The Prince (เจ้าผู้ครองนคร)

The Prince (เจ้าผู้ครองนคร)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: the_prince
ของหมด (ต้องการสินค้า)
ราคา: 195.00 บาท

เนื้อหาบางส่วน

บทนำ

นิกโกโล มาเคียเวลลี ผู้เขียนบันทึก The Prince หรือ เจ้าผู้ครองนคร เป็นข้อเสนอแนะถวายต่อ โลเรนโซ ดี ปีเอโร เด เมดีชี ดยุกแห่งอูร์บีโน ผู้ครองรัฐฟลอเรนซ์ เพื่อแนะนำกลวิธีการปกครองที่จะทำให้ตัวเจ้าผู้ครองนครเองและบ้านเมืองอยู่รอด ในช่วงสภาวการณ์ที่คาบสมุทรอิตาลีเกิดสงครามแย่งชิงดินแดนและอำนาจกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังบันทึกฉบับนี้ได้กลายเป็นแนวคิดทางการปกครองอันลือลั่น ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย เป็นที่กล่าวขานนับแต่ทศวรรษของมาเคียเวลลีเองมาจนตราบถึงทุกวันนี้

เนื่องด้วยผู้เขียนมีวัตถุประสงค์จำเพาะ เนื้อหาของหนังสือจึงสั้น กระชับ เฉพาะเจาะจง ทว่าเต็มไปด้วยรายละเอียดและตัวอย่างเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ หากผู้อ่านมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์กรีก โรมัน ประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลางจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ตลอดจนสถานการณ์ประเทศอิตาลีในขณะนั้น จะทำให้อ่านและวิเคราะห์ประเด็นได้เข้าใจยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้แปลจึงได้นำประวัติศาสตร์อิตาลีในยุคสมัยของมาเคียเวลลี โดยสังเขปมาเสริมไว้ท้ายเล่ม เพื่อให้ผู้อ่านติดตามเนื้อหาได้ราบรื่นยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังได้นำ ‘จดหมายจาก นิกโกโล มาเคียเวลลี ถึง ฟรันเชสโก เวตโตรี เขียนที่ฟลอเรนซ์, 10 ธันวาคม 1513’ (Niccolò Machiavelli’s letter to Francesco Vettori, Florence, December 10, 1513) มานำเสนอไว้ข้างท้าย เป็นหนึ่งในจดหมายโต้ตอบระหว่างสหายทั้งสอง ในช่วงเวลาที่มาเคียเวลลีถูกปลดจากราชการและถูกเนรเทศไปอยู่ฟลอเรนซ์ โดยฉบับนี้เป็นที่กล่าวขานถึงอย่างมากในแวดวงวรรณกรรมอิตาลี เพราะนอกจากมาเคียเวลลีจะบรรยายแก่สหายผู้นี้ถึงชีวิตประจำวันของเขาแล้ว ยังระบุถึงเรื่องการเขียนผลงาน The Prince และจุดมุ่งหมายแห่งการเขียนไว้ด้วย ซึ่งแสดงให้เราทราบแรงบันดาลใจและเจตนารมณ์ในการเขียนบันทึกชิ้นนี้ รวมทั้งยังเห็นถึงความคาดหวังอันแฝงด้วยความสิ้นหวังและเจ็บปวดของเขาอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งของจดหมายฉบับนี้จึงเปรียบเสมือนคำอุทิศ หรือคำนำของ The Prince ที่เขียนโดยมาเคียเวลลีเอง อันที่จริงจดหมายแต่ละฉบับของเขาเป็นการโต้ตอบกับเวตโตรี ซึ่งต่างคนมักเขียนเล่าถึงภารกิจต่างๆ ในชีวิตที่ได้กระทำ ทว่าก็ทำให้เราได้เห็นและวิเคราะห์ถึงปรัชญาการเมืองในการทำงานของทั้งสองได้ในเวลาเดียวกัน และโดยเวตโตรีเป็นที่เชื่อถือของมาเคียเวลลีมาก ทำให้เขาไว้วางใจและบรรยายรายละเอียดอันบ่งบอกถึงความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของเขาโดยไม่ปิดบัง

แม้ เจ้าผู้ครองนคร หรือ The Prince จะเป็นบันทึกสั้นๆ ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ แต่ก็มีสาระครบถ้วนจากการกลั่นกรองความคิดซึ่งวิเคราะห์มาจากสองส่วน ส่วนหนึ่งคือทฤษฎีจากตำราโบราณ อีกส่วนหนึ่งคือจากการปฏิบัติ โดยนำมาจากสถานการณ์จริงทั้งที่เขาเห็นในปัจจุบัน และจากประวัติศาสตร์ที่เขาได้อ่าน เนื่องจากเขาเป็นข้าราชการสายนักการทูตผู้สนใจในสถานการณ์บ้านเมือง และกระตือรือร้นใส่ใจในปัญหาด้านการปกครองโดยสุจริต ดังที่เขาได้เขียนไว้ในจดหมายถึงเวตโตรีว่า “...ข้าพเจ้ามิใช่ผู้ที่เอาแต่นอนหลับมิรู้นอนคู้มิเห็น หรือเล่นไปวันๆ ในเวลาสิบห้าปีนั้นข้าพเจ้าได้ศึกษาศิลปะการครองรัฐ” ทำให้เห็นได้ว่า สิ่งที่เขานำเสนอนั้นได้จากสาเหตุแห่งผลลัพธ์ของสถานการณ์ต่างๆ อันเกิดขึ้นจริงๆ ในอีกแง่มุมหนึ่งจะเห็นได้ว่า มาเคียเวลลีมุ่งมั่นที่จะให้ข้อคิดวิธีแก้ปัญหา ตลอดจนเสนอแนวทางการปกครองรัฐภายในอิตาลีในขณะนั้น ด้วยวิถีการสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งแก่เจ้าผู้ครองนคร เพราะการที่รัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครจะอยู่รอดได้นั้น เจ้าผู้ครองนครต้องอยู่รอดเสียก่อน

ขณะที่สัจธรรมโดยอุดมคติมีอยู่ว่า คุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปกครองรัฐ มาเคียเวลลี ในฐานะมนุษย์ผู้หนึ่ง ซึ่งได้รู้และเห็นความเป็นไปและชะตากรรมของผู้ครองนครแต่ละยุคสมัยมาแล้วมากมาย จึงนำเสนอหนทางอันเป็นสัจจะแห่งโลกอันแท้จริง เขาหยิบยกตีแผ่วิธีการอันแฝงเร้นในการปฏิบัติเพื่อจัดการกับปัญหาทางการปกครอง ซึ่งในบางครั้งไร้คุณธรรม ทว่ามาเคียเวลลีได้วิเคราะห์จากตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบันในขณะนั้น และหยิบยกเอาวิธีการสำหรับแต่ละสถานการณ์มานำเสนอ อันเป็นจุดที่ทำให้หลังจากได้รับการเผยแพร่ ผลงานของเขาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาตลอดทุกยุคสมัย กระทั่ง The Prince กลายเป็นหนังสือต้องห้ามและต้องเผาทิ้งในศตวรรษที่ 16 ในหลายประเทศ และด้วยคุณลักษณะของข้อเสนอแนะกลวิธีการปกครองในแต่ละสถานการณ์ อันแสดงถึงไหวพริบปฏิภาณในการปรับเปลี่ยนจากการมีคุณธรรมสู่การละทิ้งคุณธรรมในทางปฏิบัติ จากการปฏิบัติอันดีงามสู่ความชั่วร้าย จากความมีเมตตาสู่ความโหดร้ายป่าเถื่อน และทุกๆ รูปแบบของการปฏิบัติในทำนองนี้ จึงก่อเกิดการนิยามคำเรียกแนวคิดและการกระทำแบบนี้ว่า Machiavellian หรือ การใช้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบาย และ Machiavellianism หรือ แบบของมาเคียเวลลี (แบบใช้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบาย)

