พระอาทิตย์ขึ้นที่อ่าวไทย (ไพบูลย์ พันธุ์เมือง)

พระอาทิตย์ขึ้นที่อ่าวไทย (ไพบูลย์ พันธุ์เมือง)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: พระอาทิตย์ขึ้นที่
ของหมด (ต้องการสินค้า)
ราคา: 150.00 บาท 37.50 บาท
ประหยัด: 112.50 บาท ( 75.00% )

เนื้อหาบางส่วน

พระอาทิตย์ขึ้นที่อ่าวไทย

.

เหมือนถูกเนรเทศ

 

เกาะคอเขาบ่ายของวันอาทิตย์ ปี พ.ศ.๒๕๐๙ ชายหนุ่มอายุ ๒๖ ปี แบกจอบเดินตามหลังเด็กชายอายุ ๑๒ ปีไปช้า ๆ ทั้งสองคอยกวาดตามองผิวดิน  พอเจอตรงไหนมีรูเล็กๆ บนพื้นทราย ก็จะหยุดยืนพิจารณา ก่อนจะใช้จอบขุด

บริเวณที่คนทั้งสองเดินอยู่ เป็นขอบทุ่งกว้างและยาวไกล เนื้อที่น่าจะไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ไร่ อยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะคอเขา.ชาวบ้านเรียกทุ่งแห่งนี้ว่า “ทุ่งสนามบิน” เป็นทุ่งทรายมีหญ้าเรียบ ชาวบ้านเล่าว่าในสมัยสงครามญี่ปุ่น พ.ศ.๒๔๘๔ กองทัพอากาศเคยเอาเครื่องบินมาจอดพัก ปัจจุบันจึงเป็นที่สงวนของกองทัพ-อากาศ ห้ามชาวบ้านหรือผู้ใดมายึดครองไปเป็นของส่วนตน

ด้านตะวันตกของทุ่งมีทิวสนและต้นมะพร้าว เป็นแนวยาวไปตามชายหาดซ้ายและขวา ขณะที่ด้านหน้าคือทะเลอันดามัน ได้ยินเสียงคลื่นซัดหาดดังโครมครืน

ริมขอบทุ่งด้านตะวันออก มีละเมาะไม้ขนาดกลางขึ้นอยู่โปร่งๆ มีสัตว์เลื้อยคลาน ลำตัวขนาดพอ ๆ กับกิ้งก่า อาศัยขุดรูอยู่ค่อนข้างชุกชุม ชายหนุ่มขุดลึกลงไปราว ๕๐ เซนติเมตร ก็จับเอาตัวสัตว์ดังกล่าว ที่บนหัวและหลังมีสีเขียวหม่น มีจุดสีเหลืองเล็กๆ มีแถบดำสลับเหลืองส้มเรียงเป็นแนวข้างลำตัว ท้องเป็นสีครีม ยาวจากปากถึงโคนหางประมาณคืบเศษๆ  ยื่นให้เด็กชายรับไปหย่อนลงในถุงตาข่าย ที่ทำจากอวนเก่าๆ มาเย็บเป็นถุง เด็กชายถือถุงอยู่ในมือข้างซ้าย มือขวาถือเรียวไม้ยาว ๑ ช่วงแขน คอยแหย่รูว่าใช่รูแย้ รูงู รูแมงป่องหรือว่าไม่ใช่

            "คุณครูจะเอาไปไหนตั้งเยอะตั้งแยะขนาดนี้" ตอนหนึ่งเด็กชายถามขึ้น

            "เพื่อน ๆ ของครูที่อยู่นางย่อนเขาอยากกิน ทุกๆ ที่บนฝั่งโน่นนะของพวกนี้ไม่มีให้กินหรอก" 

            ชายหนุ่มตอบพลางหยุดมองรู ที่มีรอยสัตว์เลื้อยคลานเข้าออก เป็นรอยยังใหม่ ๆ  ทรายชื้นเป็นสีคล้ำ  ขนาดเท่าหัวแม่เท้า เด็กชายใช้ไม้เรียวที่ถือมาแหย่ลงไปในรู

            "รูนี้มีตัวแน่ๆ เลยคุณครู รอยบอกว่าเพิ่งเข้าไปใหม่ๆ"

