The Art of War (ยุทธศาสตร์สู่ชัยชนะแบบซุนวู)

The Art of War (ยุทธศาสตร์สู่ชัยชนะแบบซุนวู)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: the_art_of_war
ของหมด (ต้องการสินค้า)
ราคา: 200.00 บาท

เนื้อหาบางส่วน

บทนำ

 

ซุนวู หรือ ผู้คนเรียกว่า ซุนจื่อ ซึ่งมีความหมายว่า "ปราชญ์แซ่ซุน" บุคคลที่ต่างเชื่อกันว่าเป็นผู้เขียน ตำราพิชัยสงครามของซุนวู ซึ่งถือเป็นตำรายุทธศาสตร์ทางการทหารที่เก่าแก่และโด่งดังที่สุดเล่มหนึ่งของโลก

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในบันทึกพงศาวดาร ‘สื่อจี้’ ของซือหม่าเชียน นักปราชญ์และนักบันทึกประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยราชวงศ์ฮั่นได้สันนิษฐานไว้ว่า

ซุนวูมีชีวิตอยู่ในช่วงประมาณ 600 - 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งตรงกับยุคประวัติศาสตร์ของประเทศจีนในช่วงที่เรียกว่า ยุคชุนชิว ซุนวูเป็นชาวแคว้นฉีโดยกำเนิด และต่อมาได้รับการชักชวนจากขุนนางของแคว้นหวูให้มารับราชการภายใต้อำนาจของ พระเจ้าเหอหลู กษัตริย์แห่งแคว้นหวู และด้วยความสามารถและหลักการทางยุทธศาสตร์ที่เก่งกาจของซุนวู จึงทำให้พระเจ้าเหอหลูแต่งตั้งซุนวูเป็นแม่ทัพผู้กล้าในราชสำนักของพระองค์ ด้วยชื่อเสียงด้านความฉลาดหลักแหลมทั้งทางกลยุทธ์และกลวิธีต่างๆ ของซุนวูอันเป็นที่เลื่องลือ

ส่วนในบันทึกประวัติศาสตร์ของแคว้นหวูและแคว้นเยว่ แม้จะยกย่องถึงซุนวูว่าเป็นนักยุทธศาสตร์ที่โด่งดัง และตำราพิชัยสงครามของเขาก็เป็นที่รู้จักไปทั่ว  แต่บันทึกฉบับนี้ก็ให้ข้อมูลบางส่วนที่แตกต่างจากบันทึกพงศาวดาร ‘สื่อจี้’ ของซือหม่าเชียน  ตรงจุดที่บันทึกฉบับนี้กล่าวว่า ซุนวูเป็นชาวแคว้นหวูไม่ใช่แคว้นฉี

สำหรับตำราพิชัยสงครามซุนวูนั้น กล่าวกันว่าชัยชนะที่ได้จากการทำศึกสงครามของซุนวูเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนหลักยุทธศาสตร์ทางการทหารขึ้น แต่ก็มีการกล่าวกันว่าเขาเขียนตำราพิชัยสงครามเล่มนี้ขึ้นเพื่อพระเจ้าเหอหลูโดยเฉพาะ

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระเจ้าเหอหลูได้อ่านตำราพิชัยสงครามก็รับสั่งถามว่า “เราได้อ่านทั้งสิบสามบทของท่านแล้ว ไม่ทราบว่าท่านจะพิสูจน์ให้เราประจักษ์ได้หรือไม่ว่าท่านฝึกเหล่าทหารอย่างไร” เมื่อซุนวูตอบว่า “ย่อมได้” พระเจ้าเหอหลูก็ถามอีกว่า “พิสูจน์โดยการฝึกเหล่าอิสตรีได้หรือไม่” ซุนวูตอบว่า “ได้” พระเจ้าเหอหลูก็เรียกตัวสนมหนึ่งร้อยแปดสิบนางออกมา ซุนวูแบ่งพวกนางออกเป็นสองกองโดยแต่งตั้งให้นางสนมคนโปรดสองคนเป็นหัวหน้ากอง