อย่างไรก็ตาม แม้โดยทั่วไปมาเคียเวลลีจะแนะนำและยกตัวอย่างทุกวิธีการ อันจะนำพาเจ้าผู้ครองนครไปสู่ความสำเร็จในการปกครองรัฐ ไม่ว่าวิธีการนั้นจะดำเนินไปในทางคุณธรรม หรือไร้คุณธรรมก็ตาม หากคุณธรรมสำคัญประการหนึ่งที่มาเคียเวลลีเน้นย้ำ นั่นก็คือ เจ้าผู้ครองนครต้องระลึกอยู่เสมอว่าสวัสดิภาพของรัฐขึ้นอยู่กับประชาชนมากกว่าขุนนาง ประชาชนต้องการเพียงความเสมอภาคหรืออิสรภาพจากการกดขี่ และความผาสุกในบ้านเมือง ในขณะที่ผู้ขึ้นมาเป็นขุนนาง ทั้งที่มาจากตระกูลขุนนางเก่า และขุนนางใหม่ที่มาจากสามัญชนนั้น มุ่งแต่อำนาจและความมั่งคั่ง และไม่อาจไว้วางใจได้โดยสมบูรณ์ การครองอำนาจให้มั่นคงต้องให้ความสำคัญแก่ประชาชน เพื่อแสวงหาการสนับสนุนโดยความจงรักภักดีจากพวกเขา มิใช่ปล่อยให้เหล่าขุนนางถือประโยชน์จากประชาชนผู้ด้อยกว่าในทุกทาง อันเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจากกิเลสและความโลภของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย

ด้วยกาลเวลาที่พ้นผ่านและวิวัฒนาการของโลก The Prince หรือ เจ้าผู้ครองนคร ในโลกปัจจุบันน่าจะได้รับการวิเคราะห์ในมุมมองที่กว้างขึ้น ด้วยมรดกทางความคิดซึ่งมาเคียเวลลีทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังชิ้นนี้ คือบันทึกประวัติศาสตร์ที่ตีแผ่การต่อสู้แย่งชิงทางการเมืองของแผ่นดินหนึ่งในยุคหนึ่ง ให้เราได้เห็นเป็นอุทาหรณ์ ดังนั้นหากเราละทิ้งอคติทุกประการเสีย แล้วหยิบเฉพาะข้อคิดจากข้อเท็จจริงขึ้นมาพิเคราะห์ ก็จะได้ประโยชน์มากมายจากคำชี้แนะของบุรุษผู้ต่ำต้อย ผู้ซึ่งในยามมีชีวิตมิมีผู้ใดให้บทบาทความสำคัญ ทว่าเขาได้ทิ้งข้อเท็จจริงอันยิ่งใหญ่ทางการเมืองไว้ให้พวกเราได้ขบคิด เป็นมรดกทางการเมืองชิ้นสำคัญชิ้นนี้ ชนิดที่ไม่มีบุรุษผู้ใดกล้ากระทำ อันส่งผลให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งรัฐศาสตร์สมัยใหม่ เมื่อหาชีวิตไม่แล้ว

missing image file

สารแสดงความจงรักภักดี

นิกโกโล มาเคียเวลลี

เรียนคารวะท่าน โลเรนโซ ดี ปีเอโร เด เมดีชี ผู้ประเสริฐ

โดยปรกติวิสัยแล้ว ผู้ปรารถนาได้รับความโปรดปรานจากเจ้าผู้ครองนคร มักเข้าเฝ้าพร้อมด้วยสิ่งบรรณาการต่างๆ ที่พวกเขาเห็นว่าสูงค่าที่สุด หรือเห็นว่าจะสร้างความเปรมหทัยอย่างที่สุด เราจึงได้เห็นบ่อยครั้งว่ามีการนำม้า อาวุธ ผ้าทองคำ อัญมณี และเครื่องประดับสูงค่าคู่ควรกับความยิ่งใหญ่ของเจ้าผู้ครองนครมาถวายเป็นของกำนัล ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงปรารถนาจะถวายตัวต่อท่านพร้อมด้วยประจักษ์พยานบางอย่าง อันแสดงถึงความจงรักภักดีของข้าพเจ้า ในบรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่นั้น ข้าพเจ้ามิพบสิ่งใดที่น่าหวงแหน หรือสูงค่ามากไปกว่าแบบจำลองความรู้ความเข้าใจจากการปฏิบัติของมหาบุรุษ ที่ได้สั่งสมมายาวนานด้วยประสบการณ์ตามยุคสมัย และด้วยการอ่านจากตำราโบราณอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้าพเจ้าได้ตริตรองและทบทวนอย่างหนักและถี่ถ้วนมายาวนาน บัดนี้ข้าพเจ้าจึงย่อลงเป็นบันทึกเล่มเล็ก ส่งมาคารวะต่อท่าน แม้ว่าข้าพเจ้าจะวินิจฉัยว่างานชิ้นนี้ไม่สูงค่าคู่ควรแก่การนำมาถวาย ทว่าข้าพเจ้าก็ยังเชื่อมั่นว่า ด้วยความเมตตาท่านจะยอมรับไว้ ด้วยข้าพเจ้าพิจารณาแล้วว่า ข้าพเจ้ามิอาจจัดทำของกำนัลอันยิ่งใหญ่ได้ดีไปกว่านี้ ที่จะให้ท่านสามารถเข้าใจได้ทั้งหมดในเวลาอันสั้น ถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมการเรียนรู้มานานนับปี ด้วยความยากลำบากและภยันตรายนานัปการ ข้าพเจ้ามิได้ตกแต่งงานชิ้นนี้ให้มีถ้อยคำสละสลวยด้วยประโยคอันยืดเยื้อ หรือถ้อยคำรื่นหูและหรูหราใดๆ หรือด้วยกลวิธี และองค์ประกอบภายนอกอื่นใด ซึ่งบุคคลมากมายมักสรรหามาประดับประดาและพรรณนางานของเขา ด้วยข้าพเจ้ามิปรารถนาให้งานชิ้นนี้ได้รับการยกย่องด้วยสิ่งเหล่านั้น หากแต่ข้อเท็จจริงของเนื้อหา และน้ำหนักของแก่นใจความต่างหากที่จะทำให้เกิดคุณค่าควรแก่การยอมรับ อีกทั้งข้าพเจ้ามิปรารถนาให้ผู้ใดคิดเห็นว่านี่เป็นการอวดดี ที่บุคคลหนึ่งผู้ต่ำต้อยและอยู่ในสถานะอันควรเจียมตน บังอาจแสดงวาทกรรม และกำหนดกฎเกณฑ์การบริหารบ้านเมืองต่อเจ้าผู้ครองนคร หากแต่เพราะเหตุใดนั้นฤๅ ก็เฉกเช่นเดียวกับที่ผู้วาดภาพภูมิทัศน์จะต้องวางตนเองอยู่เบื้องล่างบนที่ราบ เมื่อจะพิจารณาถึงธรรมชาติของเทือกเขาและสถานที่อันสูงส่ง และเมื่อต้องการพิจารณาถึงพื้นที่ราบ เขาก็ต้องวางตนเองขึ้นไปอยู่บนเทือกเขาสูงนั่นเอง ในทำนองเดียวกันการจะเรียนรู้ธรรมชาติของประชาชนจะต้องวางตนเป็นเจ้า และการที่จะเรียนรู้ธรรมชาติของเจ้าผู้ครองนครให้ได้ดีนั้น ก็ต้องวางตนเป็นประชาชน

