ราชนาวีที่รัก (เฟื่องนคร) (EBOOK)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: -
ของหมด (ต้องการสินค้า)
ราคา: 250.00 บาท 62.50 บาท
ประหยัด: 187.50 บาท ( 75.00% )

เนื้อหาบางส่วน

“พี่พงศ์ ได้ข่าวพี่ต้นกล้าบ้างเปล่า” แพรวพรรณ เอ่ยถามพี่ชายที่มีอยู่เพียงคนเดียว ขณะรื้อค้นอัลบั้มรูปสมัยเด็กๆ ออกมาดู แล้วพบรูปงานกิจกรรมโรงเรียน ซึ่งมีภาพของพงศ์พันธุ์กับเพื่อนๆ เต้นประกอบเพลงเกี่ยวกับทหาร        โดยนักแสดงต้องแต่งชุดเป็นทหารมาดแมนดูน่ายำเกรง

ที่เรียกรอยยิ้มให้แพรวพรรณก็คือ ในตอนนั้นเธอเหมือนเด็กแก่แดด เพราะแอบชอบรุ่นพี่ ป.6 เพื่อนร่วมชั้นของพี่ชาย เขาคนนั้นมีใบหน้าคมคาย ผิวเข้ม ตัวสูงยาวผิดเพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกัน และที่สำคัญหัวสมองที่เป็นเลิศ จนเป็นที่     เลื่องลือในหมู่ครูนักเรียนนั้น ทำให้ ‘พี่ต้นกล้า’ หรือ ‘เด็กชายจิรวัติ’ โดดเด่น       ท่าม กลาง คนนับร้อยนับพัน

เมื่อใดที่มีการสอบแข่งขันทางวิชาการ พี่ต้นกล้าจะสามารถออกไปคว้ารางวัลทำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียน ทำให้คุณครูพากันปรบมือยิ้มหน้าบาน คุยทับเพื่อนครูที่อยู่คนละโรงเรียนอย่างสนุกสนาน

นอกจากนั้น ผลงานทางด้านกีฬา พี่ต้นกล้าก็เป็นที่หนึ่ง กีฬาในโรงเรียนแทบทุกชนิด จะต้องมีชื่อของพี่ต้นกล้าเป็นผู้ลงชิงชัย

ถ้าเป็นกีฬาประเภทเล่นคนเดียวอย่างวิ่งทางตรง กระโดดสูง กระโดดไกล ก็จะได้เห็นพี่ต้นกล้ายิ้มกว้าง เห็นฟันเรียงกันเป็นระเบียบขึ้นรับเหรียญทอง ดวงตานั้นเล่าก็แพรวพราวยิ่งนัก  

 

ในความทรงจำอันลางเลือนของแพรวพรรณ ตอนที่เธออยู่ชั้น ป. 1

พี่ต้นกล้าอยู่ ป. 4 พี่เขาสามารถวิ่งทางตรงระยะทาง 100 เมตร เอาชนะรุ่นพี่ ป.6  ที่ตัวใหญ่กว่าได้แล้ว ตอนอยู่ป.5 พี่ต้นกล้าก็เลี้ยงลูกบอลทำโกลให้กับทีมของโรงเรียนจนเป็นแชมป์กีฬากลุ่มโรงเรียน นอกจากนั้นพี่ต้นกล้ายังเตะตระกร้อ     เล่นวอล์เล่ย์บอล เป็นประธานนักเรียน หัวหน้ากลุ่มสี เวรทำความสะอาด หัวหน้าลูกเสือ  ทำกิจกรรมทุกอย่างได้อย่างดียิ่ง 

พอนึกถึงพี่ชายของเธอ ซึ่งแม้จะกินดีอยู่ดีทางบ้านมีฐานะ แต่ว่าทั้งสติ ปัญญารวมถึงความสามารถพิเศษเหล่านั้นหาได้มีสักนิด การเรียนครึ่งๆ กลางๆ เล่นกีฬาก็ได้เป็นตัวสำรอง หน้าตาก็หาได้มีความโดดเด่น

