Animal Farm (แอนิมอล ฟาร์ม)

Animal Farm (แอนิมอล ฟาร์ม)

0 รีวิว  0 รีวิว    
รหัสสินค้า: animal_farrm
ของหมด (ต้องการสินค้า)
ราคา: 149.00 บาท

เนื้อหาบางส่วน

บทที่ 1

มิสเตอร์โจนส์แห่งฟาร์มแมเนอร์ปิดล็อกประตูเล้าไก่เพื่อการป้องกันในยามค่ำคืน ทว่าเขาเมามากเกินกว่าจะนึกถึงช่องประตูเล็กสำหรับสัตว์ลอดผ่าน ด้วยวงแสงริบหรี่จากตะเกียงในมือที่แกว่งไปมาราวกับเต้นระบำ เขาโซซัดโซเซเดินผ่านลานบ้าน สลัดรองเท้าบู๊ตทิ้ง
ไว้ที่ประตูหลัง เข้าไปดื่มเบียร์แก้วสุดท้ายที่เทจากถังในห้องครัว แล้วพาตัวเองไปขึ้นเตียงนอน ซึ่งมีมิสซิสโจนส์นอนกรนส่งเสียงสนั่นหวั่นไหวไปเรียบร้อยแล้ว

ทันทีที่แสงสว่างในห้องนอนดับลง ความโกลาหลและเสียงกระพือปีกก็ดังอื้ออึงไปทั้งโรงนา ข่าวแพร่สะพัดไปทั่วฟาร์มตั้งแต่ช่วงกลางวันแล้วว่า เฒ่าเมเจอร์ สุกรพันธ์มิดเดิลไวท์ตัวผู้เจ้าของรางวัลประกวดเกิดฝันประหลาดเมื่อคืนก่อนหน้านี้ และปรารถนาจะบอกกล่าวให้สัตว์อื่นๆ ได้รับรู้ ทุกตัวจึงตกลงกันว่าจะมาประชุมร่วมกันที่โรงนาใหญ่ในทันทีที่ปลอดจากมิสเตอร์โจนส์ เฒ่าเมเจอร์ (เขามักถูกเรียกขานเช่นนี้ แม้ว่าชื่อจริงที่ใช้ในการอวดโฉมเพื่อการประกวดของเขาจะเป็น วิลลิงดัน บิวตี้ ก็ตาม) เป็นผู้ได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงในฟาร์ม กระทั่งสัตว์ทุกตัวพร้อมยอมสละชั่วโมงการนอนเพื่อมาฟังสิ่งที่เขาจะพูด

ณ บริเวณริมสุดด้านหนึ่งของโรงนา บนอะไรสักอย่างที่ยกพื้นขึ้นมาเหมือนแท่นปราศรัย เมเจอร์ยึดที่มั่นนั่งรออยู่บนเตียงกองฟางเรียบร้อยแล้ว ภายใต้ตะเกียงซึ่งห้อยลงมาจากคาน เขาอายุสิบสองปี และล่าสุดนี้เติบโตขึ้นจนค่อนข้างอ้วนพี แต่ยังคงเป็นหมูที่งามสง่าน่าเกรงขาม ด้วยไหวพริบอันชาญฉลาดและท่าทางใจดีมีเมตตา แม้ว่าเขี้ยวของเขาจะยาวเพราะไม่เคยได้รับการตัดเลยก็ตาม ก่อนที่เวลาจะล่วงเลย สัตว์อื่นๆ ที่เริ่มทยอยมาถึงก็หาที่นั่งตามสบายในแบบต่างๆ กันไปของแต่ละตัว กลุ่มแรกคือสุนัขสามตัว บลูเบลล์ เจสซี และพินเชอร์ จากนั้นก็เป็นฝูงสุกรที่มาปักหลักลงบนกองฟางหน้าแท่นปราศรัย ฝูงแม่ไก่พากันเกาะอยู่บนขอบหน้าต่าง ฝูงนกพิราบบินขึ้นไปเกาะบนขื่อ ฝูงแกะและวัวทอดตัวลงด้านหลังพวกหมูและเริ่มเคี้ยวเอื้อง บ็อกเซอร์กับโคลเวอร์ ม้าเทียมเกวียนสองตัวมาพร้อมกัน ทั้งสองเดินเข้ามาอย่างเชื่องช้ามากๆ กีบเท้าที่มีขนดกฟูหยุดยืนอย่างระมัดระวังด้วยเกรงว่าจะมีสัตว์เล็กๆ บางชนิดซ่อนตัวอยู่ในกองฟาง โคลเวอร์เป็นแม่ม้าอ้วน อยู่มาใกล้จะครึ่งชีวิต เธอไม่มีโอกาสกลับไปมีรูปร่างงดงามเหมือนก่อนอีกเลยหลังจากคลอดลูกตัวที่สี่ ส่วนบ็อกเซอร์เป็นม้าป่าตัวโตมาก สูงเกือบสิบแปดคืบ แข็งแรงเท่ากับม้าทั่วๆ ไปสองตัวรวมกัน แถบสีขาวที่ทาบลงมาตามจมูกทำให้ท่าทางเขาดูโง่ และในความเป็นจริงเขาก็ไม่ใช่ผู้มีสติปัญญาในลำดับต้นๆ นัก หากแต่เขาเป็นที่ยอมรับนับถืออย่างกว้างขวาง ด้วยบุคลิกภาพอันแน่วแน่ และพลังอันมหาศาลในการทำงาน หลังจากพวกม้าก็เป็นมิวเรียล แพะสีขาว กับเจ้าลาเบ็นจามิน เบ็นจามินเป็นสัตว์ที่แก่ที่สุดในฟาร์ม และเป็นตัวที่มีอารมณ์ร้ายที่สุด เขาไม่ค่อยพูด แต่เมื่อใดที่เขาเอ่ยปากก็มักเป็นคำเย้ยหยันประชดประชัน เช่น เขาเคยบอกว่าพระเจ้าให้หางแก่เขาเพื่อใช้ปัดแมลงวัน แต่อีกไม่ช้าไม่นานเขาก็จะไม่มีหางและจะไม่มีแมลงวันให้ปัด เขาเป็นตัวเดียวในหมู่สัตว์ทั้งมวลในฟาร์มที่ไม่เคยหัวเราะ หากถามว่าเพราะเหตุใด เขาก็จะตอบว่าเพราะเขาไม่เห็นว่ามีอะไรที่น่าหัวเราะ อย่างไรก็ดี เห็นได้ชัดและเป็นที่รู้กันว่าเขายกย่องบ็อกเซอร์ เขาทั้งสองมักใช้เวลาด้วยกันในคอกเล็กหลังสวนผลไม้ เล็มหญ้าเคียงข้างกันโดยไร้คำสนทนา

