ชิงชัง (จุฬามณี) (EBOOK)

ชิงชัง (จุฬามณี) (EBOOK)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: ชิงชัง
มีสินค้าในสต็อค
ราคา: 590.00 บาท 147.50 บาท
ประหยัด: 442.50 บาท ( 75.00% )

เนื้อหาบางส่วน

 

 

สายน้ำใสไหลรี่แล้วเลี้ยวลับหายไปทางคุ้งน้ำที่ทอดตัวโค้งขนาบไปกับต้นไม้ใบเขียวปกคลุมซึ่งหริ่งเรไรได้อาศัยซ่อนแล้วส่งเสียงชวนวังเวงยามแสงสุดท้ายกำลังจะลับขอบฟ้า

          ที่ยอดไม้ชายน้ำสุดตาเหล่านกกาบินว่อนร่อนลงจับรวงรังหลับอาศัย ผืนน้ำเป็นระลอกซัดเข้าหาฝั่งยามลมเดือนหกพัดพลิ้ว

          เสียงตุ้มๆ ต่อมๆ ตีโปงจนน้ำกระจายเป็นวงกว้าง

          “ขึ้นจากน้ำได้แล้วอารีย์ เอื้องอรุณ” พี่สาวคนโตซึ่งผลัดผ้าถุงเรียบร้อยพร้อมกับจ้วงน้ำจนเต็มปี๊บน้ำตาลปึกดัดแปลงซึ่งแขวนสายไว้ที่ทั้งสองข้างไม้คาน ร้องสั่งเสียงเนิบๆ กับสองน้องสาววัยสิบกว่าขวบซึ่งเพิ่งโกนจุกโกนแกละไปเมื่อปีก่อน แต่เสียงหวานของพี่สาวใหญ่ไร้ผล

          น้องสาววัยสนุกสองคน หาได้สนใจกับเสียงที่มีแววอารีนั่นไม่

          ทีนี้ ร้อนถึงคนรอง วัยสิบเก้า ที่กำลังจะยกกะละมังขึ้นสะเอว หญิงสาวยังอยู่ในวัยที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ พอเห็นอาการ     ดื้อด้านของ เจ้าตัวจ้อย เลือดร้อนฉีดขึ้นหน้าจนต้องแผดเสียงด้วย ความโมโหและเหนื่อยหน่ายใจ

          “อีเอื้อง อีอารีย์หูมึงตันหรืออย่างไร พี่อิ่มเขาร้องบอกพวกมึงไม่รู้ กี่คำแล้ว เดี๋ยวเถอะอีพวกนี้”

          “รู้แล้ว เดี๋ยวตามไป” คนที่อยู่ในน้ำตะโกนเสียงแหลมด้วยความรำคาญออกมา

          “ไม่ได้ เดี๋ยวแม่ด่ากูอีก ขืนปล่อยพวกมึงไว้อย่างนี้ เดี๋ยวก็จมน้ำ จมท่าตายห่ากันพอดี เลิกเดี๋ยวนี้เลย พรุ่งนี้พวกมึงมีเวลากันทั้งวันก็ลงเล่นให้ชุ่มใจกันไปเลย นาเนอไม่เคยออก เรี่ยวแรงมันถึงได้มากนักพรุ่งนี้กูจะบอกกับพ่อให้พวกมึงลองไปไถนาดูมั่ง จะได้รู้ว่าความเหนื่อยยากมันเป็นอย่างไร พอไม่เหนื่อยมันถึงได้เที่ยวระริกๆ

ส่ายไปส่ายมา” ท้ายประโยคคล้ายจะเหน็บอีกคน

          ‘อิ่ม พี่สาวคนโตวัยยี่สิบ หาสนใจคำพูดเหน็บแนมของน้อง    คนรอง หญิงสาวร่างบอบบางคว้าไม้คานขึ้นบ่าแล้วยกด้วยกำลังสาว เดินขึ้นตลิ่งที่ ลาดชันไปอย่างคล่องแคล่ว พอเดินไปได้ไม่ถึงยี่สิบเก้า ไอ้คนที่จ้องหาโอกาสก็ปรี่เข้ามาทำให้หญิงสาวตกอกตกใจ

            “ให้พี่ช่วยไหมจ๊ะอิ่ม” หนุ่มวัยยี่สิบสามหวีผมเรียบแปล้หน้านวลด้วยแป้งฝุ่นดักหน้าเข้าขวางด้วยความปรารถนาดี

          “ไม่ต้องหรอก ฉันหาบเองได้ หลีกทาง” ท้ายประโยคเป็นคำสั่งด้วยน้ำเสียงรำคาญเต็มที

          “ก็พี่อยากช่วยอิ่ม” เจ้าของกางเกงขาก๊วยเสื้อตัดคอกลมลายดอกผ้าขาวม้าคาดพุงยังดื้อดึง แววตามที่มองหญิงสาวนั้นกรุ้มกริ่มเผยความปรารถนาจากส่วนลึก และในลึกเจ้าหนุ่มรู้ว่ามันจะจบอย่างไร

          “อยากช่วยก็หลบไปห่างๆ เล่นไม่รู้เรื่อง” เจ้าหนุ่มร่างกำยำ        ผิวคล้ำถอนหายใจพร้อมกับหลีกทางให้คนใจแข็งด้วยความผิดหวังอีกครั้ง และครั้งนี้ก็เช่นกัน เขามองร่างเล็กระหงเดินจากไปอย่างคนไม่ยอมแพ้ ‘น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน’

          เจ้าหนุ่มใจแป้ว นึกถึงสุภาษิตไทยจนไม่ได้สนใจอีสาวคนที่นุ่งกระโจมอกเผยให้เห็นเนื้อขาวนวลในมือมีกะละมังซักผ้าเดินนำน้องสาวซึ่งกระโจมอกตัวสั่นงั่กๆ ตามหลัง เจ้าหนุ่มเห็นดังนั้นทำท่าจะหลบ แต่สาวเจ้าเรียกเอาไว้ก่อน

          “พี่ทิดยอดจะไปไหน ช่วยฉันก่อนซิ” หญิงสาวร้องขออย่างมีความหวัง แต่เจ้าหนุ่มทำท่าปฏิเสธอย่างไม่สนใจความรู้สึกของ    สาวเจ้าสักนิด

          “ไม่...ดีกว่า...อีกนิดเดียวก็ถึงบ้านแล้ว อุ่นทนไปอีกนิดนะ    พี่ไม่ว่างมีนัด”...ว่าแล้วก็กระโดดแผล็บออกไปทันที

          หญิงสาวฮึดฮัดปึงปังด้วยความโกรธ มันไม่ใช่แค่ครั้งนี้หรอก

ที่หนุ่มในดวงใจทำอากัปกิริยาวาจาเช่นนี้ มันหลายครั้งหลายหนและ

เธอก็เจ็บเป็นที่สุด น้องสาวที่เดินตามมามองหน้ากันแล้วหัวเราะเยาะอย่างเด็กที่รู้ความนัย

          “หัวเราะอะไรอีเอื้อง อีอารีย์” คนผิดหวังระบายใส่ทันที

          “จะฟ้องพ่อ” คนที่โตกว่าร้องบอก ด้วยความไม่พอใจบ้าง   

          “เรื่องอะไร” คนอารมณ์ร้อน ร้อนตัว

          “ก็...” คนพูดทำท่าอิดออด “เรื่องที่พี่อุ่น...โอ๊ย...เจ็บนะ”       ยังพูดไม่ทันจบ มือที่กรำงานหนักกะว่าจะบิดให้เนื้อเต้น

          “พูดให้ดีนะนังอารีย์” อุ่นขู่

          “ก็พี่อุ่นพูดกับน้องกับนุ่งไม่เพราะพริ้งอย่างที่พ่อสอน มึงๆ กูๆ พ่อบอกว่าเราเป็นถึงลูกผู้ใหญ่บ้าน ควรจะเป็นต้นแบบ”

          “ก็พวกเอ็งมันกวนอารมณ์ข้านี่หว่า” อุ่นเสียงอ่อยลง

          “พี่แน่ใจนะว่าเป็นพวกฉัน” คนตัวเล็กย้อนเข้าให้

          สาวอุ่นรู้อยู่แก่ใจว่าใครเป็นต้นเหตุแห่งความขุ่นมัวนั้น และใช่ว่าหญิงสาวไม่อยากที่จะตัดอารมณ์ร้ายที่บั่นทอนจิตใจ แต่ทุกครั้งที่เห็นอากัปกิริยาของคนสองคน ใจของหญิงสาวร้อนจนปะทุไปทั่วสรรพางค์กาย

…อีกคน รู้ทั้งรู้ว่าเขาไม่รัก ก็ยังตามตื๊อ

          แต่อีกคน...ที่ว่าไม่รักไม่ชอบน่ะ แท้จริงแล้วจริงใจกับคำพูดแค่ไหน

 