เช่นนี้แล้ว ขอท่านโปรดรับของกำนัลเล็กน้อยชิ้นนี้ ซึ่งข้าพเจ้ามอบคารวะด้วยจิตวิญญาณไว้ด้วยเถิด หากท่านได้อ่านและพิจารณาโดยตั้งหทัยมั่นแล้ว จะทราบถึงความปรารถนาอันเปี่ยมล้นในจิตใจของข้าพเจ้า ที่ปรารถนาให้ท่านบรรลุความยิ่งใหญ่ ซึ่งโชคชะตาและคุณธรรมของท่านได้ให้คำมั่นไว้ และหากจากจุดสูงสุดซึ่งท่านดำรงอยู่นั้น จะเหลือบลงมามอง ณ จุดที่ต่ำเหล่านี้ในบางคราว ท่านก็จะตระหนักชัดว่าข้าพเจ้าต้องทนทุกข์ทรมานเช่นไร กับความเลวร้ายอันใหญ่หลวงอย่างต่อเนื่องของโชคชะตา

1 รัฐภายใต้

เจ้าผู้ครองนครมีกี่ประเภทต่างถูกครอบครองโดยวิธีใด

ทุกรัฐและอาณาจักรทั้งปวง ที่มีอำนาจและยังคงมีอำนาจปกครองเหนือมนุษย์ ดังที่เคยเป็นมาและยังคงเป็นอยู่นั้น หากมิใช่สาธารณรัฐ ก็ต้องเป็นรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนคร อย่างใดอย่างหนึ่ง รัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครมีทั้งที่สืบทอดโดยสายโลหิต ดังเช่นตระกูลของเจ้าผู้ครองนครที่สืบต่อกันมาช้านานรุ่นต่อรุ่น และมีทั้งรัฐใหม่ ซึ่งรัฐใหม่ภายใต้เจ้าผู้ครองนครมีทั้งแบบเป็นรัฐใหม่โดยสมบูรณ์ เช่น มิลาน ภายใต้ปกครองของฟรันเชสโก สฟอร์ซา[1] และแบบที่เป็นส่วนเข้าไปผนวกกับรัฐเดิมภายใต้เจ้าผู้ครองนครที่มีการสืบตระกูลกันมาอยู่แล้ว ซึ่งเจ้าผู้ครองนครเหล่านั้นรับส่วนใหม่นี้เข้าไป เหมือนเช่นอาณาจักรเนเปิลส์แห่งกษัตริย์สเปน อาณาเขตปกครองที่ได้มาในลักษณะเช่นนี้ มีทั้งที่คุ้นเคยกับการดำรงอยู่ภายใต้เจ้าผู้ครองนครและที่คุ้นเคยกับการมีอิสระมาก่อน มีทั้งที่ได้มาโดยกองกำลังของผู้อื่นและได้มาโดยกองกำลังของตนเอง มีทั้งได้มาโดยโชคชะตาและที่ได้มาโดยคุณธรรม

[1] Francesco Sforza (ค.ศ. 1401–1466) ต้นตระกูลดยุกสฟอร์ซา ผู้ครองนครรัฐมิลาน เดิมเป็นผู้นำกองทหารชาวอิตาลี เคยเป็นทหารรับจ้างให้กับดยุกฟีลิปโป มาเรีย วิสกอนตี (Filippo Maria Visconti) ดยุกแห่งมิลานคนก่อน ภายหลังได้แต่งงานกับบุตรสาวของดยุก เมื่อสิ้นดยุกฟีลิปโปแล้ว ฟรันเชสโก สฟอร์ซาก็นำกองทัพสู้รบจนชนะ และตั้งตนเป็นดยุกคนใหม่แห่งมิลาน มีทายาทสืบต่อมาอีก 5 สมัย

รายละเอียด

Table of Contents

เกี่ยวกับเจ้าผู้ครองนคร

คำนำสำนักพิมพ์

สารบัญ

บทนำ

สารแสดงความจงรักภักดี

1 รัฐภายใต้

2 ว่าด้วยรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครที่สืบทอดโดยสายโลหิต

3 ว่าด้วยรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครอันเป็นรัฐผสม

4 ด้วยเหตุใดอาณาจักรของดาริอุสซึ่งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ครอบครอง จึงมิเกิดการกบฏต่อผู้สืบราชสมบัติจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์

5 ลักษณะวิธีการปกครองสำหรับรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนคร ซึ่งเคยอยู่ด้วยกฎหมายของตนเอง ควรเป็นเช่นไร

6 ว่าด้วยรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครแห่งใหม่ ซึ่งยึดครองมาโดยกำลังอำนาจและคุณธรรมของผู้ยึดครองเอง

7 ว่าด้วยรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครแห่งใหม่ ซึ่งยึดครองมาโดยกองกำลังของผู้อื่นและโชควาสนา

8 ว่าด้วยบรรดาผู้ขึ้นครองนครด้วยความชั่วร้าย

9 ว่าด้วยรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครที่ได้มาโดยพลเมือง

10 กำลังอำนาจที่สำคัญที่สุดของรัฐควรประเมินโดยวิธีการใด

11 ว่าด้วยรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครทางศาสนจักร

12 ว่าด้วยกองทหารหลากหลายรูปแบบและกองทหารรับจ้าง

13 ว่าด้วยกองกำลังเสริม กองกำลังผสม และกองกำลังของตนเอง

14 ภาระหน้าที่ของเจ้าผู้ครองนครในทางการทหาร

15 ว่าด้วยสรรพสิ่งอันทำให้มนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าผู้ครองนครได้รับการสรรเสริญหรือถูกตำหนิ

16 ว่าด้วยความโอบอ้อมอารีกับความตระหนี่

17 ว่าด้วยความโหดร้ายกับความเมตตา การเป็นที่รักดีกว่าเป็นที่เกรงกลัวหรือการเป็นที่เกรงกลัวดีกว่าเป็นที่รัก

18ว่าด้วยวิธีการและหลักปฏิบัติอันเหมาะสมสำหรับเจ้าผู้ครองนครในการธำรงรักษาซึ่งความศรัทธา

19 ว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการเป็นที่หยามหมิ่นและเกลียดชัง

20 ป้อมปราการและหลากหลายสิ่งที่เจ้าผู้ครองนครสร้างทำอยู่ทุกวัน มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์

21 สิ่งที่เจ้าผู้ครองนครควรถือปฏิบัติเพื่อให้เป็นที่ยกย่องสรรเสริญ

22 ว่าด้วยบรรดาราชเลขาธิการของเจ้าผู้ครองนคร

23 ว่าด้วยวิธีหลีกเลี่ยงพวกประจบสอพลอ

24 ด้วยเหตุผลใดบรรดาเจ้าผู้ครองนครอิตาลีจึงสูญเสียรัฐของตน

25 โชคชะตาส่งผลต่อกิจการของมนุษย์ได้มากเพียงไร และจะต้านทานได้ด้วยหนทางใด

26 คำเสนอแนะเพื่อการยึดเหนี่ยวอิตาลีและรักษาเสรีภาพให้อิตาลีพ้นจากเงื้อมมือพวกป่าเถื่อน

