แรกรักรัตนโกสินทร์ (นางแก้ว) (EBOOK)

แรกรักรัตนโกสินทร์ (นางแก้ว) (EBOOK)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: แรกรักรัตนโกสินทร์
ของหมด (ต้องการสินค้า)
ราคา: 150.00 บาท 37.50 บาท
ประหยัด: 112.50 บาท ( 75.00% )

เนื้อหาบางส่วน

ตอนที่ 1 บ้านบางปะกอก

 

เด็กหญิงหน้าตาจิ้มลิ้มเกล้าผมจุกแหวกว่ายน้ำอยู่ ในลำคลองกว้าง ท่าทางของเธอดูมีความสุข และเพลิดเพลินใจต่อการว่ายน้ำเล่นข้ามไป-มาหลายเที่ยว

หญิงวัยสี่สิบเศษนามว่านางเหมือน นางตัดผมทรงกระทุ่มซึ่งเป็นที่นิยมตัดกันอย่างทั่วไป ชะเง้อชะแง้แลหาหาหลานตัวโปรดอย่างเป็นห่วง เมื่อหลานดำลงไปนางคอยชะแง้หาว่าเมื่อไหร่จะโผล่ขึ้นมา เมื่อเด็กหญิงโผล่พ้นน้ำมาหายใจ นางค่อยถอนใจอย่างโล่งอกเสียคราหนึ่ง

ความเป็นห่วงอย่างมากมายนี้เด็กหญิงมะลิรู้ดีมาก ความเป็นเด็กจึงเห็นความห่วงของผู้ใหญ่เป็นเรื่องสนุกจึงหาทางแกล้ง ด้วยการดำน้ำหายไปนาน แล้วค่อยดำผุดมาโผล่ตรงหน้าท่าน้ำแล้วคว้าจับข้อเท้าผู้เป็นย่า

“จ๊ะเอ๋ ย่าจ๋า”

“ตาเถรตกน้ำป๋อมแป๋ม เจ้ามะลิ คุณพระคุณเจ้าย่าตกใจแทบตายแล้ว”

เด็กหญิงมีดวงหน้าใสสะอาดส่งยิ้มฟันขาวชอบใจที่แกล้งย่าตนเองได้ เธอเกาะบันไดท่าน้ำ ไม่ยอมขึ้นโดยง่าย ยังคงใช้ปลายขาตีน้ำเล่น ทำเอียงคอล้อเลียนผู้เป็นย่าว่า

“โอ๋ ขวัญเอ๊ยขวัญแม่เถิดหนอเจ้าขา ขวัญจ๋าบินหายไปเสียข้างไหน มะลิจะไปตามให้ อยู่ฝั่งฟากข้างโน้นหรือไม่เจ้าขา”

“อย่าหาเรื่องไปว่ายข้างโน้นอีกเจ้ามะลิ ย่ารู้ทันเจ้าดอก ขึ้นน้ำบัดเดี๋ยวนี้” ย่าส่งเสียงรู้ทัน ทำหน้าดุแต่ไม่จริงจังนัก

เด็กหญิงเห็นย่าไม่พอใจจึงรีบขึ้นจากน้ำเนื้อตัวเปียกปอน ผู้เป็นย่าลูบเนื้อลูบตัวหลาน ปากก็บ่นร่ำไปว่า

“ดูที เล่นน้ำเสียจนตัวซีดตัวเหลืองไปหมดแล้ว เร่งเข้าอย่าช้าที ไปผลัดผ้าเสียให้เร็ว”

                เมื่อโดนบ่นแทนที่จะทำหน้ามุ่ยหน้างอ หากเจ้าตัวยังทำยิ้มฟันขาวให้ผู้เป็นย่า ออดอ้อนเอาใจผู้มากวัยกว่าอย่างน่ารักว่า

                “ย่าจ๋ามะลิขอโทษนะจ๊ะ ต่อไปมะลิไม่เล่นน้ำนานให้ย่าเป็นห่วงอีกแล้วจ้ะ”

                “ดีแล้วที่รู้จัดเอาใจเขามาใส่ใจเรา เจ้ารู้ว่าย่าห่วงแล้วเจ้ายังห่วงย่าอีก เป็นเด็กดีนักนะเจ้ามะลิของย่า”