          ที่เรือนไม้ทรงไทยหลังใหญ่ท่ามกลางกลุ่มไม้มงคลเป็นของผู้ใหญ่แก้วและนางทองคำ เย็นค่ำหลังจากที่เสร็จจากงานในนาหรือไม่มีเรื่องวุ่นวายของชาวบ้านให้แก้ ผู้ใหญ่แก้วมักจะนั่งสูบยาเส้น ดื่มน้ำชาตามแบบอาก๋ง รับลมเย็นๆ หน้าระเบียงบ้านที่โอ่โถงกว่าหลังไหนๆ ในละแวกเดียวกัน นั่นเป็นเพราะความขยันของบรรพบุรุษและความขยันและอดออมของผู้ใหญ่แก้วในปัจจุบัน

          ยิ่งมีลูกสาวด้วย เรื่องเสียเงินในเรื่องไม่เป็นเรื่องจึงไม่ค่อยมี

เหมือนบ้านข้างๆ ซึ่งเป็นคู่ปรับคู่ยาก มาตั้งแต่รุ่นหนุ่มจนกระทั่งมี

เมียก็ยังตามมาปลูกบ้านติดกัน

          ลักษณะของผู้ใหญ่แก้วนั้นเป็นคนร่างใหญ่โตผิวเหลืองไว้ผมรองทรงสูงข้างบนเกรียนขนคิ้วหนารับกับหนวดที่ดกเฟิ้มเหนือ      ริมฝีปาก

          ใครผ่านไปผ่านมาจะสันนิษฐานว่าผู้ใหญ่แก้ว นั่งอยู่ตรงนั้นก็เพราะคอยดูว่าจะมีไอ้หนุ่มคนไหนมาด้อมๆ มองๆ ดูลูกสาววัยออกเรือนจนถึงวัยแตกพานซึ่งมีอยู่ถึงห้าคน

          อิ่ม...อุ่น...บังอร อารีย์...เอื้องอรุณ...ไล่วัยกันลงไปสามปีสองคน แต่ละคนมีความสวยชนิดลือสามบ้านแปดบ้าน

          ผู้ใหญ่แก้วเลี้ยงลูกสาวด้วยความรักและอย่างคนที่พอมีความรู้ อากัปกิริยาใดๆ ที่จะส่อไปในทางเสื่อมเสีย จะถูกอบรมด้วยถ้อยคำอย่างอารีและในแววอารีต่อบุตรีนั้น ก็มีอำนาจและความเด็ดขาดชนิดที่ใครๆ ไม่กล้าที่จะขัดคำสั่ง

          ผู้ใหญ่แก้วมอบหมายให้งานแต่ละคนทำตามความเหมาะสม

          อิ่มลูกสาวคนโตวัยยี่สิบ ผู้เป็นพ่อได้มอบหมายให้มีหน้าที่ดูแลน้องๆ แทนหูแทนตา แต่อิ่มเป็นคนที่มีจิตอารีและมักจะสงบคำมากกว่าพร่ำบ่นกับคนข้างตัวจนปากเปียกปากแฉะเหมือนอุ่น หน้าที่นั้นอุ่นจึงทำไปโดยปริยาย งานส่วนใหญ่ของอิ่มจะเป็นงานนอก คืองานในทุ่งนา อิ่มจึงได้เป็นที่รักของคนโดยทั่วไป ใช่ว่าผู้ใหญ่แก้วจะไม่อยากมีลูกชาย แกพยายามอยู่นาน ทั้งบนบานศาลกล่าว แต่ก็หาเป็นอย่างคำขอและแรงอธิษฐานไม่

          ถึงแม้จะไม่มีลูกชายบวชเรียนให้ชื่นใจเหมือนนายยัง       นางย้อย คนรั้วติดกันด้านทิศตะวันตก แต่ผู้ใหญ่แก้วก็ได้ชื่นใจที่มีอภิชาตบุตรได้ พึ่งพาอาศัยไม่หาเรื่องหนักอกหนักใจมาให้

          แต่อย่างว่า จะว่ากล่าวติเตียนลูกใครมากๆ ก็ไม่ได้ เพราะ  ลูกสาวตั้ง ห้าคนจะว่าไปก็ยังส่งไม่ถึงฝั่ง ทุกวันนี้ก็ได้แต่สอนพายสอนถ่อสอนดูระลอกคลื่นและทิศทางลม จะเพลี่ยงพล้ำหรือจับพลัดจับผลูได้ไอ้หนุ่มด้อยราคามาเป็นคู่หรือเปล่าก็ยังไม่รู้ แต่ที่รู้ๆ ในวันนี้ อิ่ม อุ่น และบังอรเป็นลูกที่ดีดูท่าจะไม่เก็บผ้าหนีตามใครไปง่ายๆ

          “ถ้ามันจะหนีมันคงไม่บอกเราหรอกพ่อ” นางทองคำดักคอไว้

อย่างนั้น

 

          หลังจากที่กินข้าวมื้อค่ำแล้ว ลูกสาวบ้านหลังใหญ่ก็แยกย้ายเข้า ห้องหับของตน อิ่มนั้นอยู่ห้องเดียวกับอารีย์และเอื้องอรุณ ซึ่งทั้งสองคนจะกลับมาบ้านทุกวันหยุดเรียน โดยมีพ่อนั่งเรือยนต์ประจำทางไปรับที่บ้านน้าทองแดงในตัวจังหวัดหรือถ้าไม่ว่าง น้าทองแดงเศรษฐีใหญ่ผู้หาเทวดาลงมาเกิดไม่ได้ ก็จะฝากหลานรักสองคนที่ขอไปเลี้ยงและส่งเสียให้เรียนได้ลงเรือบรรทุกถ่าน บรรทุกเกลือ บรรทุกสินค้าที่รู้จักกันมา ห้องนั้นจึงเหมือนเป็นห้องส่วนตัว ที่ทำให้อุ่นได้ค่อนขอดกับผู้เป็นแม่อยู่เป็นประจำ

          คนกำลังเป็นสาวก็อยากจะอยู่คนเดียว แต่ผู้ใหญ่แก้วคิดว่านั่นเป็นวิธีการที่ช่วยกันสอดส่องดูแลความประพฤติ

          หากนอนคนเดียวขืนเปิดหน้าต่างรับใครเข้ามา

          “ไม่ใช่หนูแน่นอนถ้าเป็นคนอื่นไม่แน่” อุ่นถึงแม้ความสวยจะน้อยกว่าอิ่ม แต่เรื่องคารมคำคมบาดลึกนั้น เธอมีเหนือพี่น้องทุกคน

          คืนนี้หลังจากที่ถูกผู้เป็นพ่อติงว่ากินข้าวเหมือนแมวดมแล้ว อุ่นก็มานั่งทอดอาลัยกับความรักของตัวเองที่หน้าโต๊ะเครื่องแป้ง เหมือนทุกครั้งที่ยอดทำอาการให้เจ็บแปลบไปทั้งหัวใจ

          หญิงสาวนั่งมองหน้าอิ่มด้วยเลือดฟาดในกรอบผมทรง    ดอกกระทุ่มไม่มีจอนหนา เหมือนอิ่ม ซึ่งใครต่อใครมักจะชมว่าสวยกว่างามกว่า และที่ทนไม่ได้นั่นคือคำว่า ‘ดีกว่า’ อุ่นเองก็ไม่รู้ว่า คำว่าดีกว่าในสายตาชาวบ้าน นั้นเขาเอาอะไรมาวัด อะไรที่พี่อิ่มทำเป็น หญิงสาวก็ทำเป็นและทำดีกว่าด้วยซ้ำ หญิงสาวค่อยๆ ประทินผิวด้วยแป้งหอมอย่างดีที่น้าทองแดงมีจิตเมตตาซื้อให้คนละชุดซึ่งแน่นอนในความรู้สึกของอุ่น แป้งที่น้าซื้อให้อิ่มจะต้องเป็นเนื้อที่ดีกว่าของตน

          หญิงสาวไม่ได้แย่งหรอก เพียงแต่ขอเปลี่ยนและเธอก็ได้มันมาครอบครอง อุ่นลูบเบาๆ ไปที่หน้านวลนึกถึงพระเอกกับนางเอกลิเก ถ้าได้พี่ยอดมาหอมสักฟอดคืนนี้หญิงสาวคงจะหลับอย่างมี