จดหมายจากนิกโกโล มาเคียเวลลี ถึง ฟรันเชสโก เวตโตรี[1] ฟลอเรนซ์, 10 ธันวาคม 1513

อิตาลีในยุคสมัยมาเคียเวลลี

 

นิกโกโล มาเคียเวลลี

นิกโกโล มาเคียเวลลี (Niccolò di Bernardo dei Machiavelli) เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญผู้มีชื่อเสียงของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยายุโรป (Renaissance) ซึ่งอยู่ในยุคสมัยเดียวกับผู้มีชื่อเสียงของโลก อาทิ จิตรกร ซันโดร บอตตีเชลลี (Sandro Botticelli) เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) มีเกลันเจโล (Michelangelo) กวีเอก แบร์นาโด เบลลินโชนี (Bernado Bellincioni) นักประพันธ์ มีเกล เด เซร์บันเตส (Miguel de Cervantes) วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) นักประดิษฐ์ นิโคเลาส์ โคเพอร์นิคัส โทรีเนนซิส (Nicolaus Copernicus Torinensis) กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) เป็นต้น

มาเคียเวลลีเกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1469 ณ หมู่บ้านซาน กัสชีอาโน อิน วัล ดี เปซา รัฐฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นบุตรคนที่สามของนักกฎหมายผู้มีชื่อเสียงนามแบร์นาร์โด ดี นิกโกโล มาเคียเวลลี กับบาร์โตโลเมีย ดี สเตฟาโน เนลลี ซึ่งทั้งสองเป็นสมาชิกครอบครัวขุนนางเก่าแห่งทัสกานี นับแต่วัยเยาว์มาเคียเวลลีได้ร่ำเรียนกับ เปาโล ดา รอนชีกลีโอเน ครูสอนภาษาละตินผู้มีชื่อเสียง กระทั่งมีความรู้ภาษาละตินเป็นอย่างดี และสันนิษฐานว่าขณะเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์ เขาได้ร่ำเรียนกับ มาร์เชลโล วีร์จีลีโอ อาดรียานี ปราชญ์ชื่อดังด้วย มาเคียเวลลีมีความรู้ดีเยี่ยมด้านปรัชญามานุษยนิยม (Humanism) อันเฟื่องฟูยิ่งในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของยุโรป

อันที่จริง ประวัติชีวิตในช่วงต้นของมาเคียเวลลีเป็นที่รู้จักน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลผู้มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ในยุคเดียวกับเขา เราทราบเพียงว่าเขาเข้ารับราชการ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงต้นทศวรรษ 1490 และเป็นที่จับตามองเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการทูตเป็นเลขานุการโทแห่งสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ ในปี ค.ศ. 1498 เขาได้ปฏิบัติหน้าที่ทางการทูตให้แก่ฟลอเรนซ์ต่อมาอีกสิบสี่ปี ในระหว่างนั้นเขาได้เดินทางไปยังรัฐอื่นๆ ของอิตาลีหลายแห่ง รวมทั้งราชสำนักฝรั่งเศส และราชสำนักแห่งอาณาจักรแมกซีมีเลียนด้วย เขาได้เข้าพบบุคคลสำคัญระดับสูงสุดของประเทศมากมาย เช่น พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 ซึ่งเขาเข้าพบถึงสี่ครั้ง เข้าพบจักรพรรดิแมกซีมีเลียน เข้าพบพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 รวมทั้งเชซาร์ บอร์จา[1] ผู้ซึ่งเขาประทับใจมาก ในระหว่างการทำงานในตำแหน่งตัวแทนทางการทูต มาเคียเวลลีได้เขียนรายงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และเขียนหนังสือราชการ รวมถึงบันทึกและจดหมายอื่นๆ บ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งมักประกอบด้วยการวิเคราะห์ของเขา แสดงให้เห็นว่าเขามีความสนใจในการเมืองการปกครองอย่างจริงจัง

ยุคสมัยที่มาเคียเวลลีมีชีวิตอยู่แม้จะเป็นยุคทองของการฟื้นฟูศิลปวิทยา ทว่าก็เป็นยุคแห่งสงครามช่วงชิงดินแดนอิตาลีจากต่างชาติ รวมทั้งการต่อสู้แย่งชิงอำนาจเหนือราชรัฐ และนครรัฐต่างๆ ของอาณาจักรอิตาลีเอง การแย่งชิงอำนาจนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขาเป็นอย่างมาก ก่อนหน้าที่มาเคียเวลลีจะได้รับตำแหน่งเลขานุการโทแห่งรัฐฟลอเรนซ์นั้น การปกครองของฟลอเรนซ์ถูกครอบงำโดยนักบวชจีโรลาโม ซาโวนาโรลา[2] ช่วงยุคนี้มาเคียเวลลีเคยได้รับการเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งนี้แล้ว ทว่าไม่ได้รับคัดเลือก กระทั่งนักบวชผู้นี้ถูกประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1498 และตระกูลเมดีชีกลับมามีอำนาจ มาเคียเวลลีจึงได้รับคัดเลือกเข้ารับตำแหน่ง ด้วยหน้าที่การงานนี้เขาต้องเดินทางและปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนเจรจาทางการเมืองระหว่างรัฐและระหว่างประเทศ ทำให้เขาได้เห็นและเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ประกอบกับเขาเป็นบุคคลที่ช่างสังเกตและช่างวิเคราะห์ เขาจึงมีข้อคิดเห็นทางการเมืองการปกครองมาพูดคุยกับมิตรสหายเสมอ ดังจะเห็นได้จากจดหมายที่เขาเขียนถึงมิตรสหายเหล่านั้น ซึ่งบางครั้งเขาก็เขียนเป็นบันทึกเล่าถึงวิธีการปกครองของเจ้าผู้ครองนครที่เขานิยมชมชอบ บางครั้งก็เล่าถึงวิธีการปกครองอย่างเหี้ยมโหดของเจ้าผู้ครองนครผู้ประสบความสำเร็จบางคน แล้วส่งให้มิตรของเขา ดังที่เรายังคงได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน อาทิ A description of the methods adopted by the Duke Valentino when murdering Vitellozzo Vitelli, Oliverotto da Fermo, the Signor Pagolo, and the Duke di Gravina Orsini (วิธีการที่ดยุกวาเลนติโนใช้สังหาร วีเตลอซโซ วีเตลลี, โอลีเวรอตโต แห่งแฟร์โม, ซินญอร์ปาโกโล, และดยุกแห่งกราวีนา ออร์ซีนี) และ ‘The Life of Castruccio Castracani of Lucca by Niccolò Machiavelli and sent to his friends Zanobi Buondelmonti and Luigi Alamanni’ (ประวัติชีวิต กัสตรุชโช กัสตรากานี แห่งลูกา โดย นิกโกโล มาเคียเวลลี ส่งถึง ซาโนบี โบนเดลโมนตี และลุยจี อาลามันนี มิตรของเขา) เป็นต้น

