ไม้เท้าสีชมพู (ไพบูลย์ พันธุ์เมือง)

ไม้เท้าสีชมพู (ไพบูลย์ พันธุ์เมือง)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: ไม้เท้าสีชมพู
ของหมด (ต้องการสินค้า)
ราคา: 150.00 บาท 97.50 บาท
ประหยัด: 52.50 บาท ( 35.00% )

เนื้อหาบางส่วน

ไม้เท้าสีชมพู

๑ ถนนทราย

ถนนสายนั้นตัดมาจากตัวเมือง มาสิ้นสุดการลาดยางที่ตลาดท่าซุง ต่อจากนั้นก็มีสภาพเป็นถนนทราย  หน้าแล้งเต็มไปด้วยฝุ่น หน้าฝนเป็นแอ่งทรายมีน้ำขัง  ตัดผ่านออกไปทางทิศเหนือ ผ่าน ๓ อำเภอ น่าจะเรียกว่าเป็นทางเกวียน มากกว่าที่จะเรียกว่าถนน  เพราะยานพาหนะประจำถนนสายนี้คือเกวียนเทียมควาย และรถยนต์รุ่นบุกเบิกอีก ๒-๓ คัน ที่แล่นรับส่งผู้โดยสารอยู่แค่บ้านหาดทรายกับตลาดท่าซุง ในระยะทางประมาณ ๘-๙ กิโลเมตร 

ส่วนใครจะเดินทางไปให้สุดถนนสายนี้ คืออีก ๓ อำเภอ จะต้องเดินไป ด้วยเท้า แต่ส่วนใหญ่พอเลยจากบ้านหาดทรายไปแล้ว ผู้คนมักจะเลือกเดินทาง ไปทางเรือออกทางทะเลมากกว่า

            เช้าวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ.๒๔๙๑ เด็กนักเรียนตัวน้อยเจ็ดแปดคน เดินหิ้วกระเป๋า สมุด ดินสอและหนังสือ บางคนถือกระดานชนวนไปแผ่นเดียว พากันเดินย่ำไปตามรอยล้อรถยนต์ ที่บดทับไว้กลางถนนทราย ที่ฝนเพิ่งตกติดต่อกันมาสี่ห้าวัน บนถนนทรายมีน้ำขังอยู่เป็นแอ่ง ๆ รอยล้อรถยนต์ที่บดทับลงไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า กลายเป็นร่องขนาดใหญ่ ๒ ร่อง คู่ขนาน บางตอนเป็นแอ่งน้ำสีขุ่นลึกเลยตาตุ่ม เด็กๆ ชอบเดินลงไปลุยเล่น  เพราะแต่ละคนไม่ได้สวมรองเท้า

            จากหมู่บ้านไปโรงเรียน ที่เด็ก ๆ ต้องย่ำไปบนถนนทราย มีระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร สองข้างทางหรือถนน ส่วนใหญ่เป็นสวนมะพร้าวสลับป่าละเมาะ บางที่มีมะพร้าวปลูกไว้อย่างหร็อมแหร็ม เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของครอบครองไว้หมดแล้ว ไม่มีที่ว่างเปล่า...

            “รถบ่าวภาเพิ่งออกไปท่าซุง ก่อนเรามาสักครู่นี่เอง” เลี่ยมเด็กชายร่างกายล่ำสัน ตัวโตกว่าเพื่อนเปรยขึ้น  ขณะก้มลงมองรอยล้อรถ

คำว่า “บ่าว” ในภาษาใต้มีความหมายว่าน้า หรือพี่ก็ได้สุดแท้แต่อายุของผู้เรียก

“รู้ได้อย่างไรว่า รอยนี้เป็นรถบ่าวภา” เอียดนักเรียนตัวเตี้ยกว่าเลี่ยมถาม

“รถบ่าวภาร้อยล้อเป็นเส้นหยัก ๆ รถบังหมานรอยล้อเป็นบั้ง ๆ” เลี่ยมอธิบาย

“แล้วรู้ได้อย่างไร ว่ารถบ่าวภาแล่นไปทางท่าซุง อาจจะไปบ้านหาดทราย ทางเดียวกับเราก็ได้” เอียดแย้ง