ความสุข

          หญิงสาววัยกำดัดวางดินสอเขียนคิ้วซึ่งแม่เพิ่งจะอนุญาตให้กันจนโก่งได้เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง ซึ่งมันก็สวยแปลกตาอยู่ไม่น้อย     แต่เธอไม่อยากจะชื่นชมกับความงามของตัวอยู่คนเดียว มันน่าจะมีคนร่วมรับรู้และเพื่อความมั่นใจ อุ่นลุกขึ้นและขยับผ้านุ่งและเสื้อโปร่ง ก่อนจะเกินไปยืนเกาะขอบหน้าต่างมองไปที่บ้านหลังทางทิศตะวันตก

          ถึงมันไม่ไกลแต่หญิงสาวรู้สึกว่ามันห่างเกินจะหมาย       แสงหิ่งห้อยพร่างพราย ยิ่งทำให้ใจสั่นไหวระคนเคลิบเคลิ้ม ชวนฝันถึงวันที่สมความปรารถนา

          บังอรน้องสาวคนถัดไปค่อยๆ ย่องมาอย่างคนที่รู้ความนัยของพี่สาวดีที่สุด

          “แอ๊ะแอ้...รู้นะ” เจ้าหล่อนส่งเสียงพร้อมกับจี้แรงๆ ที่เอวบาง

          คนที่รู้ใจกันดี ทำท่าตกใจก่อนจะยิ้มให้ด้วยความเขิน

          “ไม่ต้องไปชะเง้อชะแง้หรอกพี่อุ่น ป่านนี้พี่ยอดเมาแประอยู่ที่บ้านเฮียอ๋านั่นแหละ”

          “ก็วันนี้เผื่อพี่ทิดเขาจะกลับมาก่อน” อุ่นยังมีความหวัง

          “ถึงกลับมาก่อน” บังอรอยากจะหลุดคำว่า ‘ถึงจะกลับมาก่อนเขาก็ไม่มองพี่หรอก’ แต่หญิงสาวก็กลืนมันไว้ แล้วพูดอีกคำที่คิดว่าเป็นการถนอมน้ำใจพี่สาวคนเจ้าอารมณ์ว่า “ถึงกลับมาก่อนเขาก็คงไม่เห็นพี่หรอก”

อุ่นมองหน้า

“ก็บ้านเรามืดขนาดนี้ ถ้าใช้ไฟปั่นอย่างโรงสีบ้านพี่ทิดอินก็ว่าไปอย่าง” หากอุ่นหันมามองหน้าคนพูด คงได้เห็นแววตาที่เป็นประกายของน้องสาววัยสิบเจ็ดปี     บังอรไม่ค่อยได้ออกไปนา        งานเรือนหญิงสาวจึงเป็นที่หนึ่ง อุ่นถอนหายใจออกมา รู้ทั้งรู้ว่าเขาไม่สนใจตน แต่หญิงสาวก็ยังมีความหวัง ตราบใดที่พี่ทิดยอดยังไม่ได้แต่งงานไป หรือถ้าแต่งจริงๆ เธอก็จะต้องแย่งมาให้ได้ เพราะชีวิตนี้หญิงสาวขาดเจ้าคนกะล่อนในสายตาของใครๆ ไม่ได้เสียแล้ว

          ใครว่ายอดกะล่อน ในสายตาของอุ่น มันเป็นความน่ารักและชวนให้ต่อปากต่อคำนัก...

 

          ในตลาดบ้านบนมีร้านเหล้าร้านกาแฟของเฮียอ๋า ลูกชายคนโตของเจ๊กฮวด ซึ่งเป็นสถานที่ให้หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ได้อาศัยซ่องสุมความคิดและแลกเปลี่ยนข้อมูลของสาวในหมู่บ้านหรือถิ่นอื่น แต่สาวไหนถิ่นไหนในยามนี้ จะมีใครเล่า งามเท่า “แม่อิ่ม” ลูกสาวคนโต ของผู้ใหญ่แก้ว

          และดอกไม้งาม ย่อมเป็นที่หมายปองของเหล่าภมร

          ยิ่งภมรตัวนั้นเป็นคนอย่างไอ้ทิดยอด ซึ่งใครๆ ต่างรู้กิตติศัพท์ใน เชิงนักเลงของมันดี หนุ่มหน้าไหนก็เลยไม่กล้าเข้ามาจีบแม่อิ่ม

          เพราะยอดมันเป็นต่อหลายทาง

          บ้านก็อยู่ติดกัน แถมยังมีโอกาสลงแขกทำงานด้วยกันอยู่บ่อยๆ หนุ่มอื่นจะมีโอกาสก็ต่อเมื่อมีงานวัด งานตรุษ ที่ร้านถั่วลิสงต้มถั่วแระของแม่ทองคำ จะแน่นไปด้วยหนุ่มๆ ทั้งในถิ่นบ้านท่าน้ำอ้อยและหมู่บ้านใกล้เคียง

          ถึงจะมีผู้ใหญ่แก้วมายืนกันท่า แต่ว่าคำหมากที่แม่อุ่นแม่อิ่มจีบนี่ หวานชะมัด และในบรรดาหนุ่มเหล่านั้น ก็มีทิดอิน ซึ่งบวชรุ่นเดียวกันกับทิดยอด ช่วงนั้น หลวงลุงของอิ่ม ถึงกับออกปากว่า “อีอิ่มนี่มันงามนัก มาวัดทีพระเณรไม่เป็นอันทำอะไรกัน แอบมองจนข้างฝากุฏิแทบจะพังครืนลงมา แล้วใครที่ไหนหนามันจะกล้าฝ่าด่านไอ้แก้ว”

          บรรดาพระที่ได้ยินต่างก็บอกว่า “ผมนี่แหละหลวงลุง”

          เรื่องนี้เป็นที่เล่าขานในช่วงที่พระชุดนั้นบวชศึกษาพระธรรม และก็เป็นที่เฮฮาในวงสุรา เมื่อพระชุดนั้นสึกออกมานุ่งผ้าขาว

          ทิดยอดกับลูกสมุนดื่มกินกันตามกำลังเงินของตัวเองซึ่งมีอยู่น้อยนิด และมันก็เมาแค่น้อยนิด แต่ใครต่อใครมักจะบอกว่าบวชมาก็น่าจะทำตัวให้มันดีกว่านี้หน่อย ทิดยอดไม่ได้สนใจหรอก เขารู้ว่าเขา

กำลังทำอะไรอยู่

          ก็คนมันกลุ้มใจนี่ รักชอบแม่อิ่มคนขยัน คนใจงามใจบุญเข้าวัดรักษาศีลมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยจนถึงวันนี้อายุยี่สิบสามปีแล้ว        สึกออกมาแล้ว จะทาบทามให้พ่อไปสู่ขอ สาวเจ้าก็ไม่ตอบตกลง ถ้าไม่ตกลง นาวาชีวิตก็ดำเนินต่อไปไม่ได้

          “ฉุดเลยพี่ เล่นตัวนัก” ไอ้ลูกสมุนคนดิบโพล่งออกมา         ผลปรากฏว่าทิดยอดถีบพลั่กจนหงายจากเก้าอี้สามขา

          ถ้าเป็นคนสติสตังดีๆ คงโกรธกัน ตีกันตายห่า แต่พวกอายตนะเดียวกัน มึงมาพาโวย อย่างไรก็รักกัน เถียงกันแทบตายเผลอแป๊บเดียวก็กอดคอกันออกเดินแล้ว

          และนี่ก็เป็นสาเหตุให้อิ่มไม่พึงใจยอดเหมือนกับที่เจ้าตัวอยากให้เป็น

          “เก็บปากของมึงไว้เลยไอ้หมาน คิดจะคบกับกู อย่าแนะนำกูในทางฉิบหายอย่างนั้นอีก กูบวชเรียนแล้วนะโว้ย มีคุณธรรม มีศักดิ์ศรีลูกผู้ชายพอ” คนเป็นหัวหน้าก๊วนเสียงคร้าม

          “โธ่ พี่ทิดยอด ผมก็หวังดีกับพี่” ไอ้หมานปัดฝุ่นที่ตูดแล้วลุกขึ้นมาพูดต่ออย่างหวังดี

          “ใช่ ไอ้หมานมันหวังดีกับพี่” คนที่พูดหันซ้ายหันขวากลัวว่าเรื่องในวงเหล้าจะรั่วไหล

“พี่ทิดน่ะจีบพี่อิ่มมากี่ปีแล้ว แล้วเป็นไง ทุกวันนี้พี่แกยังทำเฉยอย่างกับคนไม่มีหัวใจ ฉุดเถอะพี่” พอปลอบให้คลายโมโห เพื่อนรักก็พากันยุอีก

          ใช่ว่าจะมีแต่คนคิดอกุศล คนจิตสูงก็ยังพอมี ทิดมีซึ่งสึกออกมาผมยังขึ้นไม่ทันเต็มหัวออกความเห็นขึ้นมาบ้าง