                มะลิยิ้มรับ ขณะที่ย่าโอบบ่าหลาน ต่างพากันเดินขึ้นเรือนหลังน้อยซึ่งอยู่ไม่ห่างจากท่าน้ำมากนัก ครอบครัวนางเหมือนมีความเป็นไท หาได้เป็นทาสบ้านใคร นางและลูกชายดำรงอาชีพค้าขาย ซึ่งต่างจากชาวสยามอื่นๆที่คิดว่าอาชีพค้าขายนี้เป็นอาชีพที่ต้องตากหน้าง้อผู้อื่น และมีแต่เพียงคนต่างชาติเท่านั้นที่คิดทำกัน

ซึ่งการมีความเชื่อเช่นนั้นนางเหมือนไม่เห็นด้วยเลย เพราะนางตั้งตัวได้จากการข้าขายนี้เอง และเมื่อนางได้เงินจึงเก็บไว้ซื้อที่ไร่ที่นาพอได้อาศัยทำกินด้วยความขยันขันแข็ง ในการเป็นหัวแรงใหญ่ของลูกชายคนเดียว 

                ขณะเปลี่ยนผ้าอยู่นั้นนางเหมือนได้เห็นสรีระของหลานสาวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจึงได้เอ่ยขณะนำขมิ้นผสมดินสอพองมาผลัดหน้าถูตัวให้หลานสาว กล่าวไปว่า

                “รู้หรือไม่ เจ้าใหญ่ขึ้นมากแล้วสนะในปีนี้ นี่คงจวนจะถึงผ้า*อยู่แล้ว เจ้าควรเลิกเล่นเป็นทะโทนทะโจนเสียทีนะมะลิ มันจะไม่งาม”

                “ถึงผ้าคืออะไรจ๊ะย่า”

                “มีระดูน่ะสิ ผู้หญิงมีระดูเขาเรียกว่าถึงผ้า เมื่อถึงผ้าก็เป็นสาวเป็นนางแล้ว เจ้าจักได้ตัดจุกไว้ผมกระทุ่มเสียที”

                “ไว้ทรงกระทุ่มสักพัก เมื่อผมยาวมะลิจักไว้ให้ยาวถึงกลางหลัง จักได้งามแบบชาวพระนครสวยมั้ยจ๊ะย่า”    

                “อย่าแก่แดดแก่ลมไปนักเลยเจ้ามะลิ” นางเหมือนผลักศีรษะหลานด้วยความเอ็นดู “บ้านเมืองเรามันร้อน เห็บเหาก็มากโข ไว้ผมยาวจักดูแลไหวหรือ เดี๋ยวเจ้าไปติดเหาคนอื่นมา ทีนี้ได้มายีด้วยใบน้อยหน่าให้เหม็นกันหึ่งไป”

                “เหาแพ้ใบน้อยหน่าหรือจ๊ะย่า”

                “แพ้หรือชนะย่าไม่รู้ดอก แต่ยามเมื่อเยาว์นักบ้านเด็กๆโดนยีผมกันทุกคน ย่าเหม็นจนเวียนหัว”

                “จริงสิ แม้คนยังวิงเวียน เหาตัวกระจิ้ดมันคงเหม็นจนทนไม่ได้ดอกกระมังจ๊ะย่าจ๋า”

                “เจ้ามันช่างพูดช่างจำนรรจ์นัก แล้วเรื่องที่ขานไข เรื่องเรียน เรื่องท่องจำ ยังท่องได้แม่นยำอยู่หรือเจ้า”

                “ท่องได้เขียนได้อยู่ดอกจ้ะย่า ฟังนะจ๊ะ”

                เด็กหญิงบอกพลาง ทรุดนั่งตรงหน้า ท่านั่งพับเพียบ อกเกือบแนบชิดเข่าท่องบทเรียนที่บิดาสอนมาว่า

