เพื่อนรักต่างมิติ (พันธุ์ ชุมพร)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: เพื่อนรักต่างมิติ
ของหมด (ต้องการสินค้า)
ราคา: 100.00 บาท 25.00 บาท
ประหยัด: 75.00 บาท ( 75.00% )

เนื้อหาบางส่วน

 

สถานที่จริงในอดีตและปัจจุบัน

 

ด้านตะวันตกของหมู่บ้านศาลาบางปู มีชุมชนโบราณ ชื่อ “บ้านยิง” ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการทำเครื่องปั้นดินเผา มาแต่โบราณกาล คือ การปั้นหม้อ อ่าง กระถาง ไห... นำเข้าเตาเผาสุกแล้วออกวางขาย ทำกันทั้งหมู่บ้าน แทบไม่ได้ทำอาชีพอื่น มีหลักฐานทางโบราณคดี กล่าวว่า “บ้านยิง” เป็นชุมชนโบราณที่มีมาก่อนจะมีการสร้างเมืองนครศรีธรรมราช  มีลำคลอง ๒ สาย คือ คลองโมคลาน กับคลองมะยิง ขนาบ ๒ ด้าน ทำให้สะดวกในการขนส่งทางเรือ

คลองทั้งสองไหลผ่านสันทราย อันเป็นที่ตั้งของชุมชนโมคลาน ไปลงทะเลอ่าวไทย ที่บ้านปากมะยิง  หรือปากพะยิง ก็คือปากน้ำที่ออกทะเลนั่นเอง ในวัดโมคลาน ตำบลโมคลาน (อ่านว่า โมก-คะ-ลาน) มีซากแผ่นหินถูกนำแกะสลัก เจาะรูเป็นรูปแปลก ๆ อยู่ในลานวัดมากมาย

ห่างไปทางทิศเหนือ อีกราว ๑ กิโลเมตร ติดริมคลองยิง มีหมู่บ้านปากยิง หรือปากพะยิง ภาษาพูดเรียก “บ้านหัวรถ” คำว่า หัวรถ เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๙ ที่มีผู้นำรถยนต์มาใช้แล่นรับ-ส่งผู้โดยสาร โดยมีจุดเริ่มต้นจากริมคลองปากพะยิง ไปหมดระยะที่ตลาดท่าแพ ส่วนจากตลาดท่าแพ จะมีรถโดยสารอีกพวก ผูกขาดการแล่นรับส่งผู้โดยสารเข้าเมืองนครฯ

ถนนช่วงท่าแพ-เมืองนคร ได้รับการลาดยาง พอให้รถคันเดียวแล่นได้ แต่พอจะสวนทางกัน รถทั้งสองฝ่ายจะต้องขับลงขอบทาง ที่เป็นดินทรายคนละครึ่ง พอเลยกันไปแล้วจึงค่อยกลับเข้ากลางถนนต่อ

ถนนสายนครศรีธรรมราช-ท่าศาลา ก่อนปี พ.ศ.๒๔๙๒ พอเลยจากบ้านในถุ้งและบ้านท่าศาลาไปแล้ว พื้นที่มีสภาพเป็นทุ่งนาหล่มโคลน สลับกับเนินทรายเป็นช่วง ๆ การทำถนนต้องไปขุดดินจากภูเขามาถม ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๙๒-๒๔๙๗ ที่มีรถยนต์มาแล่นอยู่ ๒-๓ คัน รัฐบาลยังไม่ค่อยมาจัดการ นอกจากมาบุกเบิกให้กว้าง ทำเป็นถนนทราย พาหนะประจำทาง ยังเป็นเกวียนเทียมควาย จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๐ ถนนสายนคร-ท่าศาลา จึงได้รับการปรับถม ไปจนถึงอำเภอสิชลและขนอม

