทำให้นายได้เป็นครูชั้นตรี มีเงินเดือนเลื่อนจาก ๔๕๐ บาทเป็น ๑๐๐๐ บาท  แล้วยังได้ย้ายจากเกาะขึ้นฝั่ง ครูที่เข้าทำงาน ๓ ปีอย่างนายแล้วได้ชั้นตรีหายากนะโว้ย"

"เร้อะ"  เพื่อนร่างเตี้ยทำเสียงสูง  ยักไหล่ และไม่ได้รู้สึกว่าตนเองมีอะไรดีเด่น  เพื่อนร่างสูงและอายุมากกว่าถึง ๓ ปี  จึงเทศนาให้ฟังต่อไป

"ความจริงนายสอบได้ วาดเขียนเอก แล้ว น่าจะหาโอกาสไปสอบเรียนปริญญาตรีวิชาเอกศิลป์ต่อ  นายควรจะก้าวต่อไปอย่าหยุด"

แต่เพื่อนร่างเตี้ยกลับสวนว่า  “ปริญญาไม่จำเป็นสำหรับเรา  ฝีมือต่างหากที่จำเป็น"

"ทำไมนายพูดอย่างนั้น?"   

"เราเห็นบางคนไปเรียนเอกศิลป์จบปริญญาโทมา  แต่วาดรูปไม่เป็น เราจึงไม่รู้จะไปเรียนมาทำไมให้เสียเวลาและหนักสมอง  สู้อยู่ว่าง ๆ แล้วฝึกฝีมือตนเองไปเรื่อย ๆ จะดีกว่า  ดีกว่าได้เปลือกปริญญามากุ้ม แต่เนื้อในไม่มี"

“บ้า  ทำไมพูดบ้า ๆ อย่างนั้น  นี่นายอย่าบอกนะว่า  นายอยู่แต่ในเกาะจนไม่รู้ความเคลื่อนไหวของโลกภายนอก  ปริญญาเป็นสิ่งที่คนทุกคนในปัจจุบันต่างใฝ่ฝันที่จะไปเรียน  ครูในรุ่นต่อไปไม่มีใครจบแค่ ป.กศ.ต้นหรือ ป.กศ.สูงหรอก  แล้วทั้ง ป.กศ.ต้น ป.กศ.สูง เขาก็จะไม่รับแล้วด้วย ตอนนี้ถ้าใครมีโอกาสไปเรียน พอจบปริญญากลับมา  จะได้ตำแหน่งดี ๆ มีสิทธิสอบเป็นหัวหน้าฝ่าย เป็นศึกษาธิการอำเภอ  หรือเป็นศึกษานิเทศก์…"

"แต่เราไม่อยากเป็นเจ้านาย  เราอยากเป็นศิลปิน เป็นครูธรรมดา ๆ อยู่บ้านนอกจะได้มีเวลาวาดรูปที่เราชอบ  ถ้าไปเป็นใหญ่เป็นโต เป็นนักวิชาการ นักบริหาร…เราเห็นมาหลายราย ไม่มีเวลาได้วาดรูปอีกเลย  อุตส่าห์ไปเรียนมาเสียเวลาเปล่า"

แต่เพื่อนร่างสูงซึ่งเป็นครูลูกจ้างเทศบาล  และอีกหน้าที่หนึ่งเป็น ช่างเขียนโปสเตอร์หน้าโรงภาพยนตร์พูดแย้งว่า  "แต่ถึงยังไง ๆ คนจบปริญญาก็ต้องดีกว่าคนไม่จบปริญญา  เราไม่อยากให้นายคิดสั้น ๆ แบบนั้น มันไม่เจริญ  ไปเรียนให้ได้ปริญญามาก่อน  ส่วนตำแหน่งเราจะรับหรือไม่รับมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ใครจะมาบังคับ"

พูดจบหันไปจ้องหน้าเพื่อนร่างเล็ก  และพูดต่อไปว่า

"นายเคยเห็นงานของพวกนักศึกษาที่เรียนจบเพาะช่าง  จบศิลปากรบ้างหรือเปล่า?"