          “ก็ให้พ่อพี่ไปขอเลย ผมว่าอย่างไรพ่อแก้วก็ยกให้อยู่แล้ว แบบใครเร็วใครได้ อีกอย่างหนึ่ง ไอ้เรื่องฉุดเรื่องคร่า ผมไม่สนับสนุนหรอก นึกถึงหน้าพี่อิ่มเขาบ้าง แกเป็นที่รักของคนทั้งบาง ไปวัดทีเราก็เห็นนี่ แม่อิ่ม แม่อุ่น แม่บังอร สามใบเถาลูกสาวผู้ใหญ่แก้วมาแล้วโว้ย ลุกขึ้นไปรับที เร้วววว”  ทิดมีเลียนเสียงคนในศาลาวัด ซึ่งจำได้ติดหูตั้งแต่สมัยบวช

          “เชื่อเถอะพี่ยอด ส่งเถ้าแก่ไปขอเลย แต่งๆ ไปซะที ผมจะได้ขอ แม่อุ่นบ้าง คนอะไรก็ไม่รู้ ปากงี้เป็นที่หนึ่ง” ไอ้หมานออกความเห็นอย่างไม่เข็ดกับความคิดตัวเอง

          คนที่กำลังริบหรี่ในเรื่องหัวใจคิดหนัก ผู้หญิงใช่ว่าจะมีแต่แม่ยอดขมองอิ่มคนเดียว จะดีจะชั่วก็ยังมีมาชอบๆ เขา ทอดสะพานให้ก็มีทั้งบ้านเหนือบ้านใต้ ยังจะนั่งอุ่นอีก... เขารู้ แต่อย่างว่า คนมันรักเสียแล้วก็ยากที่จะเปลี่ยนใจ จะส่งเถ้าแก่ไปขอ พ่อก็อ้างว่าขืนเขาปฏิเสธจะมาจะมองหน้ากันไม่ติด จีบติดเมื่อไหร่ค่อยไป ไอ้ทิดคิดอย่างไรก็คิดไม่ออก จีบมานานแล้ว บอกรักไปร้อยหันพันหนแล้ว สาวเจ้ากลับทำเฉย เหมือนเขาเป็นอากาศธาตุ จะมีวิธีไหนบ้างหนอ บนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็แล้ว พูดต่อหน้าก็แล้ว ยังไม่สำเร็จผล หรือว่าไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล ถ้าไม่ได้ด้วยมนต์ก็ต้องด้วยคาถา !!!

 

Y

รายละเอียด

คำโปรย...
 
 
เพื่อให้หนังสือที่จัดพิมพ์รอบนี้ ทรงคุณค่ากับท่านผู้มีอุปการคุณ

 ผู้เขียน จึงได้เขียน ถึงแรงบันดาลใจกว่าจะมีนวนิยายชิงชัง
พร้อมกันนี้ ได้ขออนุญาต นาย ปิยวัฒน์ ดีเหลือ อดีตนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งได้นำ นวนิยาย ชิงชัง ไปวิเคราะห์ วิจารณ์ ในรูปแบบสารนิพนธ์ มาพิมพ์รวมเล่ม เพิ่มจำนวนหน้าอีกเกือบร้อยหน้า
เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่างานชิงชัง งานที่เป็นเรื่องแจ้งเกิดนามปากกา จุฬามณี
งานที่เป็นจุดเนิดงานลูกทุ่งพีเรียด ซึ่งกลายเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
 
หากซีกหนึ่งของหัวใจ  คือ ความรัก
อีกซึกหนึ่งคือ ชิงชัง กระนั้นหรือ
 
"พี่พูดจริง จริงทุกคำที่พูดพี่บอกกับเอ็งนะอิ่ม
เอ็งจำคำไว้เลย คำนั้น มันกลั่นมาจากใจของพี่ พี่รักก็บอกว่ารัก
พี่รักเอ็ง พี่ก็ต้องบอกเอ็งคำนี้ ถึงเอ็งจะชิงชัง นั่นใจของเอ็ง
เอ็งไม่เคยมีความรัก เอ็งไม่รู้หรอกว่า ไอ้เวลาที่เราจะเสียคนรักไปมันเป็นอย่างไร
พี่จะอยู่ตรงนี้กับเอ็ง รักเอ็ง ไม่ว่าจะนานแค่ไหน
ใจของไอ้ยอดไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปจากเอ็ง วันหน้าจะเป็นก็แต่เอ็งที่เปลี่ยน
เปลี่ยนมารักพี่ เหมือนที่พี่รักเอ็ง คนเดียว"
 

จำนวนหน้า 728 หน้า
 

จากใจนักเขียน

 

นวนิยาย ชิงชัง บทประพันธ์ของ จุฬามณี ถูกตีพิมพ์รวมเล่ม และวางแผง เมื่อเดือน มีนาคม ๒๕๕๐ นับได้ ๑๐ ปี ถ้าเป็นทางพระก็เรียกว่า เป็น ‘พระเถระ’ ผ่านการเรียนรู้ และรู้เห็นมามาก...

            ทุกวันนี้ เวลาเดินทางไปให้ความรู้ หรือ แนะแนว กับ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนโดยทั่วไป เบื้องต้น ถ้าทางผู้ดำเนินรายการไม่เท้าความถึงประวัติความเป็นมาของผมแบบสั้น ๆ ผมก็จะพูดถึงเอง ส่วนที่เขียนบันทึกนั้น ก็บันทึกไว้ในเฟซบุ๊คบ้าง แต่ไม่ได้ร้อยเป็นเรื่องราวแบบเขียนนิยาย เพื่อบันทึกหน้าประวัติชีวิตของตัวเองไว้...

            เนื่องในวาระที่ ชิงชัง และ นามปากกา จุฬามณี รวมถึง        เฟื่องนคร และชอนตะวัน มีอายุ ครบ ๑๐ ปี (ทั้ง ๓ นามปากกาเกิดขึ้นในปีเดียวกัน) ผมจึงถือโอกาสนี้ เขียนบันทึกนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า กว่าที่ หนังสือนิยาย เรื่องนี้ จะเกิดขึ้น นั้น ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากไหน

            ย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๕๔๓ เดือนมีนาคม ผมเรียนจบจาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก ได้ใบรับรองปริญญาเรียบร้อย พอดีกับสิ้นบุญของปู่ ผมกลับนครสวรรค์ เพื่อบวชเณรหน้าไฟ หลังจากนั้น ก็ตัดสินใจบวชพระต่อ ด้วยคิดว่า อายุ ๒๒ แล้ว ครบบวชแล้ว เรียนจบแล้ว รีบบวชทดแทนบุญของคุณพ่อแม่ซะ สึกแล้วจะได้ไปทำงานได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องมีเรื่องพะว้าพะวัง

            คนบวชใหม่ ก็เป็นเหมือน ผลไม้ยังไม่ลืมต้น ชีวิตพระบวชใหม่ ในพรรษาแรกนั้น ยังเต็มไปด้วยความสับสน... แรกบวชนั้น แม่ถามว่า จะบวชกี่วัน ด้วยเป็นคนห่างวัด คิดว่าเรื่องบวชพระเรื่องวัดเป็นเรื่องไกลตัว ผมก็ตอบไปว่า ยังไม่รู้ แต่ความที่ไม่รู้ ไม่เคยรับรู้ ไม่เคยอยู่ในความสนใจสักนิด กลับทำให้รู้สึกว่า น่าสนใจ  ชีวิตในวัดเป็นอะไรที่รู้สึกสบายและคุ้นเคย จนกระทั่งจะใกล้เข้าพรรษา แม่ก็มาถามว่า ท่านจะบวชเอาพรรษารึเปล่า ตอนนั้นก็จวนแจแล้ว และก็บวชมา สี่ห้าเดือนแล้ว ถือว่านานมากสำหรับคนยุคปัจจุบัน ก็ตอบไปว่า คงเอา ยังไม่นึกอยากสึก  ระหว่าง สี่ห้าเดือนก่อนหน้านั้น นอกจากคร่ำเคร่งกับการท่องบทสวดมนต์อย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะอยากจะทดสอบว่าความจำของตัวเองนั้นดีเลิศขนาดไหน คือ ปกติ ไม่ชอบท่องจำอะไร แล้วไม่ได้เรียนสายท่องจำแบบพวกเรียนกฎหมาย แต่ชอบจดจำและชอบเรื่องของจินตนาการมากกว่า ก็จดจำบทสวดมนต์ทั้งทำวัตรเช้า-เย็น เจ็ดตำนาน สิบสองตำนานได้ เมื่อบวชแล้วก็ต้องเรียน เข้าพรรษา เริ่มเรียน นักธรรมตรี ได้อ่านพุทธประวัติ ศึกษาพระธรรมลงมือปฏิบัติมากยิ่งขึ้น และด้วยเป็นคนชอบอ่านหนังสือ พอเป็นพระ ก็มีเวลาที่จะอ่าน ก็อ่านไล่ดะไปหมด จนเกิดความเข้าใจ ศาสนาพุทธมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า

