นิยายแนวดราม่าครอบครัวที่อ่านก็ว่าสนุกแล้ว พอเป็นละครยิ่งดีงาม

นิยายแนวดราม่าครอบครัวที่อ่านก็ว่าสนุกแล้ว พอเป็นละครยิ่งดีงาม

นิยายแนวดราม่าครอบครัวที่อ่านก็ว่าสนุกแล้ว พอเป็นละครยิ่งดีงาม

เขาว่าการดูละครหรืออ่านนิยาย นอกจากจะได้ความบันเทิงแล้ว ยิ่งถ้าสามารถหาข้อดีของเรื่องนำมาปรับปรุงในการใช้ชีวิตจะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุด วันนี้แอดมินเลยขอแนะนำนิยายดราม่าแนวครอบครัว ที่คัดสรรแล้วพบว่าเป็นนิยายก็อ่านสนุก จะเป็นละครก็แซ่บนัวถึงใจ มาให้ลองหามาดูมาอ่านกันค่ะ ^^

เมียหลวง – ผลงานนิยายจากปลายปากกาของ คุณ กฤษณา อโศกสิน เจ้าของผลงานนิยายชื่อดังหลายเรื่อง อย่าง ข้ามสีทันดร สวรรค์เบี่ยง คาวน้ำค้างและเรือมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องราวสุดแสนเข้มข้นของ ดร.อนิรุทธ์ และดร. วิกานดา ทั้งคู่มีฐานะดี การศึกษาดี และมีหน้ามีตาทางสังคม แต่แล้ววันหนึ่ง วิกานดา ที่เป็นภรรยา กลับถูกสามียัดเยียดตำแหน่ง “เมียหลวง” ให้ เมื่อมีหญิงสาวชื่อ อรอินทร์ และสาวๆคนอื่นๆที่ไม่เว้นแม้แต่เด็กรับใช้ในบ้าน เข้ามาเป็นมือที่สามในชีวิต และแต่ะละวันวิกานดาก็ต้องปวดหัวกับบรรดาสาวๆที่อนิรุทธ์สรรหามา แต่ทว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ นุดี เด็กสาวใสซื่อที่เข้ามาในชีวิตของอนิรุทธ์และวิกานดา ซึ่งความสนุกของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่เพียงแค่เนื้อหาเข้มข้น และสำนวนการเขียนนิยายเรื่องนี้ได้ถูกเอาไปทำเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2521 และดัดแปลงเป็นละครอีกหลายครั้ง แต่ ครั้งที่โด่งดังที่สุดยกให้  3 เวอร์ชั่น คือ เวอร์ชั่น พ.ศ. 2532 ของ ปรียานุช ปานประดับ ในบทของ ดร. วิกานดา อภิรดี ภวภูตานันท์ ในบทของ อรอินทร์ และ แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี ในบทของ ดร.อนิรุทธิ์ อันนี้จากคำบอกเล่าของสาวๆ (รุ่นคุณแม่) หลายคน เล่าให้ฟังว่า เวอร์ชั่นนี้แซ่บมากกก รู้สึกว่าคุณอภิรดีกับคุณแซมในตอนนั้นเล่นเกิดในบทตัวร้ายจริงๆ แหละค่ะ ส่วนคุณปรียานุช ก็ดูเป็นเมียหลวงที่เย็นชา และเข้มแข็งได้ดีจริงๆ พูดมาถึงขนาดนี้แล้วก็อยากหามาดูอีกครั้ง แต่ก็โดนหม่อมแม่เบรกในเวอร์ชั่นของ คุณสิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ ในบทของ ดร.วิกานดา เบ๊นท์ พรชิตา ในบทของ อรอินทร์มาพร้อมกับการแต่งตัวที่สวยเปรี้ยวและผมทรงซอยขั้นบันได (อันนี้หม่อมแม่เรียก ข้าเจ้าไม่ได้เรียกเองเน่อ) กับจอนนี่ แอนโฟเน่ ในบทของ ดร.อนิรุทธิ์ อันนี้แอดมินโตพอที่จะดูเข้าใจแล้ว จำได้ว่าตอนจบของเวอร์ชั่นนี้ตราตรึงมากค่ะ แสดงให้เห็นชัดเลยว่า ดร.วิกานดา เป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว ขนาดที่ว่าผู้ชายที่เคยรักก็สามารถสลัดทิ้งได้อย่างไม่คิดจะหันมามองอีก ซึ่งคิดว่าตอนจบนี้คงเป็นที่ถูกใจของสาวๆหลายคนเป็นแน่ และเวอร์ชั่นล่าสุดปี 2552 กับ ป๊อก ปิยธิดา ในบทของ ดร.วิกานดา อั้ม พัชราภา ในบท อรอินทร์ และ ตุ้ย ธีรภัทร สัจกุล ในบทของ ดร.อนิรุทธ์ ในเวอร์ชั่นนี้ แอดมินชอบ บทของดร.วิกานดามากค่ะ รู้สึกได้เลยว่าคุณวิกานดาออกมาจากหนังสือจริงๆ ทั้งวาจาเชือดเฉือน แต่ยังคงมีความเรียบร้อยดูเป็นผู้ดี ในขณะที่ภรรยาน้อยคนอื่นๆดิ้นเป็นเจ้าเข้าเมื่อรู้ว่าอนิรุทธ์มีกิ๊กใหม่

