Customer Reviews

แอนิมอล ฟาร์ม สงครามกบฎของสรรพสัตว์
5
สุดยอดนวนิยายการเมืองแห่งศตวรรษที่ 20
โดย: ทิววาริน วันที่เขียนรีวิว: 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นวนิยายคลาสสิคที่มักจะได้รับการกล่าวขานในแวดวงวรรณกรรมและการศึกษาการเมืองอยู่เสมอ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) เป็นนักเขียนที่สามารถใช้จินตนาการอธิบายสภาวะทางสังคมได้อย่างเฉียบคมและแนบเนียน หากใครเคยอ่านนิยายแนว Dystopia ที่สร้างชื่อให้นักเขียนอังกฤษคนนี้อย่าง 1984 คงพอจะจินตภาพออกว่าออร์เวลล์สามารถสร้างภาพจำลองโลกในอนาคตได้อย่างสร้างสรรค์และน่าหดหู่ในขณะเดียวกัน แถมยังเป็นการกระทบกระทั่งระบอบการปกครองในหลายประเทศได้อย่างมีชั้นเชิงผ่านออกแบบบทสนทนาและโครงเรื่องได้อย่างแยบยล The Animal Farm เล่มนี้ก็มีลักษณะไม่ต่างกันนัก แต่ไม่ได้ส่อแววหดหู่เหมือนอย่างโลกใน 1984 หนังสือเล่มนี้พาเรากระโจนเข้าไปสำรวจฟาร์มแห่งหนึ่งที่บรรดาสัตว์ต่างมีความคิดความอ่านเหมือนดังมนุษย์ มีการบริหารจัดการอำนาจ มีการวางฐานกำลังเพื่อยึดอำนาจและครองตนเป็นเผด็จการอย่างหมูฉลาดแกมโกง ‘นโปเลียน’ ออร์เวลล์ได้ออกแบบสนทนาระหว่างบรรดาสัตว์ต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง เพราะเมื่อนั่งอ่านระหว่างบรรทัดดีๆ จะเห็นว่าออร์เวลล์ได้ใช้คำพูดของบรรดาเผด็จการมายอกย้อนและล้อเลียนในนวนิยายเรื่องนี้หลายจุด นอกจากนั้นหากยิ่งมีพื้นความรู้ทางการเมืองและประวัติศาสตร์ด้วยแล้วก็จะยิ่งทำให้สามารถนวนิยายเรื่องนี้ได้อย่างเพลิดเพลินมากยิ่งขึ้นครับ เนื่องจากออร์เวลล์ทำการบ้านได้ค่อนข้างดี ระหว่างการอ่านเราอาจจะเห็นพฤติกรรมบางประการของตัวละครที่ทำให้เราอ่านไปยิ้มไปเมื่อนึกถึงบุคคลที่มีตัวตนและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์แล้วออร์เวลล์หยิบยกมายั่วล้อได้อย่างน่าขัน

โดยภาพรวม นี่คือนวนิยายของออร์เวลล์ที่ผมอ่านสนุกและเพลิดเพลินมากที่สุดครับ เพราะเมื่อเทียบกับ 1984 แล้ว The Animal Farm มีดีกรีความหนักอึ้งของเนื้อหาน้อยกว่าเล่มนั้นหลายเท่า แต่สาระและสารที่ออร์เวลล์ต้องการจะสื่อในนวนิยายเล่มนี้ไม่ได้น้อยตามขนาดเล่มเลยนะครับ เป็นหนังสือที่เด็กอ่านได้อย่างไม่น่าเชื่อครับ ผมทราบว่าเคยมีการนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เด็กด้วยทั้งๆ ที่นวนิยายเล่มนี้เป็นวรรณกรรมการเมืองสำหรับผู้ใหญ่ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งแห่งยุคเลยทีเดียวครับ สารที่เด็กที่ได้รับอาจจะไม่เท่าผู้ใหญ่ แต่การพิสูจน์ได้ประการหนึ่งว่านี่คือนวนิยายที่เด็กอ่านได้ผู้ใหญ่อ่านดีครับ ไม่ได้มีความหนักอึ้งทางปรัชญาแต่อย่างใด แต่หากว่าผู้อ่านมีพื้นทางรัฐศาสตร์หรือประวัติศาสตร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะทำให้อ่านนวนิยายเรื่องนี้ได้ ‘มันส์’ ยิ่งขึ้นครับ
สัญญาประชาคม  (245.-)
5
สัญญาประชาคม
โดย: ทิววาริน วันที่เขียนรีวิว: 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หนึ่งในตำราคลาสสิคตลอดกาลของนักศึกษาด้านการเมือง ชื่อของฌอง-ฌาค รุสโซเป็นชื่อที่แม้แต่ผู้ที่มิได้ร่ำเรียนมาทางด้านสังคมศาสตร์ก็น่าจะเคยได้ยิน โดยเฉพาะทฤษฎีสัญญาประชาคมอันเลื่องชื่อของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคนนี้นั้นถึงกับเปลี่ยนโฉมหน้าของการเมืองโลกเลยทีเดียว เพราะเขาได้ให้คำอธิบายใหม่แก่การรวมตัวกันเป็นสังคมของมนุษย์จนก่อกำเนิดมาเป็นนครรัฐแล้วพัฒนามาเป็นรัฐชาติในปัจจุบัน

