ตะเกียงกลางพายุ (จุฬามณี) (EBOOK)

ตะเกียงกลางพายุ (จุฬามณี) (EBOOK)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: ตะเกียงกลางพายุ
ของหมด (ต้องการสินค้า)
ราคา: 240.00 บาท 60.00 บาท
ประหยัด: 180.00 บาท ( 75.00% )

เนื้อหาบางส่วน

1.

 

จันทร์ฉาย ไอ้แสงมันสึกกลับมาดูแลแม่มันที่บ้านแล้วลูก เห็นไหม แม่บอกแล้ว ชาติคนอย่างมันจะทนบวชไปได้สักกี่น้ำ นี่มันเห็นว่าแม่มันจะตายจริงๆ มันถึงได้สึกออกมา มันคงกลัวไม่ได้สมบัติละมั้งถึงชิงรีบมาจัดการให้เรียบร้อย ก่อนที่แม่มันจะตาย ฮึ! มาก็มาแต่ตัวมาเกาะเขากิน พอจะตายยังคิดถ่ายสมบัติไปหาลูกตัว คนอะไรไม่มียางอายเสียบ้าง”

“หมาย ทำไมพูดอย่างนั้น มันอาจไม่ใช่อย่างที่แกพูดก็ได้” คนเป็นแม่ซึ่งนั่งชันเข่าตะบันหมากอยู่บนร้าน ในใต้ถุนเรือน อดขัดคอกับถ้อยคำดูถูกเหยียดหยามนั่นไม่ได้

“เอาน่ะ อย่างไรก็บอกน้องอ้อมด้วยว่ายายคิดถึง เออๆ สวัสดี”

ลูกสาววางโทรศัพท์ด้วยอาการกระแทกกระทั้น สายตาที่มองหญิงชราวัยแปดสิบแฝงไว้ด้วยความเจ็บใจ คนเป็นแม่เข้าใจกับสายตาท่าทางอย่างนั้น นางรู้ที่มาที่ไปทุกอย่าง แต่จะให้มีความคิดเห็นคล้อยตามไปด้วยคงไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาล้วนมีเหตุ...

“เรื่องมันแล้วไปแล้วแกจะฟื้นฝอยหาตะเข็บทำไม”

“ไม่มีทาง‘แล้ว’หรอกแม่...มันทำกับหนู กับจันทร์ฉายไว้แสบมาก คนอย่างมันสมควรต้องชดใช้บ้าง”

“ชดใช้อะไร”      

“มันควรไปแต่ตัว...เพราะแม่ของมันก็มาแต่ตัว”

“เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรนะหมาย อายุจนปูนนี้แล้ว...อะไรที่มันละ ได้วางได้ รีบทำซะ คนเราตายก็เอาอะไรไปไม่ได้...หัดเข้าวัดเข้าวา ฟังธรรมชำระล้างใจเสียบ้าง”

“เบื่อ คำก็ล้างใจ คำก็กิเลส” พูดจบคนเป็นลูกสาวก็ลุกขึ้นสะบัด

ก้นหนีไปทันที

คนที่นั่งตำหมาก มองอาการนั้น ก่อนจะถอนหายใจออกมา        มือเหี่ยวย่นหยิบคำหมากเข้าปากสั่นเทาด้วยวัยชรา ภาพในอดีตแจ่มชัดเพราะมันยากลืมเลือน ลูกสะใภ้คนที่นอนเจ็บด้วยโรคร้ายทอดเงาเข้ามาในครอบครัวพร้อมด้วยปัญหามากมาย ลูกชายคนเล็กของนางกลายเป็นผู้ชายโง่เง่าในสายตาของญาติพี่น้อง หญิงงามไร้หัวนอนปลายเท้ามีลูกติดท้องหรือจะสู้สาวสะคราญที่ผู้ใหญ่หมายตาไว้ให้ 

เสียหน้า...พร้อมกับข่าวลือฉาวโฉ่

วันเวลาช่างผ่านไปรวดเร็ว แต่ถ้านึกย้อนกลับไปจริงๆ จังๆ มันเป็นสามสิบปีแห่งความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานของหลายชีวิตที่อยู่    รายรอบทีเดียว

เสียงฝีเท้าเบาๆ มาทางด้านหลัง คนมีค่าเพียงของเก่ารอวันโละทิ้ง แม้ได้ยินถนัด หากแต่ก็ทำเป็นง่วนรื้อค้นของในเชี่ยนหมาก ด้วยมักเอาหูทวนลมเสียบ้าง ลูกสาวปากเร็ว แต่ก็ยังพึ่งพาอาศัยได้ มันจึงว่า ‘แม่นี่หลงแล้วนะ พูดจาไม่ค่อยจะรู้เรื่อง’

 “ย่า ย่าครับ” เสียงทุ้มนุ่มดังใกล้ๆ

คนถูกเรียกหันกลับไปมองช้าๆ หยาดน้ำตาแห่งความปลื้มปีติคลอหน่วยตา เมื่อเห็นกิริยาอันนอบน้อมที่นางไม่เคยได้รับจากหลานคนไหนๆ ชายหนุ่มเข้ามาประชิดตัว แล้วนั่งพับเพียบลงพร้อมกับพนมมือก้มกราบลงแทบตักอย่างงดงาม

“แสงกลับมาแล้วย่า” ใบหน้าแม้เปื้อนยิ้มบางๆ แต่ดวงตามันยังแฝงไว้ด้วยความหมองหม่นก็แม่ทั้งคนใครที่ใจดำไม่พอคงตัดใจให้ขาดในทีเดียวไม่ได้

“จำเริญเถอะพ่อคุณ ไม่เป็นไรนะ” คำถามนั้นเป็นนัยที่ต่างรู้ความจากข้างใน

“ครับไม่เป็นไร”  คนเป็นย่ารู้สึกลึกๆ ในน้ำเสียงที่สั่นเครือ

คนที่เคยศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม พยายามละวางกิเลสตัวเป้งเหมือนกัน ย่อมรู้ว่าที่ชายหนุ่มเดินจากมานั้น เขาย่อมอาลัยอาวรณ์เพียงไหน

เดือนก่อน เขาหอบผ้าเหลืองกลับมาให้นางได้ชื่นชมอนุโมทนา

บุญเรื่องราวในวัดป่าถูกถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงอิ่มเอม กิริยาอันงดงามผิวพรรณมีสง่าราศีเคลือบจับไปด้วยบุญญาบารมีที่ได้บำเพ็ญเพียร

นางรู้... พระธรรม คำสั่งสอนประเสริฐแท้ พระธรรม ขัดเกลา     ฝึกคนให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ คนหยาบย่อมปรามาส...ดั่งเมื่อครู่

“อยากร้องไห้ใช่ไหม”

“ครับย่า...ใจมันหาย” เขากลืนก้อนสะอื้นลงคอก่อนจะพูดว่า “แม่อาการไม่ดีขึ้นเลย”

“ทำใจเถอะไอ้ทิด”

“แต่มันเร็วเกินไป หมอบอกว่าคงอยู่ได้ไม่กี่วัน”