“รู้ซี...รถวิ่งไปทางไหน ล้อรถจะตะกุยดินมาข้างหลัง เป็นลูกคลื่น นี่นายดูซี” เลี่ยมชี้ให้ดูรอยล้อรถ

“รถบังหมานกับรถบ่าวภา ใครชอบขี่คันไหน” เอียดถามมั่ง

“เราชอบรถบังหมาน” เลี่ยมว่า

“เราชอบรถบ่าวภา” เพิ่มบอก

“เราชอบทั้งสองคัน”  แอบบอก

เด็ก ๆ เลยชิงกันตอบ บ่าวภามั่ง บังหมานมั่ง ว่ากันระงม

“พอ ๆ ๆ... งั้นช่วยบอกทีซิว่า ทำไมชอบรถบังหมาน ทำไมชอบรถบ่าวภา”  เอียดถามความเห็นเพื่อนๆ

“รถบังหมานแล่นเร็วเหมือนเรือบิน รถบ่าวภาแล่นช้าเหมือนเต่า”  เด็กคนหนึ่งว่า

“แต่เต่าเคยชนะกระต่ายมาแล้ว” เพิ่มว่า

แล้วเด็ก ๆ ก็เลยเถียงกันอีก เพราะความชอบที่ไม่เหมือนกัน สุดท้ายเอียดก็เลยตัดสินให้ว่า

“ที่พูด ๆ นี่ ใครเคยขี่รถบ่าวภา หรือรถบังหมานบ้าง” เด็ก ๆ ทุกคนเงียบ ไม่มีเสียงตอบ

“รถยนต์เขาไม่รับพวกเราหรอก เราไม่มีค่ารถให้เขา” เด็กคนหนึ่งเปรยขึ้นเบา ๆ

“ถ้าเรามีรถถีบกันคนละคันก็ดีนะ จะได้ถีบไปโรงเรียนสนุก ๆ  แล้วก็ไม่เหนื่อยด้วย” เพิ่มเปลี่ยนเรื่อง

“นายขี่เป็นหรือ” เลี่ยมถาม

รถถีบที่เด็ก ๆ เรียก หมายถึงรถจักรยาน ซึ่งยังมีน้อยเต็มทีในสมัยนั้น

“คิดว่าหัดไม่ยากก็แล้วกัน” เพิ่มตอบ

พูดถึงรถถีบทำให้เพิ่มนึกถึงพ่อ นี่ถ้าพ่อของเขายังมีชีวิตอยู่ เขาคงมีจักรยานขี่ไปนานแล้ว พ่อเคยรับปากว่าจะซื้อจักรยานให้ แต่พ่อก็มาตายไปเสียก่อนเมื่อปีที่แล้ว

พ่อของเพิ่มเป็นคนขยัน ใคร ๆ ก็รู้กันทั้งหมู่บ้าน บุหรี่ไม่สูบ เหล้าไม่ดื่ม ไม่เล่นการพนันทำแต่สวน ขึ้นแต่น้ำตาล(ปาดตาล) ทำเงินให้แม่ของเพิ่มสร้างฐานะได้ก่อนใคร ๆ พ่อสร้างเรือนกระดานหลังใหญ่ ให้แม่กับลูก ๆ ได้อยู่อาศัย สร้างสวนมะพร้าวไว้ถึง ๒ แห่งให้ลูกเมียที่อยู่ข้างหลัง ไม่อย่างนั้นลำพังอาชีพแม่ค้าขนมจีนหาบเร่ของแม่  คงไม่สามารถจะเลี้ยงดูลูกได้ถึง ๓ คน

การตายของพ่อ ทำให้เพิ่มเสียเวลาเรียนไป ๑ ปี เพราะตอนพ่อเจ็บหนักแม่ไม่สามารถจะส่งเพิ่มไปโรงเรียนได้ แม่เพิ่งเอาเพิ่มเข้ามาเรียน เมื่อเพิ่มอายุย่างเข้าปีที่ ๘ แล้ว