ม้าสองตัวเพิ่งจะเอนกายลง เมื่อฝูงลูกเป็ดผู้สูญเสียแม่ไปแล้วเรียงแถวกันเข้ามาในโรงนา พร้อมกับส่งเสียงร้องอย่างอ่อนแรง ขณะพากันเดินฝ่าโรงนาจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อหาที่ที่พวกเขาจะนั่งนอนได้โดยไม่ถูกเหยียบย่ำ โคลเวอร์ทำกำแพงล้อมรอบพวกเขาไว้ด้วยขาหน้าอันแข็งแรงของเธอ พวกลูกเป็ดจึงเข้าไปนั่งอยู่ภายในนั้นและผล็อยหลับไปอย่างรวดเร็ว ในนาทีสุดท้ายมอลลี ม้าตัวเมียสีขาวที่สวยแต่โง่ผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นม้าเทียมรถของมิสเตอร์โจนส์ ก็เดินปั้นหน้าสวยกรีดกรายเข้ามาพร้อมกับเคี้ยวก้อนน้ำตาลในปาก เธอเลือกที่นั่งใกล้กับทางด้านหน้า และชูคออวดขนแผงคอสีขาวด้วยท่าทาง โปรยเสน่ห์ หวังจะดึงดูดความสนใจด้วยริบบิ้นสีแดงที่ถักเป็นเปียแทรกไปกับขนแผงคอของเธอ และที่มาถึงเป็นตัวสุดท้ายคือเจ้าแมว ซึ่งสอดส่ายสายตาไปทั่วเพื่อหาบริเวณอันอบอุ่นที่สุดตามวิสัย ในที่สุดเธอก็เบียดตัวเองลงระหว่างบ็อกเซอร์กับโคลเวอร์ แล้วนอนส่งเสียงครางฟิ้วๆ สม่ำเสมอตลอดการปราศรัยของเมเจอร์ โดยไม่ได้ฟังสิ่งที่เขาพูดแม้แต่คำเดียว

ขณะนี้สัตว์ทุกตัวมาอยู่ที่นี่หมดแล้ว ยกเว้นโมเสซ อีกาแสนเชื่องซึ่งหลับอยู่บนคอนนอกประตูหลังของโรงนา เมื่อเมเจอร์เห็นว่าทุกตัวได้ที่ที่เหมาะสมสบายดีแล้ว และกำลังรอคอยอย่างตั้งอกตั้งใจ เขาก็กระแอมให้ลำคอโล่ง และเริ่มเอ่ยขึ้น:

“สหายทั้งหลาย พวกเจ้าคงได้ยินแล้วเกี่ยวกับความฝันอันแปลกประหลาดที่ฉันฝันเมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ฉันจะพูดถึงเรื่องความฝันนี้ทีหลัง ฉันมีอย่างอื่นจะพูดก่อนเป็นอันดับแรก ฉันคิดว่า...สหายเอ๋ย ฉันคงจะอยู่กับพวกเจ้าต่อไปได้อีกไม่กี่เดือนหรอก และก่อนที่ฉันจะตาย ฉันรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ฉันจะต้องถ่ายทอดภูมิปัญญาซึ่งได้รับมาทั้งหมดแก่พวกเจ้า ฉันมีชีวิตมายาวนาน ฉันมีเวลามากมายที่จะคิดขณะนอนอยู่ลำพังในคอกของฉัน และฉันคิดว่า...อาจพูดได้ว่าฉันเข้าใจธรรมชาติของชีวิตบนโลกใบนี้ดีเท่าๆ กับที่รู้จักบรรดาสัตว์ที่อาศัยอยู่บนโลกนั่นแหละ และในวันนี้ นี่คือสิ่งที่ฉันอยากจะบอกแก่พวกเจ้า

“ถึงเวลาแล้วสหาย...ที่เราจะต้องตระหนักว่าธรรมชาติที่แท้จริงแห่งชีวิตของพวกเรานี้คืออะไร พวกเราต้องหันมาเผชิญหน้ากับมันชีวิตของพวกเรายากแค้นแสนเข็ญและแสนสั้น พวกเราได้เกิดมา พวกเราได้รับอาหารในปริมาณที่เพียงพอแค่รักษาลมหายใจไว้กับร่างกาย และพวกเราตัวไหนที่พอจะสามารถใช้แรงงานจากอาหารเหล่านั้น จะถูกบังคับใช้งานจนอณูสุดท้ายของแรงกำลังในร่างกาย และในทันที...ทันทีที่ประโยชน์ของพวกเราหมดสิ้นลง พวกเราก็จะถูกเชือดอย่างโหดเหี้ยมอำมหิต ไม่มีสัตว์ตัวใดในประเทศอังกฤษจะได้รับรู้ถึงความหมายของคำว่าความสุข หรือการพักผ่อนในบั้นปลายของชีวิตหลังจากล่วงสู่วัยชรา ไม่มีสัตว์ตัวใดในอังกฤษได้มีอิสระเสรี ชีวิตของสัตว์คือความทุกข์ยากและการถูกกดขี่ นี่คือความจริงแท้แน่นอน