มาเคียเวลลีเป็นบุคคลที่มีความสามารถ และตั้งใจทำงาน เขาใส่ใจในรายละเอียด รายงานแต่ละฉบับของเขามีความละเอียดถี่ถ้วน ผ่านการไตร่ตรอง วิเคราะห์ปัญหาและเสนอวิธีแก้ไขอย่างจริงจัง ทว่าตลอดชีวิตการรับราชการเขาไม่เคยได้รับตำแหน่งสำคัญใดๆ ในรัฐฟลอเรนซ์ และข้อเสนอแนะของเขาแทบไม่ได้รับความสนใจ กระทั่งปี ค.ศ. 1502 ฟลอเรนซ์เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปีเอโร ดี ตอมมาโซ โซเดรีนี[3] ผู้พึงพอใจในการทำงานและชอบพออัธยาศัยของมาเคียเวลลี ได้รับเลือกตั้งเป็นอัศวินผู้ครองนคร (Gonfaloniere for Life) ข้อเสนอของมาเคียเวลลีในการก่อตั้งกองกำลังประชาชนที่เสนอมาช้านานจึงได้รับการพิจารณาจัดตั้งในปี ค.ศ. 1506 และมาเคียเวลลีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการกองทหารแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องรับภาระหน้าที่อันยากเย็นแสนเข็ญ และต้องแก้ปัญหาอันเกิดจากความแตกต่างของประชาชนและผู้นำแต่ละเมือง อีกทั้งงบประมาณก็จำกัด ทว่าด้วยความสามารถของเขาประกอบกับความมุ่งมั่นอุตสาหะ เมื่อกองกำลังประชาชนที่เขาจัดตั้งและวางแผนในการรบ ออกรบเป็นครั้งแรกในการทำสงครามกับปีซาในปี ค.ศ. 1509 ก็ได้รับชัยชนะ ปีซาต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของฟลอเรนซ์ ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักขึ้นมา

ทว่าอนาคตทางราชการของเขาไม่ได้รุ่งโรจน์ไปกว่านี้ ในปี ค.ศ. 1510 ฟลอเรนซ์ต้องเลือกที่จะเข้าข้างฝรั่งเศส ในสงครามแย่งชิงเวนิสระหว่างฝรั่งเศสกับศาสนจักร ซึ่งมีพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 เป็นผู้นำ ทั้งสองเคยเป็นพันธมิตรของฟลอเรนซ์ แต่ฟลอเรนซ์ต้องเลือกข้าง และฝรั่งเศสได้ชัยชนะ แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1512 ฝ่ายศาสนจักรได้ร่วมกับชาวเวนิสและสเปนขับไล่ฝรั่งเศสออกจากอิตาลีสำเร็จ พระสันตะปาปาจึงเข้าโจมตีฟลอเรนซ์ ทว่าครั้งนี้กองกำลังประชาชนของฟลอเรนซ์พ่ายแพ้ยับเยิน พระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 คืนอำนาจแก่ตระกูลเมดีชี โซเดรีนีจึงเนรเทศตัวเองไปจากฟลอเรนซ์ มาเคียเวลลีถูกปลดจากตำแหน่ง และในต้นปี ค.ศ. 1513 โชคร้ายกว่านั้นก็เกิดขึ้นกับมาเคียเวลลี แผนการโค่นล้มตระกูลเมดีชีของปีเอโตร เปาโล โบสโกลี (Pietro Paolo Boscoli) กับ อาโกสตีโน แคปโปนี (Agostino Capponi) ถูกจับได้ ในรายชื่อผู้ร่วมแผนการมีมาเคียเวลลีปรากฏอยู่ด้วย เขาถูกจับกุม เขาไม่ได้กระทำผิดจริงจึงไม่ยอมรับสารภาพ แต่ก็ถูกจำคุกอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาเมื่อคาร์ดินัล โจวันนี ดี โลเรนโซ เด เมดีชี (Giovanni di Lorenzo de’ Medici) ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระสันตะปาปา มีประกาศนิรโทษกรรม มาเคียเวลลีจึงได้รับการปล่อยตัว บันทึกบางฉบับบอกว่าเขาถูกเนรเทศ บ้างก็ว่าเขาเนรเทศตัวเองออกไปอยู่บ้านพักชนบทที่ซานอันเดรอา (San Andrea) ในเปร์กุสซีนา (Percussina) ทางตอนใต้ของฟลอเรนซ์กับภรรยาคือ มารีเอตตา ดี ลูโดวีโก คอร์ชีนี (Marietta di Ludovico Corsini) พร้อมบุตรชาย 4 คน และบุตรสาว 2 คน

การต้องออกจากราชการในเวลาที่ยังมีความกระตือรือร้น ทำให้เขาอยากกลับเข้าไปรับราชการอีก ขณะที่เขาหันไปเขียนหนังสือ โดยเริ่มเขียนงานด้านชีวประวัติและประวัติศาสตร์ นำเสนอแนวความคิดด้านการเมืองการปกครอง เรื่อง Discorsi sopra la prima Deca di Tito Livio (Discourses on Livy) อยู่นั้น เขาได้รีบเร่งเขียนบันทึกชื่อ De Principatibus (The Prince) ไปด้วย เพื่อเสนอต่อดยุกจูเลียโน เด เมดีชี (Giuliano de’ Medici) ทว่าดยุกผู้นี้ถึงแก่กรรมเสียก่อนในปี ค.ศ. 1516 เขาจึงเปลี่ยนคำอุทิศเป็นเสนอต่อโลเรนโซ ดี ปีเอโร เด เมดีชี (Lorenzo di Piero de’ Medici) แทน แต่บันทึกของเขาไม่ได้รับความสนใจจากโลเรนโซ และไม่ได้รับการตีพิมพ์จนกระทั่งปี ค.ศ. 1532 อันเป็นห้าปีหลังจากมาเคียเวลลีเสียชีวิต

ตลอดระยะเวลาที่เขาออกจากราชการนั้น ความช่วยเหลือจากมิตรสหายผู้มีสัมพันธภาพอันดีหลายคนมีมาไม่เคยหยุด มา-เคียเวลลีจึงเริ่มมีโอกาสกลับไปเป็นที่โปรดปรานของตระกูลเมดีชีอีกครั้ง ในช่วงปี ค.ศ. 1520 คาร์ดินัล จูลีโอ ดี จูเลียโน เด เมดีชี (Giulio di Giuliano de’ Medici) ได้มอบหมายให้เขาเขียนบันทึกประวัติศาสตร์รัฐฟลอเรนซ์ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ผลงานวรรณกรรมที่มีมาอย่างต่อเนื่องของมาเคียเวลลีได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมือง และกลุ่มวิจารณ์วรรณกรรม ซึ่งในปี ค.ศ. 1522 สมาชิกบางคนในกลุ่มวางแผนลอบสังหารคาร์ดินัลจูลีโอแต่ถูกจับได้ และในปีถัดมาคาร์ดินัลจูลีโอก็ได้ขึ้นเป็นพระสันตะปาปา ทว่าไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อเขา ผลงานบันทึกประวัติ-ศาสตร์รัฐฟลอเรนซ์ของเขาเสร็จสมบูรณ์และนำเสนอต่อคาร์ดินัล ในปี ค.ศ. 1525 อันเป็นปีที่คาร์ดินัลขึ้นเป็นพระสันตะปาปาเคล-เมนต์ที่ 7 (Pope Clement VII) แห่งโรม ในเวลานั้นมาเคียเวลลียังไม่ละความพยายามที่จะกลับเข้ารับราชการ กลางปี ค.ศ. 1525 เขาจึงเดินทางไปโรม เพื่อเสนอแนะให้พระสันตะปาปาจัดตั้งกองกำลังศาสนจักร แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ดี ด้วยความสัมพันธ์อันดีที่มีกับฟรันเชสโก กวิชชาร์ดีนี เจ้าหน้าที่คนสนิทของพระสันตะปาปา เมื่อเกิดความวุ่นวายทางการเมือง มาเคียเวลลีก็ได้มีโอกาสไปปฏิบัติหน้าที่ทางการทูตอยู่หลายครั้ง กระทั่งในปี ค.ศ. 1527 กองทัพจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เข้าโจมตีโรมและได้รับชัยชนะ พระสันตะปาปาพ่ายแพ้ กลุ่มต่อต้านตระกูลเมดีชีจึงประกาศตั้งฟลอเรนซ์เป็นสาธารณรัฐอีกครั้ง และตระกูลเมดีชีถูกขับออกจากรัฐ มาเคียเวลลีจึงมีความหวังขึ้นมาอีก ทว่าครั้งนี้เขาถูกหาว่าสนับสนุนตระกูลเมดีชี และตำแหน่งของเขาก็ได้ตกแก่ผู้อื่นไปแล้ว หลังการแต่งตั้งนั้นเพียงสิบวันในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1527 มาเคียเวลลีก็เสียชีวิต ในวัย 58 ปี