   นะโมข้าจะไหว้        วระไตรระตะนา
                  ใส่ไว้ในเกษา        วระบาทะมุนี
                 คุณะวระไตร         ข้าใส่ไว้ในเกษี
                เดชะพระมุนี        ขออย่ามีที่โทษา
                 ข้าขอยอชุลี        ใส่เกสีไหว้บาทา
                พระเจ้าผู้กรุณา        อยู่เกษาอย่ามีไภย
                ข้าไหว้พระสะธรรม        ที่ลึกล้ำคำภีร์ใน
                ได้ดูรู้เข้าใจ        ขออย่าได้มีโรคา
                ข้าไหว้พระภิกษุ        ที่ได้ลุแก่โสดา
                ไหว้พระสกิทาคา        อะระหาธิบดี
                ข้าไหว้พระบิดา        ไหว้บาทาพระชะนะนี
                 ไหว้พระอาจารีย์        ใส่เกษีไหว้บาทา
                ข้าไหว้พระครูเจ้า        ครูผู้เฒ่าใส่เกษา
                 ให้รู้ที่วิชา        ไหว้บาทาที่พระครู
                จะใคร่รู้ที่วิชา        ขอเทวามาค้ำชู
                  ที่ใดข้าไม่รู้        เล่าว่าดูรู้แลนา
                ไชยโยขอเดชะ        ชัยชะนะแก่มารา
                 ระบือให้ลือชา        เดชะสามาไชยโย
                ไชยโยขอเดชะ        ชัยชนะแก่โลโภ
                กุมาระกุมารี        ตะรุณีย์ที่เยาว์ไว
                จะฬ่อพอเข้าใจ        ให้รู้จำคำวาที
                ว่าไว้ใน ก กา        ก ข ขา อา อิ อี
                 ว่าไว้ในเท่านี้        ที่พอได้ใน ก กา
                แต่พอให้รู้เล่า        ที่ผู้เขลาเยาวะพา
                ได้ดูรู้แลนา        กุมาราตะรุณี
                จะใคร่ได้รู้ธำม์        ที่ลึกล้ำจำไว้ดี
                ได้แน่แต่เท่านี้        ดีจำเอาเบาใจครู
                จะว่าแต่ฬ่อๆ        ว่าแต่พอฬ่อใจดู
                 ว่าไว้ได้พอรู้        ดูว่าเล่าเอาใจใส่  ” (จินดามณีหนังสือไทยเล่มแรก)

                นางเหมือนพยักหน้ารับหงึกๆ พึงพอใจกับการได้เรียนรู้ของหลานสาว ซึ่งไม่มีชาวบ้านถิ่นเดียวกันส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงได้เรียนรู้กันสักคน เว้นแต่พวกขุนนาง หรือเรือนเศรษฐีกันเท่านั้น

หนึ่งมีความเชื่อกันว่า หากผู้หญิงได้เรียนรู้จะพากันว่านอนสอนยาก สองคิดว่ารู้หนังสือแล้วจะริอ่านหัดเพลงยาวส่งให้ชู้สาว และอีกประการหนึ่งคนที่รู้หนังสือคือพระหรือเณร การสอนหนังสือให้ผู้หญิงจึงเป็นเรื่องลำบาก เหตุสามประการนี้จึงทำให้ผู้หญิงเกือบหมดสิทธิ์ได้เรียนรู้ลายสือไทย

ครอบครัวนางเหมือนไม่คิดเหมือนคนอื่น นางรักมะลิมาก จึงให้ลูกชายซึ่งรู้หนังสือจากการบวชเณร ให้มาสอนลูกสาวอีกทีหนึ่ง

                เมื่อฟังหลานสาวท่องจำและได้เห็นมะลิเขียนอักษรบนกระดานชนวนอย่างแม่นยำ ทำให้นางเหมือนมีความยินดีจึงออกปากชมหลานสาว

“ดีหนอเจ้า หัดท่อง หัดเขียนได้เพียงนี้ ต่อไปเจ้าจักได้ไม่เขลาให้ใครมาลวงเล่นเอาได้”

“เด็กหญิงที่อื่นพ่อเขามิได้สอนอย่างพ่อมะลิหรือจ๊ะย่า”