            "ไม่แน่ อาจจะเป็นรอยออกก็ได้” ครูหนุ่มแกล้งแย้ง เพื่อดูปฏิภาณไหวพริบของลูกศิษย์

            "ถ้ามันออก มันจะไม่ทำขี้ดินอุดไว้ มันจะออกไปเลย” เด็กชายอธิบายตามหลักการสังเกต

            ครูหนุ่มพยักหน้ายอมรับ เพราะความรู้ในบางเรื่องต้องอาศัยประสบการณ์ การสังเกตและจดจำ  ในการขุดตามรอยรูเพื่อจับแย้มาทำอาหาร  ความรู้ของเขาสู้เด็กบนเกาะไม่ได้ เขาเป็นครูสอนหนังสือ ทำได้แค่ถ่ายทอดเนื้อหาวิชาการ แต่ประสบการณ์ท้องถิ่น การหาอาหารยังชีพ การใช้ชีวิตในชนบท เด็กๆ กลับเป็นผู้สอน เช่น ในทิวไม้ ใบสนทะเลและใบมะพร้าว ที่ขึ้นเรียงรายอยู่ตลอดชายหาด มีแมลงปีกแข็งเรียกว่า “แมงพรัด” หรือ แมลงพลัด เกาะอยู่มากมาย  สามารถจับไปคั่วเกลือเติมน้ำตาลนิด พริกไทยหน่อย กินเป็นกับข้าวหรือจะเป็นกับแกล้มเหล้า ก็อร่อยยิ่งนัก

และหากย้อนกลับไปอีกทุ่ง ที่ครูและศิษย์เดินผ่านมา ก่อนจะมาถึงทุ่งสนามบิน เป็นทุ่งที่ชาวบ้านมาปลูกสร้างอาคารเรียนไว้ เป็นทุ่งที่ในหน้าฝนจะมีน้ำท่วมขังเป็นแห่ง ๆ รอบข้างของโรงเรียนเคยเป็นที่นา ชาวบ้านใช้ทำนาปลูกข้าว แต่พอยกที่ให้เป็นที่สร้างอาคารโรงเรียนแล้ว ชาวบ้านต่างย้ายที่ไปทำนาในทุ่งด้านตะวันออกของหมู่บ้าน เป็นที่ลุ่มติดภูเขา มีอาณาบริเวณกว้างยาวกว่า มีอินทรียวัตถุ ที่ไหลลงมาจากป่าไม้บนเขา ทำให้ดินมีสภาพเป็นสีดำ ๆ ปลูกข้าวไม่ต้องใช้ปุ๋ย ส่วนที่เดิมข้างๆ โรงเรียน ใช้เป็นที่ปล่อยควายกินหญ้า ทำคอกควายและแหล่งควายนอน

หมู่บ้านอยู่ทางทิศตะวันออกของโรงเรียน มีบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่ม ประมาณ ๒๐ หลังคาเรือน  มีถนนแคบๆ ผ่ากลางจากหัวหมู่บ้านมาถึงท้ายหมู่บ้าน และมาหมดสิ้นลงตรงมุมสนามด้านใต้ของโรงเรียนพอดี

บริเวณถัดไปทางทิศใต้ ในทุ่งเดียวกันที่ภูเขาสูงใหญ่ไปหมดสิ้นลง ที่ดินกลับเป็นนูนเนิน ตะปุ่มตะป่ำ สลับด้วยหลุมบ่อ มีต้นไม้ขนาดกลางขึ้นคลุม กำนันหัวหน้าเกาะและตำบล ซึ่งมีบ้านปลูกอยู่บนเนินทรายหัวเขาด้านนี้ เล่าให้ครูหนุ่มฟังว่า เป็นร่องรอยจากการขุดหาแร่ดีบุก เมื่อประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ ปีที่แล้ว

บนส่วนนูนเนินที่น้ำไม่ท่วม มีผู้ปลูกมะม่วงเล็ดล่อ หรือมะม่วงหิมพานต์ไว้ค่อนข้างมาก โดยเจ้าของอยู่บนฝั่งตะกั่วป่า แต่ไม่เคยมาเก็บผล เพราะมะม่วงหิมพานต์ มีปลูกอยู่แทบทุกที่ ของจังหวัดที่มีการพลิกดินชั้นล่างมาไว้ข้างบน เมื่อใช้น้ำฉีดล้างเอาแร่ดีบุก ผิวดินเดิมไหลตามน้ำ กลายเป็นโคลนตมไหลไปทับถมอยู่ในแม่น้ำลำคลอง พื้นดินเดิมเหลือแต่ทรายและกรวดหิน ปล่อยให้หญ้าและไม้ป่าประเภทไม้เล็กงอกขึ้น ส่วนมะม่วงหิมพานต์เป็นพืชชอบดินทราย แค่หย่อนเมล็ดไว้ ก็สามารถงอกขึ้นได้ตามยถากรรม ไม่ต้องมีใครมาดูแล