"เห็น  เห็นออกเยอะไป  ตอนไปสอบที่เพาะช่าง ที่เราไปสอบวาดเขียนเอก ก็มีติดแสดงอยู่เต็มที่ชั้นบนของโรงเรียนเพาะช่าง  อีกครั้งเราไปที่หอศิลป์  เพื่อนที่ไปสอบด้วยกันชวนไปดู"

"แล้วไง…  นายมีความเห็นต่อภาพพวกนั้นยังไงบ้าง?" 

"งานที่เขานำมาแสดงส่วนหนึ่งคนทั่วไปดูไม่ออก  ดูไม่เข้าใจแล้วก็ไม่รู้เรื่อง…" เพื่อนร่างเตี้ยตอบและหัวเราะแถมท้ายก่อนจะพูดว่า  "เราเองก็ไม่รู้เรื่อง  ฮิ ๆ ๆ  เราเองติดอยู่ที่อิมเพรสชั่นนิสต์ ส่วนพวกศิลปินเขาไปถึงขั้นแอ๊บแทร็ก"

"อะไรแอ๊บแทร็ก  หมายความว่าอย่างไร?"

"ประเภทไม่เน้นรูปทรง  เอาแต่ความรู้สึกของสีและทีแปรง"

"นั่นละ ๆ  คือสิ่งที่เราอยากจะให้นายไปเรียน  นายมีโอกาสเพราะสอบได้วุฒิ วาดเขียนเอกแล้ว  ส่วนเรายังคงอีกนาน…"  เพื่อนร่างสูงมองเพื่อนร่างเตี้ย ถอนใจแล้วพูดแบบรำพึงรำพันต่อไป  "เราเคยไปดูงานแบบที่ว่าสองสามครั้ง  ตอนที่ไปธุระซื้อสีที่กรุงเทพฯ  เราเคยถามพวกครูอาจารย์ที่สอนศิลปะ  เขาบอกว่ามันเป็นงานชั้นสูง  ไม่ใช่งานพื้น ๆ อย่างที่เราเขียนในโรงหนัง  งานแบบของเขาต้องให้พวกที่เรียนศิลปะด้วยกันดูจึงจะรู้ว่ามันดีไม่ดีแบบไหน  ข้าจึงว่านายควรจะไปเรียน ไปเรียนแล้วก็ช่วยกลับมาอธิบายให้เราเข้าใจบ้าง  เราอยากรู้ว่าภาพพวกนั้นเขามีหลักการคิด การวาดและการดูอย่างไร?”  

"อ้าว  แล้วทำไมนายไม่รีบสอบวาดเขียนโทให้ได้เร็ว ๆ  ไปสอบบ้างเว้นบ้างอยู่ทำไม  จะได้ไปสอบต่อ วาดเขียนเอก พอได้วาดเขียนเอกแล้ว จะได้ไปเรียนใน มศว.[1] พร้อม ๆ กัน  บอกตามตรงเราไม่อยากไปเรียนคนเดียว  มันเหงา ๆ โหวงเหวงยังไงไม่รู้"

"ถ้าเราไปเรียนรัตนากับลูกจะอยู่อย่างไร  จะให้เราเอาสองคนนี่ไปไว้ที่ไหน?" 

"ก็…ให้เธอกลับไปอยู่กับพ่อแม่ของเธอที่หลังสวนชั่วคราว  กระท่อมหลังนี้ฝากคุณยายให้ช่วยดูแล  หรือให้คนอื่นเช่าชั่วคราวก็ได้  เงินค่าเช่าก็ให้คุณยายไป  ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้ให้ร้างแล้วหญ้าขึ้นรก”

เพื่อนร่างเตี้ยหมายถึงคุณยายดวงแขเจ้าของสวนมังคุด เงาะ ทุเรียน  ที่ยินยอมให้นพพร ช่างเขียนประจำโรงภาพยนตร์(กลั่นแก้วภาพยนตร์)  มาปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินท้ายสวนโดยไม่ต้องเช่าที่ดิน  แต่ให้มีหน้าที่ช่วยดูแลสวนคอยไล่คอยกันเด็กและคนมักง่าย  ที่ชอบเข้าไปขโมยเก็บสอย มังคุด เงาะ และทุเรียนในสวนของคุณยายไปด้วยในตัว

