Customer Reviews

Blood Incident ทีมผมไม่(วุ่น)วายนะครับ เล่ม 1 Zuntine Gam
3
อีกทางเลือกของสาวขาจิ้น
โดย: Percy วันที่เขียนรีวิว: 05 สิงหาคม พ.ศ. 2557

Blood Incident
ผมเลือกหยิบนิยายเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน เป็นเพราะว่าหน้าปกดูสวยสะดุดตาผมดีมากครับ เพราะช่วงนี้สำนักพิมพ์สถาพรมักทำปกออกมาได้น่าดึงดูดเสมอ นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพรานหนุ่มประสาทหูเพี้ยนนาม จินเรย์ ได้เข้ามาร่วมการแข่งขันซันไทน์เกม เพื่อชิงรางวัล ซึ่งก็คือเวทมนต์จาก องค์เทพราชา เขาต้องร่วมทีมกับ แกะป่า คาลี เด็กหนุ่มน่ารัก เคเลน และผู้ชายรูปหล่อ ชาร์ลัน
ข้อดีของเรื่องนี้ ผมเห็นว่าเรื่องการปูพื้นเรื่องที่ดูไม่ยัดเยียดออกมาทีเดียว ทำให้ผู้อ่านทำความเข้าใจได้ง่ายตามท้องเรื่อง ผิดกับนิยายแฟนตาซีหลายๆ เล่มที่ผมเคยอ่านมา ซึ่งมักจะปูเรื่องโดยการเล่าประวัติศาสตร์อาณาจักร เล่าภูมิประเทศออกมาในบทนำที่ยืดยาว ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาย้อนไปย้อนมาในการอ่านทำความเข้าใจ แค่อ่านไปตามท้องเรื่องก็เข้าใจโลกในหนังสือเล่มนี้ได้ไม่ยาก
แต่ว่าข้อเสียผมกลับพบว่ามันมีเยอะมาก อาจเป็นเพราะรสนิยมการอ่านผมที่ชอบคิดอะไรเยอะๆ ก็เป็นไปได้ อันดับแรกคือ การบรรยายที่มักจะใส่วงเล็บ หรือ(?) มากจนเกินไป ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้ครับ เพราะไม่ได้มีผลอะไรกับการอ่านเลย
ต่อมาก็คือการกระจายบท ที่ไม่ทั่วถึง เมื่ออ่านจนจบเล่มแรกจะรู้สึกได้เลยว่า บทเทไปทาง ชาร์ลันกับเคเลนมาก จนกระทั่งกลบ จินเรย์ กับคาลีจนเกือบมิด อาจเป็นเพราะ บทบู๊ ปูมหลัง ของสองคนนี้ออกมามากเกินหน้าเกินตาตัวเอก ทำให้รู้สึกว่าเป็นพระเอกของเล่มไปเลย ยังดีที่ช่วงหลัง มีการผูกปมให้ตัวละคร2ตัวนี้ขึ้นมาบ้าง บทบาทของเขาจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันในเล่มต่อไปครับ แต่สำหรับเล่มนี้ จินเรย์ที่เป็นตัวเอก กับคาลี ที่เหมือนจะรู้ทุกเรื่อง เหมือนเป็นตัวประกอบที่คอยดูอยู่ห่างๆ เสียมากกว่า
นอกจากนี้ บทบู๊ยังบรรยายไม่ถึงพริกถึงขิงเท่าที่ควร เพราะว่า ไม่ค่อยมีการเกริ่นวิชาที่ใช้ หรือท่าไม้ตายสักเท่าไหร่ รวมไปถึงคู่ต่อสู้ส่วนใหญ่นั้น เป็นตัวประกอบที่ไม่ทราบที่มา หรือพื้นเพฝีมือที่เขามี เมื่อผมอ่านผมทราบได้แค่ว่า ไม่เก่ง, ระดับกลาง ฯลฯ ทำให้ไม่มีตัวเปรียบเทียบในระดับฝีมือมากเท่าที่ควร ทำให้รู้สึกไม่ต้องเอาใจช่วยตัวละครมากก็ได้