ยอดอ่อน เนื้อผลสุก และเนื้อในเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นอาหารจิ้มเกลือรับประทานสดๆ พอได้ แต่ที่ดีกว่าคือผลที่ยังไม่สุกมาก ผ่าเอาเนื้อในเมล็ดแช่น้ำให้ยางออก เนื้อผลหั่นเป็นชิ้น ๆ ทำแกงเลียงผสมกับยอดผักหวานป่า และเนื้อปลาช่อนย่าง จะได้แกงเลียงที่รสชาติอร่อยมาก  ส่วนเมล็ดที่มีสีน้ำตาลปนเทา ตากแดดไว้สักสี่ห้าวันให้เปลือกเมล็ดแห้ง นำไปเผาในกระทะหรือหม้อเก่า ๆ ที่รั่วแล้ว  พอเมล็ดได้รับความร้อน ยางในเมล็ดก็จะปะทุออกมาเป็นเชื้อเพลิง ไฟลุกโพลงโดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงใด ๆ พอเปลือกเมล็ดเป็นสีดำๆ นำมาวางบนขอนไม้ ทุบจากด้านบนให้แตก ข้างในเมล็ดจะมีเนื้อสีครีม รับประทานได้รสชาติคล้ายถั่วคั่ว แต่อร่อยกว่าถั่วคั่ว  มีคนทำออกวางขายในราคาค่อนข้างแพง

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ในฤดูที่ฝนเริ่มตก ใต้ใบพุ่มของมะม่วงหิมพานต์ และต้นไม้จำพวกพะยอม จะมีเห็ดเผาะเป็นเห็ดเม็ดกลมๆ สีน้ำตาล สีครีมหรือสีขาว ขนาดเท่าหัวแม่โป้ง หรือนิ้วชี้ เกิดขึ้นจำนวนมาก เมื่อเอามือไปกวาดใบไม้แห้งออก จะเห็นเห็ดชนิดดังกล่าวโผล่ขึ้นมาจากทราย เมื่อนำไปผ่าล้างให้สะอาด ผัดด้วยหัวกะทิที่คั้นจากมะพร้าว หรือแกงเผ็ดใส่น้ำกะทิข้นๆ จะได้กับข้าวที่มีรสชาติหวานมันอร่อยมาก

บนเกาะคอเขามีที่ราบอยู่หลายชั้น พอเลยจากชั้นทุ่งนาจะเป็นชั้นเนินทราย ชั้นเนินทรายจะเป็นที่ดินส่วนใหญ่ของที่ดินทั้งหมด ไม่มีน้ำท่วมขังมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ เช่น ยางนา ชะเมา ไม้ตระกูลตะเคียน ตะเคียนทอง ตะเคียนดำ ตะเคียนทราย..รองลงมาคือพะยอมที่ออกดอกเป็นพวงช่อสีขาว ส่งกลิ่นหอมกรุ่นในเดือนธันวาหน้าหนาว ไม้เล็กก็มีไผ่ป่าหลากหลายชนิด บางที่ชาวบ้านไปโค่นป่าทำเป็นสวนมะพร้าว ไร่สับปะรด และไร่มันสำปะหลัง รวมทั้งใช้เป็นที่ปลูกบ้านอาศัย อยู่แบบเอกเทศ เช่นบ้านของกำนันจวน ที่แยกออกมาจากหมู่บ้าน มายึดครองที่ราบเนินทรายด้านใต้ของภูเขา เป็นครอบครัวใหญ่รวมลูกชายและลูกสาว ทั้งหมด ๑๑ คนรวมกำนันเองและภรรยาเป็น ๑๓ คน

และครูหนุ่มก็เคยอาศัยบ้านของกำนัน ในตอนเริ่มแรกที่มาเป็นครู เพราะตอนนั้นยังไม่มีบ้านพัก บ้านกำนันมี ๑ ห้องนอนใหญ่ กับ ๑ ห้องโถง ห้องนอนใหญ่ให้ลูก ๆ ที่ยังเป็นเด็ก ๆ หญิง ๒ ชาย ๒ นอนในห้อง ลูกชายที่โตแล้วมีครอบครัวแยกออกไปอยู่ต่างหาก ๑ คน ที่เหลือลูกชายหนุ่มและรุ่น ๆ อีก ๔นอนในห้องโถง กำนันกับภรรยาและลูกชายอายุเพิ่งจะได้ขวบ ทำที่นอนไว้ในครัว