...และด้วยเป็นคนชอบอ่านหนังสือ กับ ยังเป็นมะม่วงไม่ลืมต้น จึงทำให้ต้องลงมือเขียน เริ่มจากเรื่องสั้น เริ่มจากเรื่อง ความรักสีส้ม ได้ลงในขายหัวเราะ เรือนตาย ได้ลงในสยามรัฐ รอยแผลเป็น ขวัญเรือน และ วันชื่นคืนเคยที่เคยชิดใกล้ ได้ลง หญิงไทย การเขียนเรื่องสั้นนั้น หนึ่งเป็นความฝัน สองต้องการอยากรู้ว่า ตนเองที่มีปริญญาตรี สื่อสารมวลชนของรามคำแหงนั้น มีความรู้ ความสามารถสมปริญญา-ตรีใบนั้นหรือเปล่า หลังจากเรื่องสั้นได้ ลงนิตยสาร ก็ขยับมาเขียนเรื่องยาว เริ่มต้นราว ๆ กลางปี ๒๕๔๓ ในพรรษาแรกนั่นเอง เริ่มจาก แจกันดอกหญ้า ไม่ต้องรักเท่าฟ้า(เขียนไม่จบ) แล้วก็มาเขียน ชิงชัง เมื่อกลางปี ๒๕๔๔ (เขียนไม่จบ) สุดท้าย มาเขียน ตะเกียงกลางพายุ นิยายแห่งธรรมที่ค่อนข้างชัดเจนเป็นเรื่องแรก เขียนเพราะอยากบอกเล่าว่า       ใจของคนที่ถูกฝึกโดยธรรมวิธีของพระพุทธเจ้านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้...ชั่วก็ดีได้ ถ้ามีธรรม

ก่อนที่จะเขียน ชิงชัง ผมเคยฝึกมือโดยการเขียน เรื่องสั้น และเขียนนิยายมาบ้างแล้ว กระทั่งวันหนึ่ง อามณฑาที่ดูแลย่าอยู่ที่บ้าน จะเดินทางไปบ้านสามีของอาที่จังหวัดอ่างทองหลายวัน อาก็บอกกับผม ขณะเดินบิณฑบาตว่า ช่วงกลางวัน ให้เดินจากวัดคีรีวงค์ กลับมาอยู่เป็นเพื่อนย่าหน่อยนะ ทิ้งย่าไว้คนเดียวแล้วเป็นห่วง...

หลังฉันเพลแล้วผมก็เดินกลับมาบ้านย่า(บ้านหลังที่ผมอยู่ปัจจุบันนี้) คือ ผมมาจาก บ้านที่อำเภอลาดยาว มาเรียนหนังสืออยู่ที่ในเมืองนครสวรรค์ ตั้งแต่ปี  ๒๕๓๖ ถึงต้นปี ๒๕๓๙  ผมก็ไม่เคยคุยกับย่าในเรื่องราวลึก ๆ รึซักประวัติความเป็นมาในชีวิตของย่าแต่อย่างใด เพราะไม่เคยอยากรู้เรื่องในอดีตของใครทั้งสิ้น มีหน้าที่เรียนก็ไปเรียน กลับมาก็ช่วยย่าทำงานบดพริกป่นไป ทำการบ้าน ดูละคร เข้านอน เช้ามาก็ไปเรียนชีวิตก็วน ๆ เวียนอยู่อย่างนั้น...

แต่วันนี้ นั่งอยู่กันสองคน หนึ่ง เราโตขึ้นด้วย กับรู้สึกอยากรู้ว่า คนที่ผ่านโลกมาจนอายุแปดสิบกว่าปี เขาได้พบเจออะไรมาบ้าง จะเป็นเหมือน แม่พลอย ตัวละครในนิยายสี่แผ่นดินไหม กับ อยากชวนคุยให้ไม่รู้สึกเงียบเหงาและห่างเหิน โดยการถามย่าด้วยประโยคแรกว่า “ย่าสามีคนแรกของย่า เป็นใครอ่ะ ทำไมถึงได้เลิกกัน” คือ ย่ามีลูกกับปู่ ๑๐ คน และก่อนจะมาอยู่กับปู่ มีลูกมาแล้ว ๑ คน พอถูกหลานถาม ย่าที่เกิดปี ๒๔๖๖ ก็นิ่งอึ้ง สายตามองไปนอกบ้าน ใจคงนึกถึงอดีตอันแสนยาวนานของตนเอง แล้วย่าก็บอกเล่าว่า พ่อของลุง เป็นคนบ้านอยู่ติดกันที่ท่าน้ำอ้อยนั่นแหละ เขาทำเสน่ห์ใส่ย่า ..ฮะ อะไรนะ ทำเสน่ห์...ตอนนั้นผมเองรู้สึกตกใจเป็นอย่างมาก เพราะเรื่องพวกนี้ ถือว่าเป็นเรื่องไกลตัว หลังจากนั้น ก็ซัก ๆ  แล้วก็ได้ความว่า พื้นเดิมคือ ย่าไม่ได้ชอบผู้ชายคนนี้ เพราะเขาเป็นคนมีอุปนิสัยเกรกมะเหรกเกเร เป็นนักเลงหัวไม้ ขี้เกียจสันหลังยาวฯลฯ คนไม่ชอบกันเนอะ ก็พูดถึงกันแต่ในทางไม่ดี สรุป ก็คือ เกลียด นั่นแหละ...แล้วทีนี้ ผู้ชายอยากเอาชนะก็เลยทำเสน่ห์ใส่... พอได้กันไปแล้ว ก็พากันไปอยู่ที่ หนองโพธิ์            อ.มโนรมย์ ชัยนาท (ไม่ใช่ หนองโพ ตาคลี)  ก็ทำไร่ทำนากันไป แต่ย่าบอกว่า ความรู้สึกในตอนนั้นคือ เคยเกลียดอย่างไรก็เกลียดอยู่อย่างนั้น หุงหาข้าวปลาอาหารให้กิน ก็ไม่อยากกินด้วย ต่างคนต่างกิน อยู่กันมาจนได้ลูกหนึ่งคน ก็คือ ลุง พ่อ(ผู้ใหญ่แก้ว) แม่(แม่ทองคำ) ก็ไปรับกลับเพราะสืบได้ว่า ย่าถูกทำของใส่ หลังจากนั้นชีวิตของผู้ชายคนนั้นก็ระหกระเหินไป ไม่ได้อยู่ที่ท่าน้ำอ้อยอีกเลย (เพราะถ้าแม่ทองคำ เจอที่ไหน ก็ด่า ด่า ด่า)... พอฟังแล้ว ไม่ได้สงสารย่าเลยนะ แต่สงสารและเห็นใจ ผู้ชายคนนั้นมากกว่า คิดในใจว่า ที่เขา ทำลงไป ก็คงเป็น เพราะรัก

            ความสงสาร ความเห็นใจ จะเรียกว่า เป็นอารมณ์สะเทือนใจ ก็ได้ นอกจากนั้นย่าก็เล่าชีวิตในวัยเด็ก วัยสาว ชีวิตของตัวเองซึ่งเป็น    ลูกสาวผู้ใหญ่บ้านในยุคนั้น รวมถึงสอดแทรกประเพณี วิถีชีวิตครอบครัวใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  จนได้เห็นภาพประหนึ่งว่า ดูละคร... โดยเฉพาะเรื่องราวความขัดแย้งระหว่าง พี่ ๆ น้อง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของทุกครอบครัว...เพียงแต่จะเกิดขึ้นมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจและปูมเหตุในความขัดแย้ง...

            วันนั้น ผมเดินกลับวัดคีรีวงค์มาด้วย ปมสองปม คือ 1.สมบัติทำให้พี่น้องทะเลาะเบาะแว้งกัน กับ เห็นว่า ถ้าเฉพาะสมบัติเรื่องจะไม่แรงพอจนเป็นที่น่าสนใจ ก็เลยต้องเพิ่มปมที่  2. ผู้ชาย ทำให้พี่น้องเกลียดกันซึ่งปมนี้ถือเป็นเรื่องสมมุติขึ้นมา

กลับถึงกุฏิก็เปิดคอมพิวเตอร์ เปิดไฟล์เวิร์ด แล้วก็เขียน คำว่า   นวนิยาย ชิงชัง...