ส่วนรายละเอียดของเรื่องที่ดูจะทำได้ไม่เข้าตาเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนคนในการแข่งขัน ที่เห็นบางทีมมีสองคนบ้าง เดี่ยวบ้าง ทำให้การแข่งดูไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ ถึงจะนับตัวรูนโซลก็เถอะครับ แถมเกริ่นขึ้นมาว่าจัดการแข่งนี้เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง ทั้งที่มันเป็นการแข่งขันที่จัดมาทุกๆ 4 ปี มันทำให้ดูขัดตาอย่างแปลกประหลาด ถ้าผู้เขียนเท้าความถึงการแข่งขันรอบที่ผ่านมาสักนิด ก็จะทำให้การแข่งขันน่าสนใจขึ้นไม่น้อย
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ เรื่องของการจิ้นวาย เพราะในเรื่องนี้รู้สึกจะเด่นไปทางแนวนี้มาก ผมขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้รังเกียจการจิ้นวายแต่อย่างใด แต่การอ่านจบทั้งเรื่องผมรู้สึกว่ามันออกไปทางเซอร์วิสแฟนนิยายมากเกินไปทำให้คนอ่านเข้าใจผิดว่าจินเรย์เป็นเกย์เสียด้วยซ้ำ เพราะเห็นชมผู้ชายหล่อ, น่ารัก ในใจเสียหลายรอบ(ข้อนี้ผมเข้าใจว่าผู้แต่งเป็นผู้หญิง แต่ความจริงมันไม่ใช่จริต หรือวิสัยของผู้ชายทั่วๆ ไปครับ) ความจริงผมมองว่าการจิ้นมันไม่จำเป็นต้องทำอะไรมาก แค่มีเหตุการณ์ร่วมกัน คำพูดเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถทำให้คนอ่านหลายคนจิ้นไปได้ไกลแล้วครับ
สรุปง่ายๆ คือ หนังสือเล่มนี้เหมาะกับสาวขาจิ้นครับ ถ้ามองหานิยายแฟนตาซี จิ้นวายมากๆ เนื้อเรื่องไม่หนักสมองเกินไป ผมแนะนำให้อ่านเล่มนี้เลยครับ มีสาวสวยแค่คนเดียวในเรื่องจริงๆ(ผู้หญิงคนเดียวทั้งเรื่องด้วยครับ)
ป.ล. หัก 0.5 คะแนน สำหรับการกระจายบท
ป.ล.2 หัก 1 คะแนน สำหรับรายละเอียดของเรื่อง(บทบู๊ การปูเรื่อง การจิ้น)
ป.ล.3 หัก 0.5 คะแนนสำหรับการบรรยายยที่มีส่วนเกินบางส่วนทำให้ดูติดขัดในการอ่าน
เคหาสน์ตุ๊กตา (ปองวุฒิ)
4
โดย: Percy วันที่เขียนรีวิว: 31 กรกฏาคม พ.ศ. 2557

เป็นหนังสือในสำนักพิมพ์พิมพ์คำเพียงไม่กี่เล่มที่ผมเห็นปกนิยายแล้วรู้สึกสะดุดตา จึงหยิบขึ้นมาลองอ่านดู อาจเป็นเพราะว่า ผมไม่ค่อยเห็นนิยายประเภทลึกลับสยองขวัญในหมวดหมู่ของสำนักพิมพ์นี้ และยิ่งรู้ว่าผู้แต่งคือคุณปองวุฒิแล้วผมยิ่งรู้สึกอยากลองอ่านเป็นพิเศษเพราะว่าส่วนตัวแล้วผมเคยเห็นนิยายของนักเขียนท่านนี้ตามร้านหนังสือหลายเรื่องมาก แต่ไม่เคยหยิบมาอ่านเป็นจริงเป็นจังเสียที สำหรับพล๊อตเรื่องโดยย่อนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ครูสาวผู้ใจดีมีจิตสัมผัสวิญญาณอย่างครูสิตาภา ได้รับการทาบทามจากชณัฐ นักจิตวิทยาหนุ่มให้มาช่วยตามหาเด็กหญิงมิลิน