เมื่อ ๓ ปีที่แล้วตอนที่ทั้งสองเพิ่งรู้จักกัน  นพพรยังอาศัยกินอยู่และหลับนอนอยู่ที่หน้ามุขชั้นบนของโรงภาพยนตร์ โดยอาศัยนอนอยู่หลังแผ่นคัตเอาท์  ที่ตนเองเป็นคนเขียนแล้วจัดวางป้ายโฆษณาหันสู่ถนน  ส่วนตัวโรงภาพยนตร์หากใครไม่ได้เข้าไปดูข้างใน  จะคิดว่าด้านถนน คือหน้าโรงภาพยนตร์  เพราะด้านนี้มีลานบริเวณกว้าง  มีห้องขายตั๋ว  มีบอร์ดสำหรับติดภาพหนังแผ่น และติดภาพโปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์อยู่ทั้งบนและล่าง  แต่เมื่อตีตั๋วเข้าไปดูภาพยนตร์จะพบว่า โรงภาพยนตร์สร้างหันข้างให้ถนน

ด้านที่คนฉายหนังนำภาพยนตร์ขึ้นไปนั่งฉาย  อยู่ติดกับถนนซอยอีกสาย  เจ้าของโรงภาพยนตร์ จึงได้ตั้งชื่อโรงภาพยนตร์ ตามชื่อถนนซอยว่า "กลั่นแก้วภาพยนตร์" แทนที่จะใช้ชื่อถนนมนตรี  ซึ่งเป็นถนนด้านที่หันป้ายโฆษณา  ออกสู่สายตาคนมอง

พงศ์ศิลป์  พันธร รู้จักกับนพพร  เจริญชัย  ในตอนที่เขามาเปิดร้านรับวาดรูปเหมือน  อยู่ที่ถนนกลั่นแก้ว  เลยหน้าโรงภาพยนตร์ไปประมาณ ๕๐ เมตร  แรกที่คบกัน นพพร เล่าว่าเขาเป็นชาวชุมพร  หลังจบ ม.๖ อยากเรียนต่อเพาะช่าง  แต่ทางบ้านไม่มีเงินส่งจึงไม่ได้เรียน  เขาเสียใจจึงออกจากบ้านมาโดยไม่ได้บอกเล่าให้ใครทราบ  แรกสุดเขามาอยู่ที่อำเภอหลังสวน  ด้วยความที่ชอบวาดรูปจึงไปฝึกเป็นลูกมือช่างเขียนภาพคัตเอาท์หน้าโรงภาพยนตร์ จนมีฝีมือพอที่จะหากินได้  ก็พอดีช่างเขียนประจำโรงภาพยนตร์ย้ายไปอยู่โรงภาพยนตร์อื่น  นพพรจึงเข้าสวมหน้าที่เป็นช่างเขียนประจำโรงภาพยนตร์ที่หลังสวนแทน

ทุก ๆ วันที่นพพรยืนป้ายสีวาดภาพดาราภาพยนตร์  รัตนาซึ่งตอนนั้นอายุ ๑๕ ปี ชอบมายืนดูเขาวาดรูปแล้วเกิดรักชอบเขา  นพพรไม่ได้รักรัตนาแต่ความเป็นหนุ่ม ยังไม่เคยมีสัมพันธ์กับหญิงคนใด  ทำให้นพพรลักลอบได้เสียกับรัตนา  แต่พอรู้ว่ารัตนามีท้อง  นพพรก็หนีจากอำเภอหลังสวนมาอยู่อำเภอเมืองระนอง  แล้วก็ย้ายต่อมาเรื่อย ๆ จนอยู่โรงภาพยนตร์กลั่นแก้ว อำเภอตะกั่วป่าอันเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองด้วยเงินรายได้จากเหมืองแร่และสวนยางพารา  