วันแรกที่แม่พริ้งพาเพิ่มไปเข้าโรงเรียน ครูนึกว่าเพิ่มไม่เคยร่ำเรียนอะไรมาเลย จึงส่งไปให้อยู่ชั้น ป.เตรียม ข.กับครูระเบียบ

ชั้นเตรียม ก. ข. และ ค. เป็นชั้นสำหรับฝึกเด็กก่อนที่จะมาเข้าเรียนจริงในชั้น ป.๑ เด็กบางคนต้องเรียนชั้นเตรียม ก. ข. และ ค. อยู่ถึง ๓ ปีก็มี เรียกว่าถ้าอ่านหนังสือยังไม่ออก ทำเลขบวกลบยังไม่ได้ ครูก็ไม่ให้ขึ้นมาเรียนชั้น ป.๑

ชั้นเรียนของครูระเบียบมีอยู่ ๒ ชั้น คือ ก. และ ข. มีนักเรียนชั้นละเกือบ ๕๐ คน เพราะเป็นชั้นกักเด็ก ที่ไม่สามารถจะเลื่อนขึ้นไปเรียนชั้น ป.๑ ได้ มีจำนวนเด็กตกปีละค่อนข้างมาก การสอนของครูระเบียบใช้วิธีให้เด็กเก่าสอนเด็กใหม่ ฝึกอ่านฝึกเขียนกันไปเอง โดยครูคอยแต่คัดตอนสิ้นปี ว่าใครรู้สระ พยัญชนะ รู้จักเลข ๑ ถึง ๑๐๐ ก็จะเลื่อนให้ขึ้นชั้น ก. จากชั้น ก.อ่านออกเขียนได้แล้วจึงจะให้เรียนชั้น ป.๑ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สมัยนั้น ใช้เวลาเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมปีที่ ๔ นานถึง ๗ ปีก็มี

แต่เพิ่มนับว่าโชคดี วันที่เพิ่มได้เลื่อนขึ้นเรียนชั้น ป.๑ เป็นวันที่เพิ่มเรียนอยู่ชั้น ข. ของครูระเบียบมาแล้วถึง ๔ เดือน

วันนั้นเพิ่มจำได้ว่า กำลังชวนเพื่อน ๆ เล่นทายรูปภาพในหนังสือ โดยก่อนเปิดจะตั้งปัญหาทายกันว่า หน้าที่จะเปิดเป็นภาพอะไร คนหรือสัตว์ ผู้ทายถูกจะได้เขกเพื่อนที่ทายผิดคนละ ๑ ที ปรากฏว่าเพิ่มได้เขกเพื่อนเสียจนเบื่อ ตอนนั้นครูระเบียบสั่งให้เด็กทุกคน เอาหนังสือขึ้นมาหัดอ่าน แต่เพิ่มไม่อ่านจึงถูกครูดุ

“ครูสั่งให้อ่านหนังสือทำไมไม่อ่าน หา” ครูระเบียบเข้ามาเงื้อไม้เรียว เพิ่มนั่งหน้าถอดสี

“ผมอ่านได้หมดแล้ว” เพิ่มมองไม้เรียวในมือครู ตอบเสียงสั่น

“อ่านได้หมดแล้ว หมดทั้งเล่มนะหรือ” ครูระเบียบยิ้มเยาะ “ไหนอ่านให้ดูซิ เอาหน้านี้ก็แล้วกัน...” ครูระเบียบกางแบบหัดอ่านหนังสือไทยเล่ม ๑ ตอนต้น ให้ตรงหน้า

“ป้ากะปู่กู้อีจู้  ป้าดูปู่กู้อีจู้...” เพิ่มอ่านเสียงแจ้ว

“ลองหน้านี้ซี...”  ครูระเบียบเปิดหนังสือหน้าใหม่ ข้ามไปหลายหน้า

“พี่สอางค์กับพี่สะอาด ถือกระจาดไปซื้อผัก ซื้อผ้า ซื้อเสื้อ ซื้อสบู่ถูตัว...ซื้อ...”(ข้อความมีภาพปนอยู่ด้วย คำยากมีรูปมาแทน)