หลาย ๆ เรื่องตั้งแต่ครูอาทิตย์ สมัครใจลงมาอยู่ที่เกาะ เขาได้เรียนรู้วิถีชีวิตจากชาวบ้านและเด็กๆ เช่นการขุดหน่อไผ่ตากวางไปทำอาหาร การขุดหน่อกะทือป่าไปทำแกงเลียง การล่าแมลงพลัดไปคั่วกับน้ำเกลือ การขุดหาเห็ดเผาะใต้ต้นพะยอม หาเห็ดโคนตามหัวปลวก หาผักหวานป่าจากในป่า หาหัวมันทราย(หัวมันในป่า-มีรากเล็กๆ แทงจากหัวเป็นฝอย) มาเผาหรือมาต้มรับประทานกับมะพร้าวขูด คุลกน้ำตาลทราย หาตัวอ่อนของเพรียงขอนไม้ จากขอนไม้ที่จมน้ำในป่าชายเลนฯลฯ ซึ่งเขามองเห็นว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านบนเกาะสามารถอยู่แบบพอเพียงและพึ่งตนเองได้ตลอดกาล โดยแทบไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกเลย

            การจับแย้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่เด็กชายเป็นผู้สอนครู หลายๆ รูที่ผ่านมา กว่าจะได้แย้สักตัวเขาต้องวิ่งไล่จนเหงื่อตก บางตัวตะครุบได้แต่หลายตัววิ่งเข้าพงรกหายไป การตะครุบแย้ของครูหนุ่ม ต้องล้มตัวลงไปตะครุบแบบคลานสี่ขา จึงจะได้แย้สักตัว แต่เด็กชายวิ่งไล่ใช้เท้าเหยียบหลังแย้ แล้วก็ก้มตัวลงจับ เด็กชายสอนวิธีจับแย้แบบใหม่ให้ครู แต่ครูก็ยังทำไม่ได้สักที

            พอเจอรูใหม่ ครูหนุ่มใช้จอบจวกดินตามรอยรูที่ปรากฏ รูเลี้ยวไปทางไหนก็ขุดตามไปทางนั้น บางครั้งรูหายเห็นแต่ดินกับรอยหน้าจอบ เด็กชายก้มลงใช้นิ้วแหย่ ตรงไหนเป็นรูดินจะยุบเข้าไป แต่ครูหนุ่มไม่กล้าใช้นิ้วแหย่ ทั้งห้ามเด็กชายมิให้ทำอย่างนั้น ให้ใช้ไม้ที่ถืออยู่แยงหารู เขากลัวว่ามันจะไปโดนแมงป่องหรืองูเห่าเข้า  เพราะเขาเองเคยเจองูและแมงป่องอยู่ในรูบ่อยๆ เวลาที่มาขุดตามลำพังแต่เด็กชายบอกว่า

            "ถ้าเป็นรูงูมันจะไม่เอาดินอุดปากรูหรอกครับ แล้วรูก็จะไม่ลึกด้วย รูงูปากรูจะแคบแต่ภายในกว้าง เพราะงูจะต้องนอนขดตัวและกลับตัว ถ้ารูแคบงูกลับตัวไม่ได้"

            ขณะที่เด็กชายใช้นิ้วแหย่รูแย้ เจ้าแย้ตัวเขื่องขนาดน้อง ๆ ตุ๊กแกก็วิ่งขึ้นทาง"รูพังเหย” รูพังเหยคือรูที่แย้ทำไว้เพื่อหนีศัตรู เมื่อมีศัตรูบุกรุกเข้ามาทางปากรู แย้ก็จะวิ่งขึ้นจากรูอีกทางซึ่งเป็นคนละทางกับที่มันเข้าไป

ครูอาทิตย์ต้องออกวิ่งไล่กวดจับ จังหวะเหมาะที่บริเวณนั้น ไม่อยู่ใกล้ป่าละเมาะหรือหญ้ารก เจ้าแย้จึงถูกตะครุบตัวไว้ได้ เด็กชายรับแย้จากมือครูมาใส่ลงไปในถุงตาข่ายถัก

            "ผมไม่อยากให้คุณครูขึ้นฝั่งเลย คุณครูขึ้นไปอำเภอทีไรโรงเรียนต้องปิดหลายวัน ผมอยากให้คุณครูเปิดสอนทุกวันไม่หยุดแม้ วันเสาร์อาทิตย์ คุณครูอยู่พวกเราสนุก" เด็กชายเผยความรู้สึกทำสีหน้าเศร้า

            "มันจำเป็นนี่นูญ ครูต้องปิดโรงเรียนเพื่อไปประชุม มันเป็นระเบียบการทำงานของราชการ เดือนหนึ่งจะต้องไปประชุมกันครั้งหนึ่ง เพื่อรับทราบเรื่องราวที่กระทรวงสั่งมา ถ้าลำพังตัวครูละก็ครูไม่อยากไปประชุมเลย หรือจำเป็นต้องไปก็จะไปวันหนึ่ง แล้ววันรุ่งขึ้นก็กลับ"