โดยรุซโซได้ทำตัวประหนึ่งคนแคระบนบ่ายักษ์ประมวลความรู้จากนักปรัชญารุ่นก่อนหน้าเขาทั้งหลาย ตั้งแต่อริสโตเติ้ลที่มอบความคิด ‘มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง’ มาเป็นคบเพลิงทางปัญญาส่งต่อมายังจอห์น ล็อคและธอมัส ฮอบส์ที่เขียนหนังสือเรื่อง ‘Leviathan’ อันเป็นทฤษฎีการก่อกำเนิดรัฐที่สร้างอิทธิพลแก่รุซโซเป็นอย่างมาก งานชิ้นนี้ของรุสโซเป็นงานเขียนกึ่งบทความวิชาการที่ไม่มีวันตกยุคตกสมัยเลยทีเดียวครับ เพราะมันเป็นตำราพื้นฐานทางรัฐศาสตร์ที่นักศึกษาทางการเมืองและสังคมศาสตร์ทั่วโลกต้องอ่านไม่ว่าจะเรียนราม, จุฬาฯ ธรรมศาสตร์หรือเรียนอ็อกซ์ฟอร์ด, แคมบริดจ์ ล้วนแล้วแต่ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ทั้งสิ้นครับ ผู้นำของโลกหลายคนที่เรียนจบมาทางรัฐศาสตร์และกฎหมายก็ต้องเคยผ่านตาหนังสือเล่มนี้มาแล้ว บางคนยกให้เป็นหนังสือในดวงใจเลยด้วยซ้ำ สัญญาประชาคมเล่มนี้ยังเป็นรากฐานของหลักกฎหมายมหาชนและหลักสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันอีกด้วยครับ เนื่องจากรุสโซได้อธิบายไว้ในหนังสือว่าแต่เดิมทีคนเรานั้นแยกกันอยู่ในป่าเขา แต่เมื่อเราต้องผจญภยันตรายในชีวิตทุกคนหรืออยู่ในสภาวะอนาธิปไตย (anarchy) ที่ไม่มีกฎหมายมาบังคับหรือควบคุมพฤติกรรมป่าเถื่อนหรือสันดานดิบของคนเรา เราจึงต้องมารวมตัวกันเพื่อสร้างสัญญาประชาคมร่วมกัน เลือกคนขึ้นเป็นผู้นำชุมชนที่จะขยายออกเป็นสังคมในเวลาต่อมา สัญญาประชาคมที่เราทำคือการสร้างอำนาจอธิปไตยและมอบมันให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะตั้งรัฐบาลและผู้แทนมาออกกฎหมายเพื่อนำพาเราออกจากสภาวะอนาธิปไตยอันป่าเถื่อนที่ใครจะทำอะไรก็ได้โดยไม่มีใครห้ามนั้น

เป็นหนังสือที่อ่านสนุกและได้ความรู้ครับ ไม่มีพื้นฐานรัฐศาสตร์ก็อ่านได้ครับ สำนวนแปลของคุณวิภาดา กิตติโกวิทอ่านง่ายแถมยังมีเชิงอรรถผู้แปลใส่มาไว้ท้ายเล่มให้อ่านเพิ่มเติมเป็นความรู้เสริม เยี่ยมยอดจริงๆ ครับ
PRE MODERN
5
Pre Modern
โดย: ทิววาริน วันที่เขียนรีวิว: 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย(อนาคต)ศาสตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นอาจารย์ของผู้รีวิวนั่นเอง ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มโปรดที่ผู้รีวิวอ่านมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มัธยมปลายและทำให้ติดใจจนต้องสอบเข้ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ มาเรียนกับผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ถึงในห้องเรียน

Pre Modern เป็นหนังสือรวมบทความที่เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร Way ยุคบุกเบิกซึ่งในครานั้นบทความส่วนใหญ่ที่อาจารย์ไชยันต์เขียนจะเกี่ยวข้องกับบรรดานักคิด-นักปรัชญาทางการเมืองโบราณตั้งแต่รุ่นอาจารย์ของโสเครตีสเป็นต้นมา เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้ว หลายคนอาจจะรีบมองข้ามหนังสือเล่มนี้ไปทันที แต่ช้าก่อน หากมโนทัศน์ในสมองท่านปรากฏภาพของตัวหนังสือที่เบียดขนัดกันอยู่บนหน้ากระดาษอย่างชวนอึดอัดและเนื้อหาที่อ่านทวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ไม่เข้าใจ ผู้รีวิวขอบอกให้ท่านตั้งสติให้ดีแล้วค่อยๆ ลบความคิดนั้นออกไป เพราะว่า Pre Modern เป็นหนังสือที่ตรงข้ามกับตำราเรียนอย่างสิ้นเชิง อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นหนังสือที่ทำให้ผู้อ่านหัวเราะได้ด้วยซ้ำ! ต้องขอบคุณสำนวนการเขียนอันยียวนของอาจารย์ไชยันต์ที่ทำให้เรื่องยากๆ อย่างแนวคิด Nomos , Physis ที่เป็นรากฐานของวาทกรรม (discourse) กลายเป็นเรื่องที่น่าหัวร่ององายไปได้เมื่อเปรียบเทียบมันกับท่า Missionary เป็นต้น หรือการกล่าวถึงจมูกของโสเครตีสที่บ่งบอกว่าเขาเป็นคนผิวสี หรือแม้กระทั่งการยั่วล้อเพื่อนอาจารย์ในคณะของตนเองด้วยการใช้เป็นตัวละครในการทำมาหากินกับค่าต้นฉบับ ท่านใดอยากรู้ว่าเป็นอาจารย์ท่านใดต้องหามาอ่านดูครับ