คนที่เป็นย่าถอนหายใจออกมาแล้วหยิบผ้าเช็ดหน้า ที่ได้รับแจกจากงานเผาศพของคนในหมู่บ้านเช็ดน้ำหมากที่มุมปาก เสียงถอนหายใจเฮือกหนึ่งของคนที่อยู่บนตักนั้นบอกให้รู้ว่ากำลังทำใจและปลงกับความ     ไม่เที่ยงแห่งการมีชีวิตอยู่ นางผ่านโลกมาจนแปดสิบกว่าปี ประสบการณ์การพลัดพรากจากคนที่รักที่พอใจ มีมาไม่ใช่น้อย ทุกชีวิตจะอยากได้ประสบการณ์แบบนี้หรือไม่ ไม่มีใครหลีกพ้น

“ย่าเหนื่อยไหม” หลานชายเงยหน้าจากตักอุ่นจับมือเหี่ยวย่นขึ้นมาเกาะกุม กิริยาเช่นนี้มีเพียงหลานชายคนนี้ หลานชายที่ลูกสาวว่าเป็นลูกกาฝาก ปฏิบัติต่อนางเสมอมา เนื้อแท้ของคนๆ นี้ เขาไม่ได้เป็นอย่างที่ได้กระทำ ความจงเกลียดจงชังที่กดทับเขาต่างหาก

“ลำพังย่าคนเดียวเห็นจะไม่ไหว ก็ผลัดกับป้าหมายเขา ไอ้ทิดแสง...จะชั่วจะดี อย่างไรมันก็พี่น้องกัน ตัดอย่างไรก็ตัดไม่ขาด เรื่องที่เราทำไว้มันก็เหลือเกิน ยากที่ป้าจะให้อภัยแก่เรา”

เมื่อย่ากล่าวถึงความหลัง คนเป็นหลานก้มหน้างุด ใคร่ครวญ...

“เราเป็นเด็ก เราต้องง้อผู้ใหญ่ ขอขมาซะทำได้ไหมลูก”

หลานชายมองหน้าคนเป็นย่า คนเป็นย่าจ้องตากลับ สายตาของคนชรา คนที่ผ่านโลกมามากมันมีอีกหลายถ้อยคำที่แสงฉานเข้าใจ...

“นั่นเป็นสิ่งที่ผมตั้งใจทำในวันนี้”

“งั้นก็ไปสิ ขึ้นไปบนเรือนไปทำในสิ่งที่คนอื่นทำได้ยากซะ”

 

บ้านหลังนั้นเป็นเรือนไม้สองชั้นใต้ถุนโล่งครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งต่อเติมให้เป็นห้องครัวและที่รับรอง ภาพที่ชินตาแสงฉาน นั่นก็คือที่ร้านนั่งใต้ถุนจะมีหญิงชรานั่งจักตอก สานตะกร้า กระบุง ตะแกรง กระด้งไม่ได้ขาดมือ ข้างตัวนั้นจะมีวิทยุเครื่อง เล็กๆ ฟังข่าวคราวบ้านเมือง ลิเก นิยายไล่ไปถึงเสียงเทศนา และที่สำคัญคนแก่คนนั้นมีความรักและความเมตตาผิดกับคนที่เขากำลังจะขึ้นไปหา

เสียงฝีเท้าเบาๆ ดังกลบความเงียบ คนที่เขาต้องการพบยืนเกาะขอบหน้าต่าง สายตามองออกไปไกลแสนไกล ถ้าเป็นเมื่อครั้งเขายังเด็ก  เขาจะได้ยินคำถาม ด้วยน้ำเสียงตวาดๆ ว่า ‘ขึ้นมาทำไม ไอ้ลูกหลงพ่อ’

‘เฮ้อ แม่ก็เด็กมันจะไปรู้เรื่องอะไร’ ลุงเขยแม้จะไม่เห็นด้วยแต่ก็ห้ามปรามเมียไม่ได้

‘กาฝาก’

บ่อยครั้งเข้า กลายเป็นความเจ็บ ...แค้น...สุดท้ายเขาทำลาย...ความสุข จนทุกข์ตรม

เจ็บกันทุกฝ่าย...เขานั้นไม่เท่าไหร่ แม่สิ ยิ่งเป็นที่ชิงชัง ของป้าอีกทับทวีคูณ

“ป้าหมาย” แสงฉานร้องเรียกอยู่หลายรอบ  คนเป็นป้ายังถือทิฐิ ยืนเกาะขอบหน้าต่างนิ่ง...ทิดสึกใหม่ผมสั้นกุดเดินเข้าไปใกล้ๆ ทรุดตัวนั่งคุกเข่าลงกับพื้นแล้วพนมมือขึ้นระหว่างอก

เมื่อเห็นคนวัยสามสิบทำกิริยาที่ไม่เคยมีใครทำ  คนเป็นป้าจำต้องหันมามองด้วยสีหน้าแปลกใจ

“ป้า ผมขึ้นมากราบขอโทษ” น้ำเสียงของชายหนุ่มชัดถ้อยชัดคำ

“เรื่องอะไร” น้ำเสียงยังแข็งกระด้างเหมือนเดิม แต่คนตอบใช้น้ำเสียงนิ่มๆ อย่างคนที่รู้สำนึก

“ทุกเรื่อง ที่ผมเคยล่วงเกินป้าและทุกๆ คน”

“แกคิดว่า แกทำอย่างนี้แล้วเรื่องเหม็นโฉ่ที่แกทำกับป้า กับ  จันทร์ฉาย มันจะหายไปอย่างนั้นหรือ” น้ำเสียงของป้าบอกว่าเจ็บแค้นอย่างหนัก

“สึกมาทำไม ไหนบอกว่าชอบชีวิตแบบนั้น ยังอยากได้สมบัติอีกใช่ไหม ก็ใช่ซิ แม่ของแก พอรู้ว่าเจ็บก็คงจะอ้อนผัวทำเรื่องยกให้ลูกชายคนเดียวหมดแล้ว พลสันฑ์ก็ไม่อยู่แล้ว เหลือแกคนเดียว กลับมาคราวนี้ ขายๆ สมบัติพ่อแม่บรรพบุรุษฉันไปกินไปใช้ให้มันหมดไปซะ จะได้สาแก่ใจแก”

“ป้า” เมื่อถูกรื้อฟื้นความหลัง คนที่ผิดเลือดเดือดพล่านอยู่ในอก

รู้เท่าทันโทสะไว้ด้วยสติ...แกขึ้นมาที่นี่เพื่ออะไรแสงฉาน ขอขมาป้าซะให้มันจบๆ ไป...อย่าได้จองเวรจองกรรมต่อกันอีกเลย เพื่อความบริสุทธิ์แห่งเพศพรหมจรรย์ในวันข้างหน้า เพื่อความสุข...สันติ ของทุกคน

“ป้าครับ ที่แล้วมานั้น ผมขอยอมรับว่าผมผิด วันนี้ผมสำนึกแล้ว ที่ผ่านมา ผมเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ เป็นคนเนรคุณ”

เมื่อได้ยินดังนั้นคนเป็นป้าทำท่าจะเดินหนี ดีแต่ที่แสงฉานดึงชายผ้าถุงไว้

“ป้าจะให้อภัยผมหรือไม่นั่น แล้วแต่ป้า แต่ขอให้ผมได้ทำหน้าที่ของผมให้สมบูรณ์เถอะ อย่างน้อย การกระทำของผมในครั้งนี้ ถึงป้าจะไม่ให้อภัย แต่ถ้าแม่รู้ แม่คงสบายใจนอนตายตาหลับ”

พอละมือ คนเป็นป้ายังยืนนิ่ง

หลานชายจึงถือโอกาสพนมมือประดุจดอกบัวตูมแล้วก้มกราบที่แทบเท้าขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินในอดีต น้ำตาของคนทิฐิแรงไหลออก มาอย่างไม่อาย...