“ใครเชื่ออย่างไรช่างเขาเถิดเรานั้นเอาตัวให้รอด พวกผู้ชายดีแต่กดขี่หญิงในเรือนเยี่ยงทาส การรู้หนังสือหาว่าจักหัวแข็งว่านอนสอนยากไม่นิยมให้เรียนรู้ ผู้รู้มีแต่พระสงฆ์ ดีที่พ่อเจ้าบวชเณรอยู่หลายปีได้รู้มามากพอจะสอนเจ้า”

“แล้วไยพ่อมะลิจึงคิดผิดคนอื่นล่ะจ๊ะย่าพ่อไม่กลัวใครว่าเอารึ”

“อย่างนี้จักเรียกผิดก็หาได้ไม่มะลิเอ๋ย ต้องบอกว่าพ่อเจ้ารักเจ้านักจึงจักถูก เพราะต่อไปเจ้าต้องไปเป็นเมียผู้ชายบ้านอื่น หากไปโง่ งมโข่งให้เขาลวงใช้เจ้าจักแย่”

                “มะลิไม่ไปไม่ได้หรือจ๊ะ จะอยู่กับย่าไม่ได้รึ”

                “ได้สิ ไยจึงจักอยู่ไม่ได้ แต่ย่ากลัวว่าไม่ทันไรมีหนุ่มมาติดพันจะหอบผ้าหนีตามเขาไม่ทันตะวันชิงพลบสิเจ้ามะลิ”

                นางเหมือนหยอกเย้าด้วยความเอ็นดู มะลิเข้าไปสวมกอดผู้เป็นย่า พลางซุกหน้ากับอ้อมอก ออดอ้อนเอาใจด้วยด้นสด(กลอนเปล่า)ว่า

                “อกหนอ อกเอ๋ย ไหนเลยจักอุ่นเยี่ยงอกนี้

                ทั้งหอมขมิ้นชันยันยี หอมเยี่ยงนี้จักหาไหนได้เอย”

                “นี่เจ้าริอ่านต่อเพลงยาวเชียวหรือเจ้ามะลิ”

                “ต่อไว้ให้ย่าไงจ๊ะ”มะลิย้อน ผู้เป็นย่าก้มหอมแก้มเนียนใสตึงแน่นด้วยความมันเขี้ยวนักหนา

เด็กหญิงมะลิมีเค้าความสวยมาแต่เด็ก นางเหมือนรักอย่างดวงใจ นางไม่เคยให้ละสายตาไปได้

อิ่มผู้เป็นสะใภ้และมารดาของมะลิว่ากล่าวอะไรเพราะนางเหมือนถือสิทธิ์ขาดในการเลี้ยงดูและว่ากล่าวตักเตือนเป็นของนางแต่เพียงผู้เดียว มะลิรักผู้เป็นย่ามากเสียจนเด็กหญิงตอบไม่ได้ว่ารักย่าเท่าไหน

เวลาเช้าตรู่ของทุกวัน เว้นแต่วันพระ สองย่าหลานเตรียมอาหารใส่บาตรแด่พระสงฆ์ซึ่งพายเรือมารับบาตรตามกิจนิมนต์ หลังตักบาตรจึงพากันเดินจากท่าน้ำไปขึ้นเรือน ระหว่างทางได้พูดคุยกันตลอด

มะลิมักได้ยินคำคล้องจอง หรือติดคำสร้อยต่อท้ายจากปากของผู้ใหญ่เสมอ เป็นคำคล้องสั่งสอนมาจากผู้เป็นย่าซึ่งยังอยู่ในวัยสาวและมีความสวยอยู่มากทีเดียวนางเอ่ยด้วยสีหน้ายิ้มแย้มกับหลานสาวว่า

“คนจักงาม งามที่ใจใช่ใบหน้า

หมั่นทำบุญเมตตาให้มากเถิดจักเกิดผล

แล้วจงบำเพ็ญเพียรให้ทานบันดาลดล

ถึงสวรรค์ชั้นเบื้องบนเมื่อบั้นปลาย”

                “บั้นปลาย ปลายไหนจ๊ะย่า”เด็กหญิงสงสัยและต้องหาคำตอบให้ได้ทุกครั้งไป นางเหมือนไม่เคยรำคาญ มีแต่ความเมตตาสั่งสอนหลานเป็นอย่างดี