จากนั้นเขาก็บอกให้พวกนางทั้งหมดถือง้าวไว้และกล่าวว่า

เมื่อข้าพเจ้าสั่งว่า ‘หน้า’ จงมองตรงไปทิศทางเดียวกับหัวใจ

เมื่อข้าพเจ้าสั่งว่า ‘ซ้าย’ จงหันไปทางทิศเดียวกับมือซ้าย

เมื่อข้าพเจ้าสั่งว่า ‘ขวา’ จงหันไปทางทิศเดียวกับมือขวา

เมื่อข้าพเจ้าสั่งว่า ‘หลัง’ จงหันกลับไปทางเบื้องหลังของพวกท่าน

นางสนมตอบว่า “ทราบแล้ว”

ซุนวูสั่งการและอธิบายให้เหล่านางสนมฟังซ้ำอีกหลายครั้ง จากนั้นจึงสั่งให้สัญญาณด้วยกลองให้หันขวา แต่แล้วนางสนมกลับพากันหัวเราะกันคิกคัก ซุนวูจึงกล่าวว่า “หากกฎเกณฑ์ยังไม่ชัดเจน และคำสั่งก็อธิบายได้ไม่ละเอียดถ้วนถี่ นั่นย่อมเป็นความผิดของแม่ทัพ”

ซุนวูอธิบายให้พวกนางฟังซ้ำอีกครั้ง และอีกครั้ง จากนั้นจึงสั่งให้สัญญาณด้วยกลองให้หันซ้าย เหล่านางกำนัลทั้งหมดก็พากันหัวเราะออกมาอีกครั้ง ซุนวูกล่าวว่า “หากกฎเกณฑ์ไม่ชัดเจน คำสั่งไม่ละเอียดถ้วนถี่ ก็เป็นความผิดของแม่ทัพ แต่หากกฎเกณฑ์นั้นอธิบายไว้ชัดแจ้งดีแล้ว แต่เหล่าทหารไม่ปฏิบัติตาม  นั่นย่อมเป็นความผิดของนายทหาร” ว่าแล้วซุนวูก็สั่งให้นำนายทั้งสองกองไปประหารชีวิต

พระเจ้าเหอหลูซึ่งทอดพระเนตรอยู่รีบสั่งให้นายทหารไปบอกกับซุนวูว่าให้ละเว้นโทษตายพวกนางเสีย ซุนวูกล่าวว่า “ในเมื่อข้าพเจ้าได้รับพระราชบัญชาให้เป็นแม่ทัพของพระองค์แล้ว ขณะที่แม่ทัพบัญชาการทัพ ย่อมมีบางคำสั่งที่แม่ทัพมิอาจน้อมรับได้” แล้วซุนวูก็สั่งให้นำนางสนมทั้งสองไปประหาร 

การฝึกหลังจากนั้นไม่ว่าซุนวูจะสั่งหรือส่งสัญญาณให้เหล่าสนมที่เหลือหันซ้ายหันขวาหรือลุกนั่ง ทุกคนล้วนทำตามอย่างพร้อมเพรียง ไม่มีใครกล้าส่งเสียงใดๆ ทั้งสิ้น และแล้วเขาก็ส่งทหารไปกราบทูลพระเจ้าเหอหลูว่า “เหล่าทหารพร้อมรับคำสั่งแล้ว ขอเชิญพระองค์ลงมาตรวจสอบด้วยพระองค์เอง” พระเจ้าเหอหลูรับสั่งกลับไปว่า “พอแล้ว ให้แม่ทัพกลับไปพักผ่อน เรามิต้องการตรวจตราทัพตอนนี้”

ซุนวูจึงกล่าวตอบไปว่า “พระองค์ทรงพอพระทัยเพียงแค่ตัวอักษรของข้าพเจ้าเท่านั้น หากแต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติจริงได้” เมื่อได้ยินดังนั้น พระเจ้าเหอหลูก็ตระหนักถึงความสามารถของซุนวูในการจัดการกองทัพ และมอบหมายให้ซุนวูนำทัพออกรบจนได้ชัยชนะมากมาย