“ป้า...” คนเป็นป้าพูดไม่ออก ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเลยที่ลูกหรือใครสักคนมาก้มกราบที่แทบเท้า มีลูกชายสองคนก็ไม่ได้บวชให้...คนดิบย่อมไม่รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร

ด้วยกิริยาอันนอบน้อมไม่ได้เสแสร้ง คนเป็นป้าย่อมใจอ่อน ทรุดเข่าลงนั่งข้างๆ คว้ามือหยาบกร้านขึ้นมาเกาะกุม...

“ป้าก็ขอโทษที่เคยว่ากล่าวด่าทอเรา ป้าเองก็ผิดที่...” ก้อนสะอื้นวิ่งขึ้นมาจุกที่คอหอย...

ใช่...คิดไปแล้วตลอดเวลาเธอเองนั่นแหละ ที่พลั้งเผลอกับเด็กก่อน เด็กย่อมไม่รู้ว่าอะไรคือเล่นอะไรคือจริง...

ไอ้ลูกหลงพ่อ คำนี้คำเดียว ที่มันกลับมาทิ่มแทงให้ตัวเองต้องเจ็บปวดตลอดสิบปี …ทำไม...นางไม่เคยคิดถึงมุมนี้บ้าง นางปล่อยให้อะไรมันครอบงำไว้

“อย่าไปพูดถึงมันเลยป้า จบก็คือจบ เมื่อก่อนผมก็เด็ก ย่อมตัดสินใจด้วยอารมณ์... ผมต้องขอบคุณป้าเป็นอย่างมากที่ได้ช่วยเหลือดูแลแม่แทนพ่อ แทนผม ถ้าไม่ได้ป้าแม่คง”

แล้วเรื่องที่ป้าหลานสนทนากันเห็นจะเป็นเรื่องของคนเจ็บซึ่งรอวันสิ้นลม

บ้านไม้สองหลังใต้ถุนสูงหันหน้าเข้าถนนในลักษณะบ้านพี่อยู่เหนือบ้านน้องอยู่ใต้ ภาพที่แสงฉานจดจำได้ตั้งแต่เล็กจนโตนั่นก็คือที่นี่มีเด็กๆ   ห้าคนวิ่งวุ่นไล่กันไปมา ป้าหมายมีลูกสามคนเป็นชายสองและคนสุดท้องเป็นหญิง  ‘จันทร์ฉาย’ ผู้หญิงที่เขาทำลายได้อย่างเลือดเย็นที่สุด

ก็ว่าจะไม่หวนนึกถึง...แต่มันก็ยากจะลบเลือนมันออกไปจากความทรงจำ สิบปีแล้วที่เขาไม่ได้กลับมาที่นี่ สิบปีแล้วที่ทิ้งให้แม่ตรอมตรมเฝ้าคิดถึงคนที่ห่างไกล  เขารู้ว่าจากกันเป็นๆ มันแสนจะเจ็บปวดและทรมาน การอยู่อย่างรอคอย และมีความหวัง ชีวิตคงไม่สดใสนัก

รักแม่...แต่กลัวความผิด...ย่อมไม่อยากเผชิญหน้า

ที่สำคัญตอนนั้นเขาคิดเสมอว่า แม่มีคนสำคัญที่แม่รักอยู่แล้ว...

พ่อลำเอียงรักแต่น้องชายลูกที่ถือกำเนิดกับแม่ของเขา แม่รักเขามาก แต่แม่ก็ปกป้องเขาจากปากคนอื่นไม่ได้ แม่บอกไม่ได้ว่าใครคือพ่อของเขา ทำไมแม่ถึงต้องมาอยู่ที่นี่ ทำไมแม่ต้องอดทน ทำไมแม่ถึงไม่ปริปากบอกเรื่องใดๆ กับเขาทั้งสิ้น เหมือนแม่ต้องการฝังทุกอย่างไว้กับตัวเอง

อดีตที่ผ่านไปแล้วเก็บมาคิดมันจะไปได้อะไร...แก้ไขได้หรือ? แสงฉาน

ปัจจุบันสำคัญกว่า อะไรที่มันจะเกิด ก็ให้มันเกิด       

เพราะกรรม ต้องชดใช้ อย่างไรก็หลีกไม่พ้น

แสงฉานลาย่าและป้า เดินกลับขึ้นเรือนของตัวเองด้วยใจที่ผ่องใส

‘อย่าอายที่จะทำความดี ลูกผู้ชายเมื่อผิดก็ต้องยอมรับว่าผิด อย่าโกหกตัวเอง ดูจิต ดูใจตัวเอง ดูซิว่ามันมีมานะ มิจฉาทิฐิแบบไหน มีสติ ใช้ปัญญาพิจารณา รู้เท่าทันอกุศลจิตที่เกิดขึ้น ทำใจให้ใสสะอาดให้ได้’

“ไอ้ทิด” คนที่แสงฉานเรียกเขาว่าพ่อ นั่งหน้าตาหม่นหมองรออยู่ที่ระเบียงเรือน เขากลับมาถึงบ้านเมื่อเช้า พบผู้ชายคนนี้กำลังสาละวนกับการดูแลคนป่วย...เคยมีสักครั้ง เคยเห็นสักครั้งไหมที่ผู้ชายคนนี้ทำร้ายแม่ของเขา ไม่มีเลย...ประเสริฐแท้ แม่ของเขาโชคดีต่างหาก

แสงฉานก้มลงกราบที่แทบเท้า

นึกถึงเมื่อครั้งถูกกำปั้นทุบให้กลางหลัง...ก็เพราะดื้อด้านไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่ง

‘ถึงบ้านแล้ว ก็กราบพ่อกราบแม่ซะนะแสงฉาน กลับไปเป็นลูกท่านเหมือนเดิม ที่แล้วก็แล้วกันไป’ พระอาจารย์ แม้อายุจะไล่เลี่ยกัน หากแต่ภูมิธรรมนั้นสูงกว่า การพูดคุยกันถึงเรื่องความหลัง จึงได้คติมากมายในการใช้ชีวิต หากในใจมีสิ่งใดยึดมั่นโดยแยบคาย ชีวิตที่ผ่านไปแล้ว คงไม่เป็นอย่างนี้

“แม่เรียกหา”

“ครับพ่อ เมื่อกี้ผมไปกราบย่า แล้วก็กราบขอขมากับป้าแล้ว”

คนเป็นพ่อมองหน้า อย่างไม่เชื่อหูตัวเอง

“ทำไม พ่อไม่เชื่อ” ลูกชายที่เคยเป็นคนอื่น คนไกล ใช้น้ำเสียงที่ไม่ได้แสดงความเย่อหยิ่งถือดีเหมือนเมื่อก่อน