            ครูหนุ่มอธิบายเหมือนที่เคยบอกแก่นักเรียน ในโรงเรียนในทุก ๆ ครั้ง ที่จะต้องปิดโรงเรียนไปประชุมที่  ที่ว่าการอำเภอ เด็กน้อยลูกชายกำนันจวนทำหน้าเก้อ ๆ เพราะความจริงก็รู้อยู่แล้วว่า ทุกเดือนครูจะต้องไปประชุมพร้อมพ่อ ครูคนอื่น ๆ ที่เคยมาอยู่ก็ทำอย่างนี้ เพราะการเดินทางไปกลับระหว่างฝั่งอำเภอตะกั่วป่า รวมทั้งฝั่งกิ่งอำเภอคุระบุรี กับเกาะคอเขาไม่สามารถจะทำได้ทุกวัน

            อันที่จริงเกาะคอเขาไม่ได้อยู่ห่างฝั่งแผ่นดินตะกั่วป่า หรือตลาดย่านยาวเท่าใดนัก เพียงแต่หมู่บ้านบนเกาะหรือบ้านนอกนา ไม่ใช่ทางผ่านของเรือที่แล่นระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่ หมู่บ้านนอกนาบนเกาะคอเขา เวลาจะขึ้นฝั่ง เรือจะต้องแล่นซอกแซกไปตามเกาะแก่ง ซอกซอนไปตามคลองเล็กคลองน้อยหลายคลอง สองฟากฝั่งเป็นป่าไม้พังกาหรือไม้โกงกาง ใช้เวลา ๒-๓ ชั่วโมงกว่าจะไปถึงท่าจอดเรือที่ตลาดย่านยาว แล้วถ้าไม่กะเวลาน้ำขึ้นลงให้ดี ก็จะเดินทางไปมาระหว่างเกาะคอเขา กับแผ่นดินตะกั่วป่า หรือกิ่งอำเภอคุระบุรีลำบาก

            การไปมาที่ลำบาก เป็นเหตุให้หาครูมาอยู่บนเกาะคอเขาได้ยาก ครูแทบทุกคนไม่ค่อยมีใครยอมเสียสละความสุขสบาย มาทนทุกข์ทรมานไม่เห็นเดือนไม่เห็นตะวันอยู่บนเกาะนี้ แต่อาทิตย์กลับเลือกลงมาอยู่  โดยเป็นครูสอนคนเดียว ทั้งสี่ชั้น ป.๑-๔ เป็นทั้งครูใหญ่ ครูน้อย และภารโรง ดีแต่ว่าทั้งโรงเรียนมีเด็กนักเรียนบนเกาะปีละ ๕๐–๖๐ คน

            ทุกครั้งที่จะขึ้นฝั่งหรือลงจากฝั่งมาสู่เกาะ ต้องอาศัยเรือของกำนันพ่อของเด็กชายมนูญ เพราะเป็นเรือยนต์ลำเดียวในเกาะ ที่ขึ้นสู่ฝั่งทุกเดือนเดือนละ ๒-๓ ครั้งแล้วแต่ภารกิจ ขณะที่เรือของชาวบ้านเป็นเรือหางยาวเข้าและออกจากท่าคนละที่ โดยกำนันจวนจะเข้า-ออกจากเกาะที่ท่ายาง ซึ่งเป็นเสมือนท่าเรือส่วนตัว ส่วนของชาวบ้านเข้า-ออกที่หัวเขาคลองบ้านนอกนา ต้องเดินไกลไปประมาณ ๑ กิโลเมตร

แต่ที่สำคัญคือไม่มีกำหนดแน่นอนว่า ใครจะขึ้นฝั่งหรือกลับลงมาสู่เกาะวันไหน ขณะที่กำนันมีกำหนดวันที่แน่ชัดว่าทุกวันที่ ๕ ของเดือนต้องขึ้นไปประชุม รับทราบหัวข้อราชการ จากปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งฯ ณ ที่ว่าการกิ่งอำเภอคุระบุรี แต่บางครั้งอาจจะต้องไปค้างอยู่บนฝั่ง ๓-๔ วัน ถ้ากำนันยังทำธุระไม่เสร็จ เพราะกำนันขึ้นฝั่งทีหนึ่งก็มักจะนำสินค้า จำพวกของป่าบนเกาะ คือ หวาย ขี้ไต้ น้ำมันยาง หมูเป็น ๆ และมะพร้าวทั้งเปลือกไปขายให้พ่อค้าในตลาดย่านยาว จากนั้นกำนันก็จะซื้อของจากตลาดย่านยาว หรือไม่ก็เข้าไปซื้อหามาจากตลาดตะกั่วป่า อันอยู่ลึกเข้าไปอีก ๗ กิโลเมตร นำลงเรือกลับไปขายให้กับคนบนเกาะ ได้ซื้อไปกินไปใช้อีกทีหนึ่ง 