ผลงานวรรณกรรมเชิงสัจนิยมในช่วงเวลาประมาณ 14 ปี หลังออกจากราชการ เมื่อรวมกับงานเขียนบันทึกและรายงานอันมีคุณค่า นับว่ามาเคียเวลลีสร้างสรรค์ผลงานไว้ไม่น้อย ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง งานเขียนประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ บันทึก บทความ จดหมาย นวนิยาย บทละคร และบทกวี

[1] Cesare Borgia (ค.ศ. 1476-1507) หรือ ดยุกวาเลนติโน (Duke Valentino) บุตรชายพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นดยุกโดยบิดาของตน โดยเริ่มจากการครองรัฐโรมัญญา และด้วยความสามารถทุกด้านทำให้เขาได้ดินแดนมาครอบครองอีกหลายแห่ง แต่ภายหลังก็ต้องสูญเสียไป ก่อนจะเสียชีวิตด้วยอาการป่วย หลังจากบิดาเขาเสียชีวิตได้ไม่นาน

[2] Girolamo Savonarola (ค.ศ. 1452-1498) นักบวชลัทธิโดมินิกันชาวอิตาลี เป็นผู้ครอบงำทางการเมืองในฟลอเรนซ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1494 เป็นผู้นำในการต่อต้านการฟื้นฟูศิลปวิทยา และถูกประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1498

[3] Piero di Tommaso Soderini รัฐบุรุษชาวอิตาลี เคยเป็นเทศมนตรีแห่งรัฐฟลอเรนซ์ ได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งให้ไปเป็นทูตประจำราชอาณาจักรฝรั่งเศส และภายหลังได้รับการเลือกตั้งจากชาวฟลอเรนซ์ให้ดำรงตำแหน่งอัศวินผู้ครองนครแห่งรัฐฟลอเรนซ์

 

missing image file

missing image file

 

เกี่ยวกับเจ้าผู้ครองนคร

The Prince

The Prince หรือ ‘เจ้าผู้ครองนคร’ นี้ นิกโกโล มาเคียเวลลี เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1513 เพื่อถวายต่อเจ้าผู้ครองนครรัฐฟลอเรนซ์แห่งอิตาลีในขณะนั้น เป็นงานเขียนที่รู้จักกันดีในแวดวงรัฐศาสตร์ การเมือง การปกครองของโลก และได้รับการวิเคราะห์แยกแยะในหลากหลายมุมมอง ด้วยเนื้อหาที่กล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงรูปแบบวิธีบริหารการปกครอง อันจะนำพาให้เจ้าผู้ครองนครดำรงตนอยู่ได้ด้วยความยิ่งใหญ่ รักษารัฐของตนไว้ได้อย่างทรงเกียรติภูมิ มาเคียเวลลีกล่าวแก่ดยุกโลเรนโซ ซึ่งเขานำเสนอไว้ว่าเป็นบันทึกสั้นๆ ตามข้อเท็จจริงจากประสบการณ์และการศึกษาสถานการณ์รอบด้านในการรับราชการ 15 ปี ประกอบกับการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับตำราที่มีมาแต่โบราณ

วัตถุประสงค์ในคราวแรกที่มาเคียเวลลีเร่งเขียนบันทึกนี้คือ ต้องการเสนอต่อดยุกจูเลียโน เด เมดีชี เพื่อหวังที่จะได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ดังเช่นที่พรรคพวกในรัฐบาลของสาธารณรัฐหลายคนได้รับโอกาสเช่นนี้จากตระกูลเมดีชี แต่ดยุกผู้นี้ถึงแก่กรรมเสียก่อน จึงได้เสนอต่อดยุกโลเรนโซ เด เมดีชี ผู้ครองนครแต่เพียงผู้เดียวแทน (ในขณะนั้น ดยุกโลเรนโซเองก็เป็นอีกหนึ่งผู้ครองนครร่วมกับดยุกจูเลียโน ผู้เป็นพี่ชาย) ทว่าดยุกกลับมองข้าม

บันทึกเล่มนี้ถูกทิ้งไว้โดยไร้ผู้สนใจไยดีกระทั่งปี ค.ศ. 1516 กระนั้นก็มิบรรลุจุดมุ่งหมายตามประสงค์ของมาเคียเวลลี กระทั่งเขาเสียชีวิต

ในบันทึกฉบับนี้มาเคียเวลลีอภิปรายถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรมกับนโยบายการปกครอง โดยหยิบยกนโยบายทั้งในประวัติศาสตร์การปกครอง และที่เป็นอยู่ในยุคสมัยของเขา เขาตั้งคำถามว่า ผู้ครองนครควรปกครองด้วยวิธีการอย่างไร? ธรรมชาติของอำนาจมีอย่างไร? เจ้าผู้ครองนครที่มีความเมตตา กรุณา โอบอ้อมอารี ซื่อสัตย์ และเป็นที่น่าไว้วางใจนั้น แท้จริงแล้วสามารถใช้อำนาจในการบริหารการปกครองได้หรือไม่? คำตอบในข้อหลังสุดของเขาก็คือ เจ้าผู้ครองนครควรมีคุณสมบัติเหล่านี้ ทว่าในการนำมาใช้เจ้าผู้ครองนครต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับคุณสมบัติเหล่านี้ด้วย หากแนวคิดที่ว่าผู้ทรงคุณธรรมจะได้รับรางวัลเป็นความสำเร็จและความสุขอย่างแน่นอนนั้นเป็นความจริง เจ้าผู้ครองนครผู้มีจริยธรรมอย่างแท้จริงจะต้องประสบความสำเร็จทั้งบนโลกมนุษย์และบนสวรรค์ ทว่ามาเคียเวลลีไม่แน่ใจเช่นนั้น เขานำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มาพิสูจน์ให้เห็นว่า ตัวอย่างของเจ้าผู้ครองนครที่จิตใจอ่อนโยน มีเมตตา และปกครองด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพียงด้านเดียวแล้วประสบความสำเร็จนั้น มีเพียงจำนวนน้อย ส่วนที่เหลือล้มเหลวและพบจุดจบอย่างทุกข์ทรมาน ในขณะที่เจ้าผู้ครองนครที่ใช้เล่ห์ลวง ทรยศหักหลัง กระทำการฆาตกรรม หรือเจ้าผู้ครองนครที่มีจิตใจเหี้ยมโหดประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย ดังนั้น แท้จริงแล้วเจ้าผู้ครองนครควรปฏิบัติเช่นไร เขาเห็นว่าคุณธรรม จริยธรรมนั้นควรมีอยู่เปี่ยมล้น ด้วยเจ้าผู้ครองนครต้องยึดมั่นกับการเป็นคนดี หากแต่การเป็นเจ้าผู้ครองนครจำเป็นต้องบริหารจัดการกับผู้อยู่ใต้การปกครองทุกประเภท ดังนั้นวิธีการที่จะใช้กับนโยบายการปกครองต้องนำคุณสมบัติในทางเลวร้ายมาประกอบด้วย