“บั้นปลายชีวิตคือตอนแก่ หรือตอนใกล้ตาย พระท่านสอนไว้จิตดีใจดี เวลาใกล้ตาย เวลานั้นแลที่คนจะได้รู้ค่าของการทำบุญ เพราะอบายภูมิ คือนรก จะปิดไว้ไม่ให้เราตกลงไปด้วยผลแห่งบุญกุศล”

“ย่าจ๋า ทำบุญแล้วได้ขึ้นสวรรค์จริงรึ”

                “เราเกิดในร่มโพธิ์สมภาร มีศาสนาพุทธเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว เราเชื่อในความดี เชื่อในพระพุทธเจ้า ต้องเป็นจริงสิตามคำสั่งสอนของพระองค์ท่านสิเจ้ามะลิ คนที่ตีพ่อ ตีแม่ พวกนี้เป็นดิรัจฉาน พวกมันต้องไปเกิดในอเวจี”

                “เช่นนั้นแล้วพวกทาสที่ต้องทำงานหนักโดนนายเงินเฆี่ยนตี ทุบตีเอาแต่ตามใจชอบ พวกนายเงินเขาบาปมั้ย แล้วพวกทาสเขาทำกรรมอะไรไว้ล่ะทำไมจึงโดนทารุณอย่างนั้นจ๊ะย่า” คำถามไร้ดียงสาของหลาน กระตุกหัวใจผู้เป็นย่าจนหายใจขัด มิได้ตอบหลานสาว เพราะความหลังนั้น ตนเองเป็นลูกทาสในเรือนเบี้ยมาก่อน

สองย่าหลานพากันขึ้นเรือน นางอิ่มสะใภ้ของนางเหมือน เหลือบสายตามองมาจากครัวซึ่งแยกจากเรือนออกมาเล็กน้อย นางกำลังนั่งขูดมะพร้าวทำขนมเตรียมไว้ขาย เมื่อเห็นลูกสาวนางอิ่มซึ่งไม่ใช่คนช่างพูด ได้แต่ส่งยิ้มน้อยๆมาให้ลูกสาว ซึ่งเป็นช่างพูดช่างเจรจาและมีความฉลาดกว่ามารดาซึ่งไม่รู้หนังสือสักตัว

ฝ่ายทิดมั่นนั่งจักสานของให้จากหวาย นำไปขายได้อัฐมาตามควร บ่อยครั้งที่สองผู้ให้กำเนิดเด็กหญิงเหลือบแลไปทางสองย่า ได้เห็นภาพมะลินำขันข้าวไปล้าง นางเหมือนไปนั่งทำงานใกล้สะใภ้ เช็ดใบตอง กลัดกระทงไปตามเรื่อง

 ครู่หนึ่งมะลิวิ่งไปช่วยงานย่าอยู่ใกล้ สนทนากันได้ยินถึงหูบิดามารดาของเด็กหญิง นางเหมือนเพิ่งได้บอกเล่าเรื่องชีวิตทาสให้หลานได้รู้

                “คนเป็นทาสไม่ดีซักนิด ไม่มีสิทธิ์ในชีวิตของตัวเองรู้ใช่มั้ยเจ้ามะลิ”

                “รู้จ้ะย่าจ๋า ย่าก็เป็นทาสมาก่อนใช่มั้ยจ๊ะ”

                ขาดคำของลูกสาว อิ่มฟาดมือลงที่ต้นแขนลูกสาวเผียะใหญ่ มะลิสะดุ้งโหยง ทำหน้าเหยเกด้วยความเจ้ฐแสบ นางเหมือนหันไปดุสะใภ้อย่างไม่พอใจ

                “เอ๊ะ นังอิ่มเรื่องอะไรเอ็งมาตีหลานข้า”

                “มะลิก้าวร้าวถึงความที่ไม่ควรพูดไม่ลงโทษจักเป็นเยี่ยงอย่างไม่ดีนะจ๊ะแม่”

                “มันว่าข้าที่ไหนกัน มันฉลาดซักถามไปยิ่งดี ส่วนข้าเป็นทาสมาก่อนข้าไม่ได้คิดปิดลูกหลาน มันเห็นรอยเฆี่ยน มันพูดก็ถูก คราวหน้าคราวหลังเอ็งอย่าตีหลานข้าเล่นเยี่ยงนี้นะ ข้าไม่ชอบใจ”