“พ่อครับ...เราอยู่ด้วยกันอีกนานพ่อคงจะเห็นอะไรที่แปลกๆ ในตัวผมอีกเยอะแยะ ตอนผมบวชผมไม่ได้มีศรัทธา ผมบวชเพื่อหนีปัญหาบางอย่าง  อีกอย่างก็แค่รู้สึกว่ามันถึงเวลา...ที่จะได้ทดแทนบุญคุณพ่อกับแม่ ผมจึงได้บวช แต่ผมสึกออกมาคราวนี้ สามปีในรั้วพระธรรมมันสอนอะไรผมเยอะเชียว...บางครั้งผมก็ยังงงกับตัวเองเหมือนกันว่าอยู่มาได้อย่างไร ทำไมไม่คิดสึกออกไปเหมือนคนอื่นๆ และที่สำคัญ ความคิด ความรู้สึกของผมต่อโลกใบนี้ ไม่เหมือนเดิม”

คนเป็นพ่อแสดงท่าทีว่าสนใจจะฟัง ลูกชายจึงได้เล่าเรื่องที่ได้ประสบจากวัดป่าในจังหวัดหนองคายเพื่อตอกย้ำถึงใจที่ตั้งไว้แน่วแน่

 

เขาจะเป็นคนดี

เขาจะรักษาศีลห้าข้อ

จะเป็นกัลยาณมิตรให้กับทุกๆ คน

ที่สำคัญเขาจะกลับไปบวชหลังจากที่แม่บังเกิดเกล้าสิ้นลม...

 

สองพ่อลูกช่วยกันรื้อเก็บที่นอนหมอนมุ้งอันเหม็นอับไปด้วย 

กลิ่นเยี่ยวกลิ่นยา...

มีลูกก็หวังพึ่งพายามแก่ตัวและเจ็บไข้...มีแต่ลูกผู้ชาย หวังอาศัยยาก ซักผ้าขี้ผ้าเยี่ยว...เขาต้องทำให้ได้...ก็เขามีแม่แค่คนเดียว แม่ก็มีเขาคนเดียว ถ้าเขาไม่ทำแล้วใครจะมาทำให้

‘ก็เลือกเอา อยู่ได้ก็ถืออุเบกขา วางเฉยเสีย สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม หากแม่ของท่านเคยปรนนิบัติพัดวีญาติผู้ใหญ่ไว้ ยามเจ็บไข้ มันต้องมีคนเหลียวแล...หากท่านสึกไป หรือจะไม่สึกก็ได้ถ้าท่านทำได้ ท่านก็จักได้บุญมหาศาล บุคคลหาได้ยากกตัญญู เรื่องเล่าในชาดก อ่านแล้วดูเหมือนมันจะทำได้ง่ายๆ แต่เอาเข้าจริงๆ มันทำได้ยาก...เคยได้ยินโยมผู้หญิงคนหนึ่ง เขาบอกว่า ขี้เปื้อนมือมันล้างออกแต่อย่าให้ขี้มันเปื้อนใจ’

ในที่สุดแสงฉานก็เลือกลาสิกขา

ถ้าเขาไม่โกหกตัวเอง...ลึกๆ แล้ว มันก็สมควรแก่เวลา 3 ปีพบพระอาจารย์ดี ฝึกตัวอย่างจริงๆ จังๆ มันทำให้เขาเป็นคนเต็มคน แต่อีกใจ เมื่อไหร่ที่เขาจะได้กลับมาลิ้มรสกับความเงียบสงัด ความว่างและความเบาสบาย...เป็นพระอริยะนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกามที่เคยเสพคุ้นใช่ว่าจะลืมได้ง่ายๆ เช่นกัน

วินัยของสงฆ์ 227 ข้อมีไว้เพื่อกำจัดกิเลสอย่างหยาบๆ

หากต้องการเป็นพระแท้ ต้องทำ...ฝึกใจ ชนะต่อสิ่งที่ไม่ดีได้บ่อยๆ

ออกมาคราวนี้คงได้พิสูจน์กันละว่า ธรรมะนั้นดีเลิศประเสริฐแท้ แม้อยู่ท่ามกลางสารพันปัญหา

“แม่...กินข้าวหน่อยนะ” ลูกชายวัยสามสิบ ผิวพรรณขาวสะอาดเพราะชาติตระกูลดี ค่อยๆ บรรจงอุ้มแม่ให้อยู่ในท่าครึ่งนั่งครึ่งนอน หมอนใบใหม่สะอาด ถูกนำมาหนุนหลัง เสื้อผ้าที่เคยอับชื้น ถูกถอดออกเปลี่ยนใหม่  เขาซักล้าง ทำความสะอาดบ้านเรือนตลอดจนถึงสิ่งของเครื่องใช้

แม่เป็นคนสะอาด ย่อมหดหู่เมื่อเห็นบ้านไม่เป็นบ้าน

‘สะอาดกายมันบ่งบอกให้รู้ว่าใจนั้นสะอาด กวาดใบ้ไม้ก็คล้ายกับกวาดกิเลส อย่าให้มันหมักหมม’

จะหยิบจะจับสิ่งใด เห็นผลานิสงส์ ย่อมทำได้ด้วยใจเบิกบาน

‘พี่แสงเขาดีอย่าง ก็ตรงเรื่องความสะอาด’ 

เขาก็เพิ่งได้รู้ว่าความสะอาดของแม่ติดตัวเขาออกไป ได้นำไปใช้ยามที่ต้องพึ่งพาตนเอง จะชั่วช้าเพียงใด เขาจะทนอยู่กับบ้านช่องอันโสโครกไม่ได้

“แม่ครับ...แสง ขอขมาป้าแล้วนะ ป้าเขาก็ให้อภัยแสง” สรรพนามแทนตัวนี้ แม่บอกกับลูกชายว่ามันน่ารัก เหมาะสมกับคนผมเส้นเล็กละเอียด เปลือกตาชั้นเดียวแต่ไม่เล็กหยี ผิวเหลืองผ่องดั่งทองทา

ลักษณะนั้นมันฟ้องว่าเขาไม่ใช่ลูกชายนายทองมั่น...คนผมหยิกตัวดำ

ตลอดเจ็ดวันที่กลับมาแสงฉานให้เวลาทั้งหมดกับคนเป็นแม่ป้อนข้าวป้อนน้ำ เช็ดเนื้อตัว เปลี่ยนถ่ายผ้าขี้ผ้าเยี่ยว แม้จะเหน็ดเหนื่อยกับการปรนนิบัติเอาใจคนเจ็บซึ่งใกล้เวลาลาไกล... สิ่งหนึ่งที่ทำได้...นั่นคือ      ชี้ทางสว่าง ลูกชายรีบฉกฉวย เพราะได้ศึกษาจึงหวังนำแม่ให้พ้นทางอบาย...สอนแม่ทำใจให้ผ่องใส สวดมนต์ไหว้พระ นึกถึงแต่บุญกุศลทำใจให้ใส ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัว...หากสะสมแต่กรรมดี แม่ของเขาไม่ใช่คนบาปหนา ศีลห้าแม่เคยรักษาได้ไม่พร่อง...บุญมากกุศลมาก โรคที่เป็นเห็นจะเป็นเพราะกรรมเก่า

มันตามมาตัดรอน  กัดกร่อนให้ทนทุกข์ทรมาน

คนเราเกิดมาแล้วก็ตาย แถมตายอยู่ตลอดเวลา

หากแต่จากโลกใบนี้ไป ได้ทิ้งอะไรไว้ให้แก่โลกบ้าง...