ในที่สุด ซุนวูก็สามารถทำให้พระเจ้าเหอหลูเชื่อว่า กลยุทธ์และกลวิธีของเขาไม่ใช่เพียงตัวอักษรที่เขียนขึ้นสวยๆ เท่านั้น แต่ทุกวลีและประโยคที่ลึกซึ้งนั้นมีประสิทธิภาพและสามารถใช้ได้จริงในทางปฏิบัติด้วย

เมื่อเขานำทัพออกรบกับข้าศึกและได้ชัยชนะจนอาณาเขตของแคว้นหวูแผ่ขยายออกไปไกลยังตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นดินแดนของแคว้นฉู่ ชื่อเสียงของเขาก็เป็นที่โจษขานจนได้รับสมญานามว่า ‘เทพเจ้าแห่งสงครามของยุค’

แม้ซุนวูจะได้ชื่อว่าเป็นเทพสงคราม ผู้วางรากฐานอันยิ่งใหญ่ทางทฤษฎีทางการทหารของประเทศจีน เจ้าของคำสอน “รู้เขารู้เรา ร้อยศึกมิรู้พ่าย” ก็ยังคงสอนด้วยว่า “รบร้อยชนะร้อย ยังหาใช่ความยอดเยี่ยมไม่ มิต้องรบแต่ชนะได้ จึงเป็นความยอดเยี่ยม”

ตำราพิชัยสงครามซุนวู เป็นตำรายุทธศาสตร์ที่อยู่เหนือกาลเวลาอย่างแท้จริง ตำราเล่มนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับศาสตร์หลากหลายแขนง ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องการทหารหรือการรบเท่านั้น เหตุเพราะตำราดังกล่าวไม่ได้มุ่งเน้นที่การสงครามหรือการใช้กำลัง หากแต่ใจความสำคัญคือ การใช้กลยุทธ์และสติปัญญาอย่างรอบคอบในทุกๆ สถานการณ์ จึงทำให้หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าให้ทุกคนเรียนรู้และนำไปปรับใช้กับชีวิตเพื่อแก้ปัญหาและเพื่อให้บรรลุความมุ่งหมายที่ตั้งใจไว้ดั่งสมปรารถนา

 

 

 

 

 

 

ภาค 1
ตำราพิชัยสงครา ซุนวู

 

 

1.การประเมิน

 

ซุนวูกล่าวไว้ว่า

1. การศึกสงครามเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งของบ้านเมือง มีความเกี่ยวพันกับชีวิตของทหารและประชาชน สงครามเป็นเรื่องของความเป็นความตาย เป็นถนนที่มุ่งสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลว จึงสำคัญมากที่ต้องศึกษาอย่างถ้วนถี่ ไตร่ตรองให้ดีก่อนทำการตัดสินใจ

2. ดังนั้น จงวิเคราะห์โดยใช้ปัจจัยพื้นฐานห้าประการ และเปรียบเทียบกับองค์ประกอบที่จะกล่าวถึงในภายหลังอีกเจ็ดประการ เพื่อที่จะสามารถประเมินเนื้อแท้ของสงครามได้อย่างถูกต้อง

3. ปัจจัยพื้นฐานประการแรกคือคุณธรรม ประการที่สองคือ ดินฟ้าอากาศ ประการที่สามคือ ภูมิประเทศ ประการที่สี่คือ การบัญชาการ และประการที่ห้าคือระเบียบกฎเกณฑ์