“หน้านี้ละ เอ้า... ลองอ่าน...” ครูระเบียบเปิดหนังสือหน้ามีรูปภาพผู้หญิง นั่งเลี้ยงลูกอยู่ในถ้ำ นุ่งใบไม้ มีภาพผู้ชายแบกสัตว์ป่า มือซ้ายถือท่อนไม้เดินเข้ามาในถ้ำ เพิ่มอ่านอีก

“แต่ก่อนนานมาแล้ว คนเรายังโง่ บ้านเรือนก็ยังไม่มี ต้องอาศัยอยู่ในถ้ำ...”

“พอ ๆ ใครสอนเธออ่านได้เก่งอย่างนี้” ครูระเบียบเปลี่ยนเสียง

“แม่ แม่ผมสอนทุกคืน แม่ผมจบปอสี่เหมือนครู” เพิ่มตอบน้ำเสียงภูมิใจ

 

ครูใหญ่โรงเรียนวัดอำไพประสิทธิ์ เป็นชายร่างใหญ่ผิวขาว อายุประมาณ ๕๐ ปี ท่าทางภูมิฐานสมกับเป็นครูใหญ่ ชาวบ้านบางคนที่ไม่ชอบครูใหญ่ ชอบนินทาครูใหญ่ว่า ครูใหญ่เรียนจบแค่ ม.๓ ครูพฤกษ์จบ ม.๖ กลับได้เป็นครูน้อย ครูใหญ่สอนชั้น ป.๑ ก.และ ป.๑ ข. สองห้อง ครูแสวงสอน ป.๒ กับ ป.๓  ครูพิมพ์พรกับครูระเบียบสอน ป.เตรียม ก. ข. และ ค.

แม่พริ้งเล่าให้เพิ่มฟังว่า ที่แม่ไม่ไปเป็นครูนั้น เนื่องจากเงินเดือนแรกเข้าเดือนละ ๖-๘ บาท แม่อยู่กับบ้านทำสวนขายมะพร้าว ขายน้ำตาลยังได้เดือนหนึ่งตั้ง ๒๐-๓๐ บาท เสียดายที่แม่ไม่อดทน นี่ถ้าแม่อดทนสักหน่อย ป่านนี้เพิ่มก็จะได้เป็นลูกครู โก้เหมือนตาอ๊อดลูกครูพิมพ์พรไปแล้ว

บริเวณโรงเรียนร่มรื่น เพราะอยู่ใต้ร่มเงาของต้นมะม่วงและต้นมะพร้าว ซึ่งเป็นที่ดินของวัด เป็นดินทรายแบบทรายชายทะเล ทั้ง ๆ ที่ทะเลอยู่ห่างออกไปราวครึ่งกิโลเมตร ด้านตะวันออกของโรงเรียนเป็นลานโล่ง ยามแล้งลมจึงพัดหอบเอาทรายและฝุ่นเข้ามาในห้องเรียน ทำให้ต้องคอยปัดกวาดเช็ดถูอยู่บ่อยครั้ง

ข้างอาคารเรียนด้านตะวันตก มีต้นมะม่วงป่าขนาดใหญ่ ๒ ต้น โตกว่า ๑ คนโอบ ผลทั้งดิบและสุกของมัน หล่นลงมาเสมอในหน้าแล้ง แต่ไม่มีใครเอาไปกิน เพราะมีกลิ่นเหม็นชัน จึงปล่อยให้มันสุกหล่นเน่าไปเองตามธรรมชาติ