จำได้ว่า ช่วงเวลาไม่กี่วัน ตัวละคร ยอด อิน อิ่ม อุ่น บังอร     อารีย์ เอื้องอรุณ ผู้ใหญ่แก้ว นางทองคำ นายยัง นางย้อย ไอ้ยิ่ง รวมถึงตัวละครอื่นๆ หลั่งไหลออกมาจาก จินตนาการ โดยหยิบยกประเด็น ที่เคย พบเห็น มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการถูกแย่งคนรัก อารมณ์เจ็บปวดของคนที่มีฝัน มีหวัง และหวังนั้นพังทลาย อารมณ์โกรธ เกลียด อิจฉา ชิงชัง จนเวลาล่วงไม่ไปไม่ทำสิบวัน เขียนได้เกือบยี่สิบบท

หลังจากนั้นก็ต้องวางไว้ เพราะติดภารกิจพระ กระทั่งว่างก็กลับมาคิดต่อว่าจะพานาวาชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นไปจนถึงจดจบได้อย่างไร แรงบันดาลใจจากนิยายเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสี่แผ่นดิน แผลเก่า รวมถึง อาญารัก ซึ่งมีปมปัญหามาตั้งแต่ชั้นพ่อแม่จนถึงชั้นลูก ถูกวางไว้ในใจคร่าว ๆ แต่หาเวลาเขียนได้อย่างยากยิ่ง เพราะหนึ่ง ใจที่มุ่งไปทางธรรมก็ต่อต้าน ไม่อยากคิดจินตนาการกับเรื่องรักใคร่ของโลก กระทั่งต้องวางมือไปโลดแล่นอยู่ในโลกของพระ จนกระทั่งได้เขียนนิยาย ตะเกียงกลางพายุ นิยายที่สอดแทรกศาสนาเต็ม ๆ จบไปก่อนหนึ่งเรื่อง

วันที่ ๑ มกราคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ผมเลือกที่เดินออกจากวัด เพราะปัญหารุมเร้า ทั้งปัญหาในวัด และ ปัญหาสุขภาพของพ่อที่ป่วยเป็นตับแข็ง ซึ่งต้องการคนดูแลพาไปหาหมอ ลาสิกขามาวันแรก ผมต้องไปนอนเฝ้าพ่ออยู่ที่โรงพยาบาล แล้วก็สะดุ้งดื่นมาอย่างหวาดหวั่นใจว่า พรุ่งนี้ จะมีข้าวกินไหม เพราะอยู่วัดตื่นมาก็คว้าบาตรออกเดิน แต่เมื่อชีวิตไม่สิ้นก็ดิ้นกันไป ปลอบตัวเองได้เท่านั้น กระทั่งกลาง ๆ ปี พี่  ภานุมาศ ที่เล่นอินเตอร์เน็ตมาก่อนหน้า ก็บอกว่า เห็นมีข่าวประกวดนิยายรางวัล ‘ทมยันตีอะวอร์ด ครั้งที่ ๑’ และพี่ภานุมาศก็รู้ดีว่า ผมมีต้นฉบับนิยายอยู่ในมือ ตั้งแต่บวชเป็นพระ หลายเรื่อง..

กติกาของรางวัลนี้มีอยู่ว่า คนที่จะส่งผลงานต้องไม่เคยมีผลงานนิยายรวมเล่มกับที่ใดมาก่อน และถ้าติด ๑ ใน ๒๐ เรื่อง งานก็จะได้รับการพิมพ์รวมเล่มจากสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม พออ่านระเบียบการคร่าว ๆ แล้ว ใจหนึ่งก็คิดว่า น่าสนใจ เพราะ ทุกคนที่ส่ง จะต้อง เป็นมือใหม่ และรับตั้งยี่สิบเรื่อง มันน่าจะมีโอกาส แต่อีกใจ เรื่องที่คิดว่า ดีที่สุด อย่างชิงชัง ก็ยังเขียน ไม่จบ กับภาระหน้าที่ตอนนั้นก็รัดตัว สุดท้ายก็สรุปกับพี่ภานุมาศว่า คงยังไม่ส่งหรอก รอโครงการที่สองแล้วกัน เขาคงต้องจัดอีกแน่ ๆ

ช่วงนั้น มีโอกาสประกวดร้องเพลงโครงการค้นคว้าฟ้าดาว ปี   ที่ ๒ ผมเห็นว่า การประกวดร้องเพลงมีการพัฒนาไปมาก ขึ้นมาร้องและมีคอมเม้นท์จากกรรมการซึ่งไม่ใช่วิจารณ์แบบเบา ๆ แต่ใช้ถ้อยคำค่อนข้างรุ่นแรง ก็เลยมาฉุกคิดได้ว่า ถ้างานที่เราเขียน ไว้ทั้ง ๔ เรื่อง ไม่มีใครอ่านเลย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราเขียนนิยายขนาดยาวได้เรื่องได้ราวหรือยัง...

เจตนาแรกที่จะส่งงานโครงการประกวดนักเขียน คือ อยากให้กรรมการอ่าน ไม่คิดหรอกว่า ตัวเองจะได้รางวัลอะไร เพราะตอนนั้น ต้องบอกว่า เพิ่งออกมาจากวัด ซึ่งอยู่มาเกือบห้าปี กับ ๕ พรรษา จนกลายเป็นเป็นผลไม้ลืมต้น ลืมการต่อสู้ดิ้นรนแบบทางโลกไปมากทีเดียว เรื่องโพสต์นิยายตามอินเตอร์เน็ตที่มีมาก่อนหน้าบ้างแล้วก็ไม่รู้จัก...เมื่อตัดใจได้แล้วว่าต้องลองดูสักตั้ง จึงหวนกลับไปมองงานในมือ เรื่อง แจกันดอกหญ้า(ชื่อเดิม ทุ่งเสน่หา) ไม่ต้องรักเท่าฟ้า ชิงชัง และ ตะเกียงกลางพายุ   ประเมินด้วยความรู้สึกของตนเองว่า ทุ่งเสน่หา และ ชิงชัง น่าจะส่งเข้าประกวดที่สุด แต่ปัญหาคือ ชิงชังยังเขียนไม่จบ สุดท้าย เวลาก็กระชั้นเขามา เพราะ ทางโครงการบอกว่า ต้องส่งงาน วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ไปรษณีย์เปิดทำการ และทางโครงการ ก็ต้องการต้นฉบับแบบหน้ากระดาษเอสี่ เรื่องละสาม      ก็อปปี้ กับต้องบันทึกไฟล์งานลงแผ่นซีดีแนบไปด้วย

เมื่อเป็นดังนั้น จึงมองไปที่ต้นฉบับชิงชัง แน่นอนว่า เวลาตั้งแต่เปิดเรื่อง พิมพ์ลงคอมฯ และปริ้นออกมาเป็นกระดาษนั้น บัดนี้กระดาษเหลืองตัวอักษรเลือนราง และที่สำคัญที่สุดคือ ไฟล์งานที่บันทึกไว้ในโน๊ตบุ๊คที่หิ้วมาใช้ในวัด และบันทึกลงไดร์ฟเอ(แผ่นสี่เหลี่ยม)นั้น หายไปแล้ว...พอจะส่งงานประกวดก็เลยตัดสินใจ เอากระดาษนั้นไปจ้างเขาพิมพ์ทั้งหมดสามร้อยกว่าหน้า และตัวเองก็มานั่งเขียนตอนที่เหลืออยู่อีกประมาณสิบตอน...สารภาพไว้ตรงนี้เลยว่า ทั้งเรื่อง         ทุ่งเสน่หา และ ชิงชัง แทบไม่ได้อ่านทวนซ้ำเลย และไม่เคยให้ใครอ่านต้นฉบับเต็มเรื่องด้วย เวทีแห่งนี้ไม่มีพี่เลี้ยงจริง ๆ มีแต่ความรู้สึกของตนเองที่คิดว่า ดีแล้ว ล้วน ๆ เลย... จำได้ว่า วันที่หอบหิ้วงานใส่กล่องไปส่งไปรษณีย์ เป็นวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๘ เป็นวันสุดท้ายที่ไปรษณีย์เปิดทำการพอดีเด๊ะ

และเมื่อทางเว็บ ณ บ้านวรรณกรรม เปิดเผยรายชื่อนิยายทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดก็เห็นว่า ชิงชัง ที่มีความหนาถึง ๔๑๖ หน้าเอสี่ ขนาดฟร้อน ๑๖ อยู่ลำดับที่ ๑๕๑ ทุ่งเสน่หา(แจกันดอกหญ้า) ๑๕๒ จากนิยายที่ส่งเข้าประกวด ๑๕๓ เรื่อง.....