• ระดับความสำคัญของปัจจัยทั้งห้านี้ก็เป็นไปตามลำดับดังที่ได้กล่าวมา กล่าวคือเมื่อกองทัพถูกระดมมาเพื่อทำศึก จะต้องคำนึงถึงความมีเมตตาของผู้ปกครองและระดับความมั่นใจของประชาชน ความเหมาะสมของฤดูทางธรรมชาติในขณะนั้น และความยากง่ายของภูมิประเทศ หลังจากพิจารณาทั้งสามสิ่งอย่างถ้วนถี่แล้ว แม่ทัพจะได้รับมอบหมายให้ออกโจมตี และเมื่อเหล่าทหารข้ามเขตแดนไป ความรับผิดชอบต่อกฎหมายและระเบียบวินัยก็ตกเป็นหน้าที่ของแม่ทัพ

4. เมื่อพูดถึงคุณธรรม หมายถึงสิ่งที่ทำให้ผู้คนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ปกครอง ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีวัตถุประสงค์ร่วมกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แล้วประชาชนก็จะติดตามผู้ปกครองไปทุกแห่งทุกหนโดยปราศจากความกลัวในภยันตรายใดแม้ต้องเสี่ยงต่อชีวิตก็ตามที สิ่งนี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อผู้ปกครองมีความเมตตา มีความเที่ยงธรรมและเห็นแก่ความถูกต้องเป็นใหญ่ ซึ่งก็จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อใจและมั่นใจ กองทัพก็จะสมัครสมานสามัคคีกันและยินยอมพร้อมใจรับใช้ผู้ปกครอง การปกครองนั้นต้องทำโดยใช้ใจ มิใช่อำนาจบาตรใหญ่ แล้วประชาชนทั้งปวงก็จะอยู่เคียงข้างด้วยความเต็มใจ

5. เมื่อพูดถึงดินฟ้าอากาศ หมายถึงการตอบสนองต่อพลังความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ เช่น ผลกระทบจากความหนาวเย็นในฤดูหนาว ความร้อนระอุในฤดูร้อน และการปฏิบัติตนของกองทัพเพื่อให้เหมาะสมกับฤดูกาล การเตรียมพร้อมสำหรับภัยที่อาจต้องพบเจอ เช่น พายุฝน น้ำท่วม ไฟป่า

6. เมื่อพูดถึงภูมิประเทศ หมายถึงปัจจัยเช่น ระยะทาง หนทางยากง่ายประการใด เป็นพื้นที่กว้างหรือคับแคบ เป็นที่ราบหรือที่ลุ่ม อยู่ไกลใกล้เพียงใด และมีความเสี่ยงเป็นตายเช่นไร ในการจะเตรียมการทัพได้นั้นต้องรู้ล่วงหน้าว่าภูมิประเทศเป็นเช่นไร เช่น หากรู้ระยะทางก็จะพิจารณาได้ว่าจะใช้เส้นทางตรงหรือทางอ้อม หากรู้ความยากง่ายของพื้นที่ก็จะพิจารณาได้ว่าควรจะใช้พลเดินเท้าหรือกองทหารม้า หากรู้ว่าเป็นพื้นที่เปิดหรือพื้นที่ปิดก็จะคำนวณขนาดของกองกำลังที่เหมาะสมได้ หากรู้ว่าจะใช้ที่ใดเป็นสมรภูมิก็จะรู้ว่าสามารถแบ่งแยกกองกำลังได้หรือไม่ และจะต้องกลับมารวมพลกันอีกคราเมื่อใด

7. เมื่อพูดถึงการบัญชาการ หมายถึงคุณสมบัติในด้านปัญญา ความจริงใจ ความมีเมตตา ความกล้าหาญ และความเคร่งครัดของแม่ทัพ

• แม่ทัพที่ชาญฉลาดจะต้องตระหนักถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและลงมือดำเนินการอย่างเหมาะสม

• แม่ทัพที่มีความจริงใจ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจะต้องไม่คลางแคลงใจในเรื่องของการตกรางวัลและการลงทัณฑ์