ถัดจากร่มเงามะม่วงไปประมาณ ๑ เส้น ที่ดินของวัดเป็นป่าพรุ ที่ริมพรุทางวัดได้ขุดสระน้ำไว้สระหนึ่ง เป็นสระน้ำกว้างราว ๑๐ คูณ ๑๕ เมตร น้ำลึกดูใสสะอาด ในสระปลูกบัวหลวงสีแดง ชมพู ขาว บานสะพรั่งตลอดปี มีสะพานและศาลาปลูกยื่นลงไปกลางสระ เด็ก ๆ ชอบนำข้าวห่อไปนั่งรับประทานบนศาลา เพราะได้ทั้งความเพลิดเพลินและถือว่า “ได้บุญ” ไปด้วย ที่ได้โยนเศษอาหาร เศษขนมและข้าวสุกลงไปให้ปลาตอด แต่ก็ต้องระวังอย่าเผลอจุ่มมือจุ่มเท้าลงไป มีปลาชะโดตัวใหญ่อยู่หลายตัว เคยกัดมือกัดเท้าของคน ที่เผลอจุ่มมือเท้าลงไป เข็ดไปหลายรายแล้ว

“นายกินข้าวกับอะไร”  เอียดถาม ก้มลงมองในหม้อข้าวห่อของเพิ่ม

“นกทอด นายล่ะ”

“แย้ปิ้ง” เอียดบอก

พ่อแม่ของเอียดมีอาชีพทำน้ำตาลหวะ และพลอยอาศัยปลูกกระท่อม อยู่ในสวนมะพร้าวที่เพิ่งปลูกใหม่ของบริษัทนครพันธุ์ อันอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของสวนมะพร้าวแม่ของเพิ่ม ที่นั่นมีแย้ชุกชุม

การทำหวะคือการให้คนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของสวนมาทำ แล้วแบ่งผลที่ได้กันคนละครึ่งกับเจ้าของสวน ที่บ้านของเพิ่มคนที่ทำหวะจะเป็นคนมาขึ้นปาดตาล แล้วเจ้าของสวนมะพร้าวทำหน้าที่เคี่ยวน้ำตาลสดให้เป็นน้ำตาลข้นแข็งบรรจุลงปี๊บ พอนำน้ำตาลปี๊บไปขายให้แม่ค้าที่ตลาดท่าซุง ได้เงินเท่าไรก็เอาเงินมาแบ่งตามส่วน กับคนขึ้นปาดตาล ตามที่ได้ตกลงกัน

น้ำตาลสดที่ไหลจากงวงหรือจั่นมะพร้าว จะมีนกหลายชนิดบินมาเกาะปลายงวง คอยอ้าปากดักกินน้ำตาลทีละหยด ทำให้แทนที่น้ำตาลสดจะหยดลงในกระบอกตาล กลายเป็นไหลเข้าปากนกไป มะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาลมักเลือกเอาต้นที่ไม่สูงเกิน และทำรอยบากไว้ข้าง ๆ ตามจังหวะก้าวย่าง  การปีนขึ้นลงต้นมะพร้าวที่ทำน้ำตาล จึงไม่ยากแต่ประการใด ใครใจกล้าหน่อยก็ขึ้นได้

เพิ่มเองยังปีนขึ้นไป เอายางขนุนพันก้านไม้ ไปผูกไว้กับงวงตาล ที่นกชอบมาเกาะรอกินน้ำหวาน พอนกเกาะกรงเล็บเท้าของนกก็จะติดยางเหนียวบินไปไม่ได้ เพิ่มปีนขึ้นไปจับลงมาถอนขนผ่าท้องทำเป็นนกทอด ยิ่งถ้าเป็นวันเสาร์วันอาทิตย์ วันเสาร์โรงเรียนหยุดครึ่งวัน วันอาทิตย์เต็มวัน เพิ่มก็จะทำเป็นกับไม้ไผ่ ดักนกที่มาจ้องกินน้ำตาลสด วันหนึ่ง ๆ เพิ่มได้นกนับสิบตัว

กับดักนกของเพิ่มทำง่าย ๆ  ใช้ไม่ไผ่ขนาดโตกว่าโคนตะเกียบเล็กน้อย ๒ อัน ประกบกันรัดด้วยยางหนังสะติ๊กหรือยางวงหลาย ๆ เส้นให้ติดกัน ใช้ไม้ไผอีกอันยาวประมาณ ๒ นิ้ว ใช้เชือกผูกตรงกลาง นำไม้อันนี้ไปถ่างปลายด้านหนึ่ง ของไม้ไผ่ที่ผูกประกบกันไว้ แล้วนำไปมัดไว้ที่งวงตาล ใช้เชือกยาวขนาดสายว่าว โรยเชือกลงไป คนวางกับต้องหลบซ่อนอยู่ในพุ่มไม้ อย่าให้นกที่บินมากินน้ำตาลเห็น