                ทิดมั่นก้มหน้าสานตะกร้าอมยิ้มในสีหน้า เพราะมารดาของเขาทั้งรักทั้งหลงหลานสาวคนนี้อย่างที่ใครๆแตะไม่เคยได้

มะลิถามย่า มือยังลูบรอยผื่นแดงที่มารดาทำโทษ เด็กหญิงเจ็บแต่ไม่บ่นให้ย่าได้ยิน หาไม่ ผู้บังเกิดเกล้าคงโดนเอ็ดเอาอีก เด็กหญิงซักถามด้วยความอยากรู้ต่อไปว่า

                “ครั้งย่าเป็นทาส แล้วลำบากมั้ยจ๊ะย่า”

                “ทาสบ้านไหนได้นายดีมีเมตตาก็ดีไป”

                “แล้วย่าล่ะจ๊ะ ได้นายดีมั้ย เขาให้ไถ่ตัวออกมารึ”

อิ่มค้อนลูกสาวเมื่ออยากรู้อยากเห็นสิ่งที่นางคิดว่า ‘ไม่เข้าเรื่อง’

แต่นางเหมือนเห็นความเข้าเรื่องของหลานจึงได้เต็มใจบอกเล่าชีวิตของตนเองให้ฟัง

“ครั้งเป็นทาส ย่าก็ทำงานอย่างทาสเหมือนกัน แต่สบายกว่านิดตรงได้เป็นพี่เลี้ยงของคุณหนูท่านบน

เรือนจนกระทั่ง” ย่าชะงักการพูดไปนิดก่อนเอ่ยต่อไปเรื่องอื่น
                “ทาสผู้หญิงเมื่อ นายเงิน พ่อนายเงิน พี่น้องลูกหลานนายเงิน เอาทาสเป็นเมีย ทาสก็จะเป็นไทไปโดยชอบธรรม ลูกที่เกิดก็เป็นไท”

                “ย่าก็เป็นเมียนายเงินหรือจ๊ะ”

                “ใช่ย่าเป็นเมียลูกนายเงิน ลูกชายคนโตของท่าน แต่ปู่ของเจ้ามีเมียอยู่แล้ว ย่าจึงเป็นเมียน้อย ตอนนั้นย่าไม่ปะสาอะไร คุณโตบอกว่ารักย่า ย่าก็โง่ ย่าไม่รู้หนังสือ ย่าจึงโง่ไม่มีความคิด เกิดเรื่องเข้าย่าจึงถูกเฆี่ยนจนหลังแทบขาด ต่อมาก็ตั้งท้องพ่อเจ้า คุณโตยอมรับ แต่คุณหญิงไม่ยอม จึงให้ย่าออกมาจากบ้านท่าน”

                “แล้วปู่โตปล่อยให้ย่าโดนรังแกไม่ดูดีเชียวหรือจ๊ะ”มะลิฉลาดอย่างที่นางเหมือนพอใจ อย่างนี้นางจึงชอบให้หลานสาวได้เรียนรู้มากกว่าเด็กหญิงบ้านอื่น

“คุณโตมิได้ปล่อยย่าให้ทุกข์โดยลำพังดอกเจ้ามะลิ คุณโตยอมตัดขาดจากทางบ้านยอมออกจากราชการที่พึ่งเข้ารับ เขาจะตามย่ามาด้วย แต่คุณโตโดนคุณหญิงกักไว้บนเรือนเสียก่อน แต่ก่อนขาดกัน ปู่เจ้ายังอุตส่าห์ให้บ่าวไพร่แอบนำอัฐ นำเบี้ยมาให้พ่อแม่ของย่าได้เลี้ยงดูยามตกยาก แล้วเราก็ขาดกันนับแต่นั้นมา”

                “ย่า”เด็กหญิงจับมือผู้เป็นย่ากุมไว้แนบแก้ม ด้วยความไร้เดียงสา หากมีความเห็นใจ เมื่อเห็นผู้เป็นย่ามีหยาดน้ำตาคลอเบ้า สะเทือนใจเมื่อต้องเอ่ยปากบอกเล่าความหลัง ที่นางไม่เคยลืม