ผู้ที่พลอยอาศัยเรือจึงต้องแล้วแต่กำนัน ว่าจะเดินทางกลับเร็วหรือกลับช้า เด็กชายมนูญจึงต้องคอยบอกเพื่อน ๆ ว่า ครูกลับลงมาจากฝั่งหรือยัง ถ้ามาแล้วก็ไปเรียกเพื่อน ๆ มาโรงเรียน แต่ถ้าครูยังไม่มาก็ปิดต่อไปจนกว่าครูจะมา

            "ความจริงคุณครูไม่น่าจะต้องออกมาขุดแย้ด้วยตนเอง ให้เหนื่อยแรง บอกพวกผมเมื่อวานคำเดียว ป่านนี้คุณครูได้แย้ไม่ต่ำกว่าห้าสิบตัว" เด็กชายพูด

            "ครูไม่อยากรบกวนกินแรงพวกเธอ มันเป็นเรื่องส่วนตัวของครู ขืนไปรบกวนพวกเธอ น้ากำนัน น้าติ๋วจะได้ด่าครูเข้าให้ แค่ที่นูญมาช่วยครูวันนี้น้ากำนัน น้าติ๋วก็อาจจะบ่น ใส่กระบุงโกยไม่ไหวแล้วก็ได้ ความจริงนูญน่าจะอยู่ช่วยงานที่บ้าน ไม่น่าจะมาเสียเวลากับครูเลย"

            "ไม่มีวันหรอก ที่พ่อแม่ผมจะบ่น พ่อกับแม่ดีใจเสียอีกที่ผมมาช่วยคุณครู พ่อแม่นักเรียนทุกคนในเกาะนี้รักคุณครูทุกคนที่มาอยู่ เพราะคุณครูที่จะมาอยู่ที่นี่จะต้องเสียสละความสุข ความสบาย ยอมลงมาลำบากอยู่กับพวกเรา ที่ผมมานี่ก็เพราะพ่อกับแม่ใช้ให้มา พ่อกับแม่สั่งให้ผมมาคอยดูแลคุณครู โตขึ้นผมจะได้เรียนหนังสือได้จบชั้นสูงๆ จะได้เก่งอย่างคุณครูบ้าง"

            "ใครว่าครูเก่งล่ะไม่จริงเลย นูญและพ่อแม่นูญต่างหากที่เก่งที่สุดในเกาะนี้ ครูอาจจะรู้หนังสือสอนพวกเธอได้ แต่เรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง พี่ชายนูญพ่อแม่นูญเก่งกว่าครูเยอะ อย่างการจับแย้หาแมงพลัด หาหน่อไม้ ขุดเห็ดเผาะ หามันทราย ตกเบ็ดตกปลาในคลอง ล่าไก่เถื่อน ยิงเก้ง ยิงหมูป่า... ครูทำไม่เป็นสักอย่าง สู้พี่ชายนูญ ปราโมทย์ ประมวลไม่ได้"

            เด็กชายหัวเราะและว่า "เก่งเรื่องพวกนี้จะเอาไปใช้อะไรที่ไหนได้ ใช้ได้อยู่แต่ในเกาะในป่าในดงนี่แหละ  เก่งเรื่องอย่างนี้เขาไม่เรียกว่าเก่งหรอก" เด็กชายมนูญแย้งพลางกล่าวต่อไปอีกว่า "คนเป็นครูใช่ว่าจะมาเป็นได้ง่าย ๆ หลวงเขาต้องจัดสอบคัดเลือกแล้วส่งมา ขนาดพี่อิ่มลูกสาวลุงกำนันก้องที่เกาะพระทอง ลุงกำนันก้องร่ำรวยมีเงิน มีเรือยนต์ มีแพปลา มีร้านค้าใหญ่โต มีสวนมะพร้าวเป็นพัน ๆ ไร่ ลุงกำนันก้องอุตส่าห์ส่งพี่อิ่มไปเรียนที่กรุงเทพ ฯ ตั้งหลายปี สุดท้ายก็กลับมาอยู่บ้านไม่เห็นได้เป็นครู เป็นข้าราชการ หรืออะไรเลย"

            ครูหนุ่มฟังแล้วยิ้ม ยิ้มให้กับความไร้เดียงสาของเด็กชาย รวมไปถึงค่านิยมของชาวบ้านที่เห็นคน ทำงานราชการว่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรีสูงกว่าทำงานบ้าน พี่อิ่มที่เด็กชายพูดถึงคือ "อิ่มใจ" หลานสาวของภรรยากำนันจวน ซึ่งอยู่อีกเกาะถัดไป คือเกาะพระทอง