ลูกสาวของอดีตดาราดังซึ่งหายตัวไปจากโรงเรียนเทเวศวัฒนาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เธอทำงานอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นมีข่าวลือมาว่า เด็กหญิงมิลิน ถูกตุ๊กตาผีจับตัวไปยังพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาวราภาซึ่งตั้งอยู่หลังโรงเรียนแห่งนี้ ยิ่งครูสิตาภากับชณัฐสืบสาวราวเรื่องมากเท่าไหร่ ยิ่งมีเหตุการณ์แปลกๆ ตามมามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงประหลาดจากตุ๊กตานางรำ เด็กหญิงภายในห้องที่เธอประจำชั้นอยู่สามารถสื่อสารกับตุ๊กตาฝรั่งชุดดำได้ ลูกสาวผู้อำนวยการโรงเรียนและเพื่อนถูกตุ๊กตาทำร้าย ที่ร้ายแรงไปกว่านั้นคือเธอพบว่ามีเด็กที่หายไปในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกหลายสิบคน
เมื่อผมเห็นพล๊อตเรื่องย่อแบบนี้ ผมก็เกิดความสนใจขึ้นมาทันทีเพราะนึกถึงภาพยนตร์ตุ๊กตาผีสิงหลายเรื่อง พอผมได้ใช้เวลาสองวันในการอ่านก็พบว่าเป็นเรื่องทีไม่ผิดหวังเลยทีเดียว เพราะการเล่าเรื่องนั้นเป็นไปอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรหวือหวา และต้องตีความหรือใช้ความหมายซ้อนความหมายมาก แต่ก็ทำให้คนอ่านสนใจที่จะตามล่าหาความจริงไปพร้อมกับตัวเอกของเรื่อง ส่วนในเรื่องของรายละเอียดตัวละคร ผมเห็นว่าผู้เขียนทำได้ดีเลยทีเดียว เพราะบทบาทความสำคัญไม่ได้เทไปที่คู่พระนางเท่านั้น แต่กระจายความสำคัญให้ตัวละครอื่นพอๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น ขนมขิง, ต้นกล้า, เดียร์, ผอ.นาตยา , ปราการ รวมไปถึงครูสุธีด้วย มีอยู่หลายฉากที่บ่งบอกความเป็นตัวละครนั้นๆได้ดี เช่นฉากโฮมรูมที่เพื่อนนางเอกมาสอนวาดรูป ต้นกล้าได้วาดรูปหุ่นยนต์ ส่วนขนมขิง ได้วาดรูปตุ๊กตาสองตัวจับมือกัน แม้จะเป็นฉากเล็กๆ ที่ดูไม่มีสาระสำคัญอะไรแต่ก็สื่อรายละเอียดของตัวละครได้ว่า ต้นกล้าเป็นลักษณะของเด็กผู้ชายที่หลายๆ คนอยากเป็น มีความแข็งแกร่งกล้าหาญ ไม่กลัวใคร ในขณะที่ขนมขิงนั้น ตามท้องเรื่องเธอสามารถสื่อสารกับตุ๊กตาผีได้ แต่การที่เธอวาดรูปตุ๊กตาสองตัวจับมือกันนั้น แสดงออกชัดเจนเลยว่าตุ๊กตาเหล่านั้นไม่ได้ปองร้ายเธอเลยแม้แต่นิด แต่มองเธอเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งที่พร้อมจะรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหาครอบครัวของผอ.นาตยา กับเดียร์ ซึ่งสะท้อนสภาพสังคมของแม่ที่ห่วงงานจนลืมความเอาใจใส่ลูกอย่างชัดเจน เดียร์เห็นตุ๊กตาผีและพยายามจะเล่าให้แม่ฟังหลายครั้ง แต่แม่ของเธอไม่ได้สนใจจะฟัง พร้อมกล่าวหาว่าเธอเพ้อเจ้อ ทำให้เดียร์กลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว
ส่วนเรื่องที่เป็นจุดอ่อนของนิยายเรื่องนี้ คือการบรรยายที่ยังดึงอารมณ์ออกมาไม่ถึงจุดที่คาดหวังเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น การบรรยายรายละเอียดของตุ๊กตาในฉากหลอน ซึ่งผู้เขียนเขียนลักษณะโดยกว้างของตุ๊กตาว่าเป็นตุ๊กตาไทย หรือตุ๊กตาฝรั่งเท่านั้น ไม่ได้เจาะจงประเภทว่าเป็นตุ๊กตาประเภทใด ตุ๊กตากระเบื้อง ตุ๊กตาพอร์ซเลน ตุ๊กขนสัตว์ หรือตุ๊กตาผ้า อาจทำให้ผู้อ่านยังนึกภาพตามไม่ออกทำให้ไม่มีอารมณ์ร่วมกับความสยองขวัญเท่าไหร่ ผมเชื่อว่าถ้าผู้เขียนใส่รายละเอียดตรงนี้มากขึ้นสักหน่อยอาจจะทำให้เกิดภาพฝังหัวในฉากนั้นๆ เลยก็ได้ ส่วนจุดอ่อนใหญ่อีกจุดหนึ่งคือ การเล่าเรื่อง เพราะเนื้อเรื่องเล่ามาอย่างละเอียดตลอดตัวแต่ต้นเรื่องยันกลางเรื่อง แต่พอมาถึงจุดไคล์แมกซ์ตอนเฉลยตัวคนร้าย และบทสรุปตอนนางเอกคุยกับคุณภาสกรนั้น กลับบรรยายรวบรัดจนเกินไป ทั้งที่การบรรยายตอนเปิดตัวคนร้าย น่าจะเป็นบทสนทนาแทนที่จะเป็นย่อหน้าหนึ่งที่เล่าคร่าวๆ เพราะผมเชื่อว่าบทสนทนาสามารถทำให้คนอ่านมีอารมณ์ร่วมกับความวิปริตของคนร้ายได้ดีเลย ส่วนบทสรุปที่นางเอกคุยกับคุณภาสกรก็เช่นเดียวกัน ที่บรรยายเป็นย่อหน้า สิ่งที่ผมคาดหวังคืออยากอ่านบทสนทนาที่คุณภาสกรพูดถึงคนร้ายคนนี้ เนื่องจากมันอาจเป็นบทสรุปปมสภาพจิตใจของคนร้ายได้ดีเลยทีเดียว
สำหรับในส่วนสาระสำคัญของเรื่องนี้นั้น ผมเชื่อว่ามีมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะการเข้าหาเด็ก หรือการปฏิบัติตัวต่อเด็ก เพราะตามเนื้อเรื่อง นอกจากนางเอกกับพระเอกแล้ว ก็ยังมีเดียร์และเพื่อนที่ตามล่าหาความจริงเกี่ยวกับตุ๊กตาผีเช่นเดียวกัน ซึ่งตุ๊กตาผีเหล่านั้นก็คือเด็กธรรมดานั่นแหละครับ การที่พระเอกกับนางเอกตามล่าหาความจริงโดยใช้ความเข้าใจเด็กเป็นหลักจึงทำให้ความจริงเริ่มปรากฏออกมาทีละน้อย ในขณะที่เดียร์และเพื่อนๆเลือกที่จะใช้วิธีรุนแรงอย่างวิธีเรียกผี ทำให้ถูกตุ๊กตาผีทำร้าย จนสุดท้ายต้องโยนความผิดให้ความเฮี้ยนของตุ๊กตา สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนกันการเข้าหาเด็กนั่นแหละครับ หากเราเข้าหาเด็กด้วยความเข้าใจเราก็จะเข้าถึงจิตใจของเด็ก แต่ถ้าเราเข้าหาเด็กด้วยความเกรี้ยวกราดและความรุนแรง สิ่งที่เราได้รับกลับมาก็คือความก้าวร้าวของเด็ก จนสุดท้ายก็โยนความผิดให้เด็กว่ามีนิสัยก้าวร้าว นอกจากจะไม่เข้าใจแล้ว ยังเข้าไม่ถึงเด็กอีกต่างหาก
ป.ล.หัก0.5คะแนน สำหรับเรื่องรายละเอียดตุ๊กตา
ป.ล.2หัก0.5คะแนน สำหรับความรวดรัดเกินไปในช่วงท้ายเรื่อง
www.batorastore.com © 2024