“หากแต่นี่คือส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติเช่นนั้นหรือ เป็นเพราะดินแดนแห่งนี้ของพวกเราอัตคัดขัดสน ไม่อาจจุนเจือชีวิตแก่ผู้ที่อยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินให้ได้รับความรุ่งเรืองเช่นนั้นหรือ ไม่เลย สหายเอ๋ย ร้อยไม่ใช่ พันไม่ใช่! ผืนแผ่นดินอังกฤษนั้นอุดมด้วยแร่ธาตุ ภูมิอากาศดี สามารถผลิตอาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ พอที่จะเลี้ยงสัตว์ได้มากมายมหาศาลกว่าจำนวนสัตว์ที่อาศัยอยู่ในขณะนี้ เสียอีก ฟาร์มของพวกเราแห่งนี้แห่งเดียวสามารถเลี้ยงม้าได้เกินกว่าสิบตัว เลี้ยงวัวได้ถึงยี่สิบตัว เลี้ยงแกะได้อีกนับร้อย โดยที่ทุกตัวจะอยู่ได้อย่างสบายและมีศักดิ์ศรี ทว่าขณะนี้สิ่งเหล่านั้นอยู่ไกลเกินกว่า
จินตนาการของพวกเรา แล้วทำไมพวกเราจึงต้องทนอยู่ในสภาพอันน่าสังเวชเช่นนี้ต่อไปเล่า ก็เพราะผลผลิตจากแรงงานของพวกเราเกือบทั้งหมดถูกปล้นไปโดยมนุษย์ไงล่ะ สหายเอ๋ย มีคำตอบสำหรับปัญหาทั้งมวลของพวกเรา มันรวมอยู่ในถ้อยคำเพียงคำเดียว นั่นคือ มนุษย์ มนุษย์คือศัตรูที่แท้จริงเพียงสิ่งเดียวที่พวกเรามี เพียงกำจัดมนุษย์ออกไปจากฉากชีวิตของพวกเรา มูลเหตุของความหิวโหยและการทำงานหนักเกินกำลังก็จะมลายหายสิ้นไปตลอดกาล

“มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวที่บริโภคอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่เป็นผู้ผลิต เขาไม่ให้นม ไม่ออกไข่ เขาอ่อนแอเกินกว่าจะดึงคันไถ เขาไม่สามารถวิ่งได้เร็วพอที่จะจับกระต่าย แต่เขาก็ยังได้เป็นนายเหนือสัตว์ทั้งปวง เขากำหนดให้สัตว์ทั้งหลายทำงานแล้วตอบแทนด้วยส่วนปันอาหารอันน้อยนิดเพียงแค่พอประทังไม่ให้พวกเราอดตาย แล้วส่วนที่เหลือทั้งหมดมนุษย์ก็เก็บไว้ให้ตัวเขาเอง แรงงานของพวกเราไถพรวนลงไปในดิน มูลของพวกเราเป็นปุ๋ยให้ความอุดมสมบูรณ์ ทว่ายังไม่มีตัวใดในพวกเราที่จะได้เป็นเจ้าของสิ่งใดมากไปกว่าผิวหนังอันเปลือยเปล่าของเราเอง เจ้าแม่วัวทั้งหลายที่ฉันเห็นอยู่ตรงหน้านี้ น้ำนมมากมายกี่พันแกลลอนที่พวกเจ้าผลิตได้ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา แล้วเกิดอะไรขึ้นกับน้ำนมเหล่านั้น

น้ำนมซึ่งควรจะได้ใช้เลี้ยงลูกๆ ของพวกเจ้าให้แข็งแรงเพื่อการสืบสายพันธุ์ที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป ทุกหยาดหยดต้องหายไปในลำคอของศัตรูของพวกเรา แม่ไก่ทั้งหลาย พวกเจ้าต้องวางไข่กี่ฟองแล้วในปีนี้ และมีไข่สักกี่ฟองที่ได้ฟักเป็นลูกๆ ของพวกเจ้า ส่วนที่เหลือทั้งหมดถูกส่งไปที่ตลาดเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินกลับมาให้โจนส์และคนงานของเขา แล้วเจ้าเล่า โคลเวอร์ ลูกสี่ตัวที่เจ้าต้องอุ้มท้องและคลอดออกมานั้นอยู่ที่ไหน ลูกที่ควรจะได้ดูแลและสร้างความชื่นใจแก่เจ้าในวัยชรานั้นอยู่ที่ไหน แต่ละตัวถูกขายเมื่ออายุหนึ่งปี นั่นหมายความว่าเจ้าจะไม่มีวันได้เห็นพวกเขาอีกเลย และเพื่อตอบแทนการคลอดลูกทั้งสี่ครั้งกับแรงงานทั้งหมดของเจ้าในท้องไร่ เจ้าได้รับอะไรกลับมาบ้าง นอกจากส่วนปันอาหารอันน้อยนิดกับคอกเล็กๆ คอกหนึ่ง”

“และแม้ว่าจะถูกนำพามาให้มีชีวิตอันทุกข์เข็ญเช่นนี้แล้ว พวกเราก็ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ดำเนินชีวิตไปจนถึงอายุขัยตามธรรมชาติ ฉันมิได้โอดครวญเพื่อตัวฉันเอง เพราะฉันเป็นผู้หนึ่งที่นับว่าโชคดี ฉันอายุสิบสอง มีลูกมาแล้วมากกว่าสี่ร้อยตัว อันเป็นไปตามวิถีธรรมชาติของชีวิตหมู ทว่าไม่มีสัตว์ตัวไหนเลยที่จะหนีพ้นคมมีดอันโหดร้ายได้ในท้ายที่สุด เจ้าหมูขุนทั้งหลายที่นั่งอยู่ตรงหน้าฉันนี้ เจ้าทุกตัวจะต้องกรีดร้องขอชีวิตบนเขียงภายในอีกไม่ถึงปี ความน่าสะพรึงนี้จะต้องมาถึงพวกเราทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นแม่วัว หมู แม่ไก่ แกะ พวกเราทุกตัวแม้แต่ม้าและสุนัขก็มิได้มีชะตากรรมที่ดีไปกว่านี้ เจ้าบ็อกเซอร์ ในวันที่กล้ามเนื้ออันแข็งแกร่งเป็นเลิศของเจ้าสูญเสียพละกำลัง โจนส์จะขายเจ้าให้คนรับซื้อสัตว์ที่หมดประโยชน์ เขาจะเชือดคอเจ้าแล้วต้มเนื้อเจ้าให้หมาล่าเนื้อกิน สำหรับพวกสุนัข เมื่อพวกเขาแก่ชรา ฟันร่วงจนหมดปาก โจนส์จะเอาก้อนอิฐมามัดรอบคอพวกเขา แล้วจับถ่วงน้ำลงในบ่อที่อยู่ใกล้ที่สุด