ไม่ทำโลกให้เดือดร้อน ก็ดีในระดับหนึ่ง...หากทำคุณประโยชน์ให้แก่โลกก็ดีระดับหนึ่ง หากเข้าใจในเบื้องลึกใช้เวทีโลกสร้างบารมี ใช้เวทีโลกนี้กำจัดกิเลสเพื่อให้พ้นบ่วงแห่งพญามาร จักได้บุญมหาศาล...

ในทางตรงข้าม หากเกิดมาเพื่อทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น นั่นคือเสียชาติเกิด

คืนต่อๆ มา แม่ต้องการให้เขาเข้าไปนอนในห้องเก่าของพลสันฑ์ ที่นั่นมันแฝงไปด้วยความอบอุ่นและความรัก แม่อยากจะทำห้องแบบนี้ให้เขาด้วยเหมือนกัน...

หากเขาได้หวนคืนมา ไม่ทอดทิ้งแม่ให้รออยู่นานแสนนาน

ห้องดีๆ เตียงนอนนุ่มๆ กับเครื่องอำนวยความสะดวกทั้งหลายเหล่านี้ รั้งคนไว้...ไม่ให้เดินบนเส้นทางที่ถูกที่ควร

ชีวิตของแม่และพ่อได้พบการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ รู้ว่าประสบทุกข์ แต่จะเห็นมันแล้วเบื่อหน่ายกับโลกหรือไม่นั้น มันอีกเรื่อง เขานั้นจากกันทั้งที่ยังมีชีวิต ส่วนน้องชายจากแค่กายแต่ใจและคุณงามความดีของเขาอยู่กับพ่อและแม่ตลอดเวลา

เขาอิจฉาน้องไหม ซึ่งได้และมีมากกว่าเขาตลอดมา เขามันก็แค่ลูกติดท้อง จะเรียกได้ว่าแทบไม่มีส่วนในทรัพย์สินมรดก เพราะป้าเคยพูดอยู่บ่อย ๆ ว่าแม่มาแต่ตัว...สมบัติพัสถานทุกชิ้นต้องตกเป็นของน้องเท่านั้น...ข้าวแดงแกงร้อนที่ลาดหัวนั่น บุญคุณแล้วที่ไม่เอาขี้เถ้ายัดปากตั้งแต่เกิด

อดีตมันยากจะลืมเลือน

น้องอายุน้อยกว่าเขาสิบปี รูปของพลสันฑ์ในชุดนักเรียนวางไว้บนหลังตู้ มันคงจะดี หากไม่มีคำว่า ชาตะและมรณะ...

จริงๆ คนที่ตายก่อนมันน่าจะเป็นเขา...

กรรมใดที่เคยทำกับน้องไว้ เขาขออโหสิกรรม บุญใดที่เขาพึงได้พึงมีอุทิศและยกให้...

มือหยาบๆ เปิดตู้ไล่เรียงไปยังเสื้อผ้าที่แขวนไว้เป็นตับ...แม่เก็บของทุกชิ้นของเขาไว้อย่างดี

ว่าจะไม่ให้น้ำตาหยด แต่มันยั้งไว้ไม่อยู่...

ดูน้ำใจแม่เถอะ ลูกจะชั่วจะดี...อย่างไรลูกก็ยังเป็นลูก  ถ้าแม่ตายไปเขาจะปฏิบัติต่อคนบนเรือนที่ยังเหลืออยู่อย่างไร...

“อย่าทิ้งพ่อ ทดแทนบุญคุณของเขาแทนแม่ ถ้าไม่ได้เขา เราคงไม่มีวันนี้” แม่ฝืนความเจ็บปวดกัดฟันสั่งเสียก่อนจะสิ้นลม...

เพราะคำพูดนั้นมันจึงรั้งเขาไว้ไม่ให้กลับไปบวชอย่างที่ตั้งใจ...

แล้วเขาจะทำอะไร อยู่เพื่อใคร? ลาสิกขามาเพื่อใคร

“เห็นแก่แม่ อย่าทิ้งพ่อไว้ตามลำพัง”

คำว่า “ครับ” เพียงคำเดียว ทำให้แม่จากลาไปด้วยอาการสงบ...

ชีวิตของคนบนโลกนั้น ไม่ได้สวยสดงดงามอย่างภาพฝัน สิ่งที่  แสงฉานได้รับรู้ในภายหลังนั้น มันคือภาระใหญ่อีกอย่างหนึ่งซึ่งเขาจะต้องสะสาง

หนี้สินที่เขาก่อไว้ จะด้วยตั้งใจหรือไม่ อย่างไรเขาจักต้องร่วมชดใช้ เหมือนกรรมที่ไม่อาจหลีกหนี!

รายละเอียด

จำนวนหน้า 280 หน้า
ราคาปก 240 บาท
ราคาขาย 160 บาท
คำโปรย
 
แสงเทียนที่หน้าพระพุทธรูปสว่างวับแวมเพราะต้องแรงลมที่เล็ดลอดผ่านมาทางช่องหน้าต่าง...ควันธูปหอมลอยคละคลุ้งผสมกับกลิ่นดอกมะลิซ้อนบนพานทองเหลืองใบเล็ก...เสียงสวดมนต์ทำวัตรเย็นดังเป็นทำนองเรียบเรื่อยสงบชวนให้วังเวง...

 
แสงฉานนั่งคุกเข่าอยู่ในท่าเทพบุตร พนมมือไว้ที่หน้าอก ไหล่ทั้งสองข้างยืดผึ่งผาย เปลือกตาปิดค่อนลูกตา...ในห้วงมโนนึกนั้นเป็นภาพของพระพุทธองค์แจ่มชัดประหนึ่งลืมตา เนื้อมนต์ลอยวนไปเวียนมารอบๆ ฐานพระ ความสุกสว่าง ...เสริมให้ใจที่อ่อนล้าต่อข้าศึกภายนอกให้มีพลัง
 
ศรัทธาบังเกิดท่วมท้น...ทางที่ตั้งใจจะไปดีแล้ว ประเสริฐที่สุด
 
ความสุขจากการทำใจหยุดใจนิ่งมีอยู่
 
สุขไหนก็ไม่เท่าความสุขภายใน ...ต่อให้ใครเอาสมบัติพัสถานวงศ์วานว่านเครือมาแลกก็ไม่สน...เมื่อมุ่งหน้าที่จะไป สักวันจะละ แล้ววางทุกอย่างไว้...
 
 
 
 
 
เมื่อเสร็จจากกิ่งไม้แห้ง เขาก็ลงนั่งขัดสมาธิที่ริมขอบสระ นั่งมองดอกบัวที่ชูช่อเต่งตูม...อีกไม่กี่เพลาบัวก็เบ่งบาน...เขาอยากเป็นเหมือนดอกบัวเหล่านี้ เมื่อได้รับฟังธรรมเพียงครั้งเดียวแล้วหลุดพ้นไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก...
 