ต่อมา นพพรได้งานเป็นครูลูกจ้างเทศบาล  สอนเฉพาะวิชาวาดเขียน  และทำให้ได้สนิทชิดเชื้อกับเพื่อนครูในโรงเรียนเทศบาล ภรรยาของเพื่อนครูเทศบาลคนหนึ่ง  เป็นลูกสาวคนเดียวของคุณยายดวงแข เจ้าของสวนผลไม้ เงาะ มังคุด…  จึงอนุญาตให้นพพรมาอาศัยที่ดินกลางสวน  ปลูกกระท่อมอยู่แทนการไปอาศัยและแทรกตัวนอนอยู่ท่ามกลางกองภาพคัตเอาท์  บนโรงภาพยนตร์ หรือไปเช่าบ้านอยู่ให้เสียเงิน  ทำให้นพพรได้เป็นเจ้าของกระท่อมไม้ไผ่กลางสวน และอาศัยอยู่ในกระท่อมนี้มาจนถึงปัจจุบัน 

ส่วนพงศ์ศิลป์  พันธร เล่าให้นพพร  เจริญชัย ฟังว่า  เขาเป็นชาวนครศรีธรรมราช มีปัญหาเดียวกันกับนพพรคือพ่อแม่ยากจน  อยากจะเรียนเพาะช่างแต่ไม่ได้เรียน  จึงเข้าบวชเณร สอบเทียบ ม.๖  และหัดวาดรูปกับพระในวัด  พอวาดรูปสีน้ำได้ก็สมัครสอบจนได้วาดเขียนโท  จากนั้นก็เดินทางมาอำเภอนี้เพื่อหางานรับจ้างวาดรูปเหมือน  ตอนนั้นวุฒิวาดเขียนโทสามารถสมัครสอบบรรจุเข้าเป็นครูโรงเรียนเทศบาลโรงเรียนบ้านศรีตะกั่วป่า ในตำแหน่งที่เปิดรับได้  แต่นพพรถูกจ้างให้เป็นครูอัตราจ้าง สอนอยู่ในโรงเรียนเทศบาลแห่งนั้นเสียแล้ว  ถ้าพงศ์ศิลป์  พันธรสมัครสอบบรรจุก็กลัวว่าจะเป็นการแย่งงานของเพื่อนรัก  พงศ์ศิลป์  พันธร จึงเช่าห้องแถวเปิดร้านรับวาดรูปเหมือน โดยร้านตั้งอยู่บนถนนกลั่นแก้ว ใกล้ ๆ โรงภาพยนตร์ที่นพพรทำงานนั่นเอง

แต่งานวาดรูปเหมือนของพงศ์ศิลป์ มีงานเข้ามาให้ทำพออยู่ได้แค่ในปีแรก พอปีต่อมางานวาดรูปเริ่มมีเข้ามาน้อย  เขาจึงคืนห้องเช่าแล้วเดินทางไปหาที่เปิดร้านใหม่ที่ภูเก็ต ท้ายเหมือง และพังงา งานก็เข้ามาแค่พอให้สามารถเลี้ยงตัวไปได้อย่างเตาะแตะเหมือนเด็กหัดเดิน  พอดีปีนั้นจังหวัดพังงาขาดแคลนครู และเปิดรับผู้มีวุฒิ ม.๖ ม.ศ. ๓ หรือเทียบเท่า เขาจึงใช้วุฒิ ม.๖(ม.ศ.๓)ไปสมัครสอบแล้วก็สอบได้  พงศ์ศิลป์จึงถูกส่งตัวไปอยู่เกาะคอเขา กลางทะเลอันดามัน ซึ่งตอนแรกขึ้นอยู่กับ กิ่งอำเภอคุระบุรี แต่ท่าเรือสำหรับขึ้นจากและลงไปสู่เกาะ  ต้องมาใช้ท่าเรือย่านยาว ใกล้ตลาดอำเภอตะกั่วป่าที่นพพรอาศัยอยู่  

แต่หลังจากพงศ์ศิลป์ ลงไปเป็นครูที่เกาะแล้วสามเดือน  วันหนึ่งเขาขึ้นมาจากเกาะคอเขาและมาหานพพรที่กระท่อมในสวนผลไม้ของยายดวงแข พงศ์ศิลป์ได้พบกับภรรยาและลูกสาวของนพพร  ที่เพิ่งจะตามนพพรมาอยู่ด้วยกัน ภรรยาของนพพรไม่สวยแต่พอดูได้ อายุประมาณ ๒๒ ปี และลูกสาว อายุประมาณ ๕ ขวบเป็นเหตุให้นพพรหมดสิ้นอิสรภาพ  กระทั่งความหวังที่จะสอบเอาวุฒิครูวาดเขียนโท และ วาดเขียนเอก เพื่อไต่เต้าไปสู่ตำแหน่งครู  มีเงินเดือนสูงขึ้นตามวุฒิอย่างที่พงศ์ศิลป์เพิ่งทำสำเร็จ  ต้องผัดผ่อนและชะลอไว้ต่อไป…