ส่วนผู้ที่ปลูกบ้านอาศัย อยู่ในช่วงถนนบ้านหัวรถ-ท่าแพ นับเป็นความโชคดี เพราะถนนคือหาดทราย อันเกิดจากคลื่นทะเลธรรมชาติ เมื่อหลายร้อยปีก่อนทำถนนไว้ให้ แบบที่ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของรัฐบาล หรือทางบ้านเมืองมาปรับถม เพราะหน้าแล้งทรายร่วนเป็นฝุ่น หน้าฝนทรายอัดแน่นไม่มีฝุ่น ใช้เป็นทางสัญจรของรถและเกวียนได้ทุกฤดูกาล

หาดทรายดังกล่าวเริ่มจากเขตอำเภอท่าศาลา ผ่านตัวเมืองนครศรีธรรมราช ผ่านเจดีย์วัดพระมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางไปจนถึงอำเภอชะอวด โดยที่ทั้งด้านตะวันตกและตะวันออก ของหาดทรายเป็นทุ่งนา ด้วยว่าเมื่อก่อนมันคือทะเล ที่ต่อมาค่อย ๆ ตื้นเขิน บางที่ เช่น ด้านตะวันตกของหาดทราย กลายเป็นป่าพรุมีน้ำขังหลายที่น้ำลึกใช้ทำนาไม่ได้ กลายเป็นแหล่งอาศัยของปลาน้ำจืด ชนิดต่าง ๆ มีต้นไม้ที่ชอบขึ้นอยู่ในน้ำ เช่น เสม็ด ตังหน เทียะ หว้า หวายน้ำ หลาโอน กะพ้อ...

ที่ดีไปกว่านั้นคือ บนหาดทรายยาวที่ธรรมชาติสร้าง มีลำคลองตัดผ่าน ที่ทำให้ต้องสร้างสะพานข้ามมีอยู่เพียง ๒ แห่ง คือ คลองมะยิง และคลองท่าแพ แต่ถ้าเป็นทุ่งนาดินเหนียว อย่าว่าแต่เกวียน คนเดินก็เดินลำบาก อย่าง เช่น ขนอม ปากพนัง หัวไทร และเชียรใหญ่ ในปี พ.ศ.๒๔๘๔- ๒๕๑๒ ต้องใช้เรือแล่นออกทะเลก่อนวกเข้าไปตามลำคลองปากแม่น้ำ เพื่อเข้าไปสู่อำเภอเหล่านี้

รายละเอียด

ชื่อหนังสือ เพื่อนรักต่างมิติ
ชื่อผู้แต่ง พันธุ์ ชุมพร
หมวดหนังสือ นิยายเยาวชน
ยิ่งเข้ามาในเขตหมู่บ้าน เด็กชายก็ยิ่งประหลาดใจ
ตอนแรกคิดว่าไม่มีคน แต่เมื่อเพ่งมองดี ๆ จึงเห็นว่ามีคนอยู่
ใต้ถุนบ้านบางหลังมีคนนั่งจักสาน บ้างปั่นด้าย ทอผ้า ทอเสื่อ
บางบ้านกำลังตำข้าว ทุกคนล้วนมีงาน ไม่มีใครอยู่เฉย
แต่แปลกไม่มีเสียงพูดคุยหยอกล้อ ไม่มีการตั้งวงดึ่มสังสรรค์
ไม่มีวงเล่นไพ่หรือการพนัน
“สวัสดีครับตา” เด็กชายเย็นเดินเข้าไปยกมือไหว้ทักทาย
“ที่นี่เขาเรียกอะไรครับตา ผมไม่เคยรู้ ไม่เคยมาเลย
ไม่ทราบว่ามีหมู่บ้านอยู่ที่นี่”
“เขาเรียกหมู่บ้านปัญจศีลคาม
คนข้างนอกไม่ค่อยมีใครได้เข้ามาหรอก” ชายชราตอบฟังดูชอบกล

คำนำ

นิยายเรื่อง เพื่อนรักต่างมิติ เดิมใช้ชื่อว่า “เกาะลอยหมู่บ้านประหลาด” เขียนขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๕ ผ่านการตีพิมพ์เป็นตอนๆ  ครั้งแรกในนิตยสาร “โลกลี้ลับ” ต่อมา สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม ในปี พ.ศ.๒๕๔๔