เมื่อนกมาเกาะก็จะเกาะบนกับไม้ไผ่ แล้วยื่นคอลงไปดูดน้ำตาลสดที่งวงตาล เพิ่มก็กระตุกปลายเชือก กับดักนกไม้ไผ่ที่ถูกถ่างไว้ก็จะกระทบกัน ถูกหัวนกบี้แบนหล่นลงมา วิธีนี้ต้องคอยปีนขึ้นปีนลงต้นมะพร้าว เพื่อถ่างกับไม้ไผ่ดักใหม่ทุกครั้ง ที่ได้นกมา ๑ ตัว

นกที่ได้จากงวงตาลมักเป็นนกตัวเล็ก ๆ จำพวกนกกระจาบ นกกระจิบ แต่ทอดแล้วกรอบ ต้องใช้นกสามสี่ตัว จึงจะพอสำหรับกับข้าวมื้อหนึ่ง  การทำนกทอดหรือแย้ปิ้งของเพิ่มกับเอียด ไม่ยุ่งยากอะไรซึ่งเขาทำกินเองได้ เพียงแค่ถอนขนผ่าท้องนกหรือแย้ที่ถลกหนังแล้ว นำไปคลุกกับขมิ้นและเกลือที่ตำละเอียด ให้ขมิ้นและเกลือจับตัวนกหรือแย้จนทั่ว นำไปทอดหรือปิ้งไฟจนสุกก็เป็นอันว่าเสร็จ

อาหารของเด็ก ๆ ลูกชาวบ้านทุกคน ในแต่ละวันมักไม่พ้นไปจาก แย้ปิ้ง นกปิ้ง ปลาแห้ง ปลาเค็ม ที่วางมาบนก้อนข้าวในหม้ออะลูมิเนียมใบเล็กมีหูหิ้ว  ซึ่งข้าวจะมีปริมาณมากกว่ากับจนเทียบกันไม่ได้ มันเป็นนิสัยที่ถูกสอนกันมาจนเคยชินว่า “อย่ากินกับมากจะเป็นไส้เดือน” (โรคตานขโมย มีอาการผอมแห้ง หน้าเหลือง พุงป่อง)

ห่างจากศาลาใหญ่ที่ใช้เป็นอาคารเรียน ไปทางด้านทิศเหนือประมาณ ๑ เส้น มีต้นประดู่ใหญ่ที่อายุมากกว่า ๑๐๐ ปี ขนาดโคนต้นของมันให้คนไปยืนรายรอบ สักห้าหกคนแล้วกางมือโอบก็โอบไม่รอบ ผู้ใหญ่บางคนเล่าว่า เขาเคยเห็นมันมาตั้งแต่ยังเล็ก มาเรียนในโรงเรียนนี้ ตอนนั้นมันก็โตใหญ่อยู่อย่างนี้ กระทั่งปัจจุบันเขาส่งลูกมาเรียนอีก ต้นประดู่ก็ดูเหมือนจะมิได้โตขึ้นกว่าเดิมสักเท่าใด

รอบ ๆ โคนต้นประดู่  ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกับทางวัดได้บริจาคเงิน  ซื้ออิฐ หิน ปูน ทราย มาก่อขึ้นเป็นพื้นสูงประมาณ ๑ เมตร กว้าง ๒ เมตรโดยรอบ ใช้เป็นที่นั่งนอนพักผ่อน รับลมเย็นได้ทุกโอกาส

ช่วงปลายฤดูฝนเป็นช่วงที่ต้นประดู่ออกดอก  ดอกประดู่จะเหลืองอร่ามเต็มต้น และสลัดกลีบดอกเล็กๆ ร่วงลงโปรยปรายทุกครั้งที่ลมโชย ส่งกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจตระหลบอบอวลไปทั่ว  กลีบดอกสีเหลืองเข้มที่โปรยลงประพรมพื้น มองดูประหนึ่งปูลาดด้วยทองคำ