สำหรับแอดมินที่เคยอ่านนิยายเรื่องนี้มาบ้าง ก็เห็นว่าเรื่องนี้ตีแผ่ปัญหาสังคมได้อย่างชัดเจนดี สมัยก่อนมีค่านิยมเรื่องที่ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคนเพื่อแสดงให้เห็นทั้งฐานะ สถานะทางสังคม และความสมชายชาตรี ส่วนผู้หญิงที่เป็นภรรยาต้องยอมรับสภาพ ภรรยาหลวง ให้ได้ บางคนอาจจะอาละวาด บางคนอาจจะทำนิ่งเฉย บางคนอาจจะสนับสนุน แต่ในเรื่องนี้กลับเสนอให้เห็นว่า แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่ การนอกใจภรรยาก็ยังพบเห็นได้ในอยู่

ดร. วิกานดาเป็นตัวแทนของสาวสมัยใหม่ ที่มีความรู้และหน้าที่การงานที่ดีไม่แพ้ผู้ชาย (ดีไม่ดี อาจจะดีกว่าสามีด้วยซ้ำ) เธอเป็นผู้หญิงที่สวย ฉลาด และมีความอดทนเป็นเลิศ อดทนเพื่อลูก เพื่อหน้าที่การงาน และเพื่อหน้าตาในสังคม เรียกได้ว่า หน้าชื่นอกตรม ตลอดทั้งเรื่อง ในเรื่องจะพบว่าเวลาเธอเผชิญหน้ากับสามี หรือว่าผู้หญิงที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของอนิรุทธ์ เธอจะไม่ใช้ความรุนแรงในการเผชิญหน้าเลย แค่เพียงวาจานิ่มๆ ไม่กระโชกโฮกฮาก แต่แต่ละคำนั้นบาดลึกเข้าไปในหัวใจคนฟังมากๆ เวลาอ่านเรื่องนี้แต่ละทีพอถึงคำพูดของวิกานดานี่ก็ต้องกลั้นหายใจด้วยความอึดอัดแทบทุกครั้งไปเลยค่ะ แบบ...รู้เลยว่าผู้หญิงคนนี้เปลือกนอกเย็นชา แต่ภายในใจนั้นหัวใจแหลกเป็นเสี่ยงๆแล้ว เรื่องนี้จึงทั้งชื่นชมและสงสารเธอไปในเวลาเดียวกัน