“นี่ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดสำหรับพวกเจ้าอีกหรือสหาย ว่าความชั่วร้ายทั้งหมดทั้งมวลในชีวิตของพวกเราเป็นผลมาจากการกดขี่ของมนุษย์ เพียงแค่กำจัดมนุษย์เสีย ผลผลิตจากแรงงานของพวกเราก็จะเป็นของพวกเราเอง เพียงชั่วข้ามคืนพวกเราจะมั่งคั่งและเป็นอิสระ แล้วพวกเราต้องทำอย่างไร ทำไมเล่า...ไม่ยากเลย พวกเราก็ต้องอุทิศตนทำงานทั้งกลางวันกลางคืน ทุ่มเทร่างกายและจิตวิญญาณเพื่อการโค่นล้มอำนาจเผ่าพันธุ์มนุษย์! มีถ้อยคำหนึ่งที่ฉันอยากจะบอกแก่พวกเจ้า...สหาย...นั่นคือ การปฏิวัติ! ฉันไม่รู้หรอก
ว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นเมื่อไร อาจภายในหนึ่งสัปดาห์นี้ หรือในอีกร้อยปีข้างหน้า แต่ว่าฉันรู้เหมือนอย่างที่ฉันรู้จักฟ่อนฟางใต้เท้าฉันดี ไม่ช้าไม่นานหรอก ความยุติธรรมจะต้องบังเกิด จับตามองไว้เถิดสหาย ตลอดชั่วเวลาอันแสนสั้นที่เหลืออยู่ในชีวิตของพวกเจ้า! และเหนือกว่าสิ่งใด จงถ่ายทอดถ้อยคำของฉันไปสู่ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไปของพวกเจ้า เพื่อให้สัตว์รุ่นหลังได้ต่อสู้ต่อไปจนกว่าจะประสบซึ่งชัยชนะ

“และจงจำไว้สหาย อุดมการณ์ของพวกเจ้าจะต้องไม่แกว่ง ต้องไม่มีความโต้แย้งอันจะนำไปสู่การหลงทาง อย่าได้ฟัง หากพวกเขาจะมาบอกพวกเจ้าว่า มนุษย์กับสัตว์นั้นมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยที่ความมั่งคั่งรุ่งเรืองของฝ่ายหนึ่งคือความมั่งคั่งรุ่งเรืองของอีกฝ่ายหนึ่ง นั่นเป็นคำโกหกทั้งสิ้น มนุษย์ไม่เคยสร้างผลประโยชน์ให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นใดนอกจากตัวเขาเอง และในหมู่สัตว์อย่างพวกเราจะต้องสร้างสามัคคีให้เป็นหนึ่งเดียว และกลมเกลียวกันในสัมพันธภาพอย่างที่สุดในการต่อสู้ จงจำไว้ว่า มนุษย์ทุกคนคือศัตรู สัตว์ทุกผู้คือสหาย”

แล้วในนาทีนี้เองความโกลาหลอลหม่านก็บังเกิด ด้วยว่าขณะที่เมเจอร์กำลังกล่าวปราศรัยอยู่นั้น หนูตัวโตสี่ตัวได้ย่องออกจากรูมานั่งฟังเขาอย่างเรียบร้อย แต่ในทันทีที่พวกสุนัขมองเห็นก็กระโจนเข้าใส่ เจ้าหนูมีเพียงโอกาสเดียวคือพุ่งตัวอย่างรวดเร็วกลับเข้าไปในรูของตนเพื่อรักษาชีวิต เมเจอร์ยกขาหน้าขึ้นโบกเพื่อให้ทุกตัวอยู่ในความสงบ

“สหายเอ๋ย” เขากล่าว “เวลานี้คงมาถึงจุดที่ต้องมีการตัดสินชี้ชัดในประเด็นหนึ่ง นั่นคือ สัตว์ป่าทั้งหลาย เช่น หนูและกระต่าย พวกเขาเป็นมิตรหรือว่าเป็นศัตรูของพวกเรา เราต้องนำประเด็นนี้มาลงคะแนนเสียง ฉันขอเสนอคำถามนี้ต่อที่ประชุม: หนูคือสหายของพวกเราหรือไม่”

การลงคะแนนออกเสียงเกิดขึ้นในทันที และได้มติตามเสียงส่วนใหญ่ว่าหนูถือเป็นสหาย มีเพียงสี่เสียงที่เห็นต่าง นั่นคือ สุนัขสามเสียงและแมวหนึ่งเสียง สำหรับแมวนั้นมาพบภายหลังว่าได้ออกเสียงให้ทั้งสองข้าง จากนั้นเมเจอร์ก็กล่าวต่อไป:

“ฉันมีสิ่งที่อยากพูดอีกเล็กน้อย ฉันเพียงแค่อยากย้ำเตือนอีกครั้งว่าจงจดจำไว้เสมอถึงภาระหน้าที่ของพวกเจ้าในการเป็นศัตรูต่อมนุษย์และวิถีทางของเขา สิ่งใดก็ตามที่ดำเนินด้วยสองขาคือศัตรู สิ่งใดก็ตามดำเนินด้วยสี่ขาหรือด้วยปีกคือมิตร และจดจำไว้ด้วยว่า ในการต่อสู้กับมนุษย์ พวกเราจะต้องไม่เหมือนหรือคล้ายคลึงพวกเขา แม้แต่เมื่อพวกเจ้าได้ชัยชนะเหนือพวกเขา ก็จงอย่าได้นำเอาความชั่วร้ายเฉกเช่นพวกเขามาใช้ ต้องไม่มีสัตว์ตัวใดอาศัยอยู่ในบ้าน หรือนอนบนเตียง หรือสวมเสื้อผ้า หรือดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ หรือสัมผัสเงินตรา หรือมีส่วนร่วมในการค้า พฤติกรรมของมนุษย์ทุกอย่างล้วนเป็นความชั่วร้าย และเหนือกว่าอื่นใด สัตว์ต้องไม่ปกครองอย่างเผด็จการเหนือสัตว์ด้วยกันเอง ไม่ว่าจะอ่อนแอหรือแข็งแกร่ง ฉลาดหรือซื่อเซ่อ พวกเราทุกตัวล้วนพี่น้อง ต้องไม่มีสัตว์ตัวใดฆ่าสัตว์ตัวอื่น
สัตว์ทุกตัวล้วนเสมอภาคกัน

“และถึงตอนนี้สหาย ฉันจะเล่าถึงความฝันของฉันเมื่อคืนก่อนให้พวกเจ้าฟัง ฉันไม่สามารถบรรยายรายละเอียดของความฝันได้หรอก แต่มันเป็นความฝันถึงความเป็นไปของโลกที่ควรจะเป็นเมื่อมนุษย์อันตรธานหายไป และมันเตือนให้ฉันนึกถึงบางสิ่งที่ฉันได้หลงลืมมายาวนาน หลายปีมาแล้วเมื่อฉันยังเป็นหมูน้อย แม่ของฉันกับแม่หมูตัวอื่นๆ เคยร้องเพลงเก่าแก่เพลงหนึ่ง ซึ่งพวกแม่ๆ รู้จักเพียงทำนองและเนื้อร้องสามคำแรกเท่านั้น ฉันเคยร้องทำนองได้ในสมัยวัยเด็ก และมันเลือนรางจากความทรงจำของฉันไปนานแล้ว ทว่าเมื่อคืนนี้มันกลับคืนมาในความฝันของฉัน และยิ่งไปกว่านั้น ถ้อยคำของเนื้อร้องก็ได้กลับคืนมาด้วย ฉันแน่ใจทีเดียว ถ้อยคำที่ร้องโดยบรรดาสรรพสัตว์เมื่อนานมาแล้ว และเลือนหายจากความทรงจำของพวกเรารุ่นแล้วรุ่นเล่า ฉันจะร้องเพลงนั้นให้พวกเจ้าฟังเดี๋ยวนี้ สหายเอ๋ย ฉันแก่และเสียงก็แหบแห้ง แต่เมื่อฉันได้สอนให้พวกเจ้ารู้จักท่วงทำนองแล้ว พวกเจ้าจะร้องเองได้ดีกว่าที่ฉันร้อง เพลงนี้ชื่อว่า ‘สรรพสัตว์แห่งอังกฤษ’ ”

เฒ่าเมเจอร์กระแอมให้ลำคอโล่ง แล้วเริ่มต้นบทเพลง ขณะที่เขาเปล่งถ้อยคำออกมานั้น น้ำเสียงเขาแหบพร่า ทว่าเขาร้องได้ดี มันเป็นท่วงทำนองของเพลงปลุกใจ มีส่วนคล้ายคลึงระหว่างเพลง[1] ‘เคลเมนไทน์’ กับเพลง[2] ‘ลา คูคูราช่า’ เนื้อเพลงร้องว่า:

สัตว์แห่งอังกฤษ สัตว์แห่งไอร์แลนด์

สัตว์แห่งทุกแดนดินและถิ่นฐาน

จงสดับสาส์นแห่งปีติของข้า

เรื่องว่าด้วยอนาคตแห่งยุคทอง

ไม่ว่าช้าหรือเร็วก็จะถึงวันที่

มนุษย์ผู้กดขี่จะถูกโค่นล้ม

ท้องทุ่งอันอุดมพืชผลแห่งอังกฤษ

จะตรึงติดเพียงรอยเท้าสรรพสัตว์

ห่วงคล้องจูงจะหายไปจากจมูก

แอกจะถูกปลดพ้นจากหลัง

เหล็กปากม้าสเปอร์จะขึ้นสนิมชั่วกาล

แส้อันพร่าผลาญมิอาจฟาดเรา

ความมั่งคั่งจะมากเกินกว่าจินตภาพ

ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต และข้าวบาร์เลย์

ฟาง ถั่ว ใบโคลเวอร์ หัวผักกาดหวาน

จะเป็นของเราวันนั้นอย่างสมบูรณ์

เปล่งประกายสดใสทั่วท้องทุ่ง

น้ำบริสุทธิ์กว่าครั้งไหน

สายลมหอมหวานพลิ้วผ่านพัดไกว

ในวันแห่งอิสรภาพผองเรา

ณ วันนั้นเราจะพลีแรงพลัง

มิยอมหยุดยั้งแม้ชีพสลาย

ห่าน ไก่งวง วัว ม้า และทุกร่างกาย

มิเหนื่อยหน่ายถวายเพื่อเสรี

สัตว์แห่งอังกฤษ สัตว์แห่งไอร์แลนด์

สัตว์แห่งทุกแดนดินและถิ่นฐาน

จงสดับแลป่าวประกาศสาส์น

เรื่องว่าด้วยอนาคตแห่งยุคทอง

การได้ร้องเพลงนี้ทำให้สัตว์ทั้งหลายเกิดความรู้สึกฮึกเหิมอย่างที่สุด พวกเขาเริ่มเปล่งเสียงร้องด้วยตนเองก่อนที่เมเจอร์จะร้องจบเที่ยวแรกด้วยซ้ำ แม้แต่ตัวที่โง่ที่สุดก็สามารถจับท่วงทำนองและเนื้อร้องบางคำได้ และสำหรับพวกที่ฉลาดปราดเปรื่องอย่างพวกหมูและสุนัขนั้น พวกเขาร้องได้อย่างขึ้นใจภายในไม่กี่นาที และแล้วหลังจากความพยายามในเบื้องต้นไม่เท่าไร ฟาร์มทั้งฟาร์มก็กระหึ่มไปด้วยเสียงเพลง ‘สรรพสัตว์แห่งอังกฤษ’ อย่างพร้อมเพรียงประสานเป็นเสียงเดียวกัน วัวร้องเสียงต่ำ สุนัขหอนเสียงสูง แกะร้องอย่างแกะ ม้าร้องอย่างปลื้มเปรม เป็ดร้องเสียงระงม พวกเขาปีติยินดีกับเพลงที่ร้อง จึงร้องซ้ำต่อเนื่องกันถึห้าเที่ยว และอาจร้องไปเรื่อยๆ ทั้งคืน หากไม่ถูกขัดจังหวะเสียก่อน