“สั่งสมบารมีไปซิ อยากเกิดให้ทันยุคพระศรีอารย์ก็ไปนั่งฟัง พระเวสสันดรพันคาถา บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนอย่างละพันแล้วตั้งความปรารถนา” เขาเคยบอกวิธีนั้นกับวลีพร
 
“ตั้งแต่เช้ายันเย็นเมื่อยตายชัก...ไม่ไหวหรอก วลียังไม่แก่แข้งขามันไม่ยึด นั่งนานๆ ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเต้นตั้งแต่เย็นยันรุ่งนี่พอไหว”
 

คนบางประเภท มันยิ่งกว่าบัวใต้ดินมีหินทับเสียอีก
 
 

จากใจนักเขียน

           

แรงบันดาลใจเมื่อครั้งเขียน ‘ตะเกียงกลางพายุ’ นั้นเกิดขึ้นเมื่อครั้งบวชพระ ราว ๆ ปี พ.ศ. 2544 ระหว่างล้อมวงฉันภัตตาหารเพลอยู่กับหลวงพี่นับสิบรูป แล้วหลวงพี่ท่านหนึ่งก็เปรยว่า จะต้องลาสิกขา เพราะแม่ป่วย ไม่มีใครดูแล ผมก็ชะงักมือ เพราะรู้ว่าท่านรักในเพศบรรพชิตเป็นอย่างมาก เราเองอยู่ด้วยกันมา ก็รู้สึกใจหายไปกับท่าน...อาการใจหายนั้นเรียกว่า อารมณ์สะเทือนใจ จุดเล็กๆ ตรงนั้น ผสมกับเรื่องเล่าของหลวงพี่อีกรูปหนึ่ง ซึ่งก่อนจะเข้ามาบวชนั้น ท่านเล่าว่า ท่านเกเรเป็นอย่างมาก แต่พอมาบวชแล้ว ท่านกลับรู้สึกว่าชีวิตในเพศบรรพชิตนั้นสงบอย่างประหลาด และท่านก็ไม่คิดจะ   ลาสิกขา (ปัจจุบันท่านก็ยังบวชอยู่) โดยที่ไม่ได้คิดสนใจ ‘ภรรยา’ ที่อยู่กินกันอย่างลับ ๆ สักนิด...พอได้ฟังแล้ว ก็รู้สึกสะเทือนใจอีกเช่นกัน เพราะดันนึกถึงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ต้องเสียคนรักไป ว่าเธอผู้นั้นจะวางใจอย่างไร...กับสถานการณ์ชีวิตคู่ที่พลิกผันในครั้งนี้

 อารมณ์สะเทือนใจอีกเรื่องก็คือ การสูญเสียลูกชายตัวเล็ก ของพี่สาวเพราะอุบัติเหตุ ทำให้เข้าใจว่า ‘ทุกข์’ จากการพลัดพรากจากบุคคลที่รักสุดดวงใจนั้นเป็นอย่างไร ทางที่จะปลอบประโลมกันได้นั้นนอกจากใช้วาจา ซึ่งดูท่าจะไม่มีผลอะไร เพราะคนที่ตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ ก็ย่อมรู้สึกแต่ทุกข์ เช่นเดียวกับ คนที่อยู่ในที่มืด ย่อมมองไม่เห็นแสงสว่าง ทั้งที่รู้ว่าทุกข์ตรงกันข้ามกับสุข มีมืดย่อมมีสว่าง แต่อารมณ์จ่อมจมนั้น ถ้าใครไม่ได้สัมผัสด้วยตัวเองก็ยากจะซึ้งไปถึงหัวอก...เรื่องนี้จึงเป็นอีกอารมณ์สะเทือนใจ จนต้องปั้นตุ๊กตาขึ้นมาพร้อมเรื่องราว  บอกเล่าผ่าน ชี้ให้เห็นหนทางแห่งความสว่างและความสุข

            แรกทีเดียวนั้น นิยายเรื่องนี้ เขียนโดยใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง คือใช้ ‘ผม’ เล่าเรื่อง เขียนไปได้ 10 ตอน หลวงพี่ธนาชัยที่อยู่ด้วยกันในขณะนั้น ท่านหยิบต้นฉบับไปอ่าน เพราะผมบิ้วท์กับท่านว่า เป็นนิยายสอดแทรกหลักธรรมคำสั่งสอนฯ ท่านบอกว่า รู้สึกหนัก อ่านยาก พอท่านท้วง ผมจึงได้ปรับ เป็นสำนวนอย่างที่เห็น แม้จะอ่านได้ง่ายขึ้น แต่หลาย ๆ ท่านที่อ่านจบก็บอกว่า เป็นเรื่องที่หนักอยู่ดี...แต่เนื้อหาสาระที่สอดแทรกมานั้นเป็นเรื่องที่ ‘ดี’ เป็นอย่างมาก

            สำหรับนิยายเรื่องนี้ พิมพ์ครั้งแรก เมือปี 2553 กับ สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ครั้งนั้นผมไม่ได้เขียน คำนำ หรือความในใจแต่อย่างใด มาพิมพ์ใหม่ครั้งนี้ จึงต้องบันทึกความทรงจำเก็บไว้สักเล็กน้อย เพื่อให้คนอ่านรู้ว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นจากจินตนาการล้วน ๆ ไม่ได้ดึงชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งมาเขียน...และหากชีวิตของตัวละครไปคล้ายคลึงกับชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งผมก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยและหาก   ว่านวนิยายเรื่องนี้มีข้อผิดพลาดความคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประการใด ผมขอรับความผิดไว้แต่เพียงผู้เดียว ทว่านิยายเรื่องนี้ มีส่วนทำให้คนอ่านหูตาสว่างจากธรรมะขึ้นมาบ้าง ผมก็อ้างเอาบุญกุศลนั้น ช่วยให้คนอ่านทุกๆ ท่าน มีความสุขยิ่งๆ  ขึ้นไปนะครับ

           

จุฬามณี

3/02/60 ณ เรือนจิตรา

 

 



คำนิยม

ถ้าจะพูดว่า ‘ตะเกียงกลางพายุ’ เป็นหนังสือสายบุญก็ใช่ เพราะผู้เขียน     คุณจุฬามณี ได้มอบหนังสือเล่มนี้มาให้พร้อมกับมิตรภาพ หลังจากบอกบุญกฐินหน้าเฟซบุ๊คเมื่อปลายปี พ.ศ.2559 เมื่อทราบว่าคุณจุฬามณี จะพิมพ์ ‘ตะเกียงกลางพายุ’ เพื่อมอบให้กับห้องสมุดประชาชน โรงเรียน รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ และได้บอกกล่าวให้เพื่อนๆ ในเฟซบุ๊คร่วมแบ่งปันกำลังทรัพย์ตามจิตศรัทธาเพื่อสมทบค่าจัดพิมพ์ ก็ไม่ลังเลที่จะขอมีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่คุณจุฬามณี ให้เขียนคำนิยมในหนังสือเรื่องนี้

ถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้ต่างจากนวนิยายทั่วไปอย่างไร ก็ต้องบอกว่าตรงที่ทำให้มี ‘สติ’ ทุกขณะจิตในขณะอ่าน เพราะตัวละครหลักอย่าง แสงฉาน จะคอยกระตุ้นเตือนให้เราคิด พิจารณาการเป็นไปของชีวิต ซึ่งเราทุกคนมีโอกาสพบเห็นคนเหล่านี้ได้จริงในสังคม และทุกคนมีโอกาสเดินพลาดทุกย่างก้าว แต่ก็มีโอกาสกลับตัวกลับใจทุกวินาทีเช่นกัน หากเรายกใจขึ้นเป็นที่ตั้ง และมุ่งมั่นเดินไปในทางที่ถูกที่ควร ดังเช่น แสงฉาน ยึดมั่น และทำให้คนอ่านอย่างดิฉันหลั่ง ‘น้ำตาเย็น’ ดังเช่นตัวละครหลายคนในเรื่อง ได้หลั่งออกมาด้วยความอิ่มสุขในหัวใจ