เป็นเรื่องที่ชายชราอายุ ๗๒ ปี ชื่อคุณตาเย็น (นามสกุลจำไม่ได้) คุณตาเย็นเล่าเรื่องนี้ให้พระภิกษุและสามเณร ในวัดศาลาบางปู(วัดวิสุทธิยาราม ตำบลปากพูน อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช) ฟัง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ตอนที่ข้าพเจ้าอายุ ๑๗ ปี และได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดนี้

เรื่องน่าจะเกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๑ สมัยที่ถนนสายนครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี ยังไม่ได้ตัดผ่าน และทางสายนี้ยังเป็นทางเกวียนเทียมควาย บรรทุกสินค้าจากบ้านปากพะยิง ไปขายที่ตลาดท่าแพ ระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ส่วนอีก ๑๒ กิโลเมตร ผ่านกรมทหารราบฯ  เข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช เป็นถนนโรยหินสำหรับรถม้า(ยังไม่มีรถยนต์) ขณะที่อีก ๓ อำเภอ คือ ท่าศาลา สิชล และขนอม...ยังต้องไปทางเรือ

จุดที่เป็นบ้านศาลาบางปู เป็น ๔ แยก ตรงปากทางแยกขวา หากไปจากท่าแพ-บ้านปากพะยิง มีศาลาที่พักคนเดินทาง ข้างศาลามีต้นชะเมา ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่หลายต้นทำให้เกิดความร่มรื่น ชะเมามีลักษณะผลเหมือนชมพู่ ขนาดเท่านิ้วมือ ผลสุกมีกลิ่นหอม ๆ รสชาติเลี่ยน ๆ จืด ๆ กระรอก นก หนู ที่ชอบกิน

พื้นศาลาปูด้วยไม้กระดานหนาสำหรับปูพื้น ฝากั้นไม้กระดานสำหรับกั้นฝา เสาเป็นเสาเหลี่ยมทำด้วยไม้แก่นเนื้อแข็ง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาหางแมงดาสีแดง มีตะขอเกี่ยวบนไม้ระแนง ภายในศาลามีห้องพัก ๑ ห้อง สำหรับให้นักเดินทางนอนพัก ส่วนหน้ามีระเบียงกว้าง ถูกปลูกสร้างขึ้นด้วยจิตอันเป็นกุศล มุ่งให้เป็นสิ่งสาธารณะของทุกคน ไม่มีใครยึดถือเป็นเจ้าของ

เพราะผู้เดินทางใช่แต่จะเป็นชาวบ้าน พระสงฆ์องค์เจ้าก็มาพัก ในศาลาจึงมีเสื่อ หมอนไว้พร้อม มีโอ่งดินใบเล็ก ๆ ใส่น้ำดื่ม วางไว้ที่ระเบียงข้างบันได มีกระบวยทำด้วยกะลามะพร้าว ขัดมันดำขลับ ใส่ด้ามยาวทำด้วยไม้เนื้อแข็ง แขวนไว้ สำหรับให้ผู้เดินทางเปิดฝาโอ่งตักน้ำขึ้นมาดื่ม

ข้างศาลามีบ่อน้ำใสสะอาด กั้นขอบบ่อด้วยอิฐก่อกันทรายไหลลงบ่อ มีหมาต้อหรือหมาจาก (ภาชนะทำด้วยกาบหมาก หรือสานด้วยยอดใบจากใช้ตักน้ำ) ไว้ให้คนเดินทางไปยืนสาวน้ำจากบ่อ ตักขึ้นมาอาบชำระกาย ซึ่งผู้คนในสมัย ๑๐๐ หรือ ๒๐๐ ปีก่อน มองเห็นคุณค่าของมนุษย์ มองทุกคนเป็นญาติ เป็นเพื่อนพ้องน้องพี่กันทั้งสิ้น แม้จะไม่เคยเห็นหน้าหรือเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติ...