• แม่ทัพที่มีเมตตาจะต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

• แม่ทัพที่กล้าหาญจะได้รับชัยชนะด้วยการคว้าโอกาสโดยปราศจากความลังเลใจ

• แม่ทัพที่เคร่งครัดจะมีกองกำลังซึ่งมีระเบียบวินัยเพราะว่าเหล่าทหารยำเกรงผู้นำและเกรงกลัวบทลงโทษ

8. เมื่อพูดถึงระเบียบกฎเกณฑ์ หมายถึงการจัดระเบียบพล การควบคุมและมอบหมายหน้าที่ให้แก่พลทหาร ระเบียบวินัยระหว่างเส้นทาง การตระเตรียมและการเบิกจ่ายข้าวของที่จำเป็นต้องใช้ในกองทัพ

9. ไม่มีแม่ทัพคนใดที่มิคุ้นเคยกับปัจจัยทั้งห้าประการนี้ ผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องเหล่านี้สามารถคว้าชัยชนะมาครอบครองได้ หากปราศจากความเชี่ยวชาญเหล่านี้ก็ต้องถูกตีจนแตกพ่ายไป

10. ดังนั้นในการวางแผนการ จงเปรียบเทียบองค์ประกอบเหล่านี้ทั้งของฝ่ายเราและของฝ่ายศัตรู และวิเคราะห์พวกมันด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดเพื่อประเมินผลที่จะเกิดขึ้นในการทำสงคราม

11. สังเกตุว่าผู้นำฝ่ายใดมีคุณธรรมในใจและปกครองอย่างเป็นธรรม แม่ทัพฝ่ายใดมีความสามารถเหนือกว่า ฝ่ายใดได้เปรียบในเรื่องของธรรมชาติและหนทาง ไพร่พลฝ่ายใดปฏิบัติตามกฎระเบียบและคำสั่งได้ดีกว่า กองทัพฝ่ายใดมีความเข้มแข็งมากกว่า

12. กองทัพใดมีกำลังพลซึ่งฝึกปรือมาดีกว่า หาไม่แล้วนายกองอาจมีความกังวลและลังเลในยามศึก แม่ทัพก็จะสะทกสะท้านอยู่ในใจเมื่อเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม

13. กองทัพใดปูนบำเหน็จและลงทัณฑ์อย่างเที่ยงธรรมโปร่งใสมากกว่า

14. สามารถทำนายได้ว่าฝ่ายใดคือฝ่ายที่จะได้รับชัยชนะ และฝ่ายใดจะเพลี่ยงพล้ำในการศึก

15. หากแม่ทัพผู้ใดใส่ใจกับกลยุทธ์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อได้รับมอบหมายในการศึกก็ย่อมแน่นอนว่าจะได้รับชัยชนะ จงเก็บรักษาคนผู้นั้นไว้ให้ดี ปูนบำเหน็จรางวัลให้อย่างถึงขนาด แต่หากผู้ซึ่งปฏิเสธการรับฟังกลยุทธ์ข้างต้นถูกมอบหมายในการทำศึกแล้ว ย่อมแน่นอนว่าเขาผู้นั้นจะนำทัพไปสู่ความปราชัย จงรีบปลดออกจากตำแหน่งเสียโดยไวก่อนที่จะเสียการใหญ่

16. เมื่อตระหนักถึงข้อได้เปรียบจากแผนการที่กล่าวมาแล้วนั้น แม่ทัพจะต้องสร้างสถานการณ์ที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ เมื่อกล่าวถึง ‘สถานการณ์’ หมายถึงการที่จะต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมให้สอดคล้องกับสิ่งที่จะอำนวยประโยชน์ให้กับฝ่ายตน

17. การสงครามทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของเล่ห์เพทุบาย

18. ดังนั้นเมื่อมีกำลังกล้าแข็ง จงแกล้งทำตัวประหนึ่งอ่อนแอ เมื่อมีความสามารถให้ทำตัวประหนึ่งไร้ความสามารถ เมื่อเตรียมการเข้าจู่โจมให้ทำประหนึ่งไม่คิดเข้าชิงชัย