“ทำไม - นายขัดข้องเรื่องเงินหรือ  ถ้าเป็นเรื่องเงินเรากู้สหกรณ์ให้นายได้  จะเอาสักกี่พันบาทบอกมา”  

พงศิลป์ปรารถนาอย่างจริงใจ  อยากจะให้เพื่อนรักได้ไปเรียน  เพื่อว่าเพื่อนจะได้หลุดพ้นจากการเป็น "เด็กหน้าโรงหนัง"  อันเป็นคำหมิ่นหยามของคนทั่วไป  ที่มองคนอาชีพนี้ว่าต่ำต้อยและไร้เกียรติ  ได้เป็นจิตรกรหรือศิลปินมีระดับกับเขาบ้าง  และจะได้เป็นข้าราชการ(ตัวจริง)มีศักดิ์มีศรี  เพราะนพพรยังมีตำแหน่งครูลูกจ้างสำนักงานเทศบาล  ที่นอกจากจะไปสอนตอนกลางวัน  เย็นหรือมืดค่ำกลับมายังต้องมาเขียนภาพโปสเตอร์ประดับหน้าโรงภาพยนตร์และรถแห่  อันเป็นงานหนักที่แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอน

“เรื่องที่จะให้ยายรัตน์ไปอยู่กับพ่อแม่ของเธอน่ะ นายเลิกคิดได้เลย  เพราะตอนนี้นายก็เห็นแล้ว  ไม่ใช่แค่เมียเราลูกเรา  แต่ทั้งน้องเมีย น้องเราและลูกสาวเรา แห่มาอยู่กับเรากันเต็มบ้าน” 

เพื่อนผู้สูงวัยกว่าพูดด้วยท่าทีเหนื่อยเพลียทั้งกายและใจ

พงศ์ศิลป์.พลอยถอนใจและพูดอะไรไม่ออก  เพื่อนร่างสูงดูเหมือนจะเดาถูกว่า  เพื่อนผู้อ่อนวัยกว่าคิดอย่างไรจึงรีบพูดขัดขึ้นว่า

“แต่ห้ามนายไปพักที่อื่นนะเว้ยโกรธกันตายเชียว  ยังไง ๆ ก็ต้องมาพักที่นี่  พักในบ้านเราห้ามไปไหน” 

พงศ์ศิลป์อึกอัก  เท่านั้นยังไม่พอเพื่อนผู้สูงวัยกว่าพูดกระซิบกับเขาว่า

“แต่เราอยากขอเตือน  น้องเมียเรานายอย่าจีบ  ส่วนน้องเราไม่เป็นไร”   

นพพรพูดแบบหน้าตาย  ทำให้พงศ์ศิลป์ต้องเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า  และหน้าแดงที่เพื่อนเล่นพูดตรง ๆ แต่นพพรยังกระซิบต่อไป 

“ที่เราห้ามนายว่าอย่าจีบน้องเมียเรา  ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นพระยาเทครัว หวงไว้จะเอาเอง  แต่เราหมายความว่า  ตระกูลนี้นายอย่าคิดเอามาทำพันธุ์เป็นเด็ดขาด  ปล่อยให้เราลงนรกคนเดียวก็พอ  เราขอบอกนายด้วยใจจริง” 

“ทำไมล่ะ”  ถามทั้ง ๆ ที่ก้มหน้าเพราะความเขินอาย  แต่ไม่อาจจะอดกลั้นความสงสัยไว้ได้

“เอาเถอะแล้วต่อไปนายจะรู้และเห็นเอง  เอ้อ…นายขึ้นมาเที่ยวนี้ได้จังหวะกับที่เรามีรูปเหมือน  อยากจะให้นายช่วยวาดให้อยู่พอดี  แต่ต้องรีบวาดให้เสร็จให้เร็วที่สุดเลยนะ”  