เนื้อหาของ เจ้าผู้ครองนคร มีทั้งหมด 26 บท และเปิดด้วยสารเรียนคารวะต่อดยุกโลเรนโซ เด เมดีชี แสดงถึงเจตนารมณ์ของมาเคียเวลลี และการออกตัวถึงการใช้ภาษาที่เรียบง่าย ให้เข้าใจกระจ่างชัดที่สุดในเวลาอันรวดเร็ว และหวังอย่างยิ่งว่าจะเป็นที่พึงพอใจและเป็นประโยชน์ของตระกูล เด เมดีชี ในส่วน 26 บทนั้นเป็นการอภิปรายถึงลักษณะวิธีการปกครองสำหรับรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครพร้อมกับยกตัวอย่างวิธีการปกครองของบรรพกษัตริย์ โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน บทที่ 1-11 อภิปรายความแตกต่างของรัฐ หรือรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครประเภทต่างๆ อันได้แก่ รัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครที่สืบทอดโดยการสืบตระกูล หรือทางสายโลหิต รัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครผู้ได้รับการสถาปนาขึ้นมาใหม่จากการช่วงชิงอำนาจ โดยการสงคราม หรือก่อการกบฏ อันเรียกว่ารัฐใหม่ และเจ้าผู้ครองนครผู้นั้นเรียกได้ว่า เจ้าใหม่ รัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครอันเป็นรัฐผสม นั่นคือการที่เจ้าผู้ครองนครคนเดิมผนวกรัฐใหม่ที่ยึดครองมาได้เข้ากับรัฐที่ปกครองอยู่เดิม และรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครทางศาสนจักร จากนั้นอภิปรายถึงวิธีการได้มาซึ่งรัฐนั้นๆ อันได้แก่  ยึดครองมาโดยกำลังอำนาจและคุณธรรมของผู้ยึดครองเอง ยึดครองมาโดยกองกำลังของผู้อื่น ได้มาโดยโชควาสนา ขึ้นครองอำนาจด้วยความชั่วร้าย และขึ้นครองอำนาจโดยการยกย่องจากพลเมือง รวมทั้งวิเคราะห์ถึงวิธีการปกครองรัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครซึ่งเคยอยู่ด้วยกฎหมายของตนเองว่าควรธำรงรักษาไว้อย่างไร วิธีการประเมินกำลังอำนาจที่สำคัญที่สุดของรัฐควรทำอย่างไร และยกตัวอย่างเหตุและผลของการครอบครองอาณาจักรของดาริอุสโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ว่าด้วยเหตุใดทายาทของพระองค์จึงสืบราชสมบัติมาได้อย่างสงบเรียบร้อย และมั่นคงปลอดภัยภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ พวกเขาใช้คุณธรรมประการใด วิธีการอย่างไร หรือเป็นเพราะรากฐานที่ดีซึ่งพระองค์ทรงวางเอาไว้

บทที่ 12-14 อภิปรายถึงภาระหน้าที่ทางการทหารของเจ้าผู้ครองนคร ความแตกต่างของกองกำลังประเภทต่างๆ ในการจัดตั้งกองทัพ  อันได้แก่ กองทหารอาสาหลากหลายรูปแบบ กองทหารรับจ้าง กองกำลังเสริม กองกำลังผสม และกองกำลังของตนเอง รวมถึงวิธีดำเนินการควบคุมกองกำลังทางทหารประเภทต่างๆ ที่เหมาะสมสำหรับเจ้าผู้ครองนครในฐานะผู้นำกองทัพ กล่าวถึงข้อดีข้อเสียของกองกำลังแบบต่างๆ โดยมาเคียเวลลีลงความเห็นว่า กองกำลังทั้งหลายที่เป็นของผู้อื่นนั้นไม่มีความดีสำหรับเจ้าผู้ครองนครแต่อย่างใด การที่จะให้สถานะของเจ้าผู้ครองนครและรัฐมั่นคงปลอดภัยได้นั้น จะต้องมีกองกำลังของตนเอง

บทที่ 15-23 อภิปรายคุณสมบัติและบุคลิกภาพของเจ้าผู้ครองนคร เช่นไรที่จะได้รับการยกย่องหรือสมควรถูกตำหนิ มีความเอื้ออารี ความตระหนี่ถี่เหนียว ความโหดร้าย หรือความเมตตา เจ้าผู้ครองนครควรเป็นที่รักดีกว่าเป็นที่เกรงกลัว หรือการเป็นที่เกรงกลัวนั้นดีกว่า และวิธีปฏิบัติตนที่เหมาะสมสำหรับเจ้าผู้ครองนคร ทำอย่างไรจึงจะสามารถธำรงรักษาซึ่งความเชื่อมั่นศรัทธา ไม่เป็นที่หยามหมิ่นและเกลียดชัง เจ้าผู้ครองนครควรถือปฏิบัติเช่นไรจึงจะเป็นที่ยกย่องสรรเสริญ โดยเน้นว่าการหลีกเลี่ยงการเป็นที่หยามหมิ่นและเกลียดชังนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด โดยอภิปรายถึงอุปนิสัยตลอดจนพฤติกรรมของเจ้าผู้ครองนคร อันจะนำพาไปสู่การหยามหมิ่นและเกลียดชังโดยรายละเอียด และวิเคราะห์ว่าไม่ว่าจะเป็นอุปนิสัยชั่วร้าย มุทะลุดุดัน โอบอ้อมอารีมีเมตตา ก็ล้วนนำพาไปสู่การหยามหมิ่นได้ทั้งสิ้น หากเจ้าผู้ครองนครไม่สุขุมรอบคอบในการคิดพิจารณาและนำมาใช้ให้เหมาะสมแก่โอกาสและกาลเวลา พร้อมกับยกอุทาหรณ์จากกรณีต่างๆ ในประวัติศาสตร์ และที่เกิดขึ้นให้เห็นในยุคของเขา นอกจากนี้ยังวิเคราะห์ถึงสิ่งรอบข้างเจ้าผู้ครองนครด้วยว่า สิ่งใดยังประโยชน์ต่อการดำรงตนอย่างมั่นคงปลอดภัยของเจ้าผู้ครองนคร การสร้างป้อมปราการใหญ่โตมีประโยชน์หรือไม่ อย่างไร หรือการเป็นที่รักของประชาชนนั้นดีกว่า บรรดาคนสนิทรอบกายของเจ้าผู้ครองนครส่งผลอย่างไรกับตัวเขา หากเขาเลือกคนดี มีสติปัญญาจะดีต่อตัวเขา ทว่าเขาต้องมีวิธีปฏิบัติตนให้อยู่เหนือกว่าและควบคุมคนเหล่านี้ให้ได้ และสิ่งสำคัญคือต้องหลีกเลี่ยงพวกประจบสอพลอ