19. เมื่ออยู่ใกล้ให้ทำเสมือนว่าอยู่ไกล และเมื่ออยู่ไกล ก็ให้หลอกลวงว่าอยู่ใกล้

20. ใช้ผลประโยชน์มาล่อใจศัตรูให้รู้สึกถึงความได้เปรียบ แกล้งทำเหมือนระสำระสายและบุกเข้าโจมตี

21. เมื่อศัตรูมีกำลังสมบูรณ์ จงเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ หากศัตรูมีกำลังกล้าแข็ง ก็จงพยายามหลีกเลี่ยงเสีย

22. หากแม่ทัพของฝ่ายศัตรูดื้อรั้นและฉุนเฉียวง่าย จงแสร้งสบประมาทและสร้างความเดือดดาลให้ ทำให้เกิดความขุ่นเคืองและสับสนเพื่อให้ศัตรูเข้าโจมตีฝ่ายเราโดยปราศจากแผนการและความระมัดระวัง

23. แสร้งทำตนด้อยกว่าและกระตุ้นความทะนงตนของศัตรู

24. ทำให้ศัตรูวิตกกังวลและอ่อนล้า หากศัตรูผ่อนคลายสุขสบายอยู่ จงทำให้เหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลีย

25. เมื่อศัตรูสามัคคีกันก็ให้สร้างความแตกแยก ไม่ว่าจะเป็นความแตกแยกระหว่างผู้ปกครองกับคณะที่ปรึกษา หรือศัตรูกับหมู่พันธมิตร จงทำให้ทั้งสองฝ่ายหวาดระแวงซึ่งกันและกันเพื่อที่ฝ่ายเราจะสามารถวางแผนต่อกรได้โดยง่าย

26. โจมตีเมื่อศัตรูปราศจากการเตรียมตัว เข้าโรมรันในยามที่มิได้คาดฝัน

27. สิ่งเหล่านี้คือหัวใจของกลยุทธ์ในการไขว่คว้าเพื่อชัยชนะ และมิอาจพูดคุยปรึกษาล่วงหน้าได้ เมื่อเข้าเผชิญหน้ากับศัตรู จะต้องตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา หาอุบายที่เหมาะสม และพลิกแพลงแผนการเพื่อไม่ให้อับจนหนทาง สิ่งเหล่านี้จึงล้วนแล้วแต่มิอาจคาดเดาได้

28. ดังนั้นก่อนที่การศึกจะเริ่มต้นขึ้น หากคำทำนายจากฟ้าดินบ่งชี้ให้เห็นถึงชัยชนะ นั่นก็เพราะการประเมินแสดงให้เห็นว่าความเข้มแข็งของฝ่ายเรามีอยู่เหนือกว่าฝ่ายของศัตรู หากมันบ่งชี้ถึงความพ่ายแพ้ นั่นก็เพราะการประเมินแสดงให้เห็นว่าฝ่ายของเรานั้นด้อยกว่า หากได้ทำการประเมินรอบด้านแล้ว ไม่ว่าฝ่ายใดก็สามารถคว้าเอาชัยชนะมาได้ แต่หากทำการประเมินมิถ้วนถี่ ชัยชนะนั้นก็มิอาจรับประกันได้ แล้วโอกาสจะมีอยู่น้อยเพียงไรสำหรับผู้ที่มิได้ทำการประเมินโดยสิ้นเชิง วิธีนี้สามารถใช้วิเคราะห์สถานการณ์ได้และผลลัพธ์ที่ได้ย่อมมองเห็นได้อย่างชัดเจน

รายละเอียด

The Art of War (ศิลปะแห่งการยุทธ์)
หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “ตำราพิชัยสงครามซุนวู”
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในตำราทางการทหารที่เก่าแก่ที่สุดของโลก
โดยนับได้ว่าเป็นตำราเล่มแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเชิงยุทธศาสตร์
และมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อแนวคิดทางการทหาร กลยุทธ์ทางธุรกิจ
และแนวคิดเรื่องอื่นๆ ทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก
หนังสือ “ยุทธศาสตร์สู่ชัยชนะแบบ ซุนวู” เล่มนี้ยังได้ถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวาง
แม้แต่คำกราบบังคมทูลของขงเบ้งก็อ้างถึงว่า โจโฉมีความสามารถเทียบเท่าซุนวู