“รูปใคร?  แล้วทำไมต้องวาดให้เสร็จให้เร็วที่สุด วาดไปเรื่อย ๆ แบบสบาย ๆ ไม่ดีกว่าหรือ งานจะได้ออกมาดี”  พงศ์ศิลป์ท้วงติงตามนิสัยที่เคยชิน กับการทำงานที่ละเอียดและประณีต

            “รูปนายหัวประจักษ์  เถ้าแก่เหมืองแร่ในปิ”  นพพรตอบคำถามแรก บ้านในปิมาจากคำว่า “ในปีก” เพราะถ้าดูจากแผนที่ จะเห็นว่าแม่น้ำตะกั่วป่า โอบล้อมเมืองตะกั่วป่าไว้เป็นรูปครึ่งวงกลม  และทางขวาสุด มีที่ราบในแนวกั้นขวางของภูเขาสูงไว้ ๒ ด้าน มีลักษณะเหมือน “ปีกนก”

และเพราะคนตะกั่วป่า-พังงาและภูเก็ตชอบออกเสียงที่มีตัวสะกด ก ไก่ เป็นเสียงสั้น ๆ เช่นคำว่า “เมฆ หมอก” จะออกเสียงเป็น “เมฆเหมาะ” และจอกเป็น เจาะ อย่างนี้เป็นต้น

ส่วนข้อที่ต้องวาดให้เสร็จให้เร็วที่สุดนพพรอธิบายว่า  “มันมาทุกวัน อ้างว่ามาดูรูปที่วาด  ความจริงมันมาเพื่อจีบยายเพ็ญ  เรารำคาญอยากจะให้มันไปให้พ้น ๆ บ้านเราเสียที”

            “นายเรียกราคาเท่าไหร่?”   

            “สี่พันบาท”

“สี่พันบาท!”  พงศ์ศิลป์อุทานเสียงดัง  “วาดโตขนาดไหน  ทำไมเรียกเขาแพง[2]นักล่ะ”

            “ขนาดยี่สิบคูณสามสิบนิ้ว  เราแกล้งเรียกเพื่อให้มันเลิกจ้างแต่มันก็ยังจ้าง” 

            “เขารู้จักคุณเพ็ญตอนไหน?”  พงศ์ศิลป์ถามและรู้สึกวูบวาบในอก  เมื่อนึกถึงหญิงสาวหนึ่งในสองคนที่ถูกแนะนำให้รู้จักในโต๊ะอาหารเมื่อสักครึ่งชั่วโมงที่ผ่านมา

ตอนนพพรแนะนำน้องสาวให้รู้จัก  พงศ์ศิลป์ตกตะลึงจนเกือบลืมรับไหว้  เพ็ญพิลาสร่างโปร่งเหมือนพี่ชาย  ผิวขาว  ใบหน้าคมคาย นัยน์ตาหวานซึ้ง  ปากคอ คิ้วคาง  ดูงามรับกันไปหมด  อายุอ่อนกว่าพงศ์ศิลป์ ๔ ปีแต่ท่าทางเป็นผู้ใหญ่  รู้จักวางตนในการพูดจา  ซึ่งผิดกับน้องเมียของนพพรที่ชื่อ วลี ซึ่งมีผิวดำแดง ร่างท้วม  พอถูกพี่เขยแนะนำให้รู้จักพงศ์ศิลป์  วลีก็ทำท่าราวกับว่ารู้จักกับพงศ์ศิลป์มาเป็นปี  แถมยังพูดว่า

“พี่พงศ์วาดรูปให้ลีสักรูปนะ  แล้วก็ช่วยหัดให้ลีขับรถเครื่องด้วย  ลีอยากขับรถเครื่องเป็น” 