น่าเสียดายที่เสียงดังกระหึ่มนั้นไปปลุกมิสเตอร์โจนส์ให้กระโดดผลุงออกจากเตียงนอน ด้วยความรู้สึกแน่ใจว่ามีสุนัขจิ้งจอกเข้ามาที่ลานบ้าน เขาจึงคว้าปืนซึ่งมักจะวางอยู่ตรงมุมห้องนอนยิงรัวออกไปในความมืดหกนัดซ้อน แต่ละนัดเข้าไปฝังตัวอยู่ในผนังโรงนา และการชุมนุมก็ได้สิ้นสุดลงอย่างรีบเร่ง ทุกตัวหนีกระเจิงไปยังที่นอนของตน ฝูงนกโผขึ้นไปบนคอนของพวกเขา สัตว์อื่นๆ ต่างหาที่หมอบนอนบนกองฟาง แล้วฟาร์มทั้งฟาร์มก็หลับใหลลงในฉับพลัน

[1]เพลง เคลเมนไทน์ (Clementine) เป็นเพลงเด็กเก่าแก่ของอังกฤษ ชื่อเต็มๆ ว่า ‘โอ มายดาลิง เคลเมนไทน์’ (Oh My Darling Clementine)

[2]เพลง ลา คูคูราช่า (La Cucuracha) เป็นเพลงพื้นบ้านกล่อมเด็กของเม็กซิกัน

รายละเอียด

"Animal Farm" เป็นนวนิยายเสียดสีการเมือง ที่แม้จะมีแนวความคิดรวบยอดค่อนข้างหนัก แต่ดำเนินเรื่องได้อย่างสนุกสนาน คล้ายกับเป็นวรรณกรรมเยาวชน ด้วยการอุปมาตัวละครส่วนหนึ่งเป็นสัตว์ต่างๆ ที่ยึดอำนาจจากมนุษย์ และดำรงชีวิตด้วยตนเอง ด้วยมีสัญญาประชาคมร่วมกันว่า สิ่งใดก็ตามที่ดำเนินด้วยสองขาคือ "ศัตรู" สิ่งใดก็ตามดำเนินด้วยสี่ขาหรือด้วยปีกคือ "มิตร" ในการต่อสู้กับมนุษย์ พวกเขาจะต้องไม่เหมือน หรือคล้ายคลึงกับพวกมนุษย์ แม้แต่เมื่อได้ชัยชนะ ก็จงอย่าได้นำเอาความชั่วร้ายเฉกเช่นมนุษย์มาใช้ ต้องไม่มีสัตว์ตัวใดอาศัยอยู่ในบ้าน หรือนอนบนเตียง หรือสวมเสื้อผ้า หรือดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ หรือสัมผัสเงินตรา หรือมีส่วนร่วมในการค้า พฤติกรรมของมนุษย์ทุกอย่างล้วนเป็นความชั่วร้าย และเหนือกว่าอื่นใด "สัตว์ต้องไม่ปกครองอย่างเผด็จการเหนือสัตว์ด้วยกันเอง" ไม่ว่าจะอ่อนแอหรือแข็งแกร่ง ฉลาดหรือซื่อเซ่อ พวกเราทุกตัวล้วนพี่น้อง ต้องไม่มีสัตว์ตัวใดฆ่าสัตว์ตัวอื่น สัตว์ทุกตัวล้วนเสมอภาคกัน!
ด้วยวิธีการดำเนินเรื่องที่สนุก และด้วยเนื้อหาที่ตีแผ่ถึงเนื้อแท้ของมนุษย์โดยไม่มีพิษภัย หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่มีคุณค่าอีกเล่มหนึ่ง ที่สามารถจรรโลงใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อ่านทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเยาวชน ให้ฉุกคิดแล้วหันมามองตนเองและสิ่งรอบตัวได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้พบหนทางของการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกในสังคมสืบไป

 

ประวัตินักเขียน

จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) เป็นนามปากกาของ เอริก อาร์เธอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair) เขาเกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1903 ที่ประเทศอินเดีย และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1950

นอกจากจะเป็นนักเขียนนวนิยายที่มีผู้ชื่นชอบมากที่สุดคนหนึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นนักเขียนความเรียง สารคดี เป็นกวี และนักหนังสือพิมพ์แล้ว จอร์จ ออร์เวลล์ ยังเป็นนักวิจารณ์การเมืองและสังคมคนสำคัญอีกด้วย ผลงานร้อยแก้วของเขาโดดเด่นด้วยลักษณะเฉพาะตัวที่สื่อความหมายอย่างชัดเจน ชี้ชัดถึงความ อยุติธรรมในสังคม ต่อต้านแนวคิดรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ และมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตย ออร์เวลล์เป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมในยุคสมัยของเขาที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง

จอร์จ ออร์เวลล์ จบการศึกษาจากโรงเรียนอีตัน เข้ารับราชการตำรวจในปี ค.ศ. 1922 โดยไปประจำการในประเทศพม่าเมื่อครั้งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เขาอยู่ที่พม่าเป็นเวลา 5 ปี ก่อนจะเดินทางมาที่อังกฤษในปี ค.ศ. 1927 และเข้าร่วมกองทัพสาธารณรัฐไปรบในสงครามกลางเมืองสเปน ซึ่งเขาถูกยิง แต่ก็รอดชีวิตมาได้ในที่สุด และกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เขาตัดสินใจนำประสบการณ์ทั้งหมดมาถ่ายทอดเป็นงานเขียน แม้บางช่วงเวลาจะต้องประสบกับความทุกข์ยาก เพราะจำเป็นต้องทำไปพร้อมๆ กับทำงานอื่นๆ เช่น เสิร์ฟอาหารในโรงแรมหรู และรับจ้างเก็บลูกฮ็อพ ต่อมาเขาก็สามารถขยับฐานะขึ้นมาเป็นนักเขียนบทวิจารณ์และครูสอนหนังสือ จากนั้นมาออร์เวลล์ได้งานเขียนบทวิจารณ์วรรณกรรมให้กับนิตยสาร New English Weekly ในช่วงเวลานี้เขาได้รวบรวมข้อมูล เพื่อเขียนหนังสือที่กล่าวถึงชีวิตอันหดหู่ในนิคมอุตสาหกรรมทางภาคเหนือของอังกฤษในชื่อ ‘The Road to Wigan Pier’ นอกจากนี้เขายังแสดงความกล้าหาญอย่างมาก เมื่อเขียนถึงประสบการณ์การต่อสู้ของชาวสเปนอย่างตรงไปตรงมาในหนังสือ ‘Homage to Catalonia’ อันเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่บ่งบอกถึงแนวความคิดต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งแนวคิดนี้ได้ปรากฏให้เห็นในนวนิยายเรื่องต่อๆ มาของเขา โดยเฉพาะสองเรื่องที่เขาเขียนในช่วงปี 1940 อันเป็นที่กล่าวขวัญอย่างมาก คือเรื่อง Animal Farm ซึ่งเป็นนวนิยายล้อเลียนการเมืองระบอบคอมมิวนิสต์ และ ‘หนึ่ง เก้า แปด สี่’ (Nineteen Eighty-four) นวนิยายเสียดสีการปกครองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งผลงานชิ้นนี้สร้างชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อสาธารณชนไปทั่วโลกในประเด็นวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นอย่างมาก

 

คำนำสำนักพิมพ์

แอนิมอล ฟาร์ม ‘การเมืองเรื่องสรรพสัตว์’  เป็นนวนิยายเสียดสีการเมือง ที่แม้จะมีแนวความคิดรวบยอดค่อนข้างหนัก แต่ดำเนินเรื่องได้อย่างสนุกสนาน คล้ายกับเป็นวรรณกรรมเยาวชน ด้วยการอุปมาตัวละครส่วนหนึ่งเป็นสัตว์ต่างๆ ที่ยึดอำนาจจากมนุษย์ และดำรงชีวิตด้วยตนเอง Animal Farm   ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) แต่ยังคงสอดคล้องกับบริบทของทุกยุคทุกสมัย ด้วยเนื้อหาซึ่งจับประเด็นความละโมบและเหลิงอำนาจของผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นผู้นำหรือผู้ปกครองได้อย่างชัดเจน

การนำเสนอนวนิยายเรื่องนี้ของจอร์จ ออร์เวลล์ ถือเป็นความแยบยลในการวิพากษ์การเมืองในประเทศที่มีการปฏิวัติล้มล้างระบอบการปกครองดั้งเดิม ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และผู้ถืออำนาจนำพาประเทศเข้าสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ ที่แสวงหาความเสมอภาคและภราดรภาพ ทว่าในความเสมอภาคที่อ้างถึงนั้นหาใช่ความเสมอภาค ที่แท้จริงไม่ ผู้นำกลับรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ใช้กฎเหล็กในการปกครอง และกระทำการอย่างป่าเถื่อนต่อผู้ที่มีความเห็นตรงกันข้าม ประชาชนผู้เคยยินดีกับการได้รับการปลดปล่อย และฝันถึงความเสมอภาคกลับต้องลำบากยากแค้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม ภายใต้สัญลักษณ์ของการปลดแอก

สำหรับตัวละครในเรื่อง Animal Farm แม้จะถูกอุปมาเป็นสัตว์ต่างๆ แต่ผู้ประพันธ์ได้สร้างให้มีบุคลิกภาพและความรู้สึกนึกคิดแบบมนุษย์ที่เห็นได้ในทุกยุคสมัย ตัวละครบางตัวแปรเปลี่ยนตัวตนไปได้ตามกระแส บางตัวมีพัฒนาการที่ซับซ้อนแยบยลขึ้น ในขณะที่ตัวละครที่ดำรงไว้ซึ่งอุดมการณ์ความถูกต้องอย่างเหนียวแน่นต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และมีเพียงส่วนน้อยมากๆ (ในเรื่องมีตัวเดียวเท่านั้น) ที่เข้าใจในความเป็นไปของโลกอย่างแท้จริง ดูเหมือน ออร์เวลล์อยากจะชี้ให้เห็นว่า การแสวงหาความเสมอภาคหรือการหลีกหนีจากระบอบการปกครองแบบหนึ่งแบบใด ที่พยายามสร้างให้เกิดความซับซ้อนเกินกว่าที่ธรรมชาติได้วางระบบไว้ ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงของสังคมอันสงบสุข และการปกครองระบอบใดก็ตามที่นำพาไปสู่การครอบงำทางความคิดด้วยหลักการอันสวยหรู ซึ่งสุดท้ายลงเอยด้วยผลประโยชน์ของผู้นำหรือผู้ครองอำนาจนั้น เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันเขาพยายามแสดงให้เห็นว่าความซื่อสัตย์ จริงใจ ความสำนึกในคุณธรรมและจริยธรรมของผู้นำการปกครองในทุกระบอบ ตลอดจนผู้ที่อยู่ในสังคมเองต่างหากที่จะนำพาไปสู่การแก้ไขปัญหาและการอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข เสมอภาค และยั่งยืน