 

ไกเซอร์ วิลเลียมที่สองซึ่งพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ขณะถูกเนรเทศไปอยู่ที่ฮอลแลนด์ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และได้กล่าวว่า
“ถ้าได้อ่านตำราพิชัยสงครามซุนวูมาก่อนหน้านี้ คงรบไม่แพ้แน่”
ตำราพิชัยสงครามเป็นปรัชญาซึ่งทุกคนสามารถนำมาใช้ได้ตลอดชีวิต
และใช่จะใช้ได้แต่เฉพาะการยุทธ์ในสงครามเท่านั้น แม้แต่การดำเนินกิจการงานทั่วไป
และการดำรงชีวิตในครอบครัวให้ปกติสุข “ตำราพิชัยสงครามซุนวู”
ก็สามารถนำมาใช้ได้ผลดีเช่นกัน

กลยุทธ์สู่ชัยชนะมีปัจจัย 5 ประการ
• รู้ว่าเมื่อใดควรรบและไม่ควรรบ
• รู้จักการออมกำลัง
• นายและพลทหารเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
• วางแผนและเตรียมการดี
• มีขุนพลผู้ที่สามารถและไม่ถูกแทรกแซงจากผู้ปกครอง
ที่กล่าวมา 5 ประการนี้ผู้ใดรู้จักใช้จะพบกับชัยชนะ

 

คำนำสำนักพิมพ์

บทนำ

ภาค 1  ตำราพิชัยสงครา ซุนวู

1.การประเมิน

2.การขับเคี่ยวศึก

3.กลยุทธ์ในการรุก

4.ลักษณะการสงคราม

5.กำลังพล

6.ความอ่อนแอและความเข้มแข็ง

7.กลอุบาย

8.ตัวแปรเก้าประการ

9.การเดินทัพ

10.ภูมิประเทศ

11.พื้นที่เก้าอย่าง

12.โจมตีด้วยเพลิง

13.การใช้สายลับ

ภาค 2  ยุทธศาสตร์สู่ชัยชนะแบบซุนวู

ข้อคิดแปดประการในชีวิตประจำวัน

ข้อคิดแปดประการในการบริหารจัดการ

ข้อคิดแปดประการในการบริหารบุคคล

ข้อคิดแปดประการสำหรับผู้นำ

 

 

 

คำนำสำนักพิมพ์

The Art of War  (ศิลปะแห่งการยุทธ์)  หรือคนไทยรู้จักกันดีในชื่อ “ตำราพิชัยสงครามของซุนวู”  หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในตำรายุทธศาสตร์ทางการทหารที่เก่าแก่ที่สุดของโลก โดยนับได้ว่าเป็นตำราที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเชิงยุทธศาสตร์ และมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อแนวคิดทางการทหาร แนวกลยุทธทางธุรกิจ และแนวคิดเรื่องอื่นๆ ทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก

ตำราเล่มนี้ยังได้ถูกอ้างอิงอย่างกว้างขวาง แม้แต่คำกราบบังคมทูลของขงเบ้งก็อ้างถึงว่า โจโฉมีความสามารถเทียบเท่าซุนวู

ไกเซอร์ วิลเลียม ที่สอง ซึ่งพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขณะถูกเนรเทศไปอยู่ที่ฮอลแลนด์ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และได้กล่าวว่า “ถ้าได้อ่านตำราพิชัยสงครามของซุนวูมาก่อนหน้านี้ คงรบไม่แพ้แน่”