            ครูหนุ่มทราบจากการบอกเล่าของกำนันจวนเหมือนกัน ว่ากำนันก้องพ่อของอิ่มใจได้เพียรพยายามมากมาย ที่จะให้อิ่มใจสอบบรรจุเข้าทำงานราชการหน่วยใดหน่วยหนึ่ง เพื่อจะได้เป็นเกียรติกับครอบครัวและวงศ์ตระกูล แต่อิ่มใจกลับไม่ทำเพราะเธอไม่อยากทำงานที่มีเจ้านาย เธออยากเป็นนายของตัวเอง

            ในความคิดของครูหนุ่ม อิ่มใจไม่จำเป็นที่จะต้องไปสมัครสอบ ทำงานราชการให้รำคาญใจ เพราะฐานะและอาชีพของพ่อแม่มั่นคงพอแล้ว ถ้าเขาเป็นอิ่มใจ การได้ประกอบอาชีพตามรอยพ่อแม่ของตนนั่นแหละ คือความสุขอิสระและสบายใจที่สุด แต่ค่านิยมของชาวบ้านต่างพากันไปยึดติดว่า อาชีพราชการเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เป็นเจ้าเป็นนายคน คนที่เก่งจะต้องสอบบรรจุเข้าทำงานราชการ ดังนั้นการไปร่ำเรียนสูงๆ แล้วกลับมาอยู่บ้าน จึงถูกมองว่า "สูญเปล่าไม่เอาไหน"

            อิ่มใจมาที่เกาะคอเขาบ่อยครั้ง อาทิตย์รู้จักเธอโดยการแนะนำของนางติ๋วภรรยากำนันจวน และจากการที่เขาต้องไปประชุม ต้องพักค้างระหว่างรอเรือกลับที่ตลาด ทำให้เขาได้สนิทสนมคุ้นเคยกับอิ่มใจอยู่พอสมควร เนื่องจากอิ่มใจชอบไปอยู่กับป้าที่ตลาดย่านยาว มากกว่าที่จะอยู่ช่วยดูแลกิจการของพ่อแม่  เหมือนดูถูกความเป็นชาวเกาะของตนเอง

            "ครูที่เก่งและฉลาด เขาไม่มาอยู่ตามเกาะหรอกนูญ คนเก่งเขาจะสอบได้ที่ดี ๆ แล้วก็เลือกอยู่โรงเรียนบนฝั่งที่สบายๆ ได้ใกล้เจ้าใกล้นายใกล้ตลาด ครูที่ลงมาอยู่ตามเกาะแสดงว่าไม่เก่ง สอบได้ที่ท้ายๆ สู้คนอื่นไม่ได้ คนสอบได้ที่ดี ๆ เขาจะเลือกโรงเรียนใกล้ตัวอำเภอ เช่นใกล้ตัวจังหวัด เช่น อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอตะกั่วป่าหรืออย่างน้อยๆ ก็โรงเรียนที่นางย่อนคุระบุรี" 

แต่เด็กชายกลับสั่นหน้า มนูญไม่ยอมให้ใครมาพูดว่า ครูอาทิตย์ของเขาไม่เก่งเป็นอันขาด มนูญจะเถียงว่า ‘ครูของผมเป็นคนเก่ง คุณครูลงมาอยู่เกาะเพราะคุณครูรักธรรมชาติ รักความสงบ’ มนูญจะเถียงแบบนี้แต่พูดว่า “พ่อบอกว่าตอนที่จังหวัดรับสมัครสอบครู เขารับครูความรู้ปอสอ[1]อะไรนี่แหละผมก็ไม่ค่อยเข้าใจ เพื่อให้มาอยู่ที่เกาะนี้ เขาว่าถ้ารับครูจบสูงๆ ครูจะไม่ยอมมา แต่คุณครูมีความรู้จบปอมอ[2] เป็นครูที่ควรจะสอนเด็กชั้นมอ แต่คุณครูกลับมาเลือกสอนเด็กชั้นประถม แถมยังเจาะจงขอลงมาอยู่เกาะคอเขา คุณครูอย่ามาหลอกพวกเราเลยว่า ที่มาอยู่เกาะนี้เพราะความรู้ต่ำหรือสอบได้ที่ไม่ดี"

            ครูหนุ่มถอนใจยาว เพราะเรื่องมันจริงอย่างที่เด็กชายพูด จริงอยู่การรับสมัครสอบบรรจุครู ตอนที่เขามาสมัครทางจังหวัดพังงา ประกาศรับสมัครูวุฒิ พ.ม. ๒ อัตรา เพื่อจะบรรจุเป็นครูในโรงเรียนบนฝั่ง และรับวุฒิ พ.กศ.และป.กศ.ต้น เพื่อบรรจุในโรงเรียนตามเกาะ ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๔ โรงเรียน มีเขาเพียงคนเดียวที่มาสมัครโดยใช้วุฒิ พ.ม. แต่เขาขอลงมาสอนเด็กชั้นประถม บนเกาะแทนผู้ที่มีวุฒิ พ.กศ.