‘การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า สูงสุดคือให้เราพ้นทุกข์ด้วยปัญญา’ ดิฉันขออนุญาตยกประโยคนี้ขึ้นมา ด้วยปรารถนาให้ทุกคนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ พ้นจากความทุกข์ด้วยปัญญา และขอขอบคุณ และอนุโมทนาบุญกับ คุณจุฬามณี ผู้ประพันธ์อย่างที่สุด ที่เขียน ‘ตะเกียงกลางพายุ’ มาให้พวกเราอ่านกัน

ขวัญปัฐน์ (ป.ศิลา)

26 ก.พ.2560

 

ถ้าพายุแห่งชีวิตเปรียบเสมือน อุปสรรคขวากหนาม หรือ สิ่งที่จะสกัดกั้นไม่ให้เราได้สมหวังตามแรงมุ่งมาดปรารถนา  เราทุกคนต่างก็ถูกทดสอบจากพายุที่โหมกระหน่ำลูกแล้วลูกเล่า ‘แสงฉาน’ ก็เฉกเช่นเดียวกัน ความพลาดผิดในชีวิตแต่หนหลัง ออกดอกออกผลให้เขาได้ลิ้มรส โดยที่เขาไม่ทันได้ร้องขอ ทั้งนี้เพราะผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุที่เขาก่อขึ้นอย่างไร้สติ และขาดความรับผิดชอบ

จนมาวันหนึ่ง ชีวิตที่พร้อมจะสงบ และต้องการพบกับความสว่างรุ่งโรจน์บนเส้นทางสายแห่งธรรมะ กลับทำได้ยากยิ่งเหลือเกิน

            ‘ตะเกียงกลางพายุ’ ของ ‘จุฬามณี’  จึงถือเป็นนวนิยายสะท้อนสังคม ให้แง่คิด และมุมมองที่สอนใจ อีกทั้งยังส่งเสริมกำลังใจอีกด้วย นวนิยายที่ดีนอกจากจะสนุก ครบรส ต้องให้แง่คิดที่มีคุณค่าแก่สังคม ตะเกียงกลางพายุ ถือเป็นหนึ่งในนั้นก็ว่าได้

นอกจากนี้ คุณความดีของตะเกียงกลางพายุ อีกหนึ่งอย่างคือ เป็นนวนิยายที่ใช้ธรรมะเป็นแกนหลักในการเดินเรื่องผ่านตัวละครเอกที่ชื่อ แสงฉาน นับว่านวนิยายลักษณะนี้ไม่ค่อยมีให้เราได้อ่านบ่อยนัก ผนวกกับคติธรรมที่สอดแทรกในทุกอณูของตะเกียงกลางพายุนั้น กลับชัดเจนและเข้าใจง่าย

แสงฉาน จึงเปรียบเสมือนเป็นแสงที่จุดประกายในใจของคนที่ก้าวพลาดพลั้งผิด ได้กลับมาสว่างวาบในความดีงามขึ้นอีกครั้ง....

ชมพรรษ นาคทอง

 1/3/2560

 

“ดีต่อใจ” ผุดขึ้นทันทีหลังจากได้สัมผัส คนสุก

ที่ได้รับการปรุงแต่งราวกับตะเกียงท่ามกลางพายุ

ที่ถาโถมเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า

บางคนอาจซวนเซแม้เพียงคลื่นกระทบ

บางคนอาจค้นพบวิถีแห่งเกลียวคลื่นอันเป็นธรรมดาโลก

ธรรมะขัดเกลา แสงฉาน ให้กลายเป็นคนสุกอย่างแท้จริง

และแกร่งพอที่จะฝ่าคลื่นลมที่โหมกระหน่ำ

เพื่อคืนสู่เพศบรรชิตอีกครั้ง

ด้วยแรงปรารถนาความพิสุทธิ์ของจิตวิญญาณ

และพร้อมเผชิญทุกสภาวะด้วยความกระจ่างแจ้งทางปัญญา

สมชื่อ“แสงฉาน”

 

กฤติกา  ผลเกิด

 


เมื่อปีที่แล้ว  ช่วงวันเกิดผม มีเพื่อนเขียนรูปเหมือนให้เป็นของขวัญวันเกิด  ผมนำรูปลงเฟซบุ๊คเพื่อขอบคุณเพื่อนท่านนั้น   คุณจุฬามณีมาเห็นเข้า จึงขอรูปไปทำโปสเตอร์หนังสือนิยายเรื่อง ตะเกียงกลางพายุ  ลงขายในแบบอีบุค เผื่อจะขายให้เพื่อนๆ ของผมได้บ้าง  ผมก็ให้ไป อีกไม่นานก็มีโครงการพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือทำมือให้ผมได้อ่าน โดยมีรูปผมเป็นหน้าปกหยอกล้อกันขำๆ กระทั่งมีโครงการ ‘ไม่ทำขาย’ แต่จัดพิมพ์เพื่อบริจาคเข้าห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศฯ อย่างที่ได้ทราบกันดี

บันทึกหลังอ่าน  มีดังนี้ จะมีตะเกียงสักกี่ดวงที่ ท้าทายลมพายุได้โดยไม่ดับ ตะเกียงนั้นต้องมีไส้ตะเกียงที่ดี และน้ำมันชนิดพิเศษ  ที่แม้นโดนพายุพัดดับ แต่ก็สามารถจุดตัวเองขึ้นมาใหม่ท้าทายลมพายุได้ เฉกเช่น แสงฉาน จะมีสักกี่คนที่ผ่านอุปสรรคนานา  จนถึงจุดสงบในชีวิตได้ หวังว่าผู้อ่าน เมื่ออ่านแล้ว จะสามารถ สร้างไส้ตะเกียงและน้ำมันพิเศษ  ขึ้นมาต่อสู้กับลมพายุได้อย่างเช่น ‘เขา’

ธิติวัฒน์ ปิยวงค์วัชร์ 2/3/2560

 

ในช่วงปี 46 น้องชายโทรมาถามว่า "พี่ เพลงที่พี่เปิด ในงานศพน้องภูมิ     ชื่อเพลงอะไร" จึงถามน้อง ทำไมเหรอ น้องบอกว่าผมจะเขียนนิยาย นั่นคือ เรื่องราวที่เรารู้ว่าน้องจะเขียนนิยาย เมื่อนิยายเสร็จ น้องส่งมาให้เราอ่าน แน่นอน เรื่องของเราเป็นหนึ่งในพายุ ที่จะถาโถมเข้าสู่มนุษย์ หากเรามี "ธรรมะ" เป็นแกนส่องสว่าง ถึงแม้พายุพัดกระหน่ำ เราก็จะมีเครื่องกั้นเป็นแก้วครอบ ที่จะพยุงแสงสว่างแห่งธรรมเข้าไว้ เพื่อรอการ เติมเชื้อแห่งแสงเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม...นิยายเรื่องนี้ กำลังบอกเราเช่นนั้น บอกให้เราอดทนที่จะฟันฝ่าพายุที่โหมกระหน่ำนั้น บอกให้เรามาจุด...ตะเกียงกลางพายุ กันเถิด