ดร.อนิรุทธ์ นั้น ในเรื่องสมควรเรียกได้ว่าเป็น ขุนแผนฆ่าไม่ตาย จริงๆค่ะ ความเจ้าชู้ของเขานี่ถ้าแอดมินเป็นวิกานดาอาจจะทนไม่ได้ก็ได้ ขึ้นเข่าเขย่าศอกใส่สักคนละทีสองที บุคลิกเขาเป็นคนรูปหล่อ และคารมดีมาก เรียกว่าบรรยายถึงตัวละครนี้ทีไร แอดมินสัมผัสได้ถึงความเป็นสาลิกาลิ้นทองคารมดี รวมไปถึงการดูแลเอาใจใส่ (สาวๆ) เป็นอย่างดีด้วย แต่ถึงเจ้าชู้ยังไงก็ไม่หย่าขาดกับวิกานดาที่เป็นภรรยา และถึงจะรักภรรยาแต่ก็ยังไม่เลิกเจ้าชู้ เรียกได้ว่าเป็นผู้ชายโคตะระเห็นแก่ตัวมากๆ ผู้ชายแบบนี้ร้อยทั้งร้อยผู้หญิงต่างพร้อมใจบอกว่าเกลียด แต่พอถึงสถานการณ์จริงก็ไม่รู้ว่าจะปฏิเสธหรือรับมือคนแบบนี้ได้หรือเปล่า แต่แอดมินว่า ที่อนิรุทธ์ทำไปเพื่อประชดวิกานดา นะ เพราะเรื่องนี้วิกานดาจะไม่ค่อยแสดงให้เห็นว่าเธอรักสามีมากขนาดไหน ติดจะเป็นคนเย็นชามากด้วยซ้ำ ก็เลยอยากจะเรียกร้องความสนใจ (แต่ขอเถอะ วิธีเรียกร้องความสนใจและทำตัวเองฟินสบายตัวเนี่ย ยังไงๆมันก็เหมือนข้ออ้างชัดๆ) แต่สุดท้ายการกระทำของเขาก็เรียกได้ว่าไกลเกินกว่าคำว่า “ประชด” และนำพาไปสู่จุดจบอันแสนเศร้า คนนี้แอดมินไม่สงสารค่ะ สมน้ำหน้าอย่างเดียว

อรอินทร์ เป็นตัวแทนของหญิงสาวที่...จะว่าไงดี เป็นตัวแทนของสาวสมัยใหม่อีกประเภทก็แล้วกัน แบบ...”ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างมั้ย” ไม่ได้แคร์ว่าจะเป็นลูกเขาสามีใคร สำคัญอยู่ที่ว่าเจ้าหล่อนชอบเป็นพอ อรอินทร์ ถือว่าเป็นผู้หญิงที่รักแรงเกลียดแรง และพร้อมจะไฝว้ เอ้ย อาละวาดกับสาวๆทุกคนที่เข้ามาในชีวิตของอนิรุทธ์ (ทั้งๆที่เธอก็ไม่ได้ต่างอะไรจากคนพวกนั้นเลย) มากสุดถึงขนาดไปทะเลาะกับคนใช้ แต่ดูเหมือนว่าเธอจะไม่กล้าเอาเรื่องกับวิกานดาอยู่แค่คนเดียว ส่วนหนึ่งมาจากนิสัยและการวางตัวของวิกานดาเองด้วยเช่นกัน อรอินทร์เป็นผู้หญิงที่พยายามไขว่คว้าหาความรักมาตลอด เมื่อพบอนิรุทธ์ก็ทุ่มความรักให้อย่างหน้ามืดตามัว โดยมองข้ามความหวังดีของเพื่อนรอบข้างที่เตือนสติเธอ สุดท้ายจุดจบของเธอก็อาจจะไม่สวยงามก็เป็นได้