หลังจากที่ส่งงานไปแล้ว ช่วงต้นปี ๒๕๔๙ พอรู้ว่า มีคู่แข่งมากมายก็แทบไม่เป็นอันทำอะไร รอลุ้นแต่ผลการตัดสิน และหวังใจจากชื่อเรื่องที่เห็นว่า สองเรื่องที่ส่งไป น่าจะเข้าตากรรมการบ้าง ตอนนั้นทางโครงการบอกไว้ว่า จะประกาศผลยี่สิบเล่ม ประมาณเดือนเมษายน แต่ทำไปทำมา ก็ทยอยประกาศผล ครั้งแรก ต้นเดือนกรกฎาคม  ๕ เรื่อง ครั้งที่สอง กลางเดือน อีก ๔ เรื่อง  รวมเป็น ๙ เรื่อง และหนึ่งในนั้น ไม่มี นิยายทั้งสองเรื่องของเรา แต่ใช่ว่า อีก ๑๑ เรื่องที่ยังเหลือ เราจะไม่มีหวัง กระทั่งเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน ก็ได้รับโทรศัพท์จากสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ว่านิยายเรื่อง ชิงชัง เข้ารอบยี่สิบเล่มสุดท้าย และจะได้พิมพ์รวมเล่มตามกติกา แต่ว่าจะต้องเข้ามาคุยและมาเซ็นสัญญากันก่อน วันที่ได้รับโทรศัพท์นั้น ผมเดินทางไปหาเพื่อนที่ดอนเมืองพอดี กำลังจะออกไปห้างไปดูหนัง พอรู้ข่าวก็กระโดดตัวลอยดีใจมาก...

ปลายปี ๒๕๔๙ นิยาย ที่เข้ารอบ ๒๐ เรื่อง ทางสำนักพิมพ์ฯ ก็ทยอยพิมพ์รวมเล่ม เพราะช่วงปลายปี ประมาณเดือนธันวาคม จะมีการประกาศผลรางวัลที่ ๑ ซึ่งเงินรางวัลสูงถึง สามแสนบาท ถามว่า ลุ้นกับเงินก้อนโตไหม ตอบว่า ลุ้นมาก กระทั่งถึงวันตัดสิน ซึ่งจัด ที่อาคาร   เอสซีบี พาร์ค พลาซ่า ถ.รัชดาฯ ก็ยังไม่เห็นหนังสือผลงานของตัวเอง และแน่นอนว่า เรื่องที่ได้รางวัลที่ ๑-๕ เป็นนิยายที่ได้พิมพ์รวมเล่มก่อน

หน้านั้น...

และตั้งแต่วันนั้นผมก็เฝ้ารอ ปก  ซึ่งถือเป็นหน้าแรกที่นักอ่านจะได้เห็น รอแล้วรอเล่า รออย่างทรมาน พอ ๆ กับที่รอให้กรรมการประกาศผล กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ จึงได้เห็นปกผ่านเว็บไซด์ ได้ตรวจอาร์ตซึ่งผ่านการอีดิดจากบก.ไปแล้วอีกรอบ และได้เห็นผลงานของตัวเองที่งานสัปดาห์หนังสือที่จัด ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตเป็นครั้งแรก

 ตอนนั้นตื่นเต้นดีใจมาก เหมือนกับว่า บิดา-มารดา เห็นหน้าบุตรที่ถนอมไว้ในครรภ์ครั้งแรก...ผมจึงถือว่า วันที่เห็น ผลงาน ชิงชัง แบบรูปเล่ม เป็นวันที่เริ่มต้นนับหนึ่งกับ บรรณพิภพ นี้...

และตั้งแต่วันนั้น จนถึง วันนี้...นับได้ ๑๐ ปีล่วงผ่าน ใจหนึ่งก็อยากทำอะไรเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับชีวิตนักเขียน แต่ก็รู้ดีว่า ตัวเองไม่มี  ต้นสังกัดชัดเจน ตลอดสิบปีในเส้นทางสายน้ำหมึก งานเกือบสามสิบเรื่อง ส่งไปพิมพ์กับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ นับได้เป็นสิบแห่ง และท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ ประกอบกับทิศทางของวงการสื่อสิ่งพิมพ์เปลี่ยนไป ทำให้ยากจะมีโอกาสพิมพ์งานเก่าฉลองวันครบรอบสิบปีของตัวเอง...แต่เมื่อปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์พัฒนาไปจนไม่จำเป็นต้องพิมพ์เพลทและพิมพ์ครั้งเดียวด้วยจำนวนหลายร้อยหลายพันเล่ม ผมจึงตัดสินใจ จัดหน้า ทำปก พิมพ์ชิงชัง ฉลองสิบขวบปี...

และเพื่อให้หนังสือเล่มนี้ ทรงคุณค่ากับท่านผู้มีอุปการคุณ ผมจึงได้ ตั้งใจเขียนจากใจนักเขียนขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการเขียนครั้งแรกกับนิยายเรื่องชิงชัง พร้อมกันนี้ก็ได้ขออนุญาต นายปิยวัฒน์ ดีเหลือ อดีตนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คณะศิลปะศาสตร์ เอกภาษาไทย ซึ่งได้เคยนำ นวนิยายชิงชังไปวิเคราะห์วิจารณ์ในรูปแบบสารนิพนธ์ มาพิมพ์รวมในเล่มนี้ด้วย...เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า งานชิงชัง งานที่เป็นเรื่องแจ้งเกิด นามปากกา จุฬามณี งานที่เป็นจุดกำเนิดงานเขียน สไตล์ลูกทุ่งพีเรียด ซึ่งกลายเป็นงานที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง และกลายเป็นเรื่องทันสมัยขึ้นมา เพราะหลังจากที่หนังสือนิยายชิงชังวางแผงในเดือนมีนาคม ปี ๒๕๕๐ จนถึงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๐ ผมได้ไป เซ็นสัญญากับบริษัท exact ซึ่งผลิตละครออกอากาศทาง ททบ.๕ ในตอนนั้น ดีใจว่างานที่ฟูมฟักมาหลายปี ได้ไปถึงฝั่งอย่างที่ใจปรารถนา...เพราะระหว่างที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยคิดฝันอยู่ว่า อยากมีผลงานนิยายรวมเล่มอยู่ในร้านดอกหญ้า ร้านนายอินทร์ ร้านหนังสือชั้นนำเหมือนนักเขียนชั้นครูที่เคยหยิบของท่านมาอ่าน และงานชิ้นนั้น จะถูกซื้อไปสร้างละครโทรทัศน์...

กระทั่ง วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ วันที่รู้สึกปลาบปลื้มกับความฝันของตัวเองอีกครั้ง เมื่อได้เห็นที่หน้าจอ ช่อง๕ มีคำว่า ชิงชัง               บทประพันธ์ ของ จุฬามณี และตั้งแต่วันนั้น จนถึง ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ ทุกวันจันทร์-วันพฤหัส เป็นช่วงที่ชีวิตมีความสุขเป็นอย่างมาก เพราะ จินตนาการอันเกิดขึ้นจากการบอกเล่าเพียงสั้น ๆ ของย่า กลายเป็นภาพละครที่คนหลายล้านคนเฝ้าติดตามดูชีวิตของพวกเขา...และละครชิงชังทำให้ผมมีนิยายสไตล์นี้ออกมาอีกหลายต่อหลายเรื่อง

ที่สุดนี้ ขอขอบคุณ ย่าหงษ์ เที่ยงธรรม ซึ่งเป็นผู้จุดประกาย ให้หลานคนนี้ ค้นพบว่า เรื่องรอบตัวของเรานั้นสามารถนำมาสร้างเป็นพล็อตนิยายได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องของชาวบ้านร้านตลาดก็ตามที และทุกวันนี้ นักอ่านหลาย ๆ ท่านก็ให้การยอมรับว่า ถ้าจะอ่านงานลูกทุ่ง      พีเรียดต้องอ่านงานของจุฬามณี...

ขอบคุณ สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม กับเวทีแจ้งเกิด โครงการถนนสู่ดวงดาว เพื่อชิงรางวัล ทมยันตีอะวอร์ด ครั้งที่ ๑ ขอบคุณ บก.รักชนก นามทอน กับบทบรรณาธิการที่อ่านครั้งใดก็รู้สึกปลาบปลื้มใจ

ขอบคุณ บริษัท เอ็กแซ็กท์–ซีเนริโอ ที่หยิบบทประพันธ์ ชิงชัง ไปเจียระไนโดย คุณศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ มือเขียนบท ช่วยให้ชิงชัง เปล่งประกายงดงาม ขอบคุณนักแสดงทุกท่าน ที่ถ่ายทอดทุกเรื่องราวและอารมณ์ออกมาได้อย่างกับเดินออกมาจากหนังสือ

ขอบคุณมิ่งมิตรในสวนน้ำหมึกทุก ๆ ท่าน โดยเฉพาะคุณ      โมริสา ผู้ส่งงานเข้าประกวดโครงการเดียวกัน และ ยังเป็นมิตรที่ดีต่อกันจนถึงวันนี้

และสุดท้าย ขอขอบคุณ เพื่อนนักอ่านทุก ๆ ท่านที่ได้อ่านและให้กำลังใจกับงานสไตล์ของผม จนผมสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำและพูดได้อย่างไม่อายใครว่าปัจจุบัน ประกอบอาชีพนักเขียน

แน่นอนว่า หากงานที่เคยเขียน มีความผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ หากว่างานชิ้นนั้น ยังประโยชน์ เป็นไปเพื่อยกระดับจิตใจ อย่างที่ผมตั้งใจไว้ก่อนจะลงมือเขียน ก็ขอกุศลศรัทธาในความดีนั้น ช่วยดลบันดาลให้คนอ่านทุก ๆ ท่านมีสุขภาพร่างกายแข็ง มีแต่ความสุข ความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยเทอญ...