ณปภัช กลิ่นเกษร 2 มี.ค.2560

หานิยายซึ่งสอดแทรกธรรมะได้อย่างแนบเนียนและไม่เป็นการยัดเยียดได้ยากนักในวงการวรรณกรรมปัจจุบัน จุฬามณีทำได้ดีมากๆในเรื่องนี้ ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นผู้ที่ได้เรียงร้อยยายแย้มจากสุดแค้นแสนรักอันโด่งดัง เมื่อจุฬามณีมีความคิดว่าจะบริจาคหนังสือเพื่อเป็นวิทยาทาน/ธรรมทาน เราจึงยินดีที่จะร่วมสนับสนุน เพื่อที่จะให้มีผู้ที่จะได้ดื่มด่ำกับพระธรรมคำสอนมากยิ่งขึ้น ขอให้ความปรารถนาของคุณจุฬามณีสำเร็จลุล่วง

ไปด้วยดีนะ อนุโมทนาบุญด้วยค่ะ                        ธาริณี สุวรรณพิทักษ์ 2/3/2560

 

ตะเกียงกลางพายุ เป็นนิยายสะท้อนสังคม โดยมีแนวคิดตามหลัก พระพุทธศาสนา มีธรรมะสอนใจ ซึ่งหาได้ยากมากจากตลาดนวนิยายในตอนนี้ ผู้เขียนได้มีจิตกุศล ทำบุญทางปัญญา บริจาคให้กับโรงเรียนสถานศึกษาที่ต่างๆ จึงหวังใจว่า ตะเกียงแห่งธรรมะที่จุดติดแล้วให้แสงสว่างในการดำเนินชีวิตเยาชนในรุ่นต่อไป มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธงชัยแห่งชีวิต ขอบคุณผู้เขียนที่ชักชวนให้ร่วมทำบุญในครั้งนี้ค่ะ                                                             ภาวิกา จาติเกตุ 2/3/2560

 

อ่านหนังสือเรื่อง  ตะเกียงกลางพายุ  ให้ความรู้สึกอิ่มใจในธรรม  เป็นการสร้างสรรค์จินตนาการได้อย่างลงตัวของผู้เขียนเป็นการสอดแทรกภาษาธรรมะและใช้ธรรม รวมถึงสติปัญญาในการแก้ไขปัญหา  สะท้อนให้เห็นว่าหากมีสติก็จะสามารถชนะอุปสรรคและปัญหา  ขอให้นวนิยายที่เปรียบดั่งตะเกียงน้อยๆ นี้  คงอยู่สู้กับพายุอันเกิดจาก  อารมณ์  รัก โลภ โกรธ  หลง อันหลากหลายที่โหมกระหน่ำ แม้ไฟในตะเกียงจะริบหรี่แต่แสงแห่งธรรมย่อมโชติช่วง  และจะคงอยู่ไปอีกนานเท่านาน  ข้าพเจ้าหวังว่าหนังสืออันทรงคุณค่านี้จะคงประโยชน์ไว้อย่าครบถ้วนให้กับผู้อ่าน  ทำให้แสงแห่งธรรมชี้นำทางให้กับปัญหาในทุกๆ ด้าน                                               อักษรา

 

อ่านได้ คิดได้ บอกตัวเองได้ แต่จะให้บอกคนอื่น ก็ไม่ค่อยจะชำนาญนัก   นวนิยายเรื่อง ตะเกียงกลางพายุ พาให้ลุ้นไปกับความมุ่งมั่นของแสงฉานที่จะกลับไปบวชอีกครั้ง หลังจากตัดสินใจสึกออกมาเพื่อทำหน้าที่ดูแลแม่ที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต

หนทางกลับสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ของแสงฉานนั้นใช่ว่าจะง่าย ในเมื่อเขามีห่วง และต้องรับผลแห่งการกระทำเมื่อเก่าก่อนมากมายนัก ความมุ่งมั่นของเขาจะสำเร็จหรือไม่ อยากให้ทุกท่านที่หยิบนวนิยายเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน ได้เปิดอ่านตั้งหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายค่ะ แล้วท่านจะพบว่า ตะเกียงกลางพายุ เป็น    นวนิยายแบ่งปันธรรม ที่ควรแค่แก่การอ่านอย่างยิ่ง

สุจินน่า ธัญญาสกุล

 


ตอนได้ยินชื่อนิยายเรื่อง “ตะเกียงกลางพายุ” ของจุฬามณี เรานึกไปถึงว่า ผู้เขียนจะตีความหมายของคำว่าตะเกียงกลางพายุออกมาในรูปแบบใด แล้วก็ได้คำตอบว่า ต่อให้อุปสรรคขวากหนามที่ถาโถมเข้าใส่ (เปรียบดังพายุ) แต่หากมีความตั้งมั่น ตั้งใจ บวกกับความหวัง (แสงตะเกียง) ใฝ่ฝันที่จะทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จแล้ว ก็ไม่อาจดับแสงแห่งศรัทธาในความดีงามของรสพระธรรมได้

แสงฉานจึงเปรียบเสมือนแสงจากตะเกียงที่เขาต้องฝ่าฟันกับอุปสรรครอบกาย ความปรารถนาในรูป รส กลิ่น เสียง สิ่งเร้าเหล่านี้จะนำพาเขาไปสู่จุดไหนของชีวิต และถ้าแสงฉานไม่มีความมุ่งมั่นเพื่อจะไปให้ถึงความสงบแห่งชีวิตแล้ว ตะเกียงก็คงจะดับลง แต่เมื่อเขามีความศรัทธาที่แรงกล้าอย่างแท้จริง ตะเกียงก็จะถูกจุดติดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และมันก็ส่องสว่างไปสู่ใจตน รวมถึงใจของใครอีกหลายคนที่มีความศรัทธาเฉกเดียวกัน ...ด้วยความภูมิใจ และเป็นเกียรติอย่างยิ่ง

อรอร + โมริสา

 

เมื่อน้องชวนทำบุญ ไอ้เราก็เอาสิ ชอบๆ ทำที่ไหน กลายเป็นว่าให้เขียนคำนิยม “ตะเกียงกลางพายุ” ที่เราอ่านไปนานแล้ว ตอนนี้น้องจะทำเล่มใหม่เพื่อมอบให้ห้องสมุด ขออนุโมทนาบุญกับน้องเค้าด้วย

มีความยินดีมากที่จะได้เขียนถึงนิยายเล่มนี้ นิยายเล่มที่เราเคยปรารภกับน้องว่าน่าจะมีทำเป็นละคร เพราะสอดแทรกธรรมะ และเรื่องราวดีๆ ไว้มากมายการประพฤติปฏิบัติในทำนองคลองธรรม ความตั้งใจจริงในการที่จะเป็นคนดี แม้มีอุปสรรคนานัปการของตัวละครเอกอย่างแสงฉาน เปรียบดังตะเกียงที่โดนลมเพียงน้อยก็พร้อมจะดับ แต่นี่เป็นตะเกียงกลางพายุ ที่เต็มไปด้วยราคะ แม้สุดท้ายแสงฉานจะฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อเข้าบวชเรียนเพื่อธรรมรงค์ไว้ซึ่งศาสนา ก็แทบสะบักสะบอม

เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ถ้าจัดพิมพ์แล้วมอบให้ห้องสมุดจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องบาป บุญ คุณและโทษ การประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ดี

ชไมพร โพธิรังสิยากร

๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

 

 

 

 

 


รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (66 รายการ)

www.batorastore.com © 2024