            การสอบบรรจุครูรุ่นนั้น ความจริงเขาจะได้รับบรรจุเป็นครูในโรงเรียนคุระบุรี เพราะมีวุฒิสูงครูทุกคนแต่พอถึงวันเลือกโรงเรียน โรงเรียนบ้านนอกนาเป็นโรงเรียนอยู่ในเกาะคอเขา คนที่สอบได้ขอสละสิทธิ์หมดทุกคน เขาจึงแสดงความจำนงต่อศึกษาธิการจังหวัด[3] ขอลงมาอยู่แทนผู้ที่สละสิทธิ์ ทำให้ครูที่มีวุฒิต่ำได้ไปอยู่โรงเรียนติดถนนสีดำ ครูทุกคนที่จบพ.กศ.ดีใจเหมือนถูกหวย พร้อมกับบางคนมองเขาว่าเพี้ยน หรือไม่ก็เป็นคนไม่ปรกติ ที่เลือกมาอยู่ที่เกาะคอเขา

            "ทำไมหลวงไม่รับครูมาเพิ่มอีกนะ โรงเรียนจะได้ไม่ต้องปิดเวลาครูไปประชุม ถ้าได้ครูมาอยู่สักสี่คนก็จะดีจะได้สอนกันคนละชั้น" เด็กชายมนูญพูดต่อเมื่อเห็นครูของเขาเงียบไป

            "หลวงเขารับทุกปีแต่ครูเขาไม่มากัน" ครูหนุ่มพูดขรึม ๆ ก่อนจะตัดบทว่า “ครูว่าวันนี้เราพอกันแค่นี้ก่อนเถอะ ขืนขุดไปมากๆ เดี๋ยวแย้หมดพันธุ์ วันหลังจะอดกิน"

ครูหนุ่มเอามือไปโอบไหล่ลูกศิษย์อย่างเอ็นดู แล้วชวนกันเดินกลับบ้าน 



[1]  ป.กศ.

[2] ประโยคครูมัธยมศึกษา

[3] ตอนที่ครูประถมยังไม่โอนมาขึ้นกับ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  เมื่อ พ.ศ.  2521

 

รายละเอียด

ชื่อหนังสือ พระอาทิตย์ขึ้นที่อ่าวไทยตกที่ทะเลอันดามัน
ชื่อผู้แต่ง พันธุ์ ชุมพร
หมวดหนังสือ นวนิยาย
คำโปรย
ริมขอบทุ่งด้านตะวันออก มีละเมาะไม้ขนาดกลางขึ้นอยู่โปร่งๆ
มีสัตว์เลื้อยคลาน ลำตัวขนาดพอ ๆ กับกิ้งก่า
อาศัยขุดรูอยู่ค่อนข้างชุกชุม ชายหนุ่มขุดลึกลงไปราว ๕๐ เซนติเมตร
ก็จับเอาตัวสัตว์ดังกล่าว ที่บนหัวและหลังมีสีเขียวหม่น มีจุดสีเหลืองเล็กๆ
มีแถบดำสลับเหลืองส้มเรียงเป็นแนวข้างลำตัว ท้องเป็นสีครีม
ยาวจากปากถึงโคนหางประมาณคืบเศษๆ
ยื่นให้เด็กชายรับไปหย่อนลงในถุงตาข่าย ที่ทำจากอวนเก่าๆ
มาเย็บเป็นถุง เด็กชายถือถุงอยู่ในมือข้างซ้าย มือขวาถือเรียวไม้ยาว ๑
ช่วงแขน คอยแหย่รูว่าใช่รูแย้ รูงู รูแมงป่องหรือว่าไม่ใช่
"รูนี้มีตัวแน่ๆ เลยคุณครู รอยบอกว่าเพิ่งเข้าไปใหม่ๆ"
ครูหนุ่มพยักหน้ายอมรับ
เพราะความรู้ในบางเรื่องต้องอาศัยประสบการณ์ การสังเกตและจดจำ
ความรู้ของเขาสู้เด็กบนเกาะไม่ได้ เขาเป็นครูสอนหนังสือ
ทำได้แค่ถ่ายทอดเนื้อหาวิชาการ แต่ประสบการณ์ การหาอาหารยังชีพ
เด็กๆ กลับเป็นผู้สอนเขา

รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (82 รายการ)

www.batorastore.com © 2024