ข้าพเจ้าเกิดมาทันได้เห็นศาลาหลังนี้ เพราะสวนและบ้าน ที่พ่อกับแม่มาซื้อสร้างไว้ อยู่ห่างจากศาลาไปทางทิศใต้ ประมาณ ๘๐๐ เมตร

            ตาเย็นชอบเล่าเรื่องประหลาด ๆ แต่หนหลัง ในสมัยที่แกยังเป็นเด็ก และบ้านศาลาบางปู ยังเป็นป่าใหญ่ดงดิบ ยังไม่มีถนนและรถยนต์ ให้เด็กๆ และสามเณรฟัง

เรื่องหนึ่งที่ผมจำฝังใจไม่เคยลืม คือ เรื่อง “เกาะลอยหมู่บ้านประหลาด” หมู่บ้านที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้พบเห็น แต่ตาเย็นกลับได้ไปเห็น ตาเย็นยืนยันว่า ตอนที่แกเป็นเด็กอายุ ๑๑-๑๒ ขวบ เที่ยวเล่นซุกซนทั้งวัน  แกได้ไปพบเห็นหมู่บ้านประหลาดมาจริง ๆ

ข้าพเจ้าฟังเรื่องนี้แล้ว ต่อๆ มาก็ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นอีกหลายที่ เป็นเรื่องสมัยโบราณเกินร้อยปี เกี่ยวกับ หมู่บ้านชาวลับแล ที่คนเฒ่าคนแก่บอกว่ามีจริง มีอยู่แทบทุกที่ทุกจังหวัด แม้กระทั่งที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ที่ข้าพเจ้าอยู่ในปัจจุบัน ที่แหลมแท่น อำเภอปะทิว ที่เขาแมว ภูเขาที่อยู่หน้าบ้านของข้าพเจ้า (ได้เขียนเป็นนิยาย เรื่อง แมวขาวเจ้าภูผา ไว้ ๑ เรื่อง) ผู้เล่าคือ นายเริ่ม สุขเจริญ พ่อตาอายุ ๙๘ ปี ของข้าพเจ้า (เสียชีวิตเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว) อีกคนคือนายนำ เรืองหิรัญ ปัจจุบันมีอายุเกือบ ๙๐ ปี และยังมีชีวิตอยู่

การเขียนนิยายเรื่องนี้ ข้าพเจ้ามีจุดประสงค์เพื่อบันทึกเรื่องราว ที่มีเนื้อหาชวนคิดวิเคราะห์ ฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง ได้ตรองตรึกว่า การทำบุญเพื่อมุ่งหวังความสุข ไม่สำคัญเท่าการปฏิบัติศีลปฏิบัติธรรม มองให้เห็นสาระสำคัญของชีวิต ไม่หลงเพลินไปกับสิ่งยั่วยุทางเพศและอบายมุข ที่มีแต่ก่อให้เกิดกิเลส ตัณหา ราคะ  ซึ่งไม่ใช่ความสุขอันแท้จริง แต่มันคือนรกโลกันตร์โดยแท้...

การดำรงชีวิตอยู่ในสังคม แม้กระทั่งการเขียน ที่คอยประโคมโน้มน้าวแต่เรื่องสู่สมทางเพศ เรื่องราคะ มีแต่ทำให้สังคมโดยรวมเป็นสังคมที่ต่ำช้า ที่เราเองสักวันก็จะอยู่ยาก หากไม่ช่วยกันสกัดกั้น การแสดงยั่วยุทางเพศ ที่แฝงมากับความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ เว้นแต่ว่าเราจะส่งเสริมให้ยุคสมัยของลูกหลานของเรา เป็น“สังคมคนดิรัจฉาน” ที่เลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน แทนสังคมมนุษย์ผู้ประเสริฐกระนั้นก็ตามใจ...

ขอกราบคารวะและขอบคุณทุก ๆ ท่านที่โหลดเรื่องนี้มาอ่าน

 

นายไพบูลย์  พันธุ์เมือง

อดีตอาจารย์ ๓ ระดับ ๘ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร


รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (85 รายการ)

www.batorastore.com © 2024