สำหรับนุดีนั้น เป็นตัวแทนของหญิงสาวที่อ่อนต่อโลก และขาดความอบอุ่น โดยสิ้นเชิง ในละครจะมีปูพื้นความหลังว่าเธอมีชีวิตครอบครัวที่ไม่ได้ดีนะ เป็นเด็กที่มีอยู่กรอบระเบียบที่เข้มงวด แน่นอนว่านุดีเองโหยหาความรักความอบอุ่นที่แท้จริงจากใครสักคน และอนิรุทธ์ก็เข้ามาตอบโจทย์ในชีวิตของเธออยู่ดี แต่ไม่ว่าจะใครก็ตาม ถ้ายังเป็นเด็กอายุน้อย ที่บ้านมีปัญหา เข้ากับใครไม่ได้ เมื่อมีใครเข้ามาทำดี ดูแลเอาใจใส่ แน่นอนว่าย่อมตกหลุมรักอีกฝ่ายอย่างง่ายดาย แต่นุดีผิดที่เลือกรักคนที่มีเจ้าของ และเจ้าของนั้นก็คือวิกานดาที่เป็นผู้อุปการะและเอ็นดูนุดีเสมือนญาติแท้ๆ นั่นทำให้นุดีรู้สึกผิดเป็นอย่างมาที่ทำให้ผู้มีพระคุณต้องเสียใจ  ดังนั้นความคิดของนุดีในช่วงนี้ ความดีกับความชั่วจึงตีกันให้วุ่น ทั้งเสียใจ ทั้งสับสน อยากเลิกรักแต่ก็ทำไม่ได้ สุดท้ายจึงมีจุดจบอย่างน่าอนาถ

แรงเงา – ผลงานของคุณ นันทนา วีระชน เรื่องราวของ 2 แฝด มุนินทร์และมุตตา ที่แม้ใบหน้าจะเหมือนกัน แต่นิสัยต่างกันราวฟ้ากับดิน มุนินทร์คนพี่เรียนเก่ง เข้มแข็งไม่แพ้ผู้ชาย มุตตาคนน้องหัวอ่อนเรียบร้อยน่ารัก เพราะนิสัยไม่เหมือนกันจึงไม่ค่อยสนิทกัน พอทั้งคู่พอเรียนจบต่างก็ทำงานและมีชีวิตเป็นของตัวเอง จนเมื่อวันนี้มุนินทร์กลับมาถึงบ้าน ก็พบว่าน้องสาวผูกคอตายไปแล้ว เพื่อสืบหาความจริงเรื่องสาเหตุการตายของน้องสาวฝาแฝด เธอจึงสวมรอยเป็นน้องสาวเข้าไปทำงานในที่ๆมุตตาเคยทำงานมาก่อน เรื่องนี้ถูกทำมาเป็นละครและภาพยนตร์หลายครั้งค่ะ (แต่ฉบับภาพยนตร์จะใช้ชื่อว่า แรงหึง) แต่ครั้งที่แอดมินจำได้ดีก็จะมีแค่ 2 เวอร์ชั่น คือ มุนินทร์และมุตตา เวอร์ชั่น คุณ แอน ทองประสม การแสดงของเธอนั้นเรียกได้ว่าจ้างร้อยเล่นล้าน ตีบทแตกกระจุย ดราม่ากระจาย เรียกได้ว่า ตบกันสนั่นเมือง และฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมืองมากในสมัยนั้น (พ.ศ. 2544) เลยล่ะค่ะ ส่วนอีกเวอร์ชั่นก็ออกอากาศในปี พ.ศ. 2555 มุนินทร์และมุตตาที่ เจนนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณเล่น ก็ทำออกมาได้ดีไม่แพ้กัน (ฉากตบนพนภาที่เป็นภรรยาหลวงตกบันไดกลิ้งหลุนๆ เป็นภาพที่ตราตรึงใจแอดมินมาก ตอนเห็นฉากนี้ถึงกับอ้าปากหวอ) แต่ก็ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดังมากค่ะ ขนาดว่ามีปรากฏการณ์ถนนโล่งเพราะคนรีบกลับบ้านจะไปดูตอนจบของเรื่องนี้นี่ล่ะค่ะ