อิ่มเบือนหน้าทำตาปริบๆ มั่นก้มหน้าจักสานไม่พูดอะไรซักคำ ตัวทิดมั่นเคยถามมารดาถึงผู้ให้กำเนิด นางเหมือนไม่เคยปิดบังเล่าตามจริงดังนี้ เพียงแต่มั่นรู้ว่าพ่อชื่อโต เป็นลูกชายคนบ้านใหญ่ นางเหมือนบอกว่าคนบ้านไหน มีฐานะเช่นไรทิดมั่นเห็นน้ำตาแม่เป็นสิ่งที่เจ็บช้ำใจของเขามากพอแล้ว มีมากจนเกิดเป็นทิฐิมานะในการมุ่นมั่นสร้างตัว

เขาจึงได้เป็นลูกกตัญญู หมั่นเรียนรู้ และขยันทำกิน สร้างตัวกันเรื่อยมา เมื่อมั่นบวชเณรถึงอายุสิบเจ็ดผ้าเหลืองร้อนเพราะอิ่มมาทำบุญแล้วเกิดชอบพอกันขึ้น จึงได้สึกออกมาไม่ทันได้เป็นพระ ได้เมียเสียก่อน นางเหมือนไม่ได้ว่าลูกสักคำ แล้วมั่นกับอิ่มก็มีมะลิมาให้ย่าชื่นใจ จนมะลิสามขวบมั่นจึงไปบวชเป็นพระหนึ่งพรรษา ให้มารดาได้เห็นผ้าเหลือง สมกับเป็นลูกชายคนเดียวของนาง

นางเหมือนยังติดใจเล่าความแต่หนหลังให้หลานสาวได้รับรู้สืบต่อไปอีกว่า

                “เมื่อพ้นทาสออกมา ย่าก็ตั้งท้องโย้ ปู่ทวดย่าทวดของเจ้าช่วยกันดูแลย่า เมื่อมีพ่อเจ้าแล้วย่ารักอย่างแก้วตา แต่ว่า มาเกิดโรคระบาด ปู่ทวดกับย่าทวดให้ย่าพาพ่อเจ้าหนีไปจากโรคห่า ตอนนั้นคนล้มตายจนศพเต็มคลอง ปู่กับย่าทวดเจ้าก็ตายเช่นกัน ย่าได้แต่พาพ่อเจ้ามาอยู่หลักแหล่งใหม่ ได้อยู่กันตามลำพังแม่ลูก ย่าสอนพ่อเจ้ามากนักว่า จะยากดีมีจนเพียงใดในวันข้างหน้าก็อย่าขายลูกกินเด็ดขาด หรือจะมีใครขอซื้อไปเมียน้อยสักร้อยชั่งพันตำลึงก็ไม่ให้เอา มีกินไม่มีกินอดเอา ห้ามไม่ให้ขายลูก ย่าไม่กลัวจนดอก และแม้ย่าจะเคยจนแต่ย่าไม่ยอมขายเลือดในอกไปเป็นทาสใคร ย่าคิดสู้อุตส่าห์ทำกิน ไม่นานก็มีอัฐมีเฟื้อง”

                “ย่าจ๋า   พ่อไม่ขายฉันแน่ จริงมั้ยพ่อ   เรือนเราก็ใหญ่กว่าคนอื่น อัฐเราก็มี”

มั่นได้แต่มองลูกด้วยความเมตตา เขารักครอบครัวยิ่งกว่าชีวิตตนก็ว่าได้ มารดาและลูกมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนเมียรักนั้นเขาทั้งรักและสงสาร ถึงแม้ให้อดอยาก ยากแค้นจนกัดก้อนกรวดกินเขาจะไม่มีวันขายลูก ขายเมีย

ลูกสาวผู้น่ารักของเขา เด็กมะลิผิวขาวนวล ลออตาผิวพรรณเป็นผู้ดีตามเชื้อตามสายข้างบิดา


รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (66 รายการ)

www.batorastore.com © 2024