นับตั้งแต่ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ หนังสือ Animal Farm ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหลายยุคหลายสมัย ในนานาประเทศ อีกทั้งยังกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในหลายยุคหลายสมัย และในหลายประเทศเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดในยุคปัจจุบันซึ่งผู้คนทั่วโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้กว้างขวางอย่างอิสระ อันก่อให้เกิดทัศนคติที่กว้างไกลนี้ Animal Farm จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือนวนิยายภาษาอังกฤษที่ดีที่สุด 100 เล่มที่ควรอ่าน

คำนำผู้แปล

วรรณกรรมอมตะ Animal Farm  เป็นหนึ่งในนวนิยายที่สร้างความประทับใจแก่ผู้แปลมิรู้ลืม และหยิบมาอ่านได้ไม่รู้เบื่อ ด้วยกลวิธีการดำเนินเรื่องอันสนุกสนานที่ผู้ประพันธ์ใช้ตีแผ่ความเลวร้ายที่ซ่อนอยู่ในจิตใจ ตัวละคร ซึ่งอุปมาสัตว์ต่างๆ ขึ้นมาแทนตัวมนุษย์แต่ละประเภท อีกทั้งแก่นเนื้อหายังกระทบใจนับแต่อ่านครั้งแรก ผู้แปลจึงรู้สึกยินดีและขอบคุณอย่างยิ่งที่ทางสำนักพิมพ์แอร์โรว์คลาสสิกบุ๊คส์ไว้วางใจให้แปลวรรณกรรมอันทรงคุณค่าเรื่องนี้

แอนิมอล ฟาร์ม ‘การเมืองเรื่องสรรพสัตว์’ ประพันธ์โดย จอร์จ ออร์เวลล์ เมื่อประมาณ 70 ปีมาแล้ว ทว่าแนวคิดหลักของเรื่องไม่เคยล้าสมัย ยังคงเป็นวรรณกรรมที่อ่านได้สนุก และให้แง่คิดที่เข้ากับทุกยุคสมัย แม้ผู้ประพันธ์จะนำเสนอในเชิงเสียดสีการเมือง แต่ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในแก่นแท้แห่งจิตใจมนุษย์ที่ปรากฏชัดตลอดทั้งเรื่อง ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นมากกว่านั้น ‘แอนิมอล ฟาร์ม’ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศทางสังคม การเมือง และความทุกข์ยากลำเค็ญของประชาชนในยุคเปลี่ยนถ่ายการปกครอง ไปสู่ระบอบใหม่เอี่ยมที่อบอวลด้วยกลิ่นอายของการใฝ่หาความเสมอภาคแล้ว ยังเป็นหลักฐานยืนยันให้เห็นว่า แม้วันเวลาจะผันผ่านมานานเพียงใด ธาตุแท้ของ มนุษย์ ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องกิเลส ตัณหา ความโลภ และการได้เปรียบของชนชั้นผู้นำ อันเป็นมูลเหตุให้มนุษย์ไขว่คว้าความเป็นใหญ่ ทำได้ทุกสิ่งแม้แต่เหยียบย่ำ เข่นฆ่ามนุษย์ด้วยกันเองอย่างไร้มนุษยธรรม ความร่ำรวย อำนาจ และความยิ่งใหญ่เหนือผู้ใด ยังคงเป็นสิ่งที่มนุษย์ส่วนมากปรารถนาจะครอบครอง การแก่งแย่งชิงดี กลั่นแกล้ง ใส่ร้ายป้ายสีจึงมิเคยหมดไปจากจิตใจของมนุษย์ผู้ไม่สำนึกในคุณธรรม ขณะเดียวกันมนุษย์ทุกผู้ทุกนามต่างแสวงหาความเสมอภาค ทว่าไม่เคยสำเหนียกในความเสมอภาคอย่างแท้จริง จนบางครั้งต้องหลงไปกับการหลอกลวงและการครอบงำโดยความเท็จ ท้ายที่สุดสิ่งที่มนุษย์ได้รับจึงมีเพียงความเสมอภาคที่ไม่เท่าเทียม ดังบัญญัติสุดท้ายของสาธารณรัฐสัตว์ ที่กล่าวไว้ว่า ‘สัตว์ทุกตัวล้วนเสมอภาคกัน แต่สัตว์บางตัวเสมอภาคกว่าตัวอื่นๆ’

อย่างไรก็ดี ทัศนะส่วนลึกของผู้ประพันธ์ไม่เคยละทิ้งความศรัทธาในความถูกต้องและดีงามที่ดำรงคงอยู่คู่โลกใบนี้ Animal Farm จึงเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ให้กำลังใจแก่ผู้แปลเสมอ เมื่อใดก็ตามที่มีความรู้สึกว่า สัจธรรมแห่งมวลมนุษย์รอบตัวเรานี้ผิดเพี้ยนไปแล้วจริงๆ หรือ เมื่อนั้นผู้แปลจะหวนนึกถึง Animal Farm และทัศนคติอันแน่วแน่มั่นคงของผู้ประพันธ์ ทำให้ผู้แปลมีพลังใจแกร่งกล้าและเชื่อมั่นว่า แม้โลกจะปรวนแปรท่ามกลางกระแสอธรรมแห่งมวลมนุษย์ หากสัจธรรมจะมิมีวันเปลี่ยนแปลง ดังเช่นที่ จอร์จ ออร์เวลล์ ผู้ประพันธ์ ไม่ลังเลที่จะสะท้อนให้เห็นในทุกบททุกตอนของเรื่อง และส่งถ้อยคำเข้าไปสะกิดผู้อ่านของเขาให้ตระหนักถึงความนึกคิดที่มนุษย์มักซ่อนเร้นไว้ในส่วนลึกของจิตใจ จึงไม่เป็นที่กังขาเลยว่าเพราะเหตุใด แอนิมอล ฟาร์ม‘การเมืองเรื่องสรรพสัตว์’ หรือ Animal Farm จึงได้รับการยกย่องจากผู้อ่านทั่วโลกให้เป็นหนึ่งในอมตะนิยายอันทรงคุณค่าของโลกวรรณกรรม

สรวงอัปสร กสิกรานันท์


รีวิว (0)


สินค้าที่ใกล้เคียง (96 รายการ)

www.batorastore.com © 2024