venture capitalist

            ทำไมประเทศไทยของเราถึงไม่ค่อยมีข่าวเกี่ยวกับการทำธุรกิจบริษัท start up หรือบริษัทก่อตั้งใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หรือแม้แต่อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่เริ่มต้นจากคนไม่กี่คนที่สามารถสร้างบริษัทตั้งแต่เล็กไปจนใหญ่ และสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ก่อตั้งอย่างมากมายเหมือนในต่างประเทศบ้าง อาจจะมีหลายปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น เรื่องการศึกษาที่ไม่เน้นให้นักเรียนคิดแบบผู้ประกอบการ เรื่องที่สังคมของเราไม่ค่อยยอมรับการไปเริ่มก่อตั้งธุรกิจแต่สนับสนุนให้เป็นข้าราชการหรือให้กินเงินเดือน หรือการที่คนไทยไม่ชอบริเริ่มสร้างอะไรใหม่ๆ แต่ผมกลับคิดกลับกันว่าจริงๆแล้วคนไทยนั้นเก่งไม่แพ้คนต่างชาติ เพียงแต่ว่าโครงสร้างของการก่อตั้งบริษัท start up ในประเทศของเรานั้นยังไม่พัฒนาดีพอจนทำให้เกิดผู้ประกอบการที่สร้างบริษัทที่แข็งแกร่งจากไม่มีอะไรเลยได้ โดยหลักๆแล้วเกี่ยวกับเรื่องเงินทุนเป็นหลัก ซึ่งเงินทุนนั้นการใช้เพียงแค่เงินของตัวเอง เงินของครอบครัว เพื่อน ไม่เพียงพอในระยะยาวอย่างแน่นอน หรือเงินกู้ธนาคารก็มีข้อจำกัดมากมายและไม่สามารถทำได้ในระยะเริ่มต้นธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องการเงินจาก "ผู้ร่วมทุนในบริษัทก่อตั้งใหม่" ซึ่งในต่างประเทศเรียกว่า venture capitalist

            หน้าที่ของเขาคือการให้เงินกับผู้ประกอบการไปลงทุน โดยหวังผลตอบแทนจากการที่บริษัทเติบโตขึ้นและสามารถขายให้กับบริษัทที่ใหญ่กว่าได้ หรือการทำ ipo ในตลาดหุ้น ซึ่งมีโอกาสให้ผลตอบแทนหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเป็นสิ่งที่ win-win โดยแท้ เพราะนักลงทุนสามารถสร้างบริษัทที่ตนเองต้องการได้ และนักลงทุนก็ได้ผลตอบแทนจากเงินที่นำไปลงทุน การลงทุนนี้จะเป็นการใส่เงินลงไปในบริษัทในจำนวนที่มากกว่าเงินที่ผู้ก่อตั้งสามารถระดมได้จากคนรอบข้างเช่นครอบครัวมากนัก อย่างเช่นถ้าบริษัทระดมได้ 1 ล้านบาท แต่การรับเงินลงทุนจากนักลงทุน venture capitalist นั้นสามารถระดมได้ในระดับ 10 ล้านไปจนถึง 100 ล้านเลยทีเดียว ถ้านักลงทุนเห็นว่าบริษัทมีค่ามากพอ และยังสามารถที่จะระดมทุนได้หลายครั้งอีกต่างหาก โดยในช่วงแรกที่บริษัทยังมีค่าน้อยอยู่ก็จะได้น้อยหน่อย แต่เมื่อนำเงินก้อนแรกไปลงทุนแล้วทำให้บริษัทโตขึ้น ก็จะสามารถระดมทุนได้อีกครั้งที่จำนวนเงินที่มากขึ้น และนี่เองเป็นวงจรที่ดีทำให้บริษัทไม่ขาดเงินทุน และสามารถเร่งอัตราการลงทุนในธุรกิจได้มากขึ้นโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับดอกเบี้ยหรือว่าจะต้องคืนเงินธนาคารเมื่อไหร่นอกจากนี้ venture capitalist ยังช่วยผู้ก่อตั้งมากกว่าแค่การให้เงินมาลงทุน นั่นคือการให้ connection ที่ดีแก่ผู้ก่อตั้ง อย่างเช่นการช่วยหาพนักงานที่เก่งกาจให้ การให้คำแนะนำในการบริหารงาน การส่งคนเข้ามาช่วยในระดับผู้บริหาร และยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้บริษัท ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ราบรื่นมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทในทางอ้อมอย่างแน่นอน อาจจะตีค่าเป็นตัวเงินไม่ได้แต่ผู้ก่อตั้งทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการร่วมงานกับบริษัท venture capitalist ที่มีชื่อเสียงทั้งนั้น บางรายยอมรับเงินลงทุนที่น้อยกว่าเพื่อที่จะได้นักลงทุนที่มีชื่อเสียงมานั่งเป็นบอร์ดบริษัทด้วยซ้ำ การทำบริษัท start up นั้นในช่วงแรก การจะทำให้บริษัทมีกำไรตั้งแต่ปีต้นๆเลยนั้นทำได้ยากมาก และไม่ควรทำเสียด้วย เพราะการมัวแต่ไปคิดเรื่องการทำกำไร จะทำให้เราลืมเรื่องที่สำคัญกว่าอย่างเรื่องการให้บริการลูกค้า การสร้างสินค้าที่ user หรือลูกค้าต้องการ ซึ่งมีความสำคัญในระยะยาวกว่ามาก การมีเงินทุนจำนวนมากหนุนหลังอยู่ ทำให้สามารถรับภาระการขาดทุนในช่วงปีแรกๆของการลงทุน ผู้ก่อตั้งจะได้ลงเวลาและแรงไปกับการสร้างบริการที่ยอดเยี่ยมและทำให้ได้มาซึ่งลูกค้าจำนวนมาก และสามารถเร่งการเติบโตให้ถึงขีดสุด บริษัทขาดทุนก็ไม่เป็นไรเพราะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ แถมมีเงินจากนักลงทุนคอยทำให้ไม่ขาดสภาพคล่อง บริษัทที่ใช้เพียงแค่เงินของผู้ก่อตั้งที่ไม่ได้ร่ำรวยแทบจะไม่มีทางทำบริษัทขาดทุนจำนวนมากในระยะสั้นได้ ทำให้อัตราการเติบโตก็ต่ำ ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ผู้ตามไม่มีทางรอดได้เลย ความเร็วในการเติบโตจึงสำคัญมากครับ

            กลับมาที่ประเทศไทย ทำไมเราถึงไม่มี นักลงทุนที่ลงทุนในบริษัท start up นั้น หรือมีแต่ก็ไม่ได้สร้าง start up ที่สามารถไปแข่งในระดับโลกได้ ผมก็ไม่รู้เหตุผลเหมือนกัน แต่ก็จะพยายามลองคิดดู ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่าผู้ก่อตั้งของเรายังไม่มีความรู้เรื่องนักลงทุนที่ว่านี้ดีพอ จึงทำให้ไม่เกิดการค้นหานักลงทุน และยังไม่มีตลาดที่ดีพอ ตลาดที่ว่านี้คือพื้นที่ ที่จะให้ทั้งสองฝ่ายมาพบกัน อย่างที่ต่างประเทศจะมีเว็บไซต์ที่ให้ นักลงทุนและผู้ก่อตั้งมาพบกันเลยทีเดียว หรืออีกเรื่องหนึ่งอาจจะเป็นเพราะยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนประเภทนี้ ทำให้ไม่มีการจัดตั้งบริษัท venture capitalist กันอย่างจริงจัง


www.batorastore.com © 2024