บทที่ 24-26 อภิปรายสถานการณ์ทางการเมืองของอิตาลี กล่าวถึงเหตุอันทำให้เจ้าผู้ครองนครของอิตาลีต้องสูญเสียรัฐของตน เป็นเพราะโชคชะตาส่วนหนึ่ง หากแต่อีกส่วนหนึ่งเจ้าผู้ครองนครจะต้องเป็นผู้เลือกและดำเนินการด้วยไหวพริบอันชาญฉลาด มิปล่อยโชคเคราะห์ไปตามยถากรรม และท้ายสุดเขาได้กล่าวในเชิงยกย่องตระกูล เด เมดีชี ด้วยคุณสมบัติเป็นเลิศทุกประการอันเหมาะสมแก่การเป็นเจ้าผู้ครองนครนั้น ดยุกคือผู้ที่ถูกส่งมาเพื่อนำพาอิตาลีให้พ้นจากความทุกข์ทรมานจากสถานการณ์อันมืดมนของบ้านเมือง โดยแนะว่าหากดยุกดำเนินตามข้อเสนอแนะที่เขาวิเคราะห์และนำมาอภิปรายทั้งหมดแล้ว ดยุกก็จะเป็นเจ้าผู้ครองนครที่เกรียงไกร นำพารัฐภายใต้การปกครองของตนให้มั่นคง ยิ่งใหญ่อย่างยืนยาวในอิตาลีได้

กล่าวโดยสรุป บันทึก เจ้าผู้ครองนคร นี้ มาเคียเวลลีได้เสนอแนะกลวิธีและวิถีทางที่เจ้าผู้ครองนครควรนำมาใช้ในการบริหารการปกครองเพื่อให้ตนเองและรัฐของตนอยู่รอด โดยยึดความมั่นคง เป็นหนึ่งเดียว รวมทั้งความอยู่รอดดังกล่าวเป็นหลัก ขณะที่ข้อควรคำนึงอื่นๆ อันได้แก่ คุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความถูกต้อง แม้มาเคียเวลลีจะยกย่องว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับเจ้าผู้ครองนคร หากแต่ให้เก็บไว้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่ว่าการได้มาซึ่งรัฐนั้นๆ จะด้วยโชคชะตาหรือความสามารถก็ตาม ด้วยเหตุที่วันเวลาในยุคของเขาเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงทางการเมืองและการสงคราม หาเสถียรภาพในการปกครองได้ยาก เมื่อได้รัฐมาแล้วเจ้าผู้ครองนครต้องเข้าใจถึงนโยบายการบริหารที่จะทำให้รัฐยืนหยัดภายใต้การปกครองของตน โดยไม่ต้องสูญเสียรัฐไป แม้จะต้องนำกลวิธีอันแสดงให้เห็นถึงการขาดคุณธรรมประการต่างๆ มาใช้ก็เป็นเรื่องจำเป็น โดยกลวิธีทั้งปวงที่เขาหยิบยกมาวิเคราะห์ล้วนมาจากสถานการณ์ทางการเมืองการปกครอง นับแต่ประวัติศาสตร์ยุคโบราณจนถึงช่วงเวลาอันเป็นยุคสมัยของเขา ทั้งที่เขาศึกษาจากตำราและได้สัมผัสจริง

ทั้งนี้ เจ้าผู้ครองนคร หรือ The Prince เป็นเพียงบันทึกสั้นที่นำเสนอแนวความคิดและวิธีการปกครองเพื่อการธำรงรักษารัฐโดยสรุป หากผู้อ่านปรารถนาจะศึกษาถึงเนื้อหาแต่ละประเด็นอย่างละเอียด รวมทั้งประเด็นและแง่มุมอื่นๆ ด้วยรูปแบบการนำเสนอของมาเคียเวลลีจะหาได้จากผลงานอีก 2 ชิ้นของเขา อันได้แก่ Discorsi sopra la prima Deca di Tito Livio (Discourses on Livy) และ Dell’ arte della guerra (The Art of War) ผู้อ่านจะได้เห็นแนวความคิดทางการเมืองการปกครองของมาเคียเวลลีในรายละเอียดมากยิ่งขึ้น

คำนำสำนักพิมพ์

มีคำกล่าวที่ว่า “ใครที่เรียนรัฐศาสตร์แล้วไม่ได้อ่านงานเขียนของมาเคียเวลลี ถือว่าไม่ได้เรียนรัฐศาสตร์” นั้นคงไม่กล่าวเกินจริง ผลงานของเขาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาตลอดทุกยุคสมัย แต่มีหนึ่งในงานเขียนที่เขาได้บันทึกไว้ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ด้วยคำสอนบางอย่างที่ไม่ควรเผยแพร่ จึงทำให้หนังสือที่มีชื่อว่า  เจ้าผู้ครองนคร เล่มนี้ กลายเป็นหนึ่งในหนังสือต้องห้ามในช่วงเวลาหนึ่ง เขาเป็นคนแรกที่ตั้งทฤษฎีของความคิดทางการเมืองด้วยการศึกษาธรรมชาติของมนุษย์ ในภายหลังบันทึกฉบับนี้เป็นที่กล่าวขานจนถึงปัจจุบันด้วยเนื้อหาที่กล่าวอย่างตรงไปตรงมาถึงรูปแบบวิธีบริหารการปกครอง อันจะนำพาให้เจ้าผู้ครองนครดำรงตนอยู่ได้ด้วยความยิ่งใหญ่ รักษารัฐของตนไว้ได้อย่างทรงเกียรติภูมิ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมมาเคียเวลลีจึงได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งรัฐศาสตร์สมัยใหม่

หนังสือ เจ้าผู้ครองนคร จะเสนอแนวคิด แนะกลวิธีการปกครองและตีแผ่วิธีการอันแฝงเร้นในการปฏิบัติเพื่อจัดการกับปัญหาทางการปกครอง (บางครั้งก็ไร้คุณธรรม) อันแสดงถึงไหวพริบปฏิภาณในการนำพาเจ้าผู้ครองนครไปสู่ความสำเร็จในการปกครองรัฐ ไม่ว่าวิธีการนั้นจะดำเนินไปในทางคุณธรรมหรือไร้คุณธรรมก็ตาม หากนำข้อคิดมาพินิจพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงแล้ว ถ้าเราคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ไม่ว่าวิธีการนั้นจะเป็นเช่นไรก็ตามควรกระทำการนั้นเสียเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศชาติ

สำนักพิมพ์ แอร์โรว์ มัลติมีเดีย

สารบัญ

บทนำ 29

สารแสดงความจงรักภักดี นิกโกโล มาเคียเวลลี 35

เรียนคารวะท่าน โลเรนโซ ดี ปีเอโร เด เมดีชี ผู้ประเสริฐ

บทที่ 1 39

รัฐภายใต้เจ้าผู้ครองนครมีกี่ประเภท

ต่างถูกครอบครองโดยวิธีใด

บทที่ 2 41

ว่าด้วยรัฐภายใต้เจ้าผู้คร


รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (73 รายการ)

www.batorastore.com © 2024