ขอบคุณที่อยู่ด้วยกันมาตลอดสิบปี

 

 

จุฬามณี-เฟื่องนคร-ชอนตะวัน

๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๐

ณ เรือนจิตรา


 


จากใจนักอ่าน

 

ข้อเขียนวันนี้ เขียนเมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๐ ในเว็บบอร์ดของสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ข้าพเจ้านำกลับมาให้อ่านกันอีกครั้ง เพราะคิดว่าความรู้สึกเดิมที่อ่านยังคงไม่เปลี่ยน พอดีไปค้นเจอในคลังเก่า และเหมือนเดิม โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

ชิงชัง ชิงชัง ชื่อนี้ติดตาตั้งแต่ตอนประกาศโผเข้ารอบยี่สิบคนสุดท้ายแล้วสงสัยมาตลอดว่า ทำไมต้องชื่อชิงชัง และตัวละครในเรื่องจะชิงชังกันได้ถึงขนาดไหน ตั้งใจว่าถ้าออกเป็นตัวเป็นตนเมื่อไร จะไปสอยมาอ่านให้หายสงสัยกับคำว่า "ชิงชัง"

แล้วเราก็ได้ชิงชัง พร้อมลายเซ็นแสนเท่ รุ่นกันคนยืมตังค์มาครอบครอง

ข้าพเจ้าเริ่มอ่านชิงชัง ใช้เวลาหนึ่งวันหนึ่งคืนจบ

อยากบอกว่าสิ่งที่ได้หลังอ่านจบ คือผู้เขียนตั้งชื่อได้เข้ากับเนื้อเรื่องอย่างลงตัว "ชิงชัง"

อึ้ง ทึ่ง หวาดเสียวกับฉากบู๊ ตอนหมอทำเสน่ห์ถูกฟันฉับ!คอขาดกระเด็น ตัวละครในเรื่องเยอะมาก แต่ผู้เขียนแจกจ่ายหน้าที่ให้ทุกคนทำอย่างคุ้มค่า

‘ทิดยอด’ กล้าเล่นกับความรักที่มีต่อแม่อิ่ม ด้วยวิธีผิดๆ กระทำทุกอย่างเพื่อให้ได้หญิงสาวคนรักมาครอบครอง โดยไม่สนใจว่าจะเป็นวิธีสกปรก ขอเพียงเพื่อให้ตัวเองได้พิสูจน์รักแท้ที่มีต่อแม่อิ่ม บทเรียนในการพิสูจน์รักครั้งนี้ ใช้เวลายาวนานนัก และสิ่งสุดท้ายที่ได้ก็ไม่ใช่ในสิ่งที่ทุกคนคาดหวัง

ตัวละครอีกตัว คือ ‘ทิดอิน’ ผู้มีความรัก ความภักดีมอบให้หญิงสาวเพียงคนเดียวเช่นกัน เมื่อไม่ได้ ผู้ผิดหวังย่อมสูญเสีย และย่อมอยากได้มาไว้ในครอบครอง ข้าพเจ้าชอบตัวละครอย่างทิดอิน นิ่ง ร้าย คมในฝัก ผู้สามารถทำได้ทุกสิ่ง เพื่อให้สมปรารถนาในรัก ปลายทางแห่งความรักที่ทิดอินเลือกเดินผู้เขียนได้หาทางออกให้ตัวละครอย่างชาญฉลาด

‘แม่อิ่ม’ หญิงสาวผู้เป็นต้นเหตุแห่งความรักทั้งมวล ผู้กำหัวใจชายสองคนไว้ในมือ เธอใช้ชีวิตอย่างรู้ผิดรู้ชอบ เธอเป็นผู้ตัดสินชะตาชีวิตของชายทั้งสอง รวมไปถึงขีดเส้นให้ตัวเองได้อย่างงดงาม ชอบตรงผู้เขียนให้แม่อิ่มเริ่มตั้งตัวจากจุดเล็กๆ ในสิ่งธรรมดาย่อมไม่ธรรมดา ขอเพียงความขยันอดทน ตั้งใจจริง และแน่วแน่กับสิ่งที่อยู่ในใจ ก็พอเพียงสำหรับใครหลายๆคน ถ้าเลือกที่จะหยิบมันขึ้นมาให้กำลังใจตนเอง

ตัวละครอีกตัวผู้เป็นสีสันของเรื่อง ไม่แพ้ตัวไหนๆ ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ขาด ‘แม่อุ่น’ สักคน ชิงชังคงไม่สมบูรณ์

ผู้เขียนเปรียบเปรยการใช้ชีวิตของห้าพี่น้องได้อย่างลงตัว ชี้ให้เห็นว่าระหว่างความดี ความชั่ว ขาวกับดำ ทองแท้กับตะกั่ว

สิ่งเหล่านี้เพียงแค่พลิกฝ่ามือ ชีวิตก็พลิกผันได้ทันทีเช่นกัน ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะเลือกพลิกไปทางไหน ดีชั่ว ตัวเราเองกำหนดได้ ถึงแม้จะเลือกเกิดไม่ได้ก็ตาม นี่เป็นตัวละครสองขั้วที่ยกมาเป็นตัวอย่าง

อีกเรื่องผู้เขียนสอดแทรกธรรมะได้อย่างแยบยล คมคาย โดยไม่รู้สึกว่าโดนยัดเยียด ในขณะเดียวกันเมื่อคิดตามกลับทำให้มองอะไรได้กว้างขึ้น (อันนี้ขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะคิดนะคะ) เช่น "คนรวยเป็นไม่ยากหรอก รู้จักพอก็รวยแล้ว"

อันนี้คิดไปถึงได้ว่าไม่ได้รวยแค่เงินทอง มันยังรวมไปถึงการรวยน้ำใจ

อีกข้อ "ผู้ให้เป็นได้ยากแล้ว ผู้ที่รับไปแล้วตอบแทนคุณผู้ให้ยากกว่า" ข้อนี้คิดไปถึงการแบ่งปันโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เลยคิดไปถึงเมื่อวันก่อนที่ผู้เขียนเคยพูดถึงในกระทู้ของเว็บบอร์ด ณ บ้านฯ "อะไรคือความหมายของชีวิต"และบอกว่า สามารถหาคำตอบได้ในชิงชัง มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ยังมีตัวละครอีกหลายตัวให้พูดถึง และสามารถสร้างสีสันให้กับเรื่องได้ทุกตัวเรียกว่าเปรี้ยว หวาน มันเค็มมีทุกรส ผู้เขียนหาทางออกให้ตัวละครหลายสิบชีวิตในเรื่องได้อย่างลงตัว

สรุป! อ่านแล้วมันสะใจกับสำนวนลูกทุ่งขนานแท้ ท่านจะสูดปากอย่างเผ็ดร้อนกับเรื่องราวเข้มข้นตั้งแต่ต้นจนจบ มีกลิ่นอายชนบทเต็มๆ ใครไม่เคยอ่านสำนวนแบบนี้อยากให้ลองดู  เพราะนี่เป็นหนึ่ง

เดียวในแผงเวลานี้ กับนิยายไอดินกลิ่นหญ้า สาบควาย

แล้วท่านจะรู้ว่าปาฏิหาริย์มีจริง ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ อ่านชิงชัง กลายเป็นชื่นชอบ จนร้องชะชะช่าไปแล้ว ฮา

จุฬามณี คุณทำได้!

คำเตือน !นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ไม่สามารถเอาไปเป็นหัวข้ออ้างอิงถกเถียงกันถึงเรื่องชิงชังได้ จนกว่าท่านจะได้อ่านชิงชังจนจบ

สุดท้ายขอแสดงความยินดีที่ "ชิงชัง" กำลังจะเป็นละครของค่าย exact ออนแอร์ทาง ททบ.๕

 

โมริสา/อรอร

เพื่อนนักเขียน

หนึ่งในผู้ส่งผลงานเข้าประกวดโครงการทมยันตีอะวอร์ดครั้งที่ ๑

 

 

 

 

 


รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (77 รายการ)

www.batorastore.com © 2024