 ในละครดูเหมือนจะเน้นในการตบตีระหว่างเมียน้อยกับเมียหลวงแบบเอาความสะใจเข้าว่า แต่นิยายเรื่องนี้ก็แอบแฝงเรื่องการเลี้ยงดูลูกได้ดีในระดับหนึ่ง โดยแบ่งเป็นครอบครัวของมุนินทร์ มุตตา ครอบครัวของวีกิจ (พระเอกของเรื่องตัวจริง) และครอบครัวของนพนภา สำหรับมุนินทร์และมุตตา คนทั้งสองถูกเลี้ยงโดยรับความรักจากแม่แบบไม่เท่าเทียมกันมาตลอด ถ้าเป็นหุ้นก็ชนิดว่าดิ่งลงเหวแล้วจู่ๆวันหนึ่งหุ้นก็เกิดพุ่งติดทะลุเพดานขึ้นมาซะอย่างนั้น ในตอนแรกแม่เห็นมุนินทร์เป็นเด็กดื้อ และชอบหาเรื่องต่อยตีกับคนอื่น ส่วนมุตตาเป็นเด็กเรียบร้อย ไม่สร้างปัญหา แถมยังเป็นคนสวยชนิดที่มีหนุ่มๆมาจีบ แต่อยู่มาวันหนึ่งก็มีเหตุที่ทำให้กลับตาลปัตร ลูกรักอย่างมุตตากลายเป็นลูกชัง และลูกชังอย่างมุนินทร์กลายเป็นลูกรักไปได้ในช่วงข้ามคืน เรียกว่าชะตาของทั้งสองคนเปลี่ยนไปเพราะคำพูดของผู้ให้กำเนิดเลยทีเดียว เพื่อต้องการจะพิสูจน์ตัวเอง จึงเป็นแรงผลักดันให้มุตตาเข้ามาหางานทำในกรุงเทพ จนได้พบกับชายหนุ่มชื่อ เจนภพ และทำให้ชีวิตของมุตตาพังพินาศ เพราะขาดภูมิต้านทานในการยับยั้งชั่งใจ และการรับมือกับสถานการณ์เลวร้าย ซึ่งต่างจากพี่สาวที่ปากกัดตีนถีบ เอาตัวรอดเก่งมาแต่ไหนแต่ไร ต่อมาก็เป็นครอบครัวของวีกิจ ถึงแม้จะไม่ร่ำรวยเท่าครอบครัวของนพนภาที่เป็นญาติกัน แต่เรื่องความอบอุ่นนั้นมีล้นเหลือ แม้ว่าองค์ประกอบของครอบครัวจะไม่สมบูรณ์ ผู้เป็นแม่ค่อนข้างใกล้ชิดกับลูก แต่ไม่ได้ไปตีกรอบชีวิตของลูกอย่างนพนภา แต่เมื่อลูกมีปัญหาก็สามารถเป็นที่ปรึกษาได้ นับว่าเป็นครอบครัวครอบครัวเดียวในเรื่องที่สงบสุขที่สุดแล้ว ส่วนครอบครัวนพนภา เนื่องจากสามีเป็นคนเจ้าชู้ และนพนภาก็ไม่มีเวลาจะใส่ใจลูกมากนัก เพราะต้องคอยตามราวีสามีที่ไปมีกิ๊กกับสาวๆ ทำให้ลูกๆทั้งสามของนพนภาเป็นเด็กที่เติบโตมาอย่างเก็บกดและมีปัญหา ลูกสาวคนโตกลายเป็นเด็กมีปัญหา ลูกชายคนโตเกลียดพ่อที่ทำให้แม่เสียใจ ส่วนลูกสาวคนเล็กก็กลายเป็นเด็กปากคอและอารมณ์เราะร้าย ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้กับครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 1 คน ว่าการรักลูกให้เท่าเทียมกันเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการที่พ่อแม่แสดงความลำเอียงว่ารักลูกคนใดคนหนึ่งมากกว่า ลูกคนที่เหลือจะรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยอย่างรุนแรง และเมื่อถึงตอนนั้นจะไม่สามารถโทษใครได้เลยถ้าเกิดเรื่องเลวร้ายตามมา ดังนั้นเวลาดูละคร นอกจากจะได้ความสนุกแล้ว ถ้าเราย้อนกลับมามองตัวเองว่าเรามีนิสัยที่ไม่ดีเหมือนอย่างตัวละครตัวนั้น แล้วเราสามารถปรับปรุบตัวเองได้ ถือว่าเป็นเรื่องดีที่สุดแล้วค่ะ 


www.batorastore.com © 2024