ตำราพิชัยสงคราม  เป็นปรัชญาซึ่งทุกคนสามารถนำมาใช้ได้ตลอดชีวิต และใช่จะใช้ได้แต่เฉพาะการยุทธ์ในสงครามเท่านั้น แม้แต่การดำเนินกิจการงานทั่วไป และการดำรงชีวิตในครอบครัวให้ปกติสุข “ตำราพิชัยสงครามของซุนวู” ก็สามารถนำมาใช้อย่างได้ผลดีเช่นกัน

เนื้อหาโดยสังเขปแบ่งออกเป็น 13 บรรพ ซึ่งได้ประมวลหลักปรัชญาการต่อสู้และทฤษฎีการปกครองไว้อย่างครบครัน ดังนี้

1. การประเมิน 

2. การขับเคี่ยวศึก 

3. กลยุทธ์ในการรุก 

4. ลักษณะการสงคราม 

5. กำลังพล 

6. ความอ่อนแอและความเข้มแข็ง 

7. กลอุบาย

8. ตัวแปรเก้าประการ 

9. การเดินทัพ 

10. ภูมิประเทศ 

11. พื้นที่เก้าอย่าง 

12. โจมตีด้วยเพลิง 

13. การใช้สายลับ

ซุนวูกล่าวว่า การรบถ้ารู้จักการวางแผนที่ดีมีสิทธิ์ที่จะชนะทุกร้อยครั้ง ในการทำสงครามหากรู้กำลังกองทัพของเราเอง รู้ความสามารถของแม่ทัพ รู้ความสามารถของกองทหาร โอกาสรบชนะจะมีครึ่งหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่เราเรียนรู้กองกำลังของข้าศึก เรียนรู้ความสามารถของแม่ทัพข้าศึก และรู้ความสามารถของกองทหารข้าศึก โอกาสรบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งก็ไม่ไปไหนไกล แต่เมื่อใดก็ตามที่ออกรบ แม่ทัพไม่รู้กำลังของตัวเอง ไม่รู้กำลังของกองทหาร ไม่ว่าจะออกรบกี่ครั้งก็ต้องแพ้ย่อยยับกลับมาทุกครั้ง

สิ่งที่ผู้ปกครองไม่พึงทำในการยุทธ์ มีกฎ 3 ข้อดังนี้

• สั่งให้รุกขณะไม่ควรรุก หรือสั่งให้ถอยขณะเป็นต่อข้าศึก ทำให้กองทัพระสำระสาย

• ไม่เข้าใจในกิจการของกองทัพ แต่สั่งการตามอำเภอใจ หรือสามัญสำนึกของตน ทำให้เหล่าขุนพลสับสน

• ไม่เข้าใจหลักการผสมผสานในการใช้กำลังทหารเหล่าต่าง ๆ สำหรับดำเนินกลยุทธ์ แต่เข้าแสดงบทผู้บัญชาการ ทำให้เหล่านายทหารเกิดความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ เมื่อเหล่าทัพต่าง ๆ ตกอยู่ในสภาพลังเล สงสัย สับสน ไม่แน่ใจ ก็ย่อมทำให้เกิดความระสำระสายในกองทัพ ศัตรูก็ฉวยโอกาสนี้เข้ากระทำและได้รับชัยชนะ

 

การนำกองทัพสู่ชัยชนะมีปัจจัย 5 ประการ

• รู้ว่าเมื่อใดควรรบ และไม่ควรรบ

• รู้จักการออมกำลัง

• นายและพลทหารเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

• วางแผนและเตรียมการดี

• มีขุนพลผู้ที่สามารถ และไม่ถูกแทรกแซงจากผู้ปกครอง

ที่กล่าวมา 5 ประการนี้ผู้ใดรู้จักใช้จะพบกับชัยชนะ

นี่คือหัวใจของตำราเล่มนี้ ซึ่งผู้จัดพิมพ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลกับท่าน หากได้นำบางส่วนของตำราเล่มนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ด้วยความจริงใจ

สำนักพิมพ์ก้าวแรก


รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (95 รายการ)

www.batorastore.com © 2024