ตอนเที่ยงวัน บริเวณร่มเงาอันกว้างใหญ่ของต้นประดู่ ถูกใช้เป็นที่ที่แม่ค้านำขนมส้มสูก ลูกไม้นานาชนิดมาขาย มีทั้งขนมจีนจานละ ๒ สลึง ขนมชั้นชิ้นละ ๑ สลึง ขนมลอดช่องไทยใส่ใบเตยหอม ลอดช่องสิงคโปร์ ถ้วยละ ๑ สลึง น้ำแข็งไสใส่ขนมปัง ถ้วยละ ๒ สลึง น้ำแข็งปั้นหรือน้ำแข็งกด อันหรือปั้นละ ๑ สลึง

เป้งกี่ เป็นพ่อค้าชาวจีนที่มาอยู่เมืองไทย และได้เมียเป็นคนไทย เป้งกี่ขายน้ำแข็งไสและน้ำแข็งปั้นที่เด็ก ๆ ชอบ เด็ก ๆ จะพากันมายืนรอเป้งกี่ ไสน้ำแข็งจากแป้นไสลงในอุ้งมือ เมื่อฝอยน้ำแข็งลงไปรวมกันในอุ้งมือเป็นก้อนใหญ่ เป้งกี่จะกดบีบให้มันเป็นก้อนกลม แล้วราดด้วยน้ำหวานสีเขียว สีเหลือง สีแดง หอมกลิ่นน้ำนมแมว  เด็ก ๆ ชอบกินน้ำแข็งปั้นหรือน้ำแข็งกด มากกว่าน้ำแข็งไสใส่ถ้วย เพราะราคาถูกกว่าและดูดได้นาน หมดน้ำหวานแล้วก็ยังไม่ทิ้ง

เป้งกี่มีลูกชายเรียนอยู่ชั้นเดียวกับเพิ่ม เลี่ยมและเอียด ชื่อนพรัตน์ เพื่อน ๆ ชอบเรียกชื่อเล่นว่า “ไอ้เหนียว” เพราะไอ้เหนียวเหนียวสมชื่อ พักเที่ยงไอ้เหนียวไม่เคยแวะที่ไหน พุ่งลิ่วกลับบ้าน ไปกินข้าวต้มหัวไชโป๊ แล้วกลับมากินน้ำแข็งไสใส่ขนมปัง ที่เป้งกี่อีกถ้วยทุกวัน ไอ้เหนียวจึงไม่เคยจ่ายสตางค์เลย

บ้านของเป้งกี่เป็นบ้านหลังเล็ก ๆ เช่าที่เขาปลูกอยู่ริมหนองที่ดินวัด หน้าบ้านติดถนน นอกจากจะขายน้ำแข็งในโรงเรียนแล้ว ที่บ้านเป้งกี่ยังขายน้ำชากาแฟ ขายก๋วยเตี๋ยวและของชำ ให้กับคนในหมู่บ้านอีกด้วย ฐานะของเป้งกี่ไม่ร่ำรวย ไม่มีเรือกสวน นา ไร่ เหมือนชาวบ้านแถบนี้ แต่ลูก ๆ เรียนเก่งสอบได้ที่ ๑ ทุกคน

แม่ให้เงินเพิ่มมาวันละ ๒ สลึง  สลึงแรกหมดไปแล้วกับน้ำแข็งกดของเป้งกี่ เพิ่มเดินเกร่มองไปที่แม่ค้า หวังจะจ่ายสลึงสุดท้าย เขามองเห็นมะมุดผลใหญ่(ไม้ตระกูลเดียวกับมะม่วง) อยู่ในกระจาดส่งกลิ่นหอมหวน แม่เคยสอนนักหนาว่าให้ซื้อของที่กินอิ่ม มันอาจช่วยดับความหิวที่จะเกิดในภาคบ่ายได้ เพิ่มเดินเข้าไปถามราคา