ที่วลีพูดเช่นนี้เพราะรถมอเตอร์ไซค์คันใหญ่ ๒ ท่อไอเสีย แท่นเครื่องใหญ่โต ล้อหลังโตเบอเร่อเบอร่าที่นพพรใช้อยู่  เป็นรถของพงศ์ศิลป์  ที่ซื้อจากนักการพนันคนหนึ่ง  นำมาเสนอขายให้ในราคาที่ถูกสุด  แค่ ๙,๐๐๐ บาท(เก้าพันบาท) ทั้ง ๆ ที่ยังเป็นรถใหม่  พงศ์ศิลป์ซื้อรถคันนี้แล้วฝากนพพรไว้  เพราะไม่สามารถจะเอาขับลงไปใช้ในเกาะได้ แต่กับกรณีของวลีทำให้พงศ์ศิลป์นึกหวั่น ๆ ว่า  เห็นทีจะอยู่บ้านหลังนี้ลำบาก  และไม่สะดวกใจเหมือนอย่างที่เคยมาพักเมื่อก่อนเสียแล้ว  ขณะที่นพพรเล่าเรื่องของน้องสาวต่อ 

            “วันหนึ่งยายเพ็ญออกไปจ่ายตลาด  ไอ้นายหัวนั่นนั่งกินกาแฟอยู่ที่ร้านแป๊ะเพ้ง  ข้างโรงหนังที่เราวารูป พอเห็นยายเพ็ญมันทำราวกับว่ายายเพ็ญเป็นสาวบาร์รำวง  มันเดินตามมาถามโน่นถามนี่  ถามบ้านอยู่ไหน มาอยู่กับใคร มีแฟนหรือยัง  มันทำน่าเกลียดมากแบบไม่ให้เกียรติเราเลย  เราเกลียดมันแต่ยายรัตนากลับชอบและเชิญชวนให้มันเข้ามาบ้านเรา  มันเลยมาได้แทบทุกวัน” 

“แล้วยังไงอีก?”  พงศ์ศิลป์ถามอย่างสนใจ

“เรารู้เราเห็นมาก่อนนานแล้วว่า  พวกเสี่ย ๆ เมืองนี้เป็นยังไง  คือ เห็นผู้หญิงมาจากต่างถิ่นไม่ได้  มองเป็นสาวรำวงหรือไม่ก็เป็นกะหรี่หมด  มันคิดว่ามีเงินแล้วก็สามารถจะซื้อผู้หญิงไปนอนได้ทุกคน”

และพงศ์ศิลป์ได้แต่นั่งรำพึงคำนึงคิด…

 





[1] หมายถึง มศว.ประสานมิตร  เพราะเป็นที่เดียวที่รับวาดเขียนเอก และ วาดเขียนเอกเข้าเรียนต่อ วิชาเอกศิลปศึกษา

[2]  ค่าของเงินใน พ.ศ. ๒๕๐๖  

 

รายละเอียด

ชื่อหนังสือ สะพานเบี่ยงรัก
ชื่อผู้แต่ง ผกายฟ้า ประกาศิต
หมวดหนังสือ นวนิยาย
คำโปรย
พงศ์ศิลป์พูดไม่ทันจบ โฉมฉายสอดขึ้นว่า
“เรื่องนั้นเป็นโมฆะ เมื่อคุณเพ็ญเธอกลับมา
ที่โฉมทำไปทั้งหมดเพื่อให้พี่พงศ์มีกำลังใจ
มีมานะในการทำงานและการเรียนต่อ พี่สอบได้แล้วพี่ต้องไปเรียน
ส่วนคุณเพ็ญพี่ก็เอาเธอมาอยู่ที่บ้านพักนี่ โฉมจะช่วยดูแลให้
โฉมดีใจที่มีหลาน โฉมเลี้ยงเด็กเก่งนะจะบอกให้…”
โฉมฉายกลับว่าไปอีกทาง
“หมายความว่า ที่ทำไปทั้งหมดโฉมหลอกพี่”
คนถามพูดเสียงแหบสีหน้าสลด
“โฉมไม่ได้หลอกพี่ โฉมรักพี่พงศ์
แต่โฉมขอสละให้กับเจ้าของเดิมเมื่อเธอกลับมา
พี่มีความสุขโฉมก็มีความสุข โฉมเข้ามาช่วยพี่เพื่ออย่าให้พี่…
เอ่อ…โฉมเป็นแค่สะพานเบี่ยง…”
“สะพานเบี่ยง…?” พงศ์ศิลป์ทวนคำ

รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (78 รายการ)

www.batorastore.com © 2024