โดยภาพรวม Pre Modern เป็นหนังสือรวมบทความที่จะว่าวิชาการก็ไม่ใช่ เบาสมองก็ไม่เชิง แต่สิ่งที่แน่นอนคือหนังสือเล่มนี้อ่านสนุกมากและมีสาระแน่นอนครับ และที่สำคัญคือมันเป็นหนังสือปรัชญาที่หาได้น้อยมากๆ ในวงการหนังสือไทย และยิ่งน้อยลงไปอีกหากเป็นหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับนักปรัชญาการเมืองในยุคกรีกโบราณ ผู้รีวิวอ่านหนังสือเล่มนี้หลายรอบด้วยความเพลิดเพลินมากครับ

พรสวรรค์ของอาจารย์ไชยันต์คือการเขียนให้ผู้อ่านคิดตามไปกับคำถามที่อาจารย์สอดแทรกไว้ในเนื้อหา จนถึงทุกวันนี้ เมื่อได้กลับไปอ่านอีกครั้ง ผู้รีวิวก็ต้องมานั่งคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับคำถามที่อาจารย์ถาม หนังสือเล่มนี้แม้ว่าจะตีพิมพ์มาหลายปีแล้ว แต่เนื้อหาข้างในนั้นร่วมสมัยมากอย่าบอกใครเลยทีเดียวครับ เพราะฉะนั้นอย่าเสียดายเงินที่จะใช้ซื้อหนังสือที่อ่านแล้วเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิตของเราเลยครับ บางท่านอาจชอบอ่านเรื่องแต่งหรือนิยายมากกว่า ลองเปิดใจกันมาอ่านหนังสือแนว ‘ปรัชญาขำๆ’ เล่มนี้ดูก็ไม่เสียหายครับ เป็นการเปิดโลกทัศน์ของเราอีกหนทางหนึ่ง
CLIFFORD GEERTZ (ข้อพิพากษ์ทฤษฎีการเมืองฯ)
4
CLIFFORD GEERTZ
โดย: ทิววาริน วันที่เขียนรีวิว: 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งของอาจารย์ไชยันต์ ไชยพร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ครับ โดยเล่มนี้จะมีความเป็นงานวิชาการสักนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่ถึงกับอ่านยากเกินไปครับ อาจารย์ไชยันต์เขียนเชิงแนะนำความคิดและทฤษฎีของคลิฟฟอร์ด เกียทซ์ นักมานุษยวิทยาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกคนหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ เกียทซ์เป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อวงการสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยามากโดยเฉพาะงานศึกษาเรื่องวัฒนธรรมศึกษาของเขานั้นถูกอ้างถึงในวงการวิชาการมากมาย

ซึ่งภายในเล่ม อาจารย์ไชยันต์ได้ทดลองนำความคิดและทฤษฎีของเกียทซ์มาจับเข้ากับปรัชญาการเมือง, ธรรมชาติของมนุษย์ และทฤษฎีการเมืองที่เป็นทางสองแพร่งระหว่างสมัยใหม่ (modernism) และหลังสมัยใหม่ (post-modernism) แต่ประเด็นที่ผู้รีวิวชอบมากที่สุดคือแนวคิดทางวัฒนธรรมศึกษาของเกียทซ์ซึ่งเขามองว่าสภาวะการเมืองในปัจจุบันนั้นต้องการความหลากหลายทางวัฒนธรรม (multiculturalism) มากกว่าความเป็นเอกภาพ เราต้องการความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา เชื้อชาติ และศาสนามากกว่าการรวมตัวกันเป็นรัฐแล้วกลืนกินให้ทุกคนมีอัตลักษณ์เดียวกัน โลกสมัยใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้ว พรมแดนมีค่าน้อยลงพร้อมๆ กับอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติที่เสื่อมลงพร้อมๆ กับการเติบโตของทุนนิยมข้ามชาติในยุคโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจกลายเป็นปัจจัยนำการเมือง อย่างไรก็ตามความขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างทางอัตลักษณ์จอมปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมา (identity-based differentiation) นั้นก็ยังดำรงอยู่ต่อไปแม้ว่าเราจะบูรณาการความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจมากแค่ไหน เพราะรากฐานทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างผ่านกลไกของรัฐนั้นทำให้เราคิดและมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ แตกต่างกัน สิ่งนี้คือสิ่งที่จะต้องดำรงอยู่ต่อไป เราไม่สามารถบูรณาการใครเข้ามาด้วยการร้องเพลงอาเซียนหรือทำกิจกรรมร่วมกันได้ ดั่งที่เกียทซ์กล่าวไว้ว่า ‘วัฒนธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด’ (Culture without consensus)
ความคิดทางการเมืองของฌาคส์ ร็องซีแยร์
4
ความคิดทางการเมืองของ Jacque Ranciere
โดย: ทิววาริน วันที่เขียนรีวิว: 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ศาสตราจารย์ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬารแห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่ทำให้แนวความคิดสกุลหลังโครงสร้างนิยม (post-structuralism) บูมมากในแวดวงวิชาการผ่านงานแปลและงานเขียนทางวิชาการเกี่ยวกับนักคิดนักเขียนในสำนักนี้หลายท่านในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ‘ความคิดทางการเมืองของฌาค ร็องซิแยร์’

เล่มนี้ก็เป็นหนึ่งในความพยายามดังกล่าวในการ ‘แนะนำ’ สกุลความคิดหลังโครงสร้างนิยมให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะแนวคิดการเมืองของสุนทรียศาสตร์ (politics of aesthetics) หรือการแบ่งแยกความรับรู้ของคนในสังคมซึ่งสามารถอธิบายสภาวการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะประเด็น ‘การนับเข้ามาเพื่อที่จะถูกกีดกันออกไป’ ซึ่งสะท้อนสภาวะความอิหลักอิเหลื่อของประชาธิปไตยไทยได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ลองนึกภาพคนชายขอบหรือคนยากจนที่อยู่ห่างไกลจริงๆ ในประเทศไทยแต่ถูกกระบวนการของรัฐเกณฑ์เข้ามาเป็นพลเมืองไทยเพื่อใช้งาน เช่น ทหารเกณฑ์ เป็นต้น แต่ท้ายที่สุด พวกเขาก็จะถูกรัฐกีดกันออกไปไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ถูกลดเสียงลงไปจนไม่สามารถต่อรองผลประโยชน์ของตนเองได้ตามที่ควรจะเป็นในระบบการเมืองซึ่งนำไปสู่ความผูกใจเจ็บและขยายกลายเป็นความขัดแย้งทางชนชั้นที่มีสาเหตุจากความเหลื่อมล้ำในสังคม

งานชิ้นนี้ของอาจารย์ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬารมีลักษณะของการแนะนำแนวความคิดและงานเขียนของร็องซิแยร์มากกว่าการวิเคราะห์หรือนำไปปรับใช้จับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง กล่าวคือผู้อ่านสามารถนั่งอ่านได้สบายๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีแนวคิดที่ส่อนัยยะทางการเมืองฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกมาให้เห็น กล่าวโดยสรุป หนังสือเล่มนี้เหมือนกับการนั่งฟังอาจารย์เล็คเชอร์ในตึก SC ที่ธรรมศาสตร์ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะได้รับโอกาสอันมีค่านั้น ผู้เขียนรีวิวซึ่งศึกษาในสาขาเดียวกันกับอาจารย์แต่อยู่ต่างมหาวิทยาลัยก็อาศัยการอ่านหนังสือเล่มนี้แทนซึ่งก็ได้รับประโยชน์จากมันมากทีเดียว โดยเฉพาะคนที่ศึกษามาทางสายสังคมศาสตร์ หนังสือเล่มนี้สำคัญมากถึงขั้นห้ามพลาดเลยครับ เพราะสกุลความคิดหลังโครงสร้างนิยมกำลังได้รับความนิยมในแวดวงวิชาการไทย แถม ‘ความคิดทางการเมืองของร็องซิแยร์’ เล่มนี้ก็ไม่หนาและใช้ภาษาที่อ่านยากมากนักเมื่อเทียบกับหนังสือของอาจารย์ไชยรัตน์เล่มอื่นๆ สำหรับท่านใดที่ม่ได้มีพื้นฐานทางปรัชญาหรือรัฐศาสตร์ หากสนใจก็สามารถอ่านได้เข้าใจครับ เพราะว่าความคิดของร็องซิแยร์มิได้เป็นนามธรรมมากนักเมื่อเทียบกับนักคิดคนอื่นๆ ในสายเดียวกัน แต่หากสามารถหาหนังสือเล่มอื่นของอาจารย์ไชยรัตน์อย่าง ‘แนะนำสกุลความคิดหลังโครงสร้างนิยม’ มาอ่านปูพื้นก่อนน่าจะทำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างเพลิดเพลินและเข้าใจมากยิ่งขึ้นครับ โดยเฉพาะส่วนที่อาจารย์กล่าวอ้างอิงถึงนักคิดคนอื่นๆ ในสำนักเดียวกันที่ส่งอิทธิพลถึงกันมา หากไม่เคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามหรือรู้จักผลงานของพวกเขามาก่อนก็อาจจะพาลเบื่อหรืองงงวยเป็นธรรมดาครับ
3
โนเวเชนโต้ (Novecento 1900)
โดย: ทิววาริน วันที่เขียนรีวิว: 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

อีกหนึ่งผลงานของอเล็กซานโดร บาริกโก ที่หากว่าได้ลิ้มลองสัมผัสแล้วจะติดอยู่ในดวงใจไปอีกนานทีเดียวครับ

ผมมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง ‘โนเวเชนโต้’ (Novecento ในภาษาอิตาเลียนแปลว่า เก้าร้อย) ที่ใช้ชื่อเรื่อง ‘1900’ เมื่อหลายปีก่อน เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ในดวงใจเลยทีเดียว โดยเฉพาะฉากดวลเปียโนในช่วงท้ายที่ทำเอาลืมหายใจ เมื่อได้มาอ่านฉบับนวนิยายก็รู้สึกเหมือนกับเวลาชมภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องอื่นๆ ที่มีรายละเอียดสู้ในนิยายมิได้

ตัวเอกของนวนิยายเรื่องนี้ยังคงความแปลกตามสไตล์ของบาริกโกอีกเช่นเคย เขาเป็นเด็กกำพร้าที่ถูกทิ้งให้เติบโตในเรือสำราญโดยที่ไม่เคยย่างเท้าขึ้นฝั่งเลยสักครั้งเดียวในชีวิต พรสวรรค์ทางดนตรีเป็นสิ่งเดียวที่มอบความสุขและเปิดโลกทัศน์แก่เขา ชื่อของเขาถูกตั้งตาม ‘แดนนี่’ คนงานบนเรือที่เป็นคนพบร่างของเขาอยู่ในกล่องที่ถูกทิ้งไว้ และใส่เลข ‘1900’ ซึ่งเป็นปีที่เขาเกิดไว้ห้อยท้ายชื่อเพื่อแยกออกระหว่างเขากับพ่อเลี้ยง นานวันเข้ามันก็เหลือเพียงแค่ ‘1900’ ตามที่ผู้คนบนเรือเรียก ‘1900’ เติบโตและเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตบนแผ่นดินจากปากคำแขกที่แวะเวียนสับเปลี่ยนมายังเรือสำราญ และก็เป็นแขกเหล่านี้อีกเช่นกันที่นำความสามารถในการเล่นเปียโนอันปราดเปรื่องของ ‘1900’ ไปเล่าต่อกันปากต่อปากบนแผ่นดินใหญ่ กระทั่งชื่อเสียงของ 1900 ไปแตะหู เจลลี่ โรล มอร์ตัน นักดนตรีแจ๊สชื่อดังจากเมืองนิวออร์ลีนส์เข้าจึงเกิดอยากที่จะท้าชิงแข่งเปียโนกับ 1900 เพื่อประลองมือว่าใครแน่กว่ากันอันนำไปสู่จุดไคลแมกซ์ในตอนท้ายเรื่องรวมทั้งการตัดสินใจครั้งสำคัญของ 1900 ซึ่งถ้าอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นต่อไป ขอแนะนำให้หามาอ่านครับ ไม่ผิดหวังแน่นอน

สำนวนภาษาของบาริกโกในเล่มนี้จะค่อนข้างกระชับและดำเนินเนื้อเรื่องค่อนข้างไว ความยาวของนวนิยายเล่มนี้ค่อนข้างสั้นอาจเทียบได้ว่าเท่ากับเรื่องสั้นขนาดยาวเรื่องหนึ่ง อ่านเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็จบแล้วครับ ขอแนะนำว่าหลังจากอ่านเวอร์ชั่นนวนิยายจบแล้วให้ลองหาเวอร์ชั่นภาพยนตร์มาชมดูครับน่าจะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฉากการดวลเปียโนที่เวอร์ชั่นหนังทำออกมาได้ดีมาก ทั้งๆ ที่ในนวนิยายมีการกล่าวถึงไม่มากนักและไม่สามารถพรรณนาได้แบบเห็นภาพได้ แต่อย่างไรก็ตามเวอร์ชั่นหนังสือก็ได้เปรียบในส่วนของรายละเอียดและสำนวนภาษาที่ไพเราะครับ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ลองทัศนาทั้งสองเวอร์ชั่นครับ
5
โดย: ทิววาริน วันที่เขียนรีวิว: 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คุณเคยอ่านนวนิยายที่เริ่มต้นอย่างเรียบเฉย ออกจะน่าเบื่อเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่ออ่านจนถึงย่อหน้าสุดท้าย มันกลับทำให้คุณร้องไห้และจะเก็บเรื่องราวของตัวละครเหล่านั้นไว้ในดวงใจตลอดกาล

‘ไหม’ คือนิยายที่มีศักยภาพในการทำให้คุณรู้สึกเช่นนั้นครับ

นวนิยายเลื่องชื่อเล่มนี้เป็นผลงานของนักเขียนอิตาเลียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งอย่างอเล็กซานโดร บาริกโก เจ้าของผลงานที่ได้รับการแปลโดยสำนักพิมพ์ผีเสื้ออย่าง ‘ไร้เลือด’ และ ‘โนเวเชนโต้’ ซึ่งผลงานเขียนเล่มนี้ บาริกโก้ได้รับแรงบันดาลใจจากญาติผู้ใหญ่ของเพื่อนเขาคนหนึ่งที่ต้องทำงานด้วยการเดินทางไกลไปยังดินแดนที่ไม่มีใครรู้จักในสมัยนั้นปีละหนึ่งหน ซึ่งก็สอดคล้องกับชีวิตของแอร์เว ฌองกู (Herve Joncour) ตัวเอกของเรื่องที่มีอาชีพเป็นพ่อค้าไหมชาวฝรั่งเศสที่ตัดสินใจทิ้งภริยาและบ้านที่สุดแสนสบายไว้ข้างหลังเพื่อเดินทางไปแสวงโชคที่ญี่ปุ่นกระทั่งได้พบกับสตรีนางหนึ่งที่เขาจะไม่มีวันลืม

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ในช่วงแรกของนวนิยายเล่มนี้จะดำเนินเนื้อเรื่องไปอย่างเอื่อยเฉื่อยเหมือนกระแสน้ำซึ่งจะเชี่ยวกรากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใกล้ถึงจุดไคลแมกซ์ของเรื่องอันเป็นขนบของนวนิยายในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม สำนวนภาษาและทักษะการพรรณนาของบาริกโกก็ทำให้เราเคลิบเคลิ้มไปกับความงดงามของประเทศฝรั่งเศสและญี่ปุ่นในสมัยปิดประเทศช่วงปี 1860 ได้ชนิดที่ทำให้เราอาจลืมเนื้อเรื่องหลักแล้วลุ่มหลงอยู่ในมนต์ขลังของภาษาที่ละเมียดละไมแทน โดยเฉพาะฉบับภาษาไทยที่ได้นักแปลมืออาชีพและนักเขียนรางวัลซีไรต์อย่างงามพรรณ เวชชาชีวะช่วยถ่ายทอดลีลาการเขียนอันพลิ้วไหวของบาริกโกก็ยิ่งทำให้ผู้รีวิวโปรดปรานหนังสือเล็กๆ เล่มนี้มากขึ้นไปอีก

แม้ว่าตัวนิยายจะดำเนินไปตามท้องเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างฝรั่งเศสและญี่ปุ่น แต่บาริกโกก็สามารถบรรยายฉากต่างๆ ได้เสมือนจริงอย่างน่าอัศจรรย์ รวมถึงศึกษาจารีตประเพณีของญี่ปุ่นได้อย่างละเอียดโดยเฉพาะฉากอองเซนอันเลื่องชื่อของเขาในช่วงท้าย ความร้ายกาจประการหนึ่งของบาริกโกคือการเขียนและพรรณนาความลุ่มหลงที่ฌองกูมีต่อสตรีชาวญี่ปุ่นได้อย่างงดงามจนทำให้ผู้อ่านเผลอเชียร์ให้ทั้งคู่ได้รักกันแม้ว่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าเขาแต่งงานและมีครอบครัวอยู่ที่ฝรั่งเศสแล้วก็ตาม บาริกโกหลอกล่อให้เราตายใจและคิดว่าท้ายที่สุดเรื่องราวก็คงจบลงอย่างมีความสุขจนกระทั่งปมทุกอย่างถูกเฉลยอย่างเปลือยเปล่าต่อหน้าผู้อ่านในตอนท้าย และทำให้เราเสียน้ำตาไปกับฌองกูและโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นโดยที่ผู้อ่านอย่างเรามิได้เฉลียวใจเลยแม้แต่น้อย

นี่คือสุดยอดวรรณกรรมสมัยใหม่เรื่องหนึ่งของอิตาลีครับ เล่มเล็กมากๆ อ่านไม่กี่ชั่วโมงก็จบ แต่ความประทับใจจะอยู่ต่อไปอีกนานครับ
4
ต่างต้องการความหมายของพื้นที่
โดย: ทิววาริน วันที่เขียนรีวิว: 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ชื่อของศิวกานต์ ปทุมสูตินั้นแทบไม่ต้องเปลืองถ้อยคำในการแนะนำ กวีที่ได้ชื่อว่าเป็นชั้นครูผู้นี้ค่ำหวอดในวงการวรรณกรรมไทยมากว่า 30 ปีแล้ว แม้ว่าพักหลังศิวกานต์จะรับงานวิทยากรจัดค่ายวรรณกรรมและโรงเรียนกวีขึ้นในสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี แต่ฝีไม้ลายมือในทางกวีนิพนธ์ของเขาก็ยังคงมีความแพรวพราวและคมจัดเหมือนเดิม

คราวนี้ศิวกานต์กลับมาพร้อมบทกวีเล่มใหม่ 'เราต่างล้วนต้องการความหมายของพื้นที่' ซึ่งเป็นงานที่มีลักษณะพิเศษกว่างานชิ้นอื่นๆ ของเขา กล่าวคือรวมบทกวีชิ้นนี้เป็นบทกวีสองภาษาที่ได้รับการแปลภาคภาษาอังกฤษโดยมานพ ประธรรมสาร ที่ยังคงสำนวนเดิมเอาไว้อย่างครบถ้วนและมีความไพเราะไม่ต่างไปจากต้นฉบับภาษาไทย งานรวมบทกวีชิ้นนี้ประกอบด้วยบทกวีมากถึง 62 บท ซึ่งทุกบทได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ผู้อ่านจึงตะได้ซึมซับความงามของบทกวีทั้งสองภาษาซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่ค่อยได้รับจากการอ่านวรรณกรรมไทยมากนัก

'ต่างต้องการความหมายของพื้นที่' หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า 'Living in Differences' นั้นประกอบด้วยบทกวีที่มีรสชาติหลากหลาย แต่ละบทต่างก็มีเอกภาพเป็นของตนเอง บทกวีส่วนใหญ่ในเล่มเป็นบทกวีฉันทลักษณ์ที่มีความไพเราะในตัวเองอยู่แล้วเมื่ออ่านออกเสียงดังๆ แต่การเลือกใช้ถ้อยคำบางคำอย่างจงใจก็ทำให้บทกวีบางบทมีความทรงพลังขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อดังบทกวีที่ผู้เขียนรีวิวชอบมากเป็นพิเศษทั้งๆ ที่มิได้มีความอลังการในการใช้ภาษามากกว่าบทอื่นๆ แต่มีนัยเสียดสีที่ถูกใจอย่างบทกวีที่มีชื่อว่า 'โลกของหุ่น' ที่ขึ้นต้นอย่างน่ารัก แต่จบลงอย่างน่าคิด

โรงเรียนของเรานี้น่าอยู่
ประตูของเราทำด้วยเหล็ก
คุณครูของเราจะคอยเช็ค
เด็กเด็กทุกเช้าหน้าเสาธง

ระเบียบวินัยเราหนักแน่น
คะแนนผมเผ้าเราสูงส่ง
นักเรียนเชื่อฟังครูเป็นมั่นคง
สั่งให้ตรงก็ตรงตามก็ตาม

ก่อนที่ศิวกานต์จะปิดท้ายด้วย

เสียงจ้อกแจ้กแตกแถวขึ้นอาคาร
หุ่นยนต์น้อยได้วิญญาณคืนสู่ร่าง
ขณะหุ่นไล่กาแขนขากาง
เดินตามมาห่างห่าง หักคะแนน!

บทกวีที่ใช้ภาษาเรียบง่าย สื่อสารตรงๆ แบบไม่ต้องตีความบทนี้ฉายภาพให้เห็นกิจวัตรที่ทุกโรงเรียนในประเทศไทยมี คือการรักษากฎระเบียบอย่างเคร่งครัด การสร้างแต่เปลือกนอกที่แข็ง แต่ภายในแหลกเหลว สิ่งนี้ทำให้นักเรียนหลายคนอัดอั้นแล้วเก็บไปปลดปล่อยในรั้วมหาลัยจนเสียคน

บทกวีภายในเล่มของศิวกานต์ส่วนใหญ่จะใช้สำนวนภาษาที่งดงาม เห็นภาพอันเป็นสิ่งที่สั่งสม ขัดเกลาฝีมือมาอย่างยาวนานกว่าสามสิบปี สำหรับผู้อ่านที่ชอบอ่านบทกวี บทกวีเล่มนี้เป็นอีกเล่มหนึ่งที่คุ้มค่ามาก เพราะได้อ่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในส่วนของภาษาอังกฤษ ผู้แปลก็ใช้ถ้อยคำที่งดงามและสื่อความหมายชัดเจน เป็นการเรียนรู้ศัพท์ภาษาอังกฤษระดับสูงอีกทางหนึ่งที่สนุกครับ

แนะนำให้หามาอ่านดูครับ
ประวัติศาสตร์ท่องเที่ยวไปตามทาง
4
ประวัติศาสตร์ท่องเที่ยวไปตามทาง (แล้วเราก็รอวัน)
โดย: ทิววาริน วันที่เขียนรีวิว: 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นามอภิชาติ จันทร์แดง มิใช่นามที่แปลกหูสำหรับผู้ที่คุ้นชินกับการอ่านเรื่องสั้นและบทกวีเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บทกวี 'เงา' ของเขาได้รับรางวัลชนะเลิศจากงานประกวดใหญ่อย่างแพนแว่นฟ้า อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ผู้นี้ยังเดินหน้าวางหลักไมล์ทางวรรณกรรมต่อไปอย่างน่าสนใจ

บันทึกของบรรณาธิการเล่มสามารถฉายภาพรวมของบทกวีที่เป็นดั่ง 'ประวัติศาสตร์การเขียนความคิดผ่านกวีนิพนธ์' ที่ใช้กลวิธีแบบโพสต์โมเดิร์นรื้อสร้างแนวคิดทฤษฎีและทวงถามมายาคติของประวัติศาสตร์ทางการเมืองและสังคมอย่างมีชั้นเชิง การตั้งชื่อบทกวีแต่ละบทภายในเล่ม อภิชาตก็ใช้รูปแบบการเปลือกนอกหรือรูปแบบที่ปกปิดความจริงไว้ในการตั้งชื่อเรื่อง แต่ต่อท้ายด้วยชื่อเรื่องที่แท้จริงภายในวงเล็บ เช่น ล่า (หมาป่าในดินแดนของตนเอง) , ณ ท่ามกลาง (ระหว่างทางไปสมรภูมิ) เป็นต้น

บทกวีภายในเล่มก็มีการแบ่งเป็นหลายภาพตามรูปแบบการรวมเล่มบทกวีทั่วไป ภาคแรก 'บางสิ่งบางอย่างที่ไม่ถูกต้องนัก' เป็นการทวงถามถึงชุดความคิดที่เราได้รับมาตั้งแต่เด็กโดยไม่มองถึงความผิดปรกติหรือไม่ถูกต้องของมัน รวมถึงบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงของบางสิ่งบางอย่างที่ไม่สามารถมองแต่เปลือกนอก แต่ต้องมองทะลุเข้าไปถึงแก่นถึงเห็นภาพที่แท้จริง เช่น บทกวี 'ส่วนที่สาบสูญ'

แปลกนะ
ที่เราคิดว่าการเติบโต
จะเบ่งบานเหมือนดอกไม้
เอาเข้าจริงแล้วเหมือนกับดัก

หลอกล่อให้เราหลงระเริง
แล้วบอกให้เราฝันถึงผีเสื้อ

สอนให้รู้จักโหยหาแมลง
แต่แมลงที่มาเกลือกกลั้วกลับกัดกินเรา
ดูสิกลีบดอกแหว่งวิ่น ดอกไม้แหว่งวิ่นจะมีค่าอะไร

แต่แปลกนะมีคนมาเก็บ
แล้วพาออกไปจากป่าลึก

บทกวีดังกล่าวทวงถามถึงความปรารถนาของคนในสมัยใหม่ที่ล้วนต้องการเป็นคนเด่นคนดัง ยอมทำทุกวิถีทางที่จะให้มีความสนใจ แม้ท้ายที่สุดจะบอบช้ำ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย นี่คือบทกวีที่สะท้อนสภาพจริงของคนในสังคมที่ยอมสูญเสียตัวตนของเราเองเพื่อแลกกับการยอมรับของผู้อื่น
นอกจากนั้นในภาคสองที่ชื่อ 'มีคนพูดให้ฟังอยู่เสมอ' ก็มีการเน้นให้สาระที่หนักมากยิ่งขึ้น อภิชาติพูดถึงสงคราม สันติภาพ และประวัติศาสตร์แห่งความเกลียดชัง รวมถึงปัญหาในชายแดนภาคใต้ที่เขาเป็นคนในพื้นที่ บทกวีอย่าง 'พรมแดน' และ 'วัตถุโบราณ' ก็สามารถบอกเล่าผลกระทบจากประวัติศาสตร์แห่งความเกลียดชังและปัญหาพรมแดนที่เกิดจากการเขียน 'เส้นสมมติ' ลงไปบนแผนที่ได้โดยใช้ถ้อยคำเพียงไม่กี่คำ

ในภาพรวม 'ประวัติศาสตร์ท่องเที่ยวไปตามทาง' เป็นงานแนวโพสต์โมเดิร์นที่ทวงถามมายาคติทางประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงบทกวีภายในเล่มก็มีเอกภาพเป็นเนื้อเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นกลอนเปล่าหรือบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ แต่บทกวีแต่ละบทก็มีความงดงามของภาษาที่แตกต่างกันไป เป็นรวมบทกวีที่ชวนให้สัมผัสครับ
ตึกกรอสส์
5
ตึกกรอสส์ อ.อุดากร
โดย: ทิววาริน วันที่เขียนรีวิว: 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หากจะกล่าวถึงนักเขียนเรื่องสั้นไทยที่มีความโดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งในยุคก่อนปี 2500 แล้ว ชื่อหนึ่งที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาทุกครั้งมักจะหนีไม่พ้นอดีตนักศึกษาแพทย์ผู้อาภัพ เจ้าของนามปากกา ‘อ.อุดากร’ อันเลื่องชื่อ รวมเรื่องสั้นชุด ‘ตึกกรอสส์’ เล่มนี้เป็นงานรวมเรื่องสั้นที่เป็น ‘เรื่องเอก’ ของ อ.อุดากร ตั้งแต่เริ่มเขียนหนังสือจนถึงแก่กรรมเมื่อยังอยู่ในวัยหนุ่ม ผลงานในเล่มประกอบด้วย เรื่องสั้นที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดในยุคนั้นอย่าง ‘ตึกกรอสส์’ ที่นำมาตั้งชื่อรวมเรื่องสั้นชุดนี้, ‘สัญชาตญาณมืด’ ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนแก่วงการนักเขียนไทยถึงขั้นที่ต้องมีการเรียกประชุมชุมนุมนักเขียนกันหลายหนเพื่อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสั้นที่มีตอนจบอันชวนตะลึงเรื่องนี้ นอกจากนั้นยังมีเรื่องสั้นที่เป็นตำนานอย่าง ‘บนผืนแผ่นดินไทย’ ที่สะท้อนแนวคิดทางการเมืองของ อ.อุดากรออกมาได้อย่างแจ่มชัด รวมถึงบอกเล่าห้วงอารมณ์แห่งยุคสมัยที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 มาไม่นาน นอกจากนั้นท่อนจบ อ.อุดากร เขียนไว้ว่า ‘แผ่นดินไทยผืนนี้ฝากไว้ด้วย’ ก็เป็นความจงใจที่จะใช้ถ้อยคำของปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส มาเสริมสารที่เขาต้องการสื่อในเรื่องสั้นชิ้นนี้ นับว่า ‘บนผืนแผ่นดินไทย’ เป็นเรื่องสั้นการเมืองชิ้นแรกๆ ของประเทศไทยที่ถือกำเนิดขึ้นมาบรรณพิภพ ในขณะที่เรื่องสั้นที่มีความโดดเด่นอีกชิ้นหนึ่งและให้อารมณ์ที่ฉีกแนวออกไปจากเรื่องสั้นเรื่องอื่นๆ ในชุดอย่าง ‘สยุมพรเหนือหลุมฝังศพ’ ก็เป็นงานเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่ อ.อุดากร สามารถใช้ความสามารถทางภาษาพรรณนาความรักที่ไม่สมหวังของตัวละครได้อย่างบาดลึกและจับใจ แม้ว่าจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม แต่สำนวนภาษาที่สละสลวยราวกับกลั่นออกมาจากหัวใจที่ร่ำไห้ของผู้เขียนเองก็ทำให้ผู้อ่านอิ่มเอมใจและไม่สามารถอ่านเรื่องอื่นต่อได้อีกหลังจากย่อหน้าสุดท้ายของเรื่องนี้

งานรวมเรื่องสั้นในยุคก่อนปี 2500 นับว่าเป็นงานที่หาอ่านยากและไม่ค่อยเป็นที่สนใจของนักอ่านในปัจจุบันเท่าที่ควร แต่รวมเรื่องสั้น ‘ตึกกรอสส์’ ของ อ.อุดากร เล่มนี้นับว่าเป็นงานเขียนที่มีคุณค่าทางวรรณกรรมสูงมากและสมควรที่จะได้รับการจัดขึ้นหิ้งวรรณกรรมที่คนไทยทุกคนควรอ่าน โดยเฉพาะเยาวชนและผู้ที่สนใจอยากจะเป็นนักเขียน เนื่องเพราะกลวิธีการเขียนสไตล์ของ อ.อุดากร นั้นนับว่าหาได้ยากในแวดวงวรรณกรรมไทยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการพรรณนาที่ใช้ศัพท์เทคนิคและถ้อยคำที่ชวนให้เห็นภาพตามราวกับชมภาพยนตร์ รวมไปถึงกลวิธีในการหลอกล่อผู้อ่านให้คิดไปอีกทางหนึ่งก่อนที่จะหักมุมได้อย่างสะเทือนใจในตอนท้าย รวมเรื่องเอกของ อ.อุดากร เล่มนี้จึงเป็นหนังสือดีราคาถูกที่เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะนักอ่านชาวไทยที่จะพลาดรวมเรื่องสั้นในตำนานเล่มนี้ไปไม่ได้เลย เพราะเท่ากับว่าท่านได้พลาดโอกาสในการสัมผัสวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศไทยไปเลยทีเดียว

www.batorastore.com © 2024