“สลึงเดียวไอ้ไข่”  แม่ค้าบอก

คนภาคใต้ชอบเรียกเด็กผู้ชายว่าไอ้ไข่ โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่า ชื่อจริงชื่อว่าอะไร คำว่าไอ้ไข่กลายเป็นนามของเด็กผู้ชายทุกคน เช่นเดียวกับคำว่า “อีแดง” ซึ่งใช้เรียกเด็กผู้หญิงทุกคนเช่นกัน

เพิ่มหยิบมะมุดผลใหญ่กลมป้อมขึ้นมาสูดดมความหอม ก่อนที่จะกอดไว้แนบอก จนแม่ค้าท้วงว่า

“ระวังนะ ยางมันจะติดเสื้อซักไม่ออก”

ขณะที่มือขวาของเพิ่มล้วงควานลงไปในกระเป๋ากางเกงหาเหรียญสลึง เขาพบรอยขาดเล็ก ๆ ที่รูของมันพอดีกับเหรียญสลึง ใบหน้าจึงถอดสี

เขายืนอ้ำอึ้งครุ่นคิดตามประสาเด็กอยู่ครู่หนึ่ง

“คืนไว้ก่อนนะน้า ผมปวดท้องพอดีสงสัยจะกินไม่ได้” เพิ่มพูดจบทำทีวิ่งไปเข้าส้วม ปล่อยให้แม่ค้าส่งสายตามองตามไปอย่างขบขัน

“กลับไปนี่ต้องให้แม่เปลี่ยนผ้ากระเป๋ากางเกงให้ใหม่เสียแล้ว ปล่อยไว้อย่างนี้คงอดขนมเข้าสักวัน” เพิ่มรำพึง

 

000000

รายละเอียด

ชื่อหนังสือ ไม้เท้าสีชมพู
ชื่อผู้แต่ง ไพบูลย์ พันธ์เมือง
หมวดหนังสือ นวนิยายวัยรุ่น
คำโปรย
“ครูสั่งให้อ่านหนังสือทำไมไม่อ่าน หา”
ครูระเบียบเข้ามาเงื้อไม้เรียว เพิ่มนั่งหน้าถอดสี
“ผมอ่านได้หมดแล้ว” เพิ่มมองไม้เรียวในมือครู ตอบเสียงสั่น
“อ่านได้หมดแล้ว หมดทั้งเล่มนะหรือ” ครูระเบียบยิ้มเยาะ
“ไหนอ่านให้ดูซิ เอาหน้านี้ก็แล้วกัน...”
ครูระเบียบกางแบบหัดอ่านหนังสือไทยเล่ม ๑ ตอนต้น ให้ตรงหน้า
“ป้ากะปู่กู้อีจู้ ป้าดูปู่กู้อีจู้...” เพิ่มอ่านเสียงแจ้ว
“ลองหน้านี้ซี...” ครูระเบียบเปิดหนังสือหน้าใหม่
ข้ามไปหลายหน้า
“พี่สอางค์กับพี่สะอาด ถือกระจาดไปซื้อผัก ซื้อผ้า ซื้อเสื้อ
ซื้อสบู่ถูตัว...ซื้อ...”(ข้อความมีภาพปนอยู่ด้วย คำยากมีรูปมาแทน)
“หน้านี้ละ เอ้า... ลองอ่าน...”
ครูระเบียบเปิดหนังสือหน้ามีรูปภาพผู้หญิง นั่งเลี้ยงลูกอยู่ในถ้ำ นุ่งใบไม้
มีภาพผู้ชายแบกสัตว์ป่า มือซ้ายถือท่อนไม้เดินเข้ามาในถ้ำ เพิ่มอ่านอีก
“แต่ก่อนนานมาแล้ว คนเรายังโง่ บ้านเรือนก็ยังไม่มี
ต้องอาศัยอยู่ในถ้ำ...”
“พอ ๆ ใครสอนเธออ่านได้เก่งอย่างนี้” ครูระเบียบเปลี่ยนเสียง
“แม่ แม่ผมสอนทุกคืน แม่ผมจบปอสี่เหมือนครู”
เพิ่มตอบน้ำเสียงภูมิใจ

รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (87 รายการ)

www.batorastore.com © 2025