“ยิ้มอะไร” พี่ชายหน้าขาวค่อนข้างเจ้าเนื้อนั่งดูโทรทัศน์อยู่บนโซฟาเอ่ยถาม

“เจอรูปแฟนเก่าเหรอ” นพวรรณพี่สะใภ้ที่กำลังป้อนข้าวให้ ‘นพพงศ์’ หลานชายวัยสามขวบซึ่งเป็นหลานคนแรกของบ้าน เอ่ยถามขึ้นมาบ้าง

“เปล่า มองรูปแล้วก็นึกถึงตอนเด็กๆ พี่วรรณ พี่ชายของแพรว แบบว่า ไม่ได้เรื่องอะไรสักอย่าง เรียนก็เกือบตก กีฬาก็ไม่เอาไหน เต้นก็อยู่ข้างหลังถ่ายรูปมาเห็นหน้านิดเดียวเอง”

“ก็ยังมีวันนี้มาได้” วันนี้ที่ร่ำรวย ไม่ได้เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง   แต่เป็นการสืบทอดกิจการของพ่อกับแม่ที่มีอยู่แล้วให้รุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น    สองพี่น้องต่างก็ช่วยกิจการงานรับซื้อพืชไร่อย่างแข็งขัน แต่ช่วงปีสองปีหลังมานี้   แพรวพรรณพยายามถอยออกมาจากงานบัญชีซึ่งเธอได้วางระบบให้เป็นมาตรฐานสามารถตรวจสอบได้ตามที่เล่าเรียนมาให้พี่สะใภ้เป็นคนดูแลแทน เพื่อเธอจะหันไปลุยงานเขียนนิยายที่เคยคิดว่าทำเล่นๆ ให้กลายเป็นอาชีพที่มั่นคงเป็นเกียรติประวัติ สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้โดยที่พ่อกับแม่ไม่ต้องเป็นห่วงอย่างช่วงแรกๆ

สี่ห้าปีมานี้ รายได้กับผลงานก็เป็นที่ประจักษ์ ทำให้พ่อแม่และพี่ชายยอมปล่อยให้เธอเดินตามเส้นทางที่รักที่ชอบ  แต่พ่อกับแม่ก็มีข้อแม้ว่า ภายในปีหรือสองปีนี้ หากเธอไม่เจอคนที่คู่ควรและพ่อแม่เห็นสมควร เธอจะต้องลงเอยกับ        ลูกชายของคนที่พ่อกับแม่หมายมั่นปั้นมือจะเป็นทองแผ่นเดียวกัน

แพรวพรรณรับปากไปอย่างนั้น เพราะมั่นใจว่า พอใกล้ๆครบกำหนด    เธอก็จะอธิบายให้พ่อแม่ฟังว่า ทำไมเธอถึงไม่แต่งงาน และดีไม่ดี เมื่อถึงเวลานั้น คนที่พ่อแม่ต้องการจับคู่ให้กับเธอ เกิดทนเหงาทนรอไม่ไหว กลายเป็นคนมีคู่ไปเสียก่อน พ่อกับแม่ก็จะหาคนที่คู่ควรกับเธอได้ยากขึ้น

                “กินข้าวกันเถอะค่ะพี่พงศ์ แพรวหิวแล้ว” แพรวพรรณทำเป็นหูทวนลม  ไม่ต่อปากต่อคำกับพี่ชาย หญิงสาวซ้อนๆ อัลบั้มรูป ยัดเข้าตู้ทึบปิดประตูแล้วลุกขึ้น

ยืน เผยให้เห็นร่างผอมสูงหุ่นนางแบบ และผิวขาวของพ่อกับรูปหน้าแบบไทยแท้ของแม่ จึงทำให้แพรวพรรณจัดว่าเป็นคนสวยคนหนึ่ง การเสริมแต่งอย่างคนที่รักสวยรักงาม ก็ยิ่งทำให้แพรวพรรณเป็นที่หวงแหนจากพ่อแม่และพี่ชาย

                “เมื่อกี้ถามถึงไอ้ต้นกล้าทำไม” พงศ์พันธุ์ที่สนใจข่าวหน้าจอโทรทัศน์  เพิ่งนึกได้ว่าน้องสาวเอ่ยถาม ที่เขาถามน้องสาวก็เพราะคนที่น้องสาวถามถึงทำงาน ในอาชีพที่กำลังเป็นข่าวอยู่ด้วย

                “ถามตั้งนานแล้ว” แพรวพรรณเดินไปยังโต๊ะอาหารที่มีแม่บ้านคนไทยกับหญิงพม่ากำลังช่วยกันจัดเตรียม

                “ป้านง ป๊ากับแม่ไม่กลับมาทานด้วยใช่ไหม”

                “ไม่กลับหรอกแพรว แม่ว่ากลับบ่ายๆ จัดการกันได้เลย แล้วก็ไม่ต้องรอพี่หรอกนะพี่กินแล้ว”

นพวรรณตอบแทนป้านงที่กำลังจะอ้าปากบอก แล้วพอเห็นว่าตัวเองหมด

หน้าที่ ป้านงก็ดันหลังสาวใช้ชาวพม่าซึ่งมีผัวเป็นคนงานในโกดังซึ่งเป็นชาวพม่าเช่นกันออกไปจากห้องอาหาร ทั้งคู่จะกลับเข้ามาอีกทีเมื่อเข็มนาฬิกาบอกเวลา

บ่ายโมง

 

                สองพี่น้องเข้าประจำที่นั่ง น้องสาวคดข้าวให้พี่ชาย พงศ์พันธุ์ที่เป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย เขารีบจ้วงต้มยำไก่บ้านเป็นอันดับแรก กินอย่างเอร็ดอร่อย กินอย่างต่อเนื่อง จนแพรวพรรณต้องเบะปาก

                “คุยบ้างก็ได้”

                “คุยเรื่องอะไรล่ะ เอาเรื่องบอลไหม ทีมแมนยู”

                “ไม่เอา ไม่ชอบ”

                “งั้นเรื่องฝนที่ตกไม่ได้ว่างเว้นจนน้ำท่วมไร่นาข้าวปลา มัน อ้อย เสียหาย”

                “ไม่เอา เครียด”

                “ชีวิตแก มันมีแต่ความสุข เขียนนิยายเรื่องไหนก็จบแบบแฮปปี้”

                “คนอ่านชอบนี่”

                “ให้เขียนพวกรบราฆ่าฟัน บู๊ล้างผลาญ ก็ไม่เขียน”

                “อาจจะเขียน กำลังรวบรวมข้อมูล”

                “แกพูดอย่างนี้มาห้าปีแล้วนะ”

                “ต้มยำป้านงนี่รสชาติไม่เคยเพี้ยน” แพรวพรรณเปลี่ยนเรื่องคุย เพราะคุยกับพี่ชายที่มีอยู่เพียงคนเดียวนี้ คุยกันได้ ไม่เคยทะเลาะกัน แต่เหมือนว่าคุยกันไม่รู้เรื่อง มันก็เป็นแบบนี้มานานแสนนาน จนกระทั่งพงศ์พันธุ์อยู่มาจนอายุ 20 ปี เธอไม่เห็นวี่แววว่าพี่ชายจะมีแฟน และมั่นใจว่าด้วยลักษณะนิสัยแบบนี้คงจะหาแฟนไม่ได้

แต่ว่าพอเธอเรียนจบ กลับมาอยู่บ้าน พี่ชายของเธอก็พาผู้หญิงที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกันมาแนะนำให้พ่อแม่ให้รู้จัก หน้าตาผิวพรรณของนพวรรณบอกว่าไม่ใช่ลูกชาวไร่ชาวนาไร้ทรัพย์สิน แพรวพรรณก็อดสงสัยไม่ได้ว่า พี่ชายของเธอมีอะไรดี นพวรรณจึงได้เลือกมาเป็นคู่ชีวิต

 จนวันหนึ่งเมื่ออยู่กันตามลำพัง เธอจึงถามไปตรงๆ ก็ได้คำตอบมาว่า 

‘พี่มั่นใจว่าพี่เขาไม่ใช่คนเจ้าชู้ และเขาก็รักพี่จริง ไม่สนใจว่าพี่มีเงินเท่าไหร่ เขาเป็นคนตลกๆ อบอุ่น ไม่เรื่องมาก อยู่ด้วยแล้วมีความสุขที่สุด’

ฟังคำตอบแล้ว แพรวพรรณอยากขยับกราม อ้าปากบริหารผิวหน้าตามหลักการความสวยแก้อาการมึนงง แต่เธอก็ทำได้เพียง คลี่ยิ้มกะพริบตาถี่ๆ แต่ถึงกระนั้น เธอก็ดีใจกับพี่ชายที่หาเมียหาแม่ให้หลานของป๊ากับแม่จนได้

                “ไม่รู้ว่า ไอ้กล้ามันไปกับเรือเมื่อกี้ด้วยหรือเปล่า” เคี้ยวข้าวหมดคำ พงศ์พันธุ์ก็เอ่ยขึ้นมาแบบไม่มีเกริ่น ไม่มีคำนำ ไร้อารัมภบท

ถ้าคนที่ไม่รู้ใจ ก็จะว่า อีตานี่ น่าจะประสาท แต่ว่าแพรวพรรณชินกับวิธีคิดวิธีพูดของพี่ชายเสียแล้ว

                “เรืออะไร”

“โจรสลัด ประเทศไหนไม่รู้ เลียเลีย โซมาเลีย ทหารเรือไทยของเราไปกับเขาด้วย”

“อืม แล้วไงต่อ”

“ไอ้กล้ามันเป็นทหารเรือ ไปกับเขาหรือเปล่าไม่รู้นะ ถ้าไปคงเท่ห์น่าดู รบกับโจรสลัด แจ๊คสแปโรว์ อึ๊ดๆ”

“แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเขาไปหรือไม่ไป”

“โทรถามแม่มันดีกว่า แม่มันคงรู้” แม้ว่าจะไม่สนิทสนมกับพ่อแม่ของ      พี่ต้นกล้ามากนัก แต่พี่ชายของเธอก็ไปที่บ้านนั้น ปีละหนสองหน เพราะหนึ่งต้องไปซื้อข้าวเปลือกที่หมู่บ้านนั้น สองพี่ชายของของเธอชอบขอเบอร์โทรศัพท์ของชาวบ้านชาวช่องในย่านนี้มาเก็บไว้ ถ้าว่างๆ ครึ้มฟ้าครึ้มฝนก็โทรไปถามสารทุกข์สุกดิบทำตัวเหมือนจะลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ใหญบ้านหรือสมาชิก อบต. ในสมัยหน้า แต่พอมีคนรับสาย ก็จะคุยเดี๋ยวเดียว เธอเคยถามว่าทำไมถึงต้องทำอย่างนี้  และพี่ชายก็ให้คำตอบว่า ‘เขาจะได้ไม่เอาข้าวไปขายคนอื่น ’

“ฮัลโหล น้าจุก ได้ดูข่าวหรือเปล่า ข่าวทหารเรือไทยไปปราบโจรสลัดน่ะ อ๋อดูเหรอ แล้วมันไปกับเขาหรือเปล่า ไม่ได้ไป อ๋อๆ ครับๆ “

ระหว่างที่พี่ชายคุยโทรศัพท์ น้องสาวก็นั่งอมยิ้มและก็เริ่มขำจนกระทั่งกิน

ข้าวไม่ได้ จนกระทั่งพี่ชายวางโทรศัพท์ลงแล้วตักข้าวเข้าปากเคี้ยวต่อ เมื่อเห็นว่าพี่ชายไม่สรุปเรื่องแน่ๆ แพรวพรรณจึงต้องกระตุ้น “ได้เรื่องว่าไงบ้างพี่”

“มันไปฝึกอะไรก็ไม่รู้ ที่ต่างประเทศ ไม่ได้อยู่เมืองไทย ไม่ได้ไปกับเรือสองลำนี้หรอก”

เรือสองลำที่ออกไปปฏิบัติภารกิจปราบปรามโจรสลัดในอ่าวเอเดน ชายฝั่งประเทศโซมาเลีย เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2553 ได้แก่เรือรบหลวงปัตตานี   กับเรือรบหลวงสิมิลัน

“น้ำพริกป้านงเผ็ดไปไหมเนี่ย ป๊ากินไม่ได้แน่ๆ”

พอพี่ชายเปลี่ยนเรื่องคุยกะทันหันแบบนี้ แม้อยากจะเซ้าซี้ถามประสา ‘อดีตแฟนคลับ’ ของพี่ต้นกล้า แต่ว่าแพรวพรรณก็รู้สึกว่าไกลกันสุดหล้าฟ้าเขียว

เมื่อเป็นอย่างนี้ ชาตินี้คงไม่มีทางได้ ‘แอบปลื้ม’ ความสำเร็จของเขา     ‘ต้นกล้า’ จิรวัติ สุกปลั่ง อีกแน่ๆ

 

เสียงโทรศัพท์มือถือที่วางไว้ข้างโน๊ตบุ๊คซึ่งกำลังนั่งพิมพ์ตัวอักษรให้มีข้อความปรากฏที่หน้าจอมอนิเตอร์ดังขึ้น แพรวพรรณหันไปมอง แต่ก็ปล่อยให้ดังอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งพิมพ์ข้อความจากสมองและอารมณ์ที่ลื่นไหลจนหมดสิ้น   ซึ่งกินเวลาจากที่โทรศัพท์ดังจนเสร็จงานก็ปาเข้าไปครึ่งชั่วโมง

“มีอาลายยยย”

“ถ้ามีอาลาย ป่านี้อาลายก็ ก็อาลัย หรือ หรือละลายไปหมดแล้ว ปั่นนิยายอยู่เหรอ”

“อืม คุยได้แล้ว” เป็นอันรู้กันว่า ถ้าโทรแล้วไม่รับคือ แพรวพรรณอยู่กับ

ครอบครัว ยุ่งกับงาน แต่ถ้าเป็นเวลาดึกดื่นแบบนี้ ก็กำลังพิมพ์งานนิยาย หรือไม่ก็เล่นโปรแกรมเฟสบุ๊คที่กำลังโด่งดังเพื่อคุยกับแฟนคลับและเพื่อนๆ นักเขียนที่มีอยู่สามพันกว่าคน โดยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะงานเขียนของแพรวพรรณนั้น

เป็นงานแนวเบาๆ สบาย หวานๆ จึงเป็นที่ถูกใจของวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้อินเตอร์เน็ต

“เมื่อไหร่แกจะเขียนงานเกย์สักที”

“แพรวเป็นผู้หญิง แพรวจะไปรู้จักอารมณ์เกย์ได้อย่างไง”

“แกก็คบกับฉันมานานแล้วนี่”

‘ฉัน’ คนที่อยู่ปลายสายชื่อเล่นว่า ‘หนึ่ง’ ชื่อจริงว่า ‘นาที’ ด้วยทำอะไรรวดเร็วปานปรอท ชื่อเล่นกับชื่อจริง จึงถูกเรียกรวมกันว่า “หนึ่งนาที” และ ‘เขา’ หรือ ‘เจ้าหล่อน’ ก็เป็นเพื่อนสนิทกับแพรวพรรณตั้งแต่สมัยเรียนบัญชีอยู่มหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพฯ

นาทีมาจากนครศรีธรรมราช หน้าตานั้นคมเข้มตามแบบคนในถิ่นนั้น หน่วยก้านก็มาดแมน ไร้ไขมันส่วนเกิน แต่งตัวดีเยี่ยม ลำพังเดินอยู่คนเดียวสาวน้อยสาวใหญ่ถึงกับเหลียวหลังมามอง ถ้ากล้าหน่อยก็มีส่งสายตาเสนอตัว 

แต่ใครเล่าจะรู้บ้างว่า นาทีนั้นไม่ใช่ผู้ชายธรรมดา แม้เพื่อนหญิงก็น้อยรายนักที่จะรู้ว่า ‘ข้างใน’ ของนาทีเป็นอย่างไร และแพรวพรรณก็เป็นหนึ่งในเล็กน้อยที่นาทีเปิดอกยอมรับและพูดคุยด้วยอย่างถึงพริกถึงขิง แต่ถึงกระนั้นกฎกติกาของทั้งสองคนก็คือ จะต้องไม่พูดจาหยอกเย้าต่อหน้าคนอื่นเพื่อนใหม่หรือคนที่เข้ามาในกลุ่ม

ดังนั้นเมื่อเข้ากรุงเทพฯ ถ้านาทีขับรถมารับไปทำธุระหรือแม้แต่ตอนที่มีกิจกรรมสำนักพิมพ์ นาทีติดสอยห้อยตามไปด้วย คนอื่นๆ ก็เหมารวมๆ ว่านาทีนั้นเป็นแฟนของแพรวพรรณ จนหนุ่มหลายๆ  ราย ต้องถอยออกไปเพราะถ้าเทียบกับเพื่อนคนดีของแพรวพรรณคนนี้แล้ว นาทีถือว่าเป็นผู้ชายสมบูรณ์แบบคนหนึ่ง      ซึ่งยากที่ผู้ชายด้วยกันจะมาเป็นคู่แข่งจีบแพรวพรรณ

 “กี่ปีแล้ววะหนึ่ง”

“ตั้งแต่ปีหนึ่งยันปีนี้ สิบเจ็ด สิบแปด ยี่สิบ ยี่สิบหก แปดปีพอดีเลย”

“นานเนอะ แล้วนี่โทรมามีอะไร แฟนแกไปไหน”

“ลงนรกไปแล้ว” นาทีนั้นเป็นลูกชายคนเดียว พ่อแม่จึงซื้อคอนโดซื้อรถไว้ให้ใช้ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ คอนโดนั้นก็เป็นที่ซ่องสุมของเพื่อนๆ จนกระทั่งจบกันไปทำงาน ความเหงาทำให้นาทีต้องหาใครสักคนมานอนเป็นเพื่อน

แต่ปัญหาที่นาทีคือ ได้เจอะเจอแต่คนเจ้าชู้ ชอบโกหก รักเงินมากกว่ารักตัว  และทุกครั้งที่ความรักเป็นอันต้องล้มลง คนที่พร้อมรับฟังและไม่ซ้ำเติมก็มีแพรวพรรณคนเดียว ดังนั้น มีสุข หรือว่าได้ทุกข์จากความรัก นาทีจะต้องโทรบอกเล่าให้แพรวพรรณได้รับรู้

โดยที่แพรวพรรณก็ขอบอกขอบใจนาทีทุกครั้ง  ที่นำข้อมูลจริง เล่นจริงเจ็บจริง มาให้เขียนนิยายรัก ซึ่งตนเองมีประสบการณ์ตรงเล็กน้อยมาก ความที่ไม่เคยมีความรักอย่างจริงๆ จังๆ งานนิยายรักของแพรวพรรณจึงเป็นรักในอุดมคติ รักแล้วสมหวัง  รักแล้วได้อยู่ด้วยกัน

แต่ในชีวิตจริงของนาทีนั้น รักของเขา ยอกย้อนซับซ้อนซ่อนเงื่อนและซ่อนอะไรต่อมิอะไร ทำให้มโนคติของแพรวพรรณเปลี่ยน แปลงไปโดยไม่น้อย

ลึกๆ แพรวพรรณก็กลัวกับผู้ชายที่เป็นผู้ชายไม่สมบูรณ์ในสังคมแห่งนี้อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

“คราวนี้ จะเจ็บสักกี่วันดีละ”

“ยังไม่รู้เลย” ถ้าได้เจอคำถามมีน้ำเสียงเห็นใจแบบนี้ ถ้าเริ่มต้นแบบนี้ นาทีก็พร้อมจะเล่าแล้วว่า ไอ้คนที่จากไปนั้นทำให้เจ็บปวดประมาณไหน จนกระทั่งเวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมง

“อุ้ยๆ หนึ่งๆ แค่นี้ก่อนนะ บอกอ โทรมา”

 

บก. ต่าย แห่ง สำนักพิมพ์ดวงใจ ที่ร่วมงานกับแพรวพรรณมาตั้งแต่   แพรวพรรณโพสต์นิยายเล่นๆในเว็บไซด์แห่งหนึ่ง แล้วนิยายเรื่องนั้นก็มีนักอ่านจำนวนไม่น้อยชอบสำนวนและเนื้อเรื่อง บก.ต่ายเห็นว่างานของแพรวแพรวน่าจะทำเงินให้สำนึกพิมพ์ได้ จึงได้ชักชวนให้นำผลงานชิ้นนั้นไปพิมพ์รวมเล่ม และมันก็ขายดิบขายดีจนถึงกับเซ็นสัญญาเป็นนักเขียนประจำในสำนักพิมพ์ มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทำให้เป็นที่มาให้แพรวพรรณต้องพยายามวางระบบงานบัญชี มอบหมายงานให้พี่สะใภ้ดูแลโดยด่วน เพราะตัวเองอยากทำงานอย่างที่ใจรัก อยากพัฒนางานให้มีคุณภาพตามวัยของตัวเองไปด้วยนั่นเอง

“มีอะไรหรือคะพี่” ไล่นาทีไปแล้ว แพรวพรรณก็กดรับสายของบก.คนเก่ง ซึ่งถ้าโทรมาดึกๆ แบบนี้ แสดงว่ามีไอเดียบรรเจิดจนรอให้ถึงพรุ่งนี้ไม่ไหว หรือไม่ก็ มีเรื่องอะไรสักเรื่องที่จะทำให้ดีใจเป็นอย่างมาก อย่างเช่น ค่ายละครติดต่อนิยายไปเสนอสถานีโทรทัศน์ หรือนิยายที่พิมพ์ซ้ำครั้งที่สองขายหมด จนต้องสั่งพิมพ์ซ้ำครั้งที่สาม   

“อยากทำงานกลุ่มไหม”

“กลุ่ม กลุ่มอะไร เขียนกันหลายๆ คนเหรอคะพี่ เคยทำไปแล้วนี่” ตอนนั้นเป็นการรวมกลุ่มงานรักสั้นๆ หวานๆ คนละเรื่อง เล่มละห้าคน ออกทั้งหมดสองเล่ม

“เป็นซีรีย์น่ะ ตัวละครเกี่ยวข้องกัน เป็นห้าพี่น้องนะ แต่ละคนก็มีอาชีพที่แตกต่างกันไป”

“มีใครเขียนบ้างคะ”

บก.ต่าย เอ่ยถึงเพื่อนนักเขียนหญิงร่วมค่าย ซึ่งสองในสี่คนนั้น แต่งงานมีครอบครัวแล้ว อีกคนก็อ้วนท้วนสมบูรณ์ มีอายุเกือบสี่สิบปี มีความสุขกับการกินเขียนนิยาย กับทำงานประจำเท่านั้น

ส่วนคนสุดท้าย ‘พี่หิรัญญา’ เธอสนิทสนมด้วยที่สุด รายนี้แม้ไม่แก่ ไม่อ้วน แต่ว่าก็หาได้มีตามองผู้ชาย หิรัญญาบอกเสมอว่ารักแท้ๆ มีแต่ในนิยายเท่านั้น


รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (70 รายการ